Squid Game : หรือชีวิตคนจนจะเป็นได้แค่ของเล่นของคนรวย? - Urban Creature

ในโลกอุดมคติ “ความเท่าเทียม” คงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของใครหลายคน

โลกที่แม้อำนาจทางเศรษฐกิจหรือตัวเลขในบัญชีอาจมีไม่เท่ากัน แต่คุณค่าความเป็นคนไม่มีใครต่ำต้อยกว่าใคร

น่าเศร้าที่สิ่งนี้ยังเป็นได้เพียงอุดมคติ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง เราได้เห็นการที่คนมากมายถูกจัดวาง วาดภาพ หรือกดทับให้เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงเพราะพวกเขาเป็นคนที่อยู่ชั้นลำดับล่างของฐานเศรษฐกิจ

จนก็ต้องอยู่อย่างเจียม

จนก็เพราะขี้เกียจ ไม่พยายาม เป็นคนไม่ดี เอาแต่สบาย

จนก็ต้องอยู่อย่างคนจน หรือดีสุดก็เป็นเพียงเครื่องรองมือรองเท้าของคนรวย

บางครั้งการกดทับหรือบังคับขืนก็อาจเป็นไปอย่างแนบเนียน หรือเป็นเพียงทัศนคติคำพูดเหยียดหยามแต่โลกใน “Squid Game” ซีรีส์กระแสแรงแห่งบ้าน Netflix จากประเทศเกาหลีใต้ คือโลกที่จับคนชายขอบไร้ทางไปในสังคมเข้ากรง มาเล่นเกมเพื่อเอาชีวิตรอด ทั้งจากตัวเกม และจากนรกในชีวิตประจำวันที่พวกเขาต้องอาศัยอยู่ให้ได้เห็นกันแบบถึงเลือดถึงเนื้อ และถึงอารมณ์

Squid Game
Squid Game

สเตจเซตอัปสีสันสดใสไฮโปรดักชัน แอบหยอดเอเลเมนต์ของวัยเยาว์ให้เข้ากับธีมเกม เจ้าหน้าที่ในชุดสีชมพูช็อกกิ้งพิงก์พร้อมหน้ากากสกรีนรูปทรงสามแบบที่บ่งบอกถึงชนชั้นภายใน ความหวาดระแวงระหว่างกันอันนำไปสู่การเผยความดำมืดในจิตใจมนุษย์ เงินรางวัลที่มากเกินกว่าชั่วชีวิตของใครหลายคนจะกล้าแม้แต่ฝันถึง และเกมแบบเด็กๆ ที่การก้าวพลาดไม่ใช่แค่เข่าถลอกหรือได้แผลฟกช้ำ แต่หมายถึงความตายแบบศพไม่สวย ยิงเป็นยิง ตลอดเรื่องคือมหกรรมละเลงเลือดแบบที่คำอ้อนวอนใดๆ ก็ไม่อาจดังไปกว่าเสียงปืน

Squid Game
Squid Game

เหล่านี้คือองค์ประกอบที่ทำให้ Squid Game เป็นซีรีส์ Survival Horror ที่ถึงเครื่องและตอบโจทย์ในแง่การกระตุ้นอะดรีนาลีนในกายให้หลั่งไหล เอาใจช่วย เห็นใจ เกลียดชัง สาปส่งตัวละครหลากสีสันหลายสันดาน แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีคอนเทนต์ที่รวบรวม “ช่องโหว่” ทั้งรายละเอียดที่ไม่สอดคล้อง ลอจิกที่ไม่ค่อยน่าซื้อสักเท่าไหร่ และรูปแบบเกมที่ละม้ายคล้ายคลึงกับที่เคยมีคนเขาทำมาแล้ว หรือจุดคลี่คลายที่ไม่ค่อยจะถูกใจหลายต่อหลายคนไปจนถึงบอกว่ามันคือการ Anticlimax เลยด้วยซ้ำก็ตาม หากส่วนตัวเรามองว่าซีรีส์นี้ก็ยังมีประเด็นบางอย่างที่อยากหยิบมาเล่าสู่กันฟัง

