‘ศรีสะเกษ’ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ไม่เคยอยู่ในแผนท่องเที่ยวของเรา และเชื่อว่าใครอีกหลายคนคงคิดเห็นเช่นกัน เพราะแดนอีสานใต้แห่งนี้ถูกนิยามว่าเป็นเพียง ‘ทางผ่าน’ หรือ ‘เมืองรอง’
แต่หากเอ่ยถึงความโดดเด่นของจังหวัดใกล้ลุ่มแม่น้ำมูลแห่งนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็น ‘กีฬา’ เพราะที่นี่มีสวนสาธารณะและพื้นที่ทางธรรมชาติให้ผู้คนได้ใช้ออกกำลังกาย มีนักกีฬาที่มีชื่อเสียงทั้งด้านฟุตบอล มวย ยกน้ำหนัก วอลเลย์บอล ฯลฯ และยังเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬามานับครั้งไม่ถ้วน
ทว่าอีกสิ่งหนึ่งที่อาจมีทั้งคนที่รู้และไม่รู้คือ ความสร้างสรรค์ของเมืองศรีสะเกษนั้นไม่ใช่มีเพียงแค่กีฬา แต่ยังมีเรื่องของ ‘ดนตรี’ ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน และในช่วงวันที่ 25 – 27 สิงหาคม 2566 ที่นี่จะมีงาน ‘Sound of Sisaket (ซาวสีเกด) 2023’ ที่จะพาทุกคนไปสำรวจว่าเมืองศรีสะเกษนั้นใช้ดนตรีสร้างสรรค์เมืองได้อย่างไร
ก่อนวันงานจะมาถึง คอลัมน์ Neighboroot ขอรับบทเป็นนักท่องเที่ยวพาไปรู้จักเมืองศรีสะเกษให้มากขึ้น ผ่านภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในเมือง บทสนทนาถึงความทรงจำที่ผ่านมา วิถีชีวิตปัจจุบันของจังหวัดแห่งหนึ่งในดินแดนฝั่งอีสาน และวิธีคิดในการพัฒนาเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
ถ้าพร้อมแล้วออกเดินทางไปด้วยกัน
เมืองศรีสะเกษเมื่อวันก่อนและวันนี้
ฝนโปรยยามบ่ายพรมน้ำให้ต้นไม้และผืนนาสองข้างทางเข้าตัวเมืองศรีสะเกษเขียวชอุ่มสบายใจ เมื่อเข้าสู่เมืองสิ่งแรกที่พบเห็นคือ ‘วงเวียนแม่ศรี’ ที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมือง บริเวณนี้มีรูปปั้นของพระนางศรีสระเกศ รูปหล่อโลหะทองเหลืองรมดำที่เป็นดั่งสัญลักษณ์บอกให้รู้ว่ามาถึงเมืองศรีสะเกษแล้ว
ตำนานใต้ฐานรูปปั้นเล่าว่า ‘พระนางศรี’ เป็นคนสัญชาติกล่อม (ขอมแท้) สันนิษฐานว่าเป็นราชธิดาของท้าวสุริยวรมันกับพระนางพิณสวัณคราวดี ตำแหน่งเป็นอุปราชครองพิมานมงคลในแคว้นโคตรบูร
พระนางศรีสระผม เป็นผู้อำนวยการสร้างปราสาทสระกำแพง เป็นผู้รู้วิชานาฏศิลป์ ชำนาญการฟ้อน ครั้งหนึ่งทรงเป็นประธานในพิธีถวายเทวาลัยปราสาทสระกำแพง พระนางศรีได้เข้าพิธีสรงสนาน ลงอาบน้ำสระผมในสระกำแพง แต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศสวยงาม มีดนตรีบรรเลง ทรงฟ้อนรำบวงสรวงเดี่ยวหน้าเทวรูปพระวิษณุ อัญเชิญเทพเจ้าผู้ทรงฤทธาศักดานุภาพมารับมอบเทวาลัยเป็นที่สิงสถิต คนทั่วไปได้เห็นต่างชื่นชมในความงดงาม และถือเอาอาการสระผมของพระนางเป็นนิมิตตั้งชื่อบริเวณนั้นว่า ‘สระเกศ’ (เกศ แปลว่า ผม)
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองใหม่ แยกจาก ‘เมืองขุขันธ์’ มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านทางชายแดนเขมร พระราชทานชื่อเมืองว่า ‘เมืองศรีสะเกษ’ เพื่อเป็นการให้เกียรติและเป็นอนุสรณ์แก่พระนางศรีสระเกศ
ใกล้กับวงเวียนยังมีร้านอาหารเช้าเก่าแก่ ‘เจียวกี่’ ซึ่งเปิดบริการอยู่คู่ปากท้องของชาวเมืองมากว่า 80 ปี รวมถึง ‘จรวด อาหารเช้า’ อีกหนึ่งเจ้า เป็นสองร้านอาหารเช้าประจำเมืองที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกันบริเวณวงเวียน
ถัดออกมาจากวงเวียนแม่ศรี มีร้านค้าและอาคารพาณิชย์ที่ยังคงกลิ่นความคลาสสิกท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยอยู่สองข้างทาง เป็นตำแหน่งหนึ่งของเมืองที่ยังมีผู้คนแวะเวียนมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
จากเรื่องเล่าของป้าเจ้าของร้าน ‘ห้างแสงเจริญ’ ที่เปิดร้านขายเครื่องแบบและอุปกรณ์นักเรียนสืบต่อมาเป็นรุ่นที่สามบอกว่า หากย้อนกลับไป 50 – 60 ปีที่แล้ว เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นอาคารไม้ แต่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ อาคารจึงเปลี่ยนแปลงมาอย่างที่เห็น
“ร้านนี้ผ่านมาหลายรุ่น ทุกวันนี้ส่งต่อมาถึงรุ่นลูกแล้ว (ชี้มาที่ตัวเอง) แต่รุ่นหลานยังไม่มา เพราะยังเที่ยวสนุกอยู่ที่อุบลฯ” ป้าเจ้าของร้าน ‘บวรภัณฑ์ บุ๊คเซ็นเตอร์’ ที่ตั้งอยู่อีกฝั่งถนนพูดด้วยท่าทีติดตลก และเล่าความทรงจำของเธอให้เราฟัง
“ก่อนจะมีห้างฯ มีมือถือ คนที่นี่อ่านหนังสือกันเยอะ ร้านนี้ขายหนังสือมาตั้งนานแล้ว มีหนังสือเต็มไปหมด ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือการ์ตูน หนังสือเรียน หนังสือพระ ฯลฯ เรียกว่าเป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในศรีสะเกษ ตอนนี้หนังสือเหลือน้อยมาก” เรามองตามไปยังแผงหนังสือที่ว่างโล่ง และเดินสำรวจไปในร้านหนังสือ นอกจากหนังสือน้อยนิดก็ยังมีสินค้าเสริมสุขภาพมาช่วยเสริมรายได้
เช่นเดียวกับร้าน ‘งามศิลป์ สตูดิโอ’ ซึ่งเป็นร้านถ่ายรูปเก่าแก่ของเมืองศรีสะเกษที่เคยมีผู้คนมากหน้ามาใช้บริการ ป้าวาสนาซึ่งรับช่วงดำเนินกิจการมาจากสามี (อาเฮีย) ผู้ล่วงลับ เล่าให้เราฟังถึงผู้คนที่มาใช้บริการร้านถ่ายภาพแห่งนี้ “ทุกวันนี้คนลดลงจากร้อยเปอร์เซ็นต์เหลืออยู่ไม่ถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะยุคสมัยเปลี่ยน แต่ก่อนนี้ตื่นขึ้นมาโมงหนึ่งก็เปิดร้านแล้ว ตอนเย็นสองสามทุ่มก็ยังเปิดอยู่ มีเด็กมาคอยวิ่งเล่นอยู่แถวนี้ แต่เดี๋ยวนี้หกโมงทุ่มหนึ่งก็เงียบแล้ว”
ด้วยท่าทีเป็นกันเองและรอยยิ้มใจดี ป้าวาสนาพาเราเดินเข้าไปดูอุปกรณ์ทำมาหากินซึ่งเป็นกล้องฟิล์มคลาสสิกที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี บางตัวยังใช้งานได้ และบางตัวกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าตั้งไว้ประดับร้าน
