เรารู้จักประเทศเกาหลีใต้จากอะไร ? เพลง ซีรีส์ ภาพยนตร์ เกม การ์ตูน หรือแอนิเมชัน สำหรับประเทศไทยกระแสเกาหลีเริ่มเคลื่อนตัวเข้ามาประมาณปี ค.ศ. 2000 จากละครเรื่อง Autumn in my Heart รักนี้ชั่วนิรันดร์ ต่อด้วย My Sassy Girl ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม Full House สะดุดรักที่พักใจ เสริมทัพด้วยละคร Jewel in the Palace หรือ แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง ไปจนถึงเครื่องสำอาง แฟชั่น อาหาร คาแรคเตอร์ และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย
ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศที่สร้างเม็ดเงินมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร เกม การ์ตูน หรือเพลงต่างๆ เราจึงพามาดูกันว่าอะไรที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีมาไกลและกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไปในที่สุด
01 | เกาหลีใต้ 1 ใน 4 เสือของเอเชีย
จากประเทศที่เคยถูกจัดอันดับว่ายากจนที่สุดในโลกเพราะมีสงคราม สู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลกในวันนี้ ปัจจุบันเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก มีมูลค่ากว่า 1.63 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยประมาณ 30,757 เหรียญสหรัฐต่อปี อีกทั้งยังได้รับคัดเลือกเข้าไปอยู่ในกลุ่ม The Next 11 หรือประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 (Emerging Market) รวมกับบังกลาเทศ อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน เม็กซิโก ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ตุรกี และเวียดนาม
ย้อนกลับไปในขณะที่ประเทศกำลังเดินหน้าพัฒนา ในปี ค.ศ. 1997 กลับต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากพิษวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ทำให้เกาหลีใต้ต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศถึง 57 พันล้านเหรียญสหรัฐและจากวิกฤตดังกล่าวได้กลายเป็นแรงผลักดันมหาศาลให้เกาหลีต้องปรับตัวหันมามุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นกระแส Korean Wave หรือ Hallyu ดังไปทั่วโลกในปี ค.ศ. 2000
กระแสเกาหลี (Korean Wave) หรือ Hallyu คือปรากฏการณ์การแพร่ของวัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีใต้ออกไปทั่วโลก ผ่านสื่อบันเทิง เช่น เพลง ภาพยนตร์ เกมออนไลน์ และอื่น ๆ โดยปรากฏการณ์นี้สร้างรายได้ให้แก่เกาหลีใต้เป็นเงินกว่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านการส่งออกวัฒนธรรม ยกตัวอย่างการส่งออกละครโทรทัศน์เรื่อง แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง ที่ทำรายได้จากลิขสิทธิ์ถึง 103.4 ล้านเหรียญสหรัฐในตอนนั้น
02 | การมาของ ‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรม’
ในขณะที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลเกาหลีเริ่มเล็งเห็นว่า ‘วัฒนธรรมประจำชาติ’ ของตนเองนี่แหละที่มีมูลค่า ดังนั้นจึงมีการประกาศนโยบายเสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานทางวัฒนธรรมนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นไป เช่น เกิดองค์การมหาชน ศูนย์วิจัยทางวัฒนธรรม และสถาบันการศึกษาเทคโนโลยีทางวัฒนธรรมขึ้นมากมาย ทั้งยังมีการก่อสร้างและขยายศูนย์วัฒนธรรมและศิลปะทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังทุ่มเงินกว่า 5 หมื่นล้านวอน (ประมาณ 42 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 14 ก.พ. 2020) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรม (Cultural Industries) ครอบคลุมธุรกิจสาขาต่างๆ เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ต่อมาในปี ค.ศ. 2001 กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวได้จัดให้ในปีนั้นเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวเกาหลี ทั่วประเทศเลยจัดงานกันอย่างคึกคัก ตั้งแต่เทศกาลกีฬา เทศกาลดนตรี เทศกาลอาหาร เทศกาลแฟชั่น ไปจนถึงเทศกาลการละเล่นต่างๆ จนเกิดเป็นกระแส แต่ที่โดดเด่นและสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ได้แก่ เพลง ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ จนทำให้รัฐบาลเกาหลีมองเห็นช่องทางและหันมาจริงจังกับอุตสาหกรรมในภาคบันเทิงมากขึ้น