*ส่วนนี้เป็นการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์

กับชีวิตที่ไร้ทางเลือก ไม่ว่าที่ไหนก็ “นรก” ทั้งนั้น

ในสองตอนแรกของซีรีส์ เราได้รับรู้เหตุผลที่แต่ละผู้เข้าแข่งขันต้องการเข้าร่วมเล่นเกมอันตรายนี้

เหตุผลเดียวคือ “เงิน”

พวกเขาทุกคนล้วนเป็นหนี้มหาศาล หรือมีเหตุผลที่สำคัญถึงขั้นคอขาดบาดตายที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก

Squid Game

แต่สิ่งที่พวกเขาไม่คาดคิดก็คือ บทลงโทษของเกมคือความตาย

หลังจากจบเกมแรก พวกเขาโหวตกันว่าจะไม่เล่นต่อ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่ง “ตามระบอบประชาธิปไตย” ของเกม ที่หากผู้เข้าแข่งขันเกินครึ่งโหวตว่าจะเลิกเล่น ก็สามารถเลิกได้ทันที

เมื่อผลโหวตชนะ พวกเขาก็แยกย้ายกันไป

ทุกอย่างเหมือนจะจบลงแค่นี้

แต่สุดท้าย พวกเขาเกินครึ่งกลับมาเล่นเกมนี้อีกรอบ ทั้งๆ ที่รู้ถึงความอันตรายของมัน

Squid Game

ทำไมถึงบอกว่า ‘เพราะไม่ว่าที่ไหนก็คือ “นรก”?’

เพราะถ้าเล่นต่อ ถึงแม้จะโหดร้ายเหมือนนรก หากปลายทางอาจมีชัยชนะ และชีวิตที่จะถูกพลิกเปลี่ยนจากหลังเท้าเป็นหน้ามือรออยู่

หากกลับไปในชีวิตประจำวัน ก็มีเพียงนรกบนดิน หนี้สินที่รังแต่เพิ่มพูนพร้อมความสิ้นหวัง รอวันตายไปวันๆ เท่านั้น

ขออยู่ในนรกแบบมีลุ้นดีกว่า

เมื่อไม่มีเงิน ไม่ใช่แค่ทำให้เราลำบาก หรือไม่มีข้าวกิน แต่มันจะค่อยๆ ตัดทางเลือกในชีวิตของเราไปทีละน้อย และสุดท้ายมันจะผลักเราดิ่งจมลงไปสุดทาง และเปลี่ยนให้เรากลายเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเป็น

จากผลสำรวจจากธนาคารเกาหลี (BOK) เมื่อปี 2563 พบว่า หนี้ของภาคครัวเรือนพุ่งแตะ 1,682.1 ล้านล้านวอน (1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) นับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นั่นอาจทำให้เราพูดได้ว่าเรื่องหนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของคนที่ใช้ชีวิตไม่เป็น ขี้เกียจ หรือติดการพนันเท่านั้น 

หรือ เธอ-ฉัน เท่ากัน มันไม่เคยมีจริง?

เหล่าเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมเกมบอกกับผู้เข้าแข่งขันว่า ในเกมนี้ ทุกคนเท่าเทียมกัน 

แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงเหรอ?

เอาง่ายๆ แค่ในหมู่เจ้าหน้าที่เองก็มีระดับชนชั้นอันแสนเคร่งครัดที่บอกผ่านรูปทรงที่อยู่บนหน้ากาก ขนาดที่ว่าถ้าผู้ที่มีตำแหน่งเหนือกว่าไม่อนุญาต คนระดับชั้นผู้น้อยก็อย่าหวังจะได้ปริปาก

