ไอเดีย ‘ห่างกันสักพัก’ บอกลา ‘COVID-19’ - Urban Creature

โรคระบาด ‘COVID-19′ ได้แพร่เชื้อไปทำลายผู้คนมาแล้วทั่วโลก และในบ้านเราเองก็โดนเจ้าวายร้ายตัวนี้ยึดพื้นที่ไปหลายแห่ง ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้มันเพิ่มตัวได้อย่างรวดเร็ว เริ่มมาจากความ ‘ใกล้ชิด’ ไม่ว่าจะเป็นการรับเชื้อผ่านการถูกผู้ป่วยไอและจามใส่ รวมถึงการสัมผัสเชื้อไวรัสโดยตรงตามแหล่งที่คนชอบสัมผัสอยู่ตลอดเวลา เช่น ลูกบิดประตู ราวจับบนรถไฟฟ้า และการซื้อของต่างๆ

หากจะหยุดการเพิ่มของ COVID-19 ให้น้อยลง คงต้องทำให้ทุกคนนั้นอยู่ห่างออกจากกันเสียก่อน หรือที่เรียกว่า ‘Social Distancing’ มันคือการสร้างระยะห่างระหว่างตัวเรากับคนรอบข้างอย่างน้อย 1 เมตรขึ้นไป เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคระบาด COVID-19 ให้เบาลงมากกว่าเคย เราจึงหยิบแนวคิดนี้มาเป็นไอเดียคิดสิ่งประดิษฐ์ป้องกัน COVID-19 จะหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง ลองไปดูกัน !

กำไลสารพัดแขวน | ราวจับส่วนตัว เลี่ยงสัมผัสโดยตรง

หากต้องขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้า ย่อมหนีไม่พ้นเวลาสัมผัสห่วงจับภายในรถ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นจุดเสี่ยงที่ติด COVID-19 ได้ง่ายไม่รู้ตัว เพราะเป็นพื้นที่ที่คนต้องใช้งานอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงคิดค้น ‘กำไลสารพัดแขวน’ ที่ออกแบบให้สามารถแยกออกเป็นสองส่วน

โดยด้านหนึ่งไว้แขวนกับราวโหนของรถ และอีกด้านสามารถยืดออกเป็นที่จับส่วนตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการไปสัมผัสกับราวจับโดยตรง รวมทั้งเมื่อใช้เสร็จแล้วก็สามารถล้างทำความสะอาดได้ไม่ยุ่งยาก แถมยังเป็นเครื่องประดับสุดเก๋ที่พกติดตัวไปได้ทุกที่อีกด้วย

แฟชันห่างกันสักพัก | เทรนด์หนีโรคระบาด งดอยู่ใกล้นะช่วงนี้

นอกจากเรื่องการใช้ชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนแล้ว ด้านแฟชันก็มีส่วนสร้างระยะห่างในสังคมได้เหมือนกัน เราจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วล่ะ ของการกำเนิดเทรนด์แฟชันใหม่เพื่อป้องกัน COVID-19 กับธีม ‘ห่างกันสักพัก’ ใครสามารถแต่งตัวเลี่ยงการเข้าใกล้จากคนรอบข้างได้ดีที่สุด คือสวมมงฯ เดินบนเวทีไปเลย !

ด้วยไวรัส COVID-19 มีอยู่ทุกที่ แถมผลวิจัยจากรัฐบาลจีนยังเผยว่า มันสามารถลอยอยู่ในอากาศได้อย่างน้อย 30 นาที ดังนั้นเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เราไปจะเอ๋กับมันโดยตรง จึงออกแบบเสื้อผ้าที่ได้แรงบันดาลใจจากตุ๊กตามิชลิน ที่เป็นเสื้อพองลมช่วยป้องกันทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะมีละอองไวรัสตัวไหนผ่านเข้ามา รับรองว่าเสื้อตัวนี้ก็เป็นเหมือนเกราะป้องกันชั้นเยี่ยมที่กันคนออกห่างได้อย่างดี

