เสียงไม้กวาดทางมะพร้าวที่กำลังครูดกับฟุตพาท เราทักทายออกไปว่า
สวัสดีครับคุณป้า เริ่มกวาดขยะตั้งแต่กี่โมงครับ ?
“ตั้งแต่ 11 โมงครึ่งจ้ะ ป้าเป็นพนักงานประจำอยู่กะบ่าย ที่จริงต้องเริ่มบ่ายโมง เลิกสามทุ่ม แต่พอดึกแล้วอันตราย ป้าก็เลยเริ่มทำก่อน จะได้เลิกเร็วขึ้น”
01 เสียงไซเรน
การทำงานพนักงานกวาดถนน อันตรายขนาดนั้นเลยเหรอครับคุณป้า ?
“พอมืดค่ำแล้วมันอันตราย รถราเขาขับเร็วไม่ค่อยเคารพกฎจราจร ไหนจะภัยอื่นๆ อีก เราก็ต้องระวัง ถึงมีเครื่องแบบที่สะท้อนแสงช่วยกันเราในระดับหนึ่ง มันก็ยังน่ากลัวนะ”
โห…แล้วระหว่างทำงานป้าเจออุปสรรคอะไรบ้างไหมครับ ?
“ไม่มีอะไร ก็เป็นธรรมดาเล็กๆ น้อยๆ ประชาชนทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง แต่เราก็เข้าใจเขา เพราะไม่มีถังขยะให้เขาทิ้ง ช่วงก่อนมันมีข่าวการวางระเบิดตามถังขยะ ทาง กทม.เลยลดจำนวนถังขยะลง นี่ป้าก็ต้องไปอบรมวิธีสังเกต และการแจ้งรายงาน”
02 เสียงกระซิบ
แล้วคุณป้าคิดว่า มีอะไรที่จะช่วยแก้ไขให้เมืองดีขึ้นไหมครับ ?
“ก็เราเป็นคนตัวเล็กๆ จะไปเรียกร้องอะไรมากก็ไม่ได้…ใช่หรือเปล่าล่ะ (ครุ่นคิด) ยาก…มันยากนะ คนเรามันต่างจิตต่างใจ คิดไม่เหมือนกันนะ บางคนเขาก็มักง่าย บางคนเขาก็ไม่มักง่าย”
03 เสียงถอนหายใจ
คุณป้ารู้สึกยังไงกับคนที่มักง่ายทิ้งขยะบ้างครับ ?
“ก็ต้องทำใจ”
ทำใจเลยเหรอครับ ?
“อืม…เพราะป้าก็อยู่หน่วยบริการ ถ้าขืนป้าเรียกร้องมากป้าจะโดนร้องเรียน แล้วป้ามีความผิดนะ ไม่ใช่เขาผิด แต่เป็นเราที่ผิดนะ เพราะสุดท้ายป้าก็มองว่าตัวป้าเองมีหน้าที่บริการประชาชน”
04 เสียงในใจ
แล้วเราทำอย่างไรได้บ้างครับ เพื่อเมืองสะอาดน่าอยู่ ?
“ก็ต้องช่วยกัน ถึงจะเล็กๆ น้อยๆ มันก็ยังดีกว่าไม่ช่วยกันเลย อย่างน้อยวางขยะให้มันเป็นที่ตามที่หลวงให้วาง ทำตามที่หลวงเขาบอก ขอแค่นี้ก็พอ…ไม่ใช่สะเปะสะปะ แต่เดี๋ยวนี้ป้าทำใจได้เยอะ (ลากยาวเสียงสูง)”
05 เสียงหัวเราะ
ในฐานะที่คุณป้าผ่านอะไรมามากกว่าผม มีอะไรจะสอนไหมครับ ?
“ไม่ว่าจะวัยไหนก็ควรค่อยๆ คิดไป ต้องพยายามมองหลายๆ มุม ค่อยๆ ไตร่ตรองดูว่าเรื่องต่างๆ มันดีไม่ดีอย่างไร ต้องชั่งตวงดู สิ่งสำคัญคือต้องมีเหตุมีผล ป้าก็สอนลูกป้าแบบนี้ อย่าใจร้อน ค่อยๆ คิดค่อยๆทำ มองอะไรให้กว้าง เพราะโลกเรามันกว้างไง…ใช่เปล่า ไม่ใช่มองแคบๆ แล้วตัดสินคนด้วยความแคบนั้น
“คนเราอยู่ไม่เกินร้อยปี เราก็ทำยังไงให้มีความสุขที่ตัวเรา เพราะถ้าเรามีความสุขทุกวัน หน้าตาเราก็สดชื่นแจ่มใส ไม่เครียด สุขทุกวัน”
06 เสียงร่ำลา
“งั้นเดี๋ยวป้าไปทำงานต่อก่อนนะหนู”
“ขอบคุณมากเลยนะครับ สวัสดีครับคุณป้า”
การได้พูดคุยกับคุณป้าจริยา ทำให้เรามานั่งค้นหาข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยของพนักงานกวาดถนน ทำให้พบว่า ในหนึ่งปีมีพนักงานกวาดถนนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่เฉลี่ยปีละ 3-5 คน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่ยังไม่นับรวมการถูกทำร้ายร่างกายอีกหลายกรณี
นี่คือเสียงที่เราได้ยินมา และอยากให้ทุกคนได้ยินบ้าง เพื่อสร้างความเข้าใจ และอยากให้ทุกคนระมัดระวังการใช้ชีวิตร่วมกันในเมืองใหญ่ในฐานะฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนให้สังคมไปข้างหน้า
Sources:
http://www.voicetv.co.th/read/uXtAzbGKl