การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างที่โรคระบาดมาเยือนให้ทั้งโลกหยุดนิ่งเป็นเวลากว่าสองปี บัดนี้ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะกลับกลายเป็นปกติแล้ว แต่ความปกติที่ว่านั้นเป็นความปกติใหม่ หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม New Normal สถานการณ์ของโลกได้ย้ำให้เห็นว่าทุกสิ่งอย่างไม่มีอะไรเหมือนเดิม
2022 มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น บางอย่างดับสูญ และอีกหลากหลายปัญหายังคงเป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้าแก้ไขกันต่อไป เรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะโลกร้อน สงครามของประเทศมหาอำนาจ เศรษฐกิจที่แปรผกผัน เกิดเงินเฟ้อ พลังงานลดน้อยลง ราคาข้าวของแพงขึ้น และสภาวะการขาดแคลนอื่นๆ อีกมหาศาล ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลกในทุกระดับ
อีกไม่กี่วัน ปี 2022 จะเปลี่ยนหน้าปฏิทินใหม่เป็นปี 2023 จากปีเสือกลายเป็นปีกระต่าย Urban Creature เลยขอทำนายอนาคตบางเศษเสี้ยวด้วยข้อมูลจาก ‘Foresight’ หรือเครื่องมือช่วยฉายภาพฉากแห่งอนาคต ที่จะช่วยให้เรากำหนดอนาคตที่กำลังมาถึง โดยมองเห็นสัญญาณ แนวโน้ม รวมถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้มากกว่าหนึ่งรูปแบบ และนี่คือหนึ่งรูปแบบที่เราชวนมอง
ความเป็นอยู่ยุคใหม่
เต็มไปด้วยความหลากหลายและค่านิยมที่เปลี่ยนไป
สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ และสภาพแวดล้อมรอบตัว ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน จากสถานการณ์โรคระบาดเมื่อสามปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อช่วยให้เข้าถึงความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น
ข้อมูลจาก FutureTales LAB by MQDC หรือศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา บอกว่า เมื่อสองปีที่แล้วมนุษย์ใช้เวลาอยู่ในบ้านเฉลี่ย 11.4 ชั่วโมงต่อวัน มาถึงวันนี้ การลงทุนกับที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสำคัญ เพราะบ้านได้กลายเป็นพื้นที่ของการใช้ชีวิตทุกด้าน ทั้งการทำงานหรือประกอบกิจกรรมต่างๆ ทำให้เทคโนโลยี Smart Home มีต้นทุนลดลงและเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อเชื่อมต่อความสะดวกสบายภายในบ้าน และนวัตกรรมอย่าง 3D Printed Houses จะได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพื่อเอื้อให้เกิดการสร้างที่อยู่อาศัยได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอต่อความต้องการ
ขณะเดียวกัน Smart Wearable หรืออุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ อาทิ นาฬิกา สมาร์ตโฟน หรือแว่นตา จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนมากขึ้น การดำเนินชีวิตของคนเมืองจะถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ส่งผลให้การตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยในโลกไซเบอร์กลายเป็นเรื่องที่ภาครัฐและภาคประชาชนต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กับชีวิตในโลกความจริง
อีกเรื่องคือ เมื่อสังคมเมืองเติบโตแผ่ขยายออกไปในวงกว้าง ประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้น ที่ดินจะถูกจับจองและมีราคาสูงตามไปด้วย แม้เทรนด์โลกจะบอกว่าคนจำนวนมากเลือกลงทุนกับที่อยู่อาศัย แต่ในอีกทางหนึ่ง กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจ่ายเงินมากกว่าเดิม เพื่อเช่าที่อยู่อาศัยที่มีราคาแพงขึ้น เนื่องจากรายได้ไม่สอดคล้องต่อการมีบ้านหลังแรกของตัวเอง
ยังไม่นับรวมการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ที่คนไทยจำนวนกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ตอนนี้เป็นผู้สูงอายุและอยู่ในวัยเกษียณ ซึ่งจะส่งผลให้การจัดสรรแบ่งปันพื้นที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป
การงานที่มีอิสระทางเวลา
ไม่กล้าใช้เงินเพราะอนาคตไม่มั่นคง
ทุกวันนี้หลายอาชีพทำงานในรูปแบบออนไลน์ได้มากขึ้น ส่งผลให้พนักงานมีอิสระทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Remote Work) บริษัทเล็กใหญ่จำนวนไม่น้อยจึงเลือกใช้วิธีการทำงานแบบไฮบริด คือ Work from Home และเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 2 – 3 วัน ทำให้พนักงานสามารถเลือกเวลาที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อการทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
และจากเทรนด์การทำงานที่มีอิสระ บวกกับมีสายงานเกิดขึ้นใหม่ที่หลากหลายขึ้นนี่เอง ทำให้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป สังคมไทยจะเริ่มสัมผัสถึงปรากฏการณ์ Young Retirees ที่เห็นชัดขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยพวกเขาตั้งเป้าเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย และมุ่งหวังมีอิสระทางการเงินในตลอดชีวิตการทำงาน เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างที่คาดหวังไว้ในอนาคต
นอกจากนี้ ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานในหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น การเงิน การแพทย์ หรืองานด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างมาก แน่นอนว่าไม่ได้ถึงกับเข้ามาแทนที่บุคลากร แต่เป็นในแง่ที่ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยยกระดับให้การทำงานเป็นไปอย่างแม่นยำ หวังผลได้ และรวดเร็ว รวมถึงการพูดคุย ปรึกษา และหาข้อมูลก็พึ่งพา AI ที่ฉลาดรอบรู้ขึ้นในทุกวันได้อีกเช่นกัน