Squid Game

และเมื่อเรื่องดำเนินไป เราก็ได้เห็น “ความเอียง” ที่ไม่หน่อยอย่างเห็นได้ชัด

อย่างเช่นตัวละครหมอที่เข้าร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่ง นำอวัยวะจากศพของผู้เข้าแข่งขันไปขายต่อในตลาดมืด แลกกับการได้รู้ว่าเกมต่อไปคืออะไร

และหมอก็ใช้เครื่องมือนั้นเป็นบันไดทางชนชั้นเพื่อเข้าพวกกับกลุ่มที่ดูจะแข็งแกร่งที่สุดในเกม ยกให้กลุ่มหนึ่งถือแต้มต่อกลุ่มที่เหลืออย่างเห็นได้ชัด

หรือแม้กระทั่งกีฮุน (ลีจองแจ) ตัวเอกของเรื่องเอง ที่เข้าสนิทถูกคน ไปจับเข้ากับคุณตา โออิลนัม (โอยองซู) ที่ปรากฏตอนหลังว่าเขาคือเจ้าของเกม และในเกมๆ หนึ่ง เขาก็จงใจช่วยให้กีฮุนชนะเพื่อไว้ชีวิตเขา คำถามก็คือถ้ากีฮุนไม่ได้สนิทกับโออิลนัม หรือโออิลนัมเป็นแค่ตาแก่เลอะเทอะเฟอะฟะ เป็นเพียงหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันเหมือนกับคนอื่นๆ เขาจะมีชีวิตรอดจนถึงเกมสุดท้ายได้ไหม?

Squid Game

ในสภาวะแวดล้อมที่ถูกเคลมอย่างแข็งขันว่าทุกคนเท่าเทียม ความเอียงเทลาดยังเกิดขึ้นได้ แล้วในสังคมของเราที่คนกลุ่มหนึ่งพร้อมประกาศกร้าวว่า “ฉันสูงกว่าพวกเธอ” ล่ะ ความเท่าเทียมจะยังมีอยู่ หรือจะมีหวังในการเกิดขึ้นได้ไหม?

ชีวิตพวกมึง ความสนุกพวกกู

เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง ซีรีส์ก็ค่อยๆ เฉลยให้เห็นว่า เกมทั้งหมด ถูกจัดขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่ง และมีผู้ชมกระเป๋าหนักจากทั่วทุกมุมโลกที่ถูกพาเข้าไปในห้องที่ถูกตกแต่งอย่างหรูหราแฟนตาซี พาดขาลงบนตัวคนที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นเพียงเฟอร์นิเจอร์ จิบเหล้าเคล้าเกม เลือกว่าใครจะอยู่ใครจะไป และโห่ร้องทั้งด้วยความดีใจและหัวเสียเมื่อคนที่วางเดิมพันไว้เล่นเกมพลาดและถึงแก่ความตาย

Squid Game

ราวกับว่าที่ร่วงหล่นล้มตายไม่ใช่คน แต่เป็นม้าแข่งหรือไก่ชนสักตัว ที่ชนะก็ดี ตายไปก็ไม่มีอะไรเสียหาย

เพราะเป็นคนชายขอบ จึงไม่มีทางเลือก แม้ต้องเสี่ยงตายก็ต้องทำ

เพราะเป็นคนชายขอบ จึงเป็นได้แค่เครื่องเอนเตอร์เทนของคนรวยที่ไม่เคยมองคนเท่ากัน

หรือแม้กระทั่งกับคุณตาโออิลนัมเอง ที่ตอนหลังเราค้นพบว่า นอกจากจะเป็นผู้เล่น เขายังเป็นเจ้าของเกมที่มาลงเล่นด้วยตัวเอง ก็แค่เพราะ “มันสนุก”

ในขณะที่คนอื่นๆ ถูกความจนและหนี้สินผลักดันให้ต้องเสี่ยงชีวิต แม้จะไม่อยากทำ แม้จะเป็นคู่สามีภรรยาที่รักกันมาก ก็ต้องมายอมเสี่ยงตายด้วยกัน

แต่กับคนรวย เขากลับทำเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องสนุกได้

คงไม่ได้มีแค่ในเกม หรือซีรีส์เรื่องนี้หรอก ที่การให้ค่าของชีวิตคนระหว่างคนจนและคนรวยจะแตกต่างกันถึงเพียงนี้

แล้วก็ชวนให้สงสัย ว่าทุกวันที่คนจำนวนไม่น้อยลุกขึ้นต่อต้านการกดขี่และความเหลื่อมล้ำ พวกเหล่าคนมีอำนาจและคนที่อยู่ข้างบนเขาจะมองลงมาด้วยสายตาแบบไหนกันนะ?

เมื่อคนตัวเล็กหวังท้าชนระบบเลวร้าย

ในตอนสุดท้าย หลังจากชนะเกม และได้เงินรางวัล (ซึ่งยกให้คนอื่นไปจนหมด) กีฮุนกำลังจะเดินขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปเยี่ยมลูกสาวที่อเมริกา

เขาหยุด

และหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแนบหู

เขาโทรไปยังเบอร์โทรศัพท์บนนามบัตรที่ประทับตราด้วยรูปทรงวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม

เมื่อมีคนรับสาย เขาบอกชื่อ วันเดือนปีเกิดของตัวเอง

“ฉันไม่ใช่ม้า”

“ฉันเป็นคน”

“ฉันอยากรู้ว่าพวกแกเป็นใคร และทำสิ่งเหล่านี้ไปทำไม”

“ฉันให้อภัยกับสิ่งที่พวกแกทำไม่ได้”

อีกฝั่งของสายโทรศัพท์บอกให้เขาขึ้นเครื่องบินไปซะ เพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง

แทนคำตอบ เขาหันหลังให้ทางขึ้นเครื่อง แล้วเดินออกมา กล้องจับไปที่หน้าของเขาที่เต็มไปด้วยความโกรธ กลัว และกังวล

เรื่องราวทั้งหมดของซีซันแรกจบลงที่ตรงนี้

ซึ่งถ้าเป็นตามที่หลายคนรวมถึงเราเดาไว้ ซีซันหน้าที่น่าจะมาชัวร์ๆ คงจะเล่าถึงการที่กีฮุนตัดสินใจปะทะกับกลุ่มเจ้าของเกม
คนตัวเปล่ามือเปล่าอย่างเขา กับกลุ่มผู้มีอำนาจที่สร้างเกมและระบบไฮเทคหนาแน่นขึ้นมา

ฟังดูเป็นพล็อตกลางๆ ที่ไม่ได้แปลกใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ การปะทะกันระหว่างคนตัวเล็กจ้อยกับกลุ่มผู้มีอำนาจและอิทธิพลล้นมือ ผลจะจบลงอย่างไร

ความพยายามและความโกรธแค้นของการถูกกระทำและกดทับจะสะท้อนกลับ ทลายปราการสูงส่งเย่อหยิ่งให้พังทลาย หรือจะกลายเป็นแค่การดิ้นรนของมดตัวจ้อย ที่ถึงเวลาก็แค่บี้ให้หมดรำคาญก็แค่นั้น

Squid Game

หลายประเด็นเป็นกระจกสะท้อนที่แล่นไหลคู่ขนานไปกับสังคมของเรา ให้หลังจากมองจอ ก็กลับมามองโลกจริง ว่าในประเด็นไหน เราอยากให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

เรากำลังเป็นแค่ของเล่นในมือคนบางกลุ่มเพียงเพราะเรามีไม่เท่ากันเท่านั้นหรือเปล่า

แล้วเราจะเป็นคนตัวเล็กที่ลุกขึ้นสู้กับอำนาจยิ่งใหญ่เกินตัวเราหรือเปล่า

ไม่เป็นไร ค่อยๆ หาคำตอบไป

เราเข้าใจว่ามันยาก

เพราะคำถามนี้ ไม่ใช่แค่เกมเหมือนในซีรีส์

แต่คือชีวิตจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.