เปิดข้อมูลสำรวจลานกีฬาทั่วกรุงเทพฯ - Urban Creature

‘กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ’ หลายคนคงเผลอร้อง ‘ฮ้าไฮ้ ฮ้าไฮ้’ ตามหลังเสมือนกำลังอยู่ในช่วงกีฬาสีวัยเด็ก โดยเพลง ‘กราวกีฬา’ ได้แต่งขึ้นมากว่า 100 ปี เป็นหลักฐานที่ว่าประเทศไทยมีการส่งเสริมชาวสยามให้เล่นกีฬาออกกำลังกายมาอย่างยาวนาน สอดคล้องกับสำนวนโบราณแสนเชยที่เราฟังจนเอียนหู ‘การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ’

ฟังดูแล้วเหมือนจุดเริ่มของการลดโรคคือ ‘การออกกำลังกาย’ แต่การตามหาพื้นที่เล่นกีฬาในเมืองหลวงที่มีขอบเขตแสนจำกัดย่อมเป็นเรื่องที่ต้องพยายาม อย่างไรก็ตาม เรายังมี ‘ลานกีฬา’ พื้นที่สำหรับออกกำลังกายเพื่อสนับสนุนชาวเมืองให้มีสุขภาพแข็งแรง โดยกระจัดกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ กว่า 1,126 แห่ง

จุดประสงค์ของลานกีฬาคือ การอำนวยพื้นที่ในการออกกำลังกายให้ผู้รักสุขภาพ แต่ชาวกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งกลับส่ายหัว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพื้นที่เหล่านี้อยู่ตรงไหน และเลือกที่จะยอมเสียเงินรายชั่วโมงเช่าสนามหรือคอร์ตแทน อีกทั้งในบางลานกีฬาคนทั่วไปกลับไม่สามารถเข้าถึงได้หรือมีเงื่อนไขเฉพาะตัว โดยใน ‘เมืองชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ กลับมีลานกีฬาสาธารณะเพียง 107 แห่งเท่านั้น

ลานกีฬา สนามกีฬา กรุงเทพฯ ออกกำลังกาย

สถานที่ตั้งลานกีฬาที่บางคนหาไม่เจอ

เริ่มจากเรามาดูกันว่าลานกีฬาในกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในสถานที่ไหนบ้าง สิริรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,126 แห่ง แบ่งเป็น

1) สถานศึกษา 419 แห่ง (37.21%)
2) ลานกีฬาชุมชน 324 แห่ง (28.78%)
3) เอกชน 148 แห่ง (13.14%)
4) ลานกีฬาสาธารณะ 107 แห่ง (9.5%)
5) กองทัพ/ตำรวจ 64 แห่ง (5.68%)
6) หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 35 แห่ง (3.11%)
7) วัด/มัสยิด 29 แห่ง (2.58%)

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ลานกีฬาส่วนใหญ่อยู่ในสถานศึกษาและชุมชน ซึ่งทำให้เรารู้ว่ามีการเน้นพัฒนาโครงสร้างด้านกีฬาในโรงเรียนและชุมชน แม้ลานกีฬาชุมชนจะมีจำนวนไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเพียงลานอเนกประสงค์สำหรับทำกิจกรรมสันทนาการหรือกีฬาบางประเภทเท่านั้น เช่น เต้นแอโรบิก แบดมินตัน (แบบไม่มีเนต) เป็นต้น

แต่ถ้าหันมาดูลานกีฬาสาธารณะกลับมีเพียง 9.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของประชาชนทั่วไป ส่วนในพื้นที่ของเอกชน, กองทัพ/ตำรวจ และหน่วยงานต่างๆ ก็มักสงวนไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ภายในเท่านั้น

เพราะการเข้าถึงลานกีฬาบางแห่งมักมีข้อจำกัด และขนาดของพื้นที่ต่อตัวประชากรเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายพื้นที่ขาดแคลนลานกีฬา

ลานกีฬา สนามกีฬา กรุงเทพฯ ออกกำลังกาย

ขาดแคลนลานกีฬาแถมที่มียังเข้าถึงยาก

แม้หลายคนจะออกกำลังกายที่บ้านหรือฟิตเนสที่สมัครรายปีเป็นประจำอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การออกไปสูดอากาศภายนอก (ที่อาจมีมลพิษบ้าง) พบปะผู้คนที่อยากขยับเขยื้อนร่างกายเหมือนกัน ก็น่าจะช่วยสร้างแรงจูงใจและทำให้กิจกรรมเสียเหงื่อของเราไม่น่าเบื่ออย่างที่ควรจะเป็น ทว่าต่อให้เราอยากไปออกกำลังกายที่ลานกีฬาสาธารณะเย็นนี้หรือพรุ่งนี้เลย ก็ใช่ว่าจะเข้าไปใช้งานได้ทันที