ในปี ค.ศ. 2004 เกาหลีใต้มีมูลค่าการส่งออกละครโทรทัศน์อยู่ที่ประมาณ 71.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 69.6% และในปีเดียวกันนี้เอง ราคาขายลิขสิทธิ์ละครเกาหลีต่อ 1 ยูนิต (ยูนิตละ 50 นาที) พุ่งสูงขึ้น 84% จาก 2,198 เหรียญสหรัฐ เป็น 4,046 เหรียญสหรัฐ ในช่วงเวลาเดียวกัน ภาพยนตร์เกาหลีก็มียอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 31 ล้านเหรียญสหรัฐไปถึงระดับ 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 141%
จากการจัดอันดับของอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมของโลก ในปี ค.ศ 2016 เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก จากเดิมเมื่อปี ค.ศ. 2010 อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสามารถสร้างรายได้ให้กับเกาหลีใต้ถึง 38 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 57 พันล้านเหรียญสหรัฐในอีก 5 ปีต่อมา และในปี ค.ศ. 2019 อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสามารถสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 64 พันล้านเหรียญสหรัฐ
03 | KOCCA = วัฒนธรรม เนื้อหา และความคิดสร้างสรรค์
ในปี ค.ศ 1998 เกาหลีใต้ได้ประกาศนโยบาย Korea : Culture, Creativity and Content เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ ด้วยการจัดสรรงบประมาณพัฒนาบุคลากรในวงการภาพยนตร์ ดนตรี การแสดง การออกแบบ ฯลฯ ต่อมาในปี ค.ศ 2009 ได้มีการก่อตั้งสถาบัน ‘The Korea Creative Content Agency’ หรือ ‘KOCCA’ ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ผ่านการร่วมมือจากหลายองค์ เพื่อวางแผน บริหารจัดการ และพัฒนาธุรกิจด้านวัฒนธรรมเกาหลีอย่างครบวงจร โดยการส่งเสริมให้เนื้อหาสาระความเป็นเกาหลี สอดแทรกลงไปในสื่อบันเทิงต่างๆ
หน้าที่ของ KOCCA คือการออกกฎระเบียบที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนภาคเอกชนโดยเฉพาะรายเล็กๆ ในการจัดตั้งธุรกิจด้านเนื้อหาวัฒนธรรม รวมทั้งยังร่วมลงทุนและให้กู้ ไปจนถึงมีสตูดิโอให้เช่าในราคาถูกอีกด้วย หน้าที่ของ KOCCA ยังครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนการขยายตลาดวัฒนธรรมไปยังต่างประเทศ เพื่อเป็นธุรกิจส่งออก ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานที่ต่างประเทศอยู่ทั้งสิ้น 8 สาขา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และจีน 2 สาขา
ปัจจุบัน KOCCA ได้ให้การส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมอยู่ 12 ธุรกิจ ได้แก่ ระบบโทรทัศน์คลื่นดิจิตอล (Broardcasting), เพลง (Music), เกม (Game), การ์ตูน (Comics), ภาพเคลื่อนไหว (Animation) , คาแรคเตอร์ (Character licensing), แฟชั่น (Fashion), การขยายไปยังต่างประเทศ (Overseas expansion), เทคโนโลยีวัฒนธรรม (Culture Technology R&D), การสร้างเนื้อหา สำหรับคนรุ่นหลัง (Next-generation content), การพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Human Resource Development), การสร้างศูนย์สนับสนุนและเรียนรู้ด้านธุรกิจ (CKL Business support center & Academy)
ไม่ว่าขาดเงินทุน ขาดสคริปต์ ไม่มีสถานที่ หรือต้องการรีเสิร์ชข้อมูลการตลาด KOCCA ก็สามารถอำนวยความสะดวกและจัดหาให้ได้ เรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่ซัพพอร์ตอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมของเกาหลีอย่างแท้จริง
