บรรยากาศยามบ่าย เราชวน พี่กบ-อนันตา อินทรอักษร ผู้ร่วมก่อตั้ง BIGTrees Project กลุ่มคนเมืองที่ต้องการรณรงค์ให้คนเมืองด้วยกันเห็นคุณค่า และรักษาต้นไม้ใหญ่ในเมือง มานั่งคุยกันที่ร้านกาแฟใต้ต้นมะขามที่แผ่กิ่งก้านสาขาบังแดดให้เราไม่ร้อนจนเกินไป แต่ก็ยังมีส่วนที่พอให้แสงสว่างเล็ดลอดผ่านใบเล็กใบน้อยของต้นมะขามมาถึงเราได้ แถมยังให้ความร่มรื่นเย็นสบาย พี่กบเริ่มพูดคุยกับเราอย่างเป็นกันเอง ถึงเรื่องราวของการสำรวจต้นไม้ด้วยโซเชียลมีเดีย และความสัมพันธ์ของคนกับต้นไม้ในเมือง ที่บางเรื่องเราเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนเช่นกัน
สถานการณ์ต้นไม้ในเมือง
พี่กบ : ถ้าลองสังเกตุกันดีๆ เราคงมีคำตอบกันอยู่แล้ว ตอนนี้ต้นไม้ในบ้านเราส่วนใหญ่กระจายตัวกันนะ อย่างโซนเกาะรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เลยมายันแถวธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่เยอะ แถวโบสถ์ซางตาครู้ส ตรงท่าเรือสี่พระยา คลองสานไหลมาเรื่อยๆ มีโรงพยาบาลกลาง ถ้ามาทางฝั่งหมอชิต ตรงสวนโมกข์ แถวกลางสวนรถไฟก็จะมีต้นไทรใหญ่อยู่ จริงๆ เขาอยู่กันแบบกระจายตัวเลยล่ะ ต้นไม้เก่าแก่ในกรุงเทพฯ ก็มีอยู่ไม่น้อยเลย
แต่บางครั้งเวลาเราเห็นว่า ตรงไหนมีเยอะแล้วมันน่าจะดีใช่ไหม อยากให้ลองนึกถึงสภาพสวนลุมฯ ต้นไม้เยอะไหม ? เขียวไหม ? ดูเหมือนกับอากาศดี แต่จริงๆ แล้วเป็นพื้นที่ที่รับเอามลพิษ รับเอาฝุ่นไว้เยอะที่สุด คือต้นไม้เยอะจริง แต่มันก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย ทั้งหมดมันคือระบบนิเวศของเมือง เพราะบางทีเราดูแค่ปริมาณต้นไม้ไม่ได้ เราต้องดูความหนาแน่นของประชากร ตึกสูงเท่าไหร่ ถ้าเราทำข้อมูลพวกนี้ให้มันมีระบบ เราก็จะรู้คุณภาพของเมืองได้ง่ายขึ้น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวมันก็จะง่ายขึ้นเช่นกัน
เริ่มออกสำรวจต้นไม้
พี่กบ : พวกเราคนรักต้นไม้รวมทีมกัน มีทั้งอาจารย์ที่จบด้านวนศาสตร์โดยเฉพาะ ทั้งคนธรรมดาที่ไม่ได้มีความรู้อะไรแต่มีใจรักต้นไม้ เวลาเราออกไปสำรวจต้นไม้เราก็เอาองค์ความรู้ของวนศาสตร์มาใช้นะ เพื่อที่จะได้รู้เส้นรอบวงเขา พอเรารู้เส้นรอบวง เราก็อยากรู้ส่วนสูง ซึ่งส่วนสูงเราต้องถอยไปประมาณ 10 เมตรแล้วก็วัดเปรียบเทียบกับสเกลของคน ซึ่งเวลาวัดในส่วนอื่นๆ พี่จะวัดโดยการใช้เชือกวัด แล้วเอามาเทียบความยาวทีหลัง เพราะต้นไม้เขามีขนาดใหญ่ สายวัดมันไม่ยืดหยุ่นพอใช้เชือกมันจะง่ายขึ้น จริงๆ มันก็เหมือนกับการวัดตัดเสื้อผ้าเลย ส่วนสูงเท่านี้เท่านั้น แต่ในเรื่องของอายุแบบแน่ชัดเราต้องใช้การดูละเอียดถึงเส้นวงปี ซึ่งเราจะไม่ทำแบบนั้น เพราะต้องเจาะวงปี แล้วไม่รู้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร เราไม่อยากเสี่ยงทำร้ายเขา
ปักหมุดต้นไม้ลงโซเชียล
พี่กบ : ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว เรามีโครงการลงพื้นที่เพื่อสำรวจต้นไม้ ชวนคนตามหาต้นไม้ใหญ่ที่สุด สูงที่สุด สวยที่สุด และมีคุณค่าที่สุดในกรุงเทพฯ ด้วยชื่อโปรเจกต์ว่า ‘100 ต้นไม้มหานคร’ แต่การทำข้อมูลในช่วงแรกยังไม่ได้ใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยปักหมุดต้นไม้ หรือใช้ GPS โดยตรงขนาดนั้น จะมีแค่การเก็บข้อมูลว่าต้นนี้มันอยู่ตรงพิกัดไหน ทำในลักษณะของภาพถ่าย แล้วโพสต์ลงในโซเชียล เพราะยุคนั้นเฟซบุ๊กเพิ่งเริ่มก็เลยเริ่มจากวิธีนั้น
ส่วนตอนนี้เราลงข้อมูลกันผ่าน ยุพิน หรือ Youpin คือเขาเหมือนคุณป้าคนหนึ่งที่ชอบสอดส่องแล้วก็ดูปัญหา พอเจอปัญหาอะไรก็ไปโพสต์ไว้ ซึ่งมันก็จะมีแฮชแท็กที่ตกลงร่วมกันเป็นตัวเชื่อมข้อมูล ไม่อย่างนั้นก็หาข้อมูลกันไม่เจอ ซึ่งในนั้นจะมีชื่อต้นไม้ ขนาด เส้นรอบวง เรือนยอด จะมีรายละเอียดหลักๆ พวกนี้อยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งถ้าทำได้ เราจะบันทึกสุขภาพของเขาด้วย ชี้จุดกันแล้วก็ถ่ายรูปไว้ แบบนี้ก็จะเป็นข้อมูลรายละเอียดเพิ่มขึ้นไปอีก ยิ่งถ้าสามารถระบุได้ว่าสภาพภายนอก หรือระบบรากที่มีปัญหาเป็นอย่างไรยิ่งดี มันจะคล้ายกับการขึ้นทะเบียนคนไข้ของคนนี่แหละ ขนาดคนยังป่วยได้ ต้นไม้ก็ป่วยได้เหมือนกันจริงไหม มีการรักษาเมื่อไหร่บันทึกวันที่อัพเดตอาการไว้ ใครมาดูจะได้รู้ว่า มีทะเบียนผู้ป่วยแล้วนะ ฉันได้มาตรวจเธอแล้วนะ เพราะฉะนั้น เมื่อมีการปักหมุดเก็บข้อมูลต้นไม้แล้ว มันก็จะมีเรื่องของการดูแล การออกแบบพื้นที่ ต่อเนื่องไปถึงการปรับภูมิทัศน์ตามมา แทนที่จะต้องปรับภูมิทัศน์ทั้งเมือง
เปลี่ยนมาเริ่มต้นให้ความสำคัญกับต้นไม้ก่อน
อย่างเวลาสร้างตึกสร้างโรงงานอุตสาหกรรมจะจัดการอย่างไร
ใช้พื้นที่อย่างไรให้ศักยภาพของต้นไม้และพื้นที่รอบข้างไม่สวนทางกัน
สำรวจต้นไม้จนเจอพลัง ‘จี้กง’
พี่กบ : รู้หรือเปล่าต้นไม้เก่าแก่เขามีพลังซ่อนอยู่ อันนี้ไม่ใช่พลังลึกลับนะ (หัวเราะ) แต่มันเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเข้าใจและเรียนรู้ มันคือศาสตร์ที่เรียกว่า ‘จี้กง’ เป็นพลังที่มันหมุนเวียนและเชื่อมโยงกับธาตุในร่างกาย ดิน น้ำ ลม ไฟ ยกตัวอย่างในพื้นที่มักกะสันที่พี่เคยไปสำรวจกับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้มา จนรู้ว่า ตรงมักกะสันเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีต้นไม้เก่าแก่เยอะเลย ซึ่งต้นไม้ที่มักกะสันก็จะมีต้นยางนา ต้นตะเคียนคู่ ต้นโพธิ์คู่ ต้นไทรคู่ ตอนแรกพี่แบบ อุ้ย ! ทำไมเจอต้นไม้แฝดที่นี่เยอะจังเลย
พลังตรงนั้นอาจารย์บอกว่าเหมือนต้นไม้อายุ 200 – 300 ปี เพราะว่าตรงนั้นมันไม่ได้มีคนพลุกพล่าน ต้นไม้ไม่ได้ถูกรบกวนเยอะ พลังงานเขาเลยบริสุทธิ์ แค่เราเดินเข้าไปที่มักกะสันแล้วเราลงไปนั่งใช้เวลานิ่งๆ ไม่ต้องกอดก็ได้รับพลังงานดีๆ กลับมาแล้ว มันเป็นความรู้สึกเดียวกับเวลาเราไปเที่ยวป่า เที่ยวเขาเราจะมีความรู้สึกสดชื่น ร่างกายมันมีพลังอย่างบอกไม่ถูก
ปลูกต้นไม้ในเมืองแบบฉบับ Big Trees
พี่กบ : ถ้าให้พี่เลือกให้เหมาะกับเมือง พี่เลือก ‘ต้นยางนา’ เพราะว่าต้นใหญ่ จริงๆ แล้วภาคกลางของเราเคยเป็นป่าแอมะซอนที่ใหญ่มาก ซึ่งที่เขาเรียกว่าป่าแอมะซอน เพราะต้นยางนาปกคลุมทั้งภาคเลย อยากเอายางนากลับมา เพราะมันคือต้นไม้ภาคกลางที่อยู่ๆ มันก็หายไป ซึ่งลักษณะต้นเขาใหญ่คล้ายต้นตะเคียน ถ้าย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 1 มีต้นตะเคียนถึง 1,000 ต้นเลยทีเดียว ตอนนั้นปลูกไว้ใช้เพื่อตัดทำเรือรบกับพม่า โดยต้นตะเคียนเขาจะสูงเหมือนกันกับยางนา แถมยังทนมากๆ ด้วย หรือต้นยางแดงก็โอเคนะสำหรับบ้านเรา
ซึ่งต้นไม้ในบ้านเรามีความหลากหลายอันดับ 1 ของโลกเลย อย่างดอยหลวงก็เป็นระบบนิเวศกึ่งอัลไพน์ มีพืชหายากและพืชเฉพาะถิ่นอยู่นับร้อยชนิดบนนั้น แต่อาจเพราะเมืองไทยด้วยความที่เราอยู่ในเส้นศูนย์สูตร เป็นไปได้ที่ลักษณะของแผ่นดินมันทำให้ต้นไม้ขึ้นง่าย ที่นี้พอต้นไม้มันขึ้นมากจนเราชินตา ก็เลยกลายเป็นว่าเอาออกไปได้ง่ายๆ เดี๋ยวก็ขึ้นใหม่อะไรประมาณนี้ แต่หารู้ไม่ว่ายิ่งเก็บยิ่งโต แล้วจัดการแบ่งโซนให้ชัดเจนมันจะส่งผลถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศธรรมชาติ แถมเราจะเป็นเมืองที่มีความรับผิดชอบด้วย ซึ่งมันมีความหมายกว่าแค่การปลูกต้นไม้แล้วก็จบ
‘ต้นไม้’ ครูสำหรับการใช้ชีวิต
พี่กบ : พี่ว่าธรรมชาติ คือครูสำหรับการใช้ชีวิตเลยนะ ถ้าไม่นับเรื่องสิ่งลี้ลับเทวดาอารักษ์ต่างๆ ต้นไม้เขาให้ประโยชน์เราเยอะมาก ยิ่งทุกวันนี้เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พายุมีจำนวนมากขึ้น อุณหภูมิห่างกันมากขึ้น ปกติเขาจะนุ่มนวลหน่อย ระยะห่างมันประมาณ 5 องศา แต่นี่ในแต่ละวันระยะห่างมันกว้างถึง 10 องศา หรืออย่างเรื่องใกล้ตัวที่เราชาวเมืองกำลังเจอกันอยู่ก็คือ มลภาวะฝุ่น ซึ่งหลายคนรู้หรือเปล่าว่า ต้นไม้คือเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติที่ไม่ว่าเราจะซื้อเครื่องฟอกอากาศที่แพงแค่ไหน ดีแค่ไหนก็เทียบไม่ได้
หรือถ้าเราชอบกิน เราก็ปลูกต้นไม้ที่กินได้ ถ้าเราชอบร่มก็ปลูกต้นไม้ที่ให้ร่มเงา มีเรือนยอดกว้างขวาง ถ้าเราชอบสิ่งปลูกสร้างเราก็อาจจะตัดเขามาใช้ประโยชน์ทำที่อยู่อาศัยได้เหมือนกัน ในส่วนของใบที่ร่วงโรยจากลำต้น ก็เอามารวมกับเศษพืชผักที่หลงเหลือจากการทำอาหาร นำมาหมักเป็นน้ำปุ๋ยชีวภาพได้ หรือจะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากเศษไม้ ทุกส่วนของต้นไม้เป็นประโยชน์กับทุกคน แม้กระทั่งเมื่อเขาตายแล้ว เราก็ยังได้รับประโยชน์จากเขาอยู่ พวกสารอาหารที่หลงเหลืออยู่ในลำต้นนั้นสามารถส่งต่อให้กับต้นไม้ต้นอื่น หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อยู่ในระบบนิเวศ เราเรียกมันว่า Urban Wildlife ทั้งหมดทั้งมวลในธรรมชาติล้วนเชื่อมต่อและพึ่งพาอาศัยกัน
จริงๆต้นไม้ไม่ได้ต้องการอะไรนะ
เขาแค่ต้องการความเข้าใจแล้วก็มาช่วยดูแลกัน
ถ้าคนเราเข้ามาอยู่ในเมือง เพื่อตักตวงแล้วจากไปมันก็เท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้มันก็มองไปถึงว่า เราจะเป็นประชากรที่รับผิดชอบกับตัวเอง กับสังคม กับเมืองมากแค่ไหน หลายคนอยากมีชีวิตที่ดี แต่ไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเองมันก็จบ ซึ่งการพัฒนาสังคมหรือเมืองให้ดีขึ้น ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือสิ่งที่ทุกคนควรออกมาช่วยกัน มีแรงเท่าไหนก็ช่วยกันเท่าที่ไหว คนละเล็กคนละน้อย มันก็จะรวมกันเป็นพลังก้อนใหญ่ได้เหมือนกัน
เราหวังว่าบทสทนากับพี่กบ ทีมงานจาก Big Trees Project ในครั้งนี้ จะช่วยให้หลายคนฉุกคิดถึง ‘ต้นไม้’ เพื่อนรักของมนุษย์กันมากขึ้น แล้วหันกลับมาเอาใจใส่ หมั่นคอยดูแล และรักษาให้เขาอยู่กับเราไปนานเท่านาน เพราะถ้าไม่มี ‘ต้นไม้’ เราก็คงเหมือนขาด ‘ลมหายใจ’ ที่คอยเลี้ยงชีวิตของเราเช่นกัน