สเปนถกเถียงนโยบายแบนค้าประเวณี - Urban Creature

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศสเปนได้ชื่อว่าเป็น ‘ซ่องแห่งยุโรป’ โดยงานวิจัยของสหประชาชาติระบุว่า สเปนเป็นประเทศที่มีการค้าประเวณีมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก รองจากไทยและเปอร์โตริโก

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สเปนเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าประเวณีที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เพราะว่า การค้าบริการทางเพศในประเทศนี้ ‘ไม่ผิดกฎหมาย’ 

ทั้งนี้ การค้าประเวณีในสเปนกลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง เพราะนักเรียกร้องสิทธิสตรีออกมาต่อต้านการค้าประเวณีถูกกฎหมาย เพราะมองว่าเป็นการหาประโยชน์จากผู้หญิง ที่มีรากเหง้ามาจากการกดขี่ของผู้ชายต่อผู้หญิงนั่นเอง

ซึ่งนายเปโดร ซานเชซ (Pedro Sanchez) นายกรัฐมนตรีของสเปน ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะล่าสุด เขาได้ประกาศกร้าวต่อหน้าผู้สนับสนุนว่า เขาจะกำจัดการค้าประเวณีในประเทศให้หมดไป โดยให้เหตุผลว่า การค้าบริการทางเพศนั้นคือการกดขี่ผู้หญิง 

ย้อนไปเมื่อปี 2019 พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน (PSOE) ของนายซานเชซเคยให้คำมั่นสัญญาระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่าจะยุติการค้าบริการทางเพศ และได้ระบุว่าการค้าประเวณีคือ “หนึ่งในแง่มุมที่โหดร้ายที่สุดของความยากจนของสตรี และยังเป็นรูปแบบความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เลวร้ายที่สุดรูปแบบหนึ่ง”

กระนั้น ในช่วงสองปีที่ผ่านมา หลังจากนายซานเชซได้รับเลือกตั้ง ทางรัฐบาลของเขายังไม่มีการร่างกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี

นายซานเชซกลับมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้หญิงที่ถูกค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2017 ตำรวจสเปนพบผู้หญิง 13,000 คน

จากการบุกจับการค้ามนุษย์ โดยทางตำรวจระบุว่า อย่างน้อย 80% ของผู้หญิงเหล่านี้ถูกเอาเปรียบโดยบุคคลที่สาม ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงความปลอดภัยของผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้

การค้าบริการทางเพศเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสเปน เพราะสำหรับสเปนการค้าประเวณีนั้นไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1995 และยังกลายเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างมากในประเทศ ซึ่งแบบสำรวจในปี 2009 พบว่า หนึ่งในสามของผู้ชายชาวสเปนเคยใช้บริการทางเพศ และในปี 2016 สหประชาชาติได้ประเมินว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเซ็กซ์ของสเปนมีมูลค่าอยู่ที่ 3,700 ล้านยูโร หรือราว 143,000 ล้านบาท 

ปัจจุบันการค้าประเวณีในสเปนไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย และยังไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ค้าและผู้ซื้อบริการทางเพศ ตราบใดที่ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะหรือมีการค้าบริการผ่านคนกลาง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เฟื่องฟู โดยปัจจุบันสเปนมีผู้หญิงที่ค้าบริการทางเพศราว 300,000 คน

แม้ว่าพรรค PSOE ของนายซานเชซจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบในร่างกฎหมายจากพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายซ้าย ก่อนจะเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อรัฐสภา ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานและผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน แต่หลายฝ่ายก็เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายนี้แล้ว

ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียชาวสเปนหลายรายไม่เห็นด้วยกับการแบนการค้าประเวณีของรัฐบาลสเปน เพราะมองว่าจะทำให้ผู้หญิงหลายแสนคนตกงาน และยังจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่ามหาศาลให้แก่สเปนด้วย

นอกจากนั้น คณะกรรมการสนับสนุนพนักงานบริการทางเพศ (Committee of Support for Sex Workers) องค์กรการกุศลที่ให้การสนับสนุนผู้ให้บริการทางเพศในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสเปน ออกมาเปิดเผยว่า ‘การค้าบริการทางเพศด้วยความสมัครใจ’ และ ‘การค้ามนุษย์​’ นั้นไม่เหมือนกัน รัฐบาลสเปนเชื่อว่าผู้หญิงเหล่านี้ถูกบังคับให้ค้าประเวณี แต่ในความเป็นจริงนั้น มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ถูกบังคับ ไม่ใช่ทุกคน และยังอธิบายว่า เหตุผลที่ผู้หญิงจำนวนมากต้องทำอาชีพค้าบริการทางเพศก็เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้

พร้อมเตือนว่า นโยบายกำจัดการค้าประเวณีของรัฐบาลสเปนนั้นไม่น่าได้ผล เพราะจะผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้ลงไปอยู่ใต้ดินมากขึ้น หากเป็นเช่นนั้น ผู้ค้าบริการทางเพศจะต้องทำงานอย่างยากลำบากและอันตรายกว่าเดิม และผู้หญิงเหล่านี้จะไม่กล้าไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากพวกเธอตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม 

ยิ่งไปกว่านั้น การทำให้การค้าประเวณีในสเปนผิดกฎหมายอาจทำให้ผู้ค้าบริการทางเพศเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมาเฟียมากขึ้น เพราะมีการคาดการณ์เปิดเผยว่า กว่า 80% ของผู้หญิงที่ค้าบริการทางเพศคือเหยื่อของมาเฟีย พวกเธอต้องทำงานในอุตสาหกรรมนี้เพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม การข่มขู่ ความรุนแรง และวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

โดยทางคณะกรรมการสนับสนุนพนักงานบริการทางเพศได้เรียกร้องให้รัฐบาลสเปนรับฟังความคิดเห็นของผู้ค้าบริการทางเพศก่อนจะกำหนดใช้นโยบายดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลกระทบในแง่ลบน้อยที่สุด

Sources : 
BBC | t.ly/W9Gg 
i News | t.ly/p7vy

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.