ตามประสาคนที่ชอบบันทึกความรู้สึกตัวเองลงไดอารี ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่บันทึกของเรามีวันที่ยิ้มแฉ่งและหน้าบูดบึ้งผสมกันไป แต่จำได้ว่าวันที่เราไปเยือน Spacebar ZINE ร้านสิ่งพิมพ์อิสระเล็กๆ ของ วิว-วิมลพร รัชตกนก และ ภูภู่-วิศรุต วิสิทธิ์ นั้นเป็นวันที่เราเขียนหน้ายิ้มลงบนกระดาษ
อากาศดีนั่นก็หนึ่งเหตุผล เพราะตอนที่ก้าวเข้าร้านฝนกำลังหยุดตก อุณหภูมิเย็นได้ที่ แถมในร้านยังมีกระจกที่มองออกไปเห็นสีเขียวของต้นไม้ด้านนอกที่กำลังเอนไหวไปตามแรงลม
อีกหนึ่งเหตุผลคือการได้นั่งคุยกับวิว ผู้เปิดโลกแห่งสิ่งพิมพ์อิสระให้เราเห็นว่า ซีนนั้นสนุก สดใหม่ และเป็นอะไรมากกว่าที่เราเคยคุ้น
แน่นอนว่าถ้าหากเอ่ยถามคนในวงการซีนเมืองไทย วิวและ Spacebar Design Studio น่าจะเป็นชื่อที่ใครหลายคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่การได้มาที่ Spacebar ZINE แห่งใหม่นี้เป็นเหมือนการก้าวเข้ามาสู่บ้านของวิวและภูภู่ที่เต็มไปด้วยสิ่งที่พวกเขาหลงใหล ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์คัดสรรจากหลายประเทศทั่วโลก ไปจนถึงการเป็นพื้นที่ให้นักทำซีนหน้าใหม่เข้ามาทดลองทำซีนของตัวเองในหนึ่งวัน
ตลอดบทสนทนา เรายังเห็นพลังของคนทำสิ่งพิมพ์ในแววตาของวิวเต็มเปี่ยม สิ่งนี้ยืนยันประโยคหนึ่งที่เราได้ยินคนพูดกันมากมาย Print is not dead, but boring print will.
หญิงสาวที่โตมากับซีน
“เราเป็นคนชอบงานเขียน งานวาด และงานภาพถ่ายอยู่แล้ว บังเอิญว่าเราเติบโตมากับสำนักพิมพ์ a book เคยทำงานในเครือ daypoets มาก่อน เช่นเดียวกับภูภู่ วันหนึ่ง daypoets มีการจัดงาน Make a Zine ขึ้นโดยนิตยสาร a day นั่นคือครั้งแรกที่เราเริ่มทำซีน” วิวเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของความหลงใหลที่เธอมีต่อสิ่งพิมพ์อิสระ
“งานนั้นทำให้เราเห็นว่าซีนไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือทำมือเสมอไป แต่สามารถส่งโรงพิมพ์ได้ ทำโปรดักชันให้ดีขึ้นได้ ถูกพัฒนาไปเป็นอาร์ตบุ๊กได้ และทำให้เราเห็นว่ามี Potential ของตลาดสิ่งพิมพ์อิสระที่จะเติบโตได้ในบ้านเรา”
ในขณะเดียวกัน หญิงสาวก็ตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศถึงต้องมีงานแบบนี้เท่านั้นทุกคนถึงจะทำสิ่งพิมพ์ของตัวเองได้ วิวจึงอยากสร้างพื้นที่พิเศษขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งคราฟต์สิ่งพิมพ์อิสระโดยเฉพาะ
ซีนไม่ตายหรอก มันยังวนเวียนในชีวิตเราเสมอ
เพราะวิวเคยทำงานในแวดวงสิ่งพิมพ์มา การทำซีนในแบบฉบับของเธอจึงไม่ใช่อาร์ตบุ๊กอินดี้จ๋า ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นพ็อกเกตบุ๊กที่อ่านง่ายขนาดนั้น
“เหมือนเราอยู่ตรงกลาง” คือนิยามที่เธอมีให้ซีนที่ตนเองสนใจจะอ่านและสร้างสรรค์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ 17 18 19 ซีนเล่มแรกๆ ของวิวที่เธอเรียกมันว่า Book a Zine เพราะเป็นทั้งหนังสือและซีนในเล่มเดียวกัน เล่าเรื่องเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์อิสระในหลายๆ ประเทศที่เธอเคยไปเยี่ยมเยือน