04 | หลักสูตรปั้นคน เพื่อพัฒนาสินค้าวัฒนธรรม
กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ได้กำหนดทิศทาง สำหรับนโยบายทางวัฒนธรรมสำหรับคริสต์ศตวรรษที่ 21 ในรายงานที่เรียกว่า ‘วิสัยทัศน์ทางวัฒนธรรม 2000’ (Cultural Vision 2000) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย โดยในนั้นมีหนึ่งข้อที่บอกไว้ว่าต้องสนับสนุนการศึกษา เพื่อผลิตเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัย ‘Hongik University’ ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับว่ามีความโดดเด่นในการเรียนการสอนด้านศิลปะมากที่สุดในประเทศ ทั้งการศึกษาที่เป็นผู้นำเฉพาะทางมาโดยตลอด โดยหลักสำคัญของสถาบัน คือการมุ่งเน้นให้ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันมันกลายเป็นสัญลักษณ์และสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยวิชาเอกที่เป็นที่นิยม คือ จิตรกรรม การออกแบบ สถาปัตยกรรม และนิเทศศาสตร์
ส่วนมหาวิทยาลัย ‘Korea National University of Arts’ ก็ถือเป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติของเกาหลี ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลเกาหลี ตามนโยบายการผลิตบุคลากรเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม และเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัย Hongik ทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติเพียงแห่งเดียวที่มีจุดประสงค์เพื่อเป็นสถาบันชั้นนำในการสร้างศิลปินที่มีความสามารถเพื่องานศิลปะทุกประเภท โดยมหาวิทยาลัยประกอบไปด้วย 26 แผนกใน 6 โรงเรียน ซึ่งวิชาเอกที่เป็นที่นิยมของที่นี่ก็จะมีศิลปะการแสดง (โทรทัศน์, ภาพยนตร์ และ การเต้น) ทัศนศิลป์ นิเทศศาสตร์ และดนตรี เป็นต้น
หรือที่ ‘Chungkang College of Cultural Industries’ ก็ถือเป็นวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมเป็นหลัก โดยการเปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับแอนิเมชั่น การ์ตูน Manhwa เกม อาหาร แฟชั่น ดนตรีและละครเพลง รวมไปถึงสาขาวิชาการสื่อสารเคลื่อนที่
นอกจากนี้รัฐบาลเกาหลียังต้องการให้เกาหลีอยู่ในกระแสอย่างต่อเนื่อง จึงส่งเสริมให้บรรจุเนื้อหาสาระเกี่ยวกับประเทศเกาหลีในหลักสูตรชั้นประถมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษาของประเทศต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสังคมเกาหลีให้เป็นที่รู้จักอีกทางหนึ่งด้วย
5 | เกาหลีฟีเวอร์
ความพยายามของรัฐบาลเกาหลีในวันนั้น ส่งผลให้ทุกวันนี้วัฒนธรรมเกาหลีแผ่ขยาย และแทรกซึมเขาไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก ผ่านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม อย่างเพลง เกม ละคร ภาพยนตร์ การแต่งกาย การกิน ท่องเที่ยว ล้วนต่างได้รับการยอมรับจากผู้คน กลายเป็นตัวเลือกใหม่ของการบริโภคที่ช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวและการส่งออกไปขายเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ
จากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (Korea Tourism Organization) เฉพาะปี ค.ศ. 2003 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเกาหลีใต้เพียง 4.75 ล้านคน จนกระทั่งเกิดกระแสเกาหลีฟีเวอร์ขึ้น หลังจากนั้นก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อจะ ‘ตามรอย’ ละครเกาหลีสูงขึ้นถึง 12.2 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2013 และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 15.3 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2018 และหากนับมูลค่าของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในประเทศปี ค.ศ. 2015 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว