“พวกเอเชีย แพร่เชื้อโคโรนา”
“ผู้หญิงก็ขี้น้อยใจเหมือนกันหมด”
“ไอ้เด็กหลังห้อง ต้องเกเร”
ทุกคนเคยเผลอคิดแบบประโยคข้างต้นที่เรายกตัวอย่างบ้างหรือเปล่า ? ถ้าหากมันเคยเกิด อยากให้แวะอ่านสิ่งที่เราจะเล่าต่อจากนี้ เพราะนี่คือรูปแบบหนึ่งของการเหยียด (racist) จนสร้างให้เกิด ‘การมองภาพเหมารวม’ (stereotype) ที่เชื่อว่าใครต่อใครที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกันก็จะเป็นเหมือนกันหมดไปโดยปริยาย แต่อาจลืมไปว่า “เขาไม่ใช่คนเดียวกัน เขาอาจไม่ได้คิดเหมือนกัน”
มองไม่เห็น ใช่ว่าไม่มี
การเหมารวม (stereotype) คือทัศนคติจากประสบการณ์ที่เคยเจอ ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งมีต่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา การเมือง เพศ ไปจนถึงกลุ่มการชอบที่เป็น sub-culture ของสังคม จนกลายเป็นมาตรฐานในการตัดสิน และเชื่อไปว่าพวกเขาเป็นแบบนั้นเหมือนกันหมด ทั้งที่ยังไม่รู้จักตัวตนจริงๆ โดยอาจเป็นได้ทั้งในทางที่ดี และไม่ดี แต่แนวคิดของการเหมารวมส่วนใหญ่มักมาพร้อมอคติ จนกลายเป็นการเหมารวมยกเข่ง ที่ไม่ค่อยยุติธรรมกับบางคนที่ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป
“Stereotype is a bit like air : invisible but always present”
นอกจากการเหมารวมแล้ว นักจิตวิทยาสังคมยังบอกว่า อคติที่ก่อให้เกิดการมองแบบเหมารวม มีสิ่งที่เรียกว่า ‘การตัดสินไปก่อน’ (prejudice) พร้อมกับ ‘การแบ่งแยก’ (discrimination) ร่วมอยู่ จนท้ายที่สุดนำไปสู่ การเลือกปฏิบัติ ความขัดแย้ง และเกลียดชัง
.
ภาพเหมารวมที่เห็นกันบ่อยครั้ง
เรามักเห็นภาพของการเหมารวมได้ทั่วไปในสังคม แต่กับเรื่อง ‘เชื้อชาติ’ คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด พูดให้เห็นภาพชัดกับประเด็นล่าสุด ‘ไวรัสโคโรนา’ (covid-19) ที่มีจุดกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอยู่ในทวีปเอเชีย กลายเป็นว่าคนเอเชียเกือบทั้งหมด หรือใครก็ตามที่มีหน้าตาโซนเอเชีย จะโดนเหมารวมว่าเป็นคนแพร่เชื้อโคโรนาไปเสียหมด หนักถึงขั้นโดนทำร้ายร่างกาย อย่างนักศึกษาชาวสิงคโปร์ ที่เรียนอยู่ในลอนดอน ถูกทำร้ายหลังจากถูกเหยียดเรื่องเชื้อชาติและการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา
.
ลดเหมารวม แต่เข้าใจตัวตน
“Do not judge a book by its cover” – อย่าตัดสินกันเพียงแค่เห็นเปลือกนอก
สำนวนนี้คือทางออกของการลดการเหมารวมที่เกิดขึ้นในสังคมได้ดีที่สุด ด้วยการวางอคติที่มี หยุดคิดกันสักหน่อย แล้วทำความรู้จักถึงตัวตนของแต่ละคนอย่างปราศจากการตัดสินไปก่อนว่าใครเป็นอย่างไร ทบทวนให้มากขึ้น เพื่อลดความขัดแย้งให้น้อยลง และยุติความคิดเหมารวม