“หลายคนมองว่าสิ่งพิมพ์ตายแล้ว แต่สำหรับเราสิ่งพิมพ์ไม่ได้ตาย สิ่งพิมพ์คงกลับมาวนเวียนในชีวิตพวกเราเสมอ แม้ว่านิตยสารจะล้มหายตายจาก แต่สิ่งที่จะทำให้สิ่งพิมพ์ยังคงอยู่ได้มันจะไม่ใช่เรื่องอัปเดต เพราะเราไม่มีทางทันอินเทอร์เน็ตได้ ฉะนั้นเทรนด์ของสิ่งพิมพ์ในยุคนี้คือการทำให้เนื้อหาอ่านได้นานขึ้น สะสมได้มากขึ้น
“ซึ่งมันก็ตอบรับกับสิ่งที่วงการนักเขียนและนักวาดพยายามทำกัน หลายคนพยายามทำเล่มของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งสื่อกระแสหลักแล้ว เช่นเดียวกับโรงพิมพ์ที่พยายามเปิดรับงานสิ่งพิมพ์ที่เป็น Self-public กันมากขึ้น พิมพ์จำนวนน้อยหรือ On demand ได้” วิวตกตะกอนสิ่งที่มองเห็นในปัจจุบัน
ซีนแบบ Spacebar ต้องน่ารัก เท่ และไร้กระบวนท่า
จากวันนั้นถึงวันนี้ Spacebar ZINE ก็กลายเป็นชื่อที่คุ้นหูคนในแวดวงสิ่งพิมพ์อิสระมานานกว่า 7 ปีแล้ว นอกจากจะเป็นพื้นที่ให้กับศิลปินไทยได้มาทำซีนของตัวเอง ในขาหนึ่ง ที่นี่ยังเป็นแหล่งดีไซน์เว็บไซต์พอร์ตโฟลิโอสำหรับศิลปิน นักวาด นักเขียนอีกด้วย
“ก่อนหน้านี้ก็ปิดๆ เปิดๆ ก่อนจะปิดถาวรไปเลยตอนโควิด” วิวเล่าเท้าความ ก่อนหน้านี้ Spacebar ZINE เคยมีหน้าร้านอยู่ที่อินทามระ ย้ายมาสุขุมวิท 31 และสุดท้ายก็มาลงตัวที่ตึก The Upper Ground จตุจักร ที่บรรยากาศรื่นรมย์อย่าบอกใคร เหมาะกับการอ่านและทำซีนเป็นที่สุด
“เราไม่อยากให้ที่นี่ดูเป็นร้านค้าแบบร้านค้า” เธอลากเสียง “อยากให้ดูเป็นสตูดิโอที่โชว์เคสซีนที่เราเคยทำกับศิลปินคนอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็โชว์เคสเล่มที่เราคัดสรรมา”
ใช่แล้ว นอกจากที่นี่จะเป็นพื้นที่ให้นักวาดนักเขียนและใครก็ตามได้มาทำสิ่งพิมพ์ของตัวเอง Spacebar ZINE ยังอยากเป็นพื้นที่รวบรวมสิ่งพิมพ์อิสระจากทั่วโลกที่วิวคัดมาเองกับมือด้วย
ซีนทั้งหมดที่คัดสรรมาตั้งอยู่บน ‘กำแพงเมืองซีน’ สีไม้บีชที่เธอสั่งทำพิเศษ รวบรวมสิ่งพิมพ์อิสระจากหลายประเทศทั่วโลก 40 เปอร์เซ็นต์มาจากจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอเมริกา ส่วนอีก 60 เปอร์เซ็นต์คือซีนของศิลปินไทย
“ซีนมีหลายประเภท จะมี Art Zine ที่เน้นวิชวล และ Personal Zine ที่เล่าเรื่องส่วนตัว ซึ่งจะเป็นประเภทที่เราคัดเข้ามามากกว่า เพราะเข้าใจง่าย มีการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างชัดเจน อีกประเภทหนึ่งคือซีนภาพวาดและภาพประกอบ นอกจากนี้ก็มี Fan Zine ที่เป็นซีนของแฟนๆ หนังหรือเพลง”
วิวย้ำว่า ไม่จำเป็นว่าสิ่งพิมพ์จะหมายถึงซีนที่เป็นหนังสือเล่มเท่านั้น แต่สิ่งพิมพ์ที่อยู่ในร้านยังเป็นสิ่งพิมพ์ที่ไร้กระบวนท่า จะเป็นได้ทั้งหนังสือเย็บเล่ม โปสเตอร์ เพย์บิล หรือชุดใบเสร็จก็มี
“สิ่งพิมพ์ทั้งหมดในร้านจะค่อนข้างน่ารักและเท่ เราได้แรงบันดาลใจมาจากฝั่งญี่ปุ่นค่อนข้างเยอะ เพราะซีนญี่ปุ่นจะมีรายละเอียดเล็กๆ ที่หลายคนไม่ค่อยใส่ใจ แต่เขาจะมีลูกเล่นบางอย่างที่สนุก ซึ่งซีนหลายเล่มในร้านเราเป็นอย่างนั้น”
ถัดจากกำแพงเมืองซีน มีชั้นวางชื่อ ZINE Library ที่จะรวบรวมเล่มที่ทางร้านไม่ได้ขาย แต่เป็นเล่มที่วิวซื้อมาสะสม ให้คนที่อยากทำซีนของตัวเองได้มาเห็นไอเดียของเรื่องเล่าและสเปกกระดาษ