งามศิลป์เปิดกิจการมา 70 ปี เริ่มตั้งแต่ยุคสมัยอากง (รุ่นที่ 1) ที่ใช้ฟิล์มกระจก ส่วนสมัยอาเฮีย (ลูกชายอากง) ใช้ฟิล์มพลาสติก เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลก็เป็นรุ่นลูกทั้งสามคนของป้าวาสนาในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีร้าน ‘รุ่งฟ้า’ ที่เคยเป็นร้านตัดรองเท้า ซึ่งเวลาต่อมา ช่างอ้วน หลานที่รับกิจการต่อจากเจ้าของร้านผู้เป็นลุง ก็กลายเป็นช่างเย็บรองเท้าประจำเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน
มากไปกว่าร้านรวงที่เรากล่าวถึง รอบเมืองยังมีร้านขายสินค้าเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โรงแรมเก่า ร้านบะหมี่รสเด็ด ร้านขายอุปกรณ์การเกษตร ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า รวมถึงห้างทองที่เปิดกิจการมาแล้วกว่า 90 ปี ฯลฯ
บ่ายแก่ราวสี่โมงเย็น ถัดมาจากบริเวณวงเวียนแม่ศรี ยังมี ‘วงเวียน 240 ปี ศรีสะเกษ’ สถานที่ที่ครึกครื้นทั้งในเวลาเช้าและเย็น รถยนต์แล่นวนหนาตาและผู้คนสัญจรไปมา เพราะบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟศรีสะเกษ จุดหลักบริการขนส่งสาธารณะที่ผู้คนในเมืองนี้ใช้เดินทางไปเรียน ทำงาน หรือเดินทางข้ามจังหวัด
นอกจากเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางแล้ว บริเวณสถานีรถไฟแห่งนี้ยังเป็นแหล่งรวมความอร่อย เพราะเป็นที่ตั้งของตลาดโต้รุ่งที่จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งแผงขายของยาวเหยียดให้ได้หิ้วกับข้าว หาขนมติดไม้ติดมือกลับบ้านไป หรือใครอยากนั่งชิลๆ กินแจ่วฮ้อนร้อนๆ แกล้มเบียร์เย็นๆ ก็ทำได้
จากการสอบถามพี่วินมอเตอร์ไซค์บริเวณหน้าสถานีรถไฟได้ความว่า เมื่อก่อนที่นี่เคยมีรถประจำทางวิ่ง แต่ต่อมาคนน้อยลง ไม่มีผู้โดยสาร รถประจำทางก็ถูกยกเลิกไป หากใครจะเดินทางต้องใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก เพื่อไปยัง บขส.ที่อยู่ห่างออกไปราว 2 – 3 กม.
เราเลือกเดินเล่นตามถนนเลาะไปตามทางรถไฟ ตรงถนนสายนี้ยังคงมีอาคารไม้ของทางสถานีรถไฟให้เห็นอดีตอยู่หลายหลัง มีโรงแรมเก่าแก่ของเมืองที่มีแผนเตรียมรีโนเวตให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง และบนกำแพงคอนกรีตในบางซอกซอยก็ยังมีงานกราฟฟิตี้ของกลุ่มศิลปินสร้างสีสันให้พื้นที่อยู่
ในความเคลื่อนไหวช่วงพลบค่ำของเมืองแห่งนี้ เราพบว่าเป็นการเคลื่อนที่ที่พอดีๆ ไม่เร่งรีบเกินไป ผู้คนคุ้นเคยหน้าตา เจอกันยิ้มทักทาย มองเห็นความเป็นชุมชนที่หาได้น้อยในเมืองใหญ่ เป็นเมืองรองที่ยังรองรับความเป็นพี่เป็นน้อง อยู่ร่วมกันด้วยความเอื้ออาศัย
จากต่างคนต่างไป ชาวเมืองศรีสะเกษรวมกันส่งเสียง
ดวงตะวันฉายแสงทำงานพร้อมผู้คนในเมืองศรีสะเกษ รถหลายคันจอดริมฟุตพาทตรงวงเวียน หญิงสาวในชุดข้าราชการจูงมือลูกน้อยในชุดพละเข้าร้านอาหารเก่าแก่ประจำเมือง พระหลายรูปออกมาทำความสะอาดลานวัด ร้านค้าเปิดแผงเหล็ก อีกหลายร้านข้างๆ ขยับบานประตูออกกว้างต้อนรับการทำงานในวันใหม่
กาแฟสักแก้วในยามเช้าคือเป้าหมายแรกของวัน เราเลือกเดินไปในย่านเดิมเพื่อมุ่งไปยังร้าน ‘Craft Cup’ ของ ‘ก๊อต-ศุภกิจ ชนะวงศ์’ เด็กศรีสะเกษที่เข้าไปเรียนออกแบบกราฟิกที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และใช้ชีวิตเป็นฟรีแลนซ์รับงานถ่ายภาพ จวบจนโควิดเข้ามา เขาตัดสินใจย้ายชีวิตกลับรังและได้เช่าพื้นที่โรงจอดรถเก่าของป้า เปิดคาเฟ่เพื่อหวังให้เป็นพื้นที่ของเพื่อนๆ หรือนักท่องเที่ยวได้เข้ามาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม พูดคุยรู้จักกัน โดยมีที่ให้นั่งทำงานและพื้นที่แสดงงานศิลปะที่เล่นดนตรีได้ ตามความตั้งใจที่อยากให้เป็นคอมมูนิตี้สำหรับผู้คน
“คนที่นี่ให้ความสำคัญกับงานดนตรี งานอาร์ต เพียงแต่พื้นที่และโอกาสที่มีให้พวกเขาแสดงมันน้อย และพอมันไม่ต่อเนื่องมันก็ซบเซาวนลูปไป คนที่มีฝีมือก็ย้ายไปกรุงเทพฯ เพื่อไปหางานเลี้ยงชีพ รุ่นน้องที่รู้จักที่ทำงานอาร์ตส่วนใหญ่ก็ไปที่อื่นกันหมดเลย อย่าง Neighboy (เนเวอร์บอย) ที่เพนต์กำแพง (ชี้มือไปบริเวณกำแพงไม่ไกลจากคาเฟ่) เป็นกลุ่มศิลปินที่ทำงานศิลปะในศรีสะเกษ ก็กระจายตัวกันไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆ บางคนไปเป็นครู บางคนก็รับงานฟรีแลนซ์ ต่างคนต่างไป”
อเมริกาโนเย็นจากเมล็ดที่ได้รสบลูเบอร์รีปลุกให้เช้านี้สดชื่นขึ้น เจ้าของคาเฟ่เล่าเรื่องบ้านตัวเองให้ฟังอีกว่า เมื่อก่อนโซนนี้เป็นโซนที่มีสำนักงาน ตึกแถว และร้านเกมอยู่ เดิมทีผู้คนมาอาศัยอยู่เยอะ พอเกิดการโยกย้ายไปเรียนไปทำงานอยู่ที่อื่นกัน ในซอยนี้ก็เลยไม่ค่อยมีคนทำกิจกรรมอะไร จากยุครุ่งเรืองก็ร่วงโรยเป็นเพียงที่อยู่อาศัย
“ตรงนี้คือตัวเมืองหลักของศรีสะเกษเลยใช่มั้ย” เราถามให้แน่ใจอีกครั้ง เจ้าของร้านย้ำเสียงดังฟังชัด “ใช่ นี่คือตัวเมืองหลักของจังหวัด มันเงียบมากจริงๆ”
แต่ในเมืองที่ว่าเงียบก็ยังมีช่วงเวลาที่ส่งเสียงรื่นเริงอยู่บ้าง จากการรวมกลุ่มช่วยกันผลักดันจนเกิดงาน Hongian Music Festival ที่จัดกันมาต่อเนื่องหลายปี โดยมีหัวเรือหลักนำทีมจัดงานคือ ‘เล็ก-พีวรายุส กองไพบูลย์’ นักร้องนำจากวง Desktop Error ซึ่งเป็นเทศกาลดนตรีที่รวมเอาวงดนตรีนอกกระแสน่าสนใจมาให้ได้ชมกันถึงศรีสะเกษ เช่น Youth Brush, Yena, Little Fox, Summer Dress, Into the Air, Srirajah Rockers, View from The Bus Tour เป็นต้น
“มันเป็นคนเฉพาะกลุ่มที่จัดงาน เป็นคนเฉพาะกลุ่มที่ผลักดัน พอเขาผลักดันกันจนท้อ สู้ไม่ไหวก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น” เจ้าของร้านสรุปสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับการขับเคลื่อนสิ่งใหม่ที่จะเข้ามาในเมือง
ส่วนในงาน Sound of Sisaket ที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง พื้นที่ของ Craft Cup จะได้ทำหน้าที่เป็นคอมมูนิตี้สมกับที่เจ้าของร้านหวัง รอคอยต้อนรับผู้มาเยือนให้ได้สัมผัสบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยกลิ่นกาแฟและชาหอมหวาน พร้อมกับร่วมรับชมและฟังบทเพลงจากหลายวงดนตรีจากชาวศรีสะเกษที่จะมาบรรเลงผลงานให้ได้ม่วนคักๆ
นอกจากฝั่งดนตรีนอกกระแสที่เจ้าของร้านกาแฟกล่าวถึง ในยุคที่ทุกคนเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ง่ายขึ้น ช่องทางต่างๆ มีมากกว่าแต่ก่อน ทำให้อุตสาหกรรมดนตรีของอีสานได้รับการมองเห็นมากขึ้นตามไปด้วย ศรีสะเกษจึงมีกลุ่มคนดนตรีมากมาย ที่ไล่นับดูแล้วน่าจะมีไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยค่ายเพลง
หนึ่งในนั้นคือ ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ ภาพยนตร์วัยรุ่นอีสานที่ประสบความสำเร็จจากการได้ฉายในโรงภาพยนตร์ ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ รวมถึงมี ‘เซิ้ง Music’ ค่ายเพลงที่เป็นส่วนหนึ่งของไทบ้านฯ ที่มีศิลปินมากมายผู้มีผลงานเพลงนับยอดวิวในยูทูบรวมกันแล้วเป็นหลักพันล้าน ซึ่งความสำเร็จทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเกิดขึ้นจากการรวมกันของกลุ่มเพื่อนชาวศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียงในภาคอีสาน ที่มีความฝันอยากสร้างภาพยนตร์เพื่อบอกเล่าวิถีความเป็นอยู่ในบ้านของตัวเอง
“ตอนที่ถ่ายทำไทบ้านฯ ภาค 2.2 เราสร้างฉากที่เป็นสโตร์ผักตั้งอยู่กลางทุ่งนา แต่ไม่ได้เปิดร้านจริงๆ ปรากฏว่าพอหนังมีคนดูเยอะ คนดูก็อยากมาเห็นสถานที่จริง คล้ายๆ ซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีที่คนอยากไปเที่ยวเกาะนามิ
“พอเห็นว่ามีคนสนใจอยากมาเห็นสถานที่ ปีต่อมาก็เลยจัด ไทบ้านแลนด์ เป็นเฟสติวัลดนตรีที่ปีแรกมีคนมาสี่ห้าพันคน พอปีที่สองมาประมาณหมื่นกว่าคน แต่พอเกิดโควิดมาเลยต้องหยุดจัด ตอนที่จัดงานเฟสติวัล นักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ ร้านอาหารคนเพียบ โรงแรมคนเต็ม ธุรกิจถูกกระตุ้น เรามีบุคลากรเพลงอยู่แล้ว แต่จะทำยังไงให้เกิดการสนับสนุนจากหลายๆ ภาคส่วนเข้ามาร่วมงานกัน” ‘กอล์ฟ-ไชยพล นามวงศ์’ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไทบ้าน สตูดิโอ จำกัด และเซิ้ง Music บอกเล่าถึงความคึกคักในศรีสะเกษที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้