แต่ขณะเดียวกัน การเปิดรับสมัครงานใหม่จะน้อยลง ผู้คนที่มีโอกาสน้อยย่อมมีโอกาสน้อยลงไปอีก เพราะองค์กรและสำนักงานต่างๆ จะปรับลดขนาดตัวเองลง ส่งผลต่อความวิตกกังวลในเรื่องอนาคตของผู้คน โรคซึมเศร้าอาจได้รับการพูดถึงมากขึ้นไปอีกขั้น รวมถึงการฆ่าตัวตายและการก่ออาชญากรรมมีแนวโน้มมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจที่ผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก
แต่ทั้งนี้ ภายในปี 2030 จะมีอาชีพหรือสายงานอื่นๆ ซึ่งบางอาชีพอาจเป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่รู้จักเกิดขึ้นตามมาอีกมาก การเสริมสร้างความรู้หรือเพิ่มทักษะ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมไว้เพื่อรอรับโอกาสที่มาถึงในอนาคตอันใกล้
โลกส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลง
ทรัพยากรขาดแคลน ความยั่งยืนคือหัวใจสำคัญ
การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก หรือ Climate Change เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและกำลังช่วยกันหาทางแก้ไข เพราะโลกกำลังอยู่บนความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ น้ำแข็งขั้วโลกเหนือค่อยๆ ละลายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำทะเลหนุนสูง เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ สภาวะการขาดแคลนน้ำประปาหรือน้ำดื่มกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องเร่งหาทางรับมือ รวมไปถึงปัญหามลภาวะทางอากาศ อย่าง PM 2.5 ที่หนักและรุนแรงขึ้นทุกปี
จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อทุกสรรพสิ่งบนโลก ตั้งแต่จำนวนสัตว์ป่าที่ลดลง พื้นที่สีเขียวและป่าไม้ที่ร่อยหรอ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานที่เห็นได้ชัด ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Climate Anxiety’ หรืออาการวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตโลกรวน จนทำให้ทางการแพทย์ระบุให้เป็นอีกหนึ่งความป่วยไข้ที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่
ทั้งนี้ ในปีหน้าเราคงได้เห็นเหล่าองค์กร หน่วยงาน บริษัท และแบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนมากขึ้น ชนิดที่มีการผลักดันเป็นนโยบายจริงจังเลยก็เป็นได้ เห็นได้จากผู้ประกอบการเจ้าใหญ่หลายแห่งที่ตั้งเป้าว่าจะพิชิตภารกิจ Net Zero Emission หรือการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ในปี 2050
สำหรับประเทศไทย บ้านเราก็มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายนโยบายสิ่งแวดล้อม และผลักดัน พ.ร.บ.โลกร้อนตามหลักสากล แต่ยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร
เพราะหากลองเปรียบเทียบด้านสิ่งแวดล้อมของไทยในเวทีระดับโลกจะพบว่าเรายังมีปัญหาเรื่องนี้ในทุกมิติ
ยกตัวอย่าง รายงานล่าสุดโดยบริษัทบรรจุภัณฑ์ RAJA เผยว่า ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของโลกที่มีจำนวนขยะพลาสติกในทะเล 22.8 ล้านกิโลกรัม เช่นเดียวกับรายงานคุณภาพอากาศของ IQAir ปี 2021 ที่พบว่าบ้านเราอยู่อันดับที่ 45 จาก 117 ประเทศทั่วโลก และกรุงเทพฯ อยู่อันดับที่ 42 จาก 107 เมือง
ส่วนในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ ข้อมูลจากกรมป่าไม้บอกว่า หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 พื้นที่ป่าไม้ของไทยมีทั้งหมด 138,566,875 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 43.21 ของพื้นที่ประเทศ ส่วนในปี 2021 จำนวนป่าไม้ลดลงเหลือเพียง 102,212,434.37 ไร่ หรือร้อยละ 31.59 ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศ
ขยับมายังตัวเมืองกรุงเทพฯ ที่มีพื้นที่สีเขียวประเภทสวนสาธารณะและสวนหย่อม 8,917 แห่ง รวมเป็นพื้นที่ 25,893 ไร่ 61.05 ตารางวา คิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรที่ 7.49 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่า สำหรับเมืองสิ่งแวดล้อมที่ดี สัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน
จากตัวเลขสถิติที่ยกมา นั่นแสดงให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ยิ่งในปีหน้าที่ทั่วโลกโฟกัสเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ถ้าเรายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ขยะพลาสติก น้ำท่วม รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมประเทศไทยอาจย่ำแย่ไปอีกและทำให้ยากต่อการรับมือ
เพราะฉะนั้น สิ่งแวดล้อมคือเรื่องที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ เพิ่มการตระหนักรู้และส่งมอบแรงจูงใจให้ผู้คน ขยายไปให้ถึงนโยบายระดับประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างความรับผิดชอบต่อโลก นำไปสู่ความยั่งยืนซึ่งเป็นหัวใจหลักในการเปลี่ยนแปลงให้ได้
Sources :
Bangkokbiznews | bit.ly/3uW29lo
Euronews | /bit.ly/3VZrLtn
FutureTales LAB by MQDC | bit.ly/3BDz7dU, bit.ly/3uQHjDM, bit.ly/3uQHsHk
Thai PBS | bit.ly/3Yjl7j8
Thaipost | bit.ly/3FVNAoc
กรมป่าไม้ | bit.ly/3FXx72U