ข้างๆ กันคือโต๊ะกลางห้องสำหรับเวิร์กช็อปทำซีน ซึ่งจะเปิดเป็นรอบๆ แทบทุกสัปดาห์ ให้ผู้สนใจสมัครเข้ามาทำซีนของตัวเองให้เสร็จภายใน 1 วัน
พื้นที่ของซีนที่ต่อยอดไม่รู้จบ
มีคำถามหนึ่งที่ติดอยู่ในใจเราคือ ในยุคที่หลายคนบอกว่าสิ่งพิมพ์ตายแล้ว วิวเคยหนักใจบ้างไหมกับการเปิดร้านขายและทำสิ่งพิมพ์อิสระของตัวเอง
“เราไม่ได้หนักใจ แต่มองว่าเป็นความท้าทายมากกว่า” หญิงสาวตอบตรง “เราไม่สามารถบอกได้แน่ชัดหรอกว่าเราจะโตไปในทิศทางไหน แต่ช่วงนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่น่าสนใจ เราเห็นกลุ่มคนที่อยากสร้างผลงานของตัวเอง กลายเป็นพื้นที่ของเราไม่ได้เอื้อให้แค่ฝั่งนักสะสมซีนหรือนักอ่านซีนเท่านั้น แต่เราเอื้อให้ฝั่งของคนสร้างงานด้วย
“ความท้าทายสำหรับเราตอนนี้มันไม่ใช่แค่การขายซีน แต่ท้าทายที่การทำงานกับนักสร้างสรรค์ พอเป็นสิ่งพิมพ์อิสระ เราจะไม่ได้คุยกันด้วยเม็ดเงินที่ยิ่งใหญ่ แต่เราคุยกันว่าเราจะสามารถทำให้งานของเขาซึ่งเขาภูมิใจ รัก และหวงแหน ออกมาให้คนอ่านได้สัมผัสยังไง”
ถึงที่สุดแล้ว ความคาดหวังที่วิวมีต่อ Spacebar ZINE นั้นแสนเรียบง่าย เพียงแค่อยากให้เป็นพื้นที่ที่คนรักและสนใจซีนได้หมุนเวียนเข้ามาเรื่อยๆ จนยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างแข็งแรง
“เราอยากให้คนมาที่ร้านกล้าเปิดดูสิ่งพิมพ์ที่อาจไม่ได้คุ้นหน้าคุ้นตา เล่มที่ก่อนหน้านี้เขาอาจจะไม่กล้าเปิดดู นอกจากนี้ พื้นที่ตรงนี้ยังมีกิจกรรม Zine Talk ที่เขาสามารถเข้ามาฟังและเห็นไอเดียความน่าสนใจของสิ่งพิมพ์ในโลกปัจจุบันได้ด้วย
“เคยมีคนทำโพลแล้วบอกว่าบ้านเรามีร้านสิ่งพิมพ์อิสระน้อย แต่สำหรับเรา เราคิดว่ามันไม่น้อยถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ไหนจะเด็กหลายๆ คนที่รวมตัวกันซื้อเครื่องริโซ่พรินต์เองด้วยซ้ำ เราคิดว่าการมีร้านสิ่งพิมพ์แบบนี้มันเอื้อกับคนเมืองในแง่ที่ว่า อะไรก็ตามที่เราเห็นว่ามีอยู่ มันแปลว่าสิ่งสิ่งนั้นยังมีชีวิตอยู่ และทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ของงานสร้างสรรค์มากขึ้น”
3 เล่มแนะนำจาก Spacebar ZINE
Colorful
“Colorful ของ Wataru Uchida เป็นอาร์ตบุ๊กที่รวมงานวาดของเขาช่วงโควิด เขาเก็บตัวอยู่ที่บ้าน และมองว่าความคิดทุกอย่างเป็นสีขาวดำ เขาเลยวาดทุกอย่างออกมาเป็นสีขาวดำ แต่กวนโอ๊ยด้วยการตั้งชื่อว่า Colorful ซึ่งลายเส้นน่ารักมาก”
สมัยนั้น สมัยนี้
“สมัยนั้นกับสมัยนี้ เป็นซีนของ แพร-ณิชาพร จิรพงศานานุรักษ์ รวบรวมบทสัมภาษณ์คนสองยุคสมัยถึงเรื่องขนบธรรมเนียม การใช้ชีวิต การเลือกคู่ครอง และการทำงาน ซึ่งมันสนุกมาก เป็นบทสัมภาษณ์ที่สนุกเพราะมันไม่ถูกตัดสินจากคนรุ่นไหนเลย เหมือนคนสองรุ่นนั่งข้างกันแล้วเล่าให้เราฟัง แล้วเราเอามารวมเล่มที่อ่านได้จากทั้งข้างหน้าและข้างหลัง”
Elevator to Nowhere
“เป็นซีนของ Pop & Zebra คู่รักนักทำซีนที่วาดรูปเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่จะใช้กดลิฟต์แทนนิ้วในช่วงโควิด แฟลชไดรฟ์ กุญแจ สำลี การ์ด ช้อน สไตล์ซีนของ Spacebar ZINE ก็จะเป็นประมาณนี้”