แน่นอนว่าทุกลานกีฬามีข้ออนุญาตในการใช้งานแตกต่างกัน โดยแบ่งการเข้าถึงลานกีฬาออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1) เข้าถึงได้ (521 แห่ง) คนทั่วไปใช้งานได้
2) เข้าถึงได้แบบมีเงื่อนไข (410 แห่ง) ใช้งานได้ภายใต้เงื่อนไข เช่น ต้องสมัครสมาชิก
3) เข้าถึงไม่ได้ (195 แห่ง) คนทั่วไปไม่สามารถใช้งานได้

แม้ลานกีฬาที่เข้าถึงได้จะมีจำนวนมากถึง 521 แห่ง แต่กลับมีพื้นที่เพียง 2,309,113.16 ตร.ม. ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าลานกีฬาที่เข้าถึงได้แบบมีเงื่อนไขที่มีขนาดพื้นที่รวมถึง 2,597,080.08 ตร.ม. ส่วนลานกีฬาที่เข้าถึงไม่ได้มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดที่ 531,748.6 ตร.ม.ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นลานกีฬาสำหรับลูกบ้านในโครงการหมู่บ้านเอกชนเท่านั้น

จากข้อมูลที่เราทราบ สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงลานกีฬาสำหรับประชาชนทั่วไป โดยลานกีฬาแบบที่เข้าถึงได้มีทั้งจำนวนที่น้อยกว่าและพื้นที่รวมที่เล็กกว่า

นอกจากนี้ เมื่อลองมองภาพแคบลงมา เราจะพบกับความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ต่อประชากรของลานกีฬาแต่ละเขตของกรุงเทพฯ ซึ่งหมายถึงคนหนึ่งคนจะมีพื้นที่ในการออกกำลังกายในแต่ละเขตที่แตกต่างกัน โดยเขตที่มีพื้นที่ลานกีฬาต่อประชากรสูงที่สุดคือ

1) พระนคร (6.77 ตร.ม./คน)
2) คันนายาว (2.14 ตร.ม./คน)
3) ปทุมวัน (1.81 ตร.ม./คน)
4) ทุ่งครุ (1.55 ตร.ม./คน)
5) จตุจักร (1.41 ตร.ม./คน)

ขณะที่เขตที่มีพื้นที่ลานกีฬาต่อประชากรน้อยที่สุดคือ

1) บางบอน (0.003 ตร.ม./คน)
2) บางรัก (0.007 ตร.ม./คน)
3) บึงกุ่ม (0.017 ตร.ม./คน)
4) สัมพันธวงศ์ (0.056 ตร.ม./คน)
5) บางคอแหลม (0.059 ตร.ม./คน)

จากข้อมูลข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงพื้นที่ลานกีฬาของคนกรุงเทพฯ นั่นจึงทำให้เราอนุมานได้ว่า การจะมีสุขภาพดีในเขตที่มีพื้นที่ลานกีฬาน้อย คุณอาจต้องเสียเงินมากกว่าที่ควรจะเป็น

การจะมีสุขภาพที่ดี คนเราไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ แล้วจะ ‘รวยสุขภาพ’ ขึ้นมาได้ การขยับเขยื้อนร่างกาย ออกไปเล่นกีฬา ย่อมเป็นกิจกรรมที่ควรสนับสนุน ซึ่งการมีสถานที่รองรับผู้รักสุขภาพให้เพียงพออย่างลานกีฬา ย่อมดึงดูดให้หลายคนหันมาออกกำลังกายได้ และแน่นอนว่านโยบายแนวรักสุขภาพยังช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายทั้ง ‘ค่าหมอ’ หรือ ‘ค่าฟิตเนส’ และที่สำคัญคือเพิ่ม ‘ความสุข’ ในวันแย่ๆ กลางเมืองหลวง

ลานกีฬา สนามกีฬา กรุงเทพฯ ออกกำลังกาย

Source :
Rocket Media Lab | bit.ly/40smtvC 

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.