กำแพงกั้นความใกล้ชิด | แค่กระจกใสบางๆ ที่ช่วยป้องกันในพื้นที่จำกัด

รถไฟฟ้า คือหนึ่งในแหล่งที่เจ้า COVID-19 ชอบเข้ามาสิงอยู่มากที่สุด ด้วยพื้นที่ปิดล้อมที่บรรจุผู้โดยสารไว้เป็นจำนวนมาก ส่งเสริมให้เจ้าไวรัสโคโรนาสามารถวิ่งเล่นไปหาคนอื่นได้อย่างง่ายดาย

ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจจะต้องดีไซน์รถไฟฟ้าเพื่อรับมือกับการกระขายตัวของโรคระบาด โดยทุกที่นั่งในรถไฟฟ้าควรมีแผ่นกระจกพลาสติกกั้นไว้เป็นกำแพง เพื่อป้องกันไม่ให้คนสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด แต่ยังคงสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากอยู่เช่นเคย

ประตูฆ่าเชื้อ COVID-19 | ประตูนี้ปัดเป่าโรคร้าย ลอดเข้ามาจะพ้นภัย

จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่คิดค้นตู้ฆ่าเชื้อสาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงการติดไวรัสโคโรนาให้ลดลง โดยตู้นี้ทำงานด้วยการฉีดพ่นสาร Ionic Salt Water ลงไปบนร่างกาย เพียงใช้เวลาประมาณ 20 วินาที/คน ก็สามารถเดินออกไปข้างนอกได้อย่างมั่นใจ

แล้วถ้าเรานำไอเดียนี้มาปรับใช้กับบ้านเราดูล่ะ ซึ่งมาในรูปแบบ ‘ประตูฆ่าเชื้อ COVID-19’ ที่มีหน้าตาคล้ายกับเครื่องตรวจอาวุธอันตรายก่อนเข้าห้างสรรพสินค้า แต่เปลี่ยนฟังก์ชันใหม่เป็นเครื่องทำความสะอาดเชื้อ COVID-19 ซึ่งวางไว้ทุกหน้าทางเข้าของอาคาร ห้างฯ หรือแม้กระทั่งสถานีรถไฟฟ้า อย่างบริเวณแตะบัตรขึ้นรถไฟฟ้า เพียงแค่ยืนแช่สัก 20 วินาทีแต่สามารถสร้างความสบายใจต่อเพื่อนรอบข้างได้

กระเป๋าห่างการแตะตัว | ตัวกลางรับ-ส่งของ สร้างความปลอดภัยทั้งสองฝ่าย

เมื่อถึงเวลาต้องออกไปซื้อของที่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นฝั่งคนขายและคนซื้อต่างก็กลัวติด COVID-19 จากการสัมผัสมือกันโดยตรง หากเราสามารถออกแบบโปรดักต์ใหม่เพื่อสถานการณ์นี้โดยเฉพาะอย่าง ‘กระเป๋าห่างการแตะตัว’ ที่ได้แรงบันดาลใจจากเป้อุ้มเด็กน้อยที่อยู่ด้านหน้าตัวคุณแม่

โดยกระเป๋าดีไซน์แบ่งเป็น 2 ส่วน อย่างช่องตรงกลางสามารถรูดซิปเปิดออกมาเป็นถาด เพื่อให้แม่ค้าวางอาหารลงไป แล้วเราค่อยหยิบใสกระเป๋า เพื่อลดการสัมผัสกันโดยตรงแถมสร้างความสบายใจทั้งสองฝ่ายอีกด้วย แอบกระซิบว่า ถ้ามีมาตรการให้แม่ค้าสวมถุงมือเพิ่มก็จะดีไม่น้อยเหมือนกัน รวมถึงผู้บริโภคอย่างเราๆ ด้วยนะ จะได้เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น


Content Writer : Jarujan L.
Graphic Designer : Phannita J.

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.