กอล์ฟให้ความคิดเห็นต่อไปว่า โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมดนตรีอีสานได้รับความสนใจ นอกจากจะทำให้มีช่องทางแสดงผลงานมากขึ้น หรือเป็นช่องทางทำเงินแล้ว หัวใจสำคัญไปกว่านั้นคือการได้พบเจอเครือข่ายของคนดนตรีจากทั่วสารทิศในจังหวัด เกิดการชักชวนให้เข้ามารวมกลุ่มกันจนเป็นสมาคมคนดนตรีศรีสะเกษชื่อ ‘ตุ้มโฮม’ ซึ่งมีหน้าที่เป็นบ้านอีกหลังที่คอยช่วยเหลือผลักดันกันและกัน
“คิดว่าดนตรีน่าจะเป็นหลักในการเริ่มต้นให้เกิดการพูดคุยกัน เป็นก้าวแรกที่ทำให้กลุ่มธุรกิจ สื่อสร้างสรรค์ และสื่อต่างๆ เริ่มมาคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันมากขึ้น ในอนาคตเราอาจจะได้เจอเพื่อนๆ หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การเกิดขึ้นของสิ่งใหม่”
ค่ำคืนในเมืองศรีสะเกษยังคงมีฝนโปรยมา กลิ่นควันจากเตาหมูกระทะเจ้าเด็ดของเมืองลอยอวลในอากาศ ย่ำค่ำฝนบางลง ผู้คนยังทยอยเดินสลับเข้าออกในร้านอาหาร หลายคนเลือกเข้าไปหลบในบาร์ นั่งดื่มด่ำไปกับความสงบของเมืองพร้อมฟังเสียงฝนที่รวมตัวกันอีกครั้งส่งเสียงดังทั่วเมือง
เมืองสร้างสรรค์ในแบบฉบับเมืองศรีสะเกษ
ยามเช้าบริเวณสถานีรถไฟศรีสะเกษหนาแน่นไปด้วยผู้คนเช่นวันธรรมดา แต่เยื้องไปจากสถานีราวร้อยเมตร พื้นที่สวนสาธารณะที่ประดับด้วยตู้รถไฟ ในเช้าวันนั้นเป็นจังหวะที่เราได้พบกับตลาดนัดพระเครื่องประจำเดือนของย่าน ที่จะรวมเซียนพระทั้งในจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง มาตั้งแผงให้เช่าพระเครื่องอย่างหนาแน่นใต้ร่มเงาของต้นไทรใหญ่
“ที่นี่เช่าแผงขายคิดโต๊ะละสามสิบบาท เช้านี้เจ้านู้นได้ไปแล้วหมื่นห้า” เจ้าของแผงพระตรงหน้าชี้นิ้วไปทางแผงของเซียนพระข้างๆ
มองออกไปนอกถนน รถสามล้อกำลังปั่นตามหาผู้โดยสาร รถโรงเรียนสีเหลืองเขลอะสนิมยังคงวิ่งส่งเด็กนักเรียนผ่านไปเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า แม่ค้ารุ่นใหญ่แบกกระบุงข้าวโพด มันต้ม ขนมหวาน ไปตามเสียงเรียกของลูกค้า
เดินไปตามทางถนนอุบลฯ ในจังหวัดศรีสะเกษ เราได้พบกับ ‘ต้อม-รัฐวิทย์ อังคสกุลเกียรติ’ ผู้เป็นประธานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ ที่ชวนให้เราทำความรู้จักเมืองศรีสะเกษให้มากขึ้น
ต้อมเล่าให้ฟังว่า เดิมทีศรีสะเกษนั้นมีรากฐานเป็นเมืองเกษตร และมีผู้คนที่ชื่นชอบกีฬา จนถูกคัดเลือกให้เป็นเมืองกีฬา 6 เมืองแรกจากการประกาศของการกีฬาแห่งประเทศไทย
ตลอดระยะเวลา 30 – 40 ปีที่ผ่านมา เมืองแห่งนี้ได้ถีบตัวเองจากจังหวัดที่ยากจนลำดับท้ายๆ ของประเทศพัฒนา ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 50 กว่าๆ และกำลังพยายามผลักดันทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองในเวลาต่อไป
“ตัวเมืองศรีสะเกษจะมีย่านเมืองเก่ากับย่านเมืองใหม่ เช่น บริเวณโรงเรียนเทศบาล 1 ที่เรียกว่าตลาดศูนย์การค้า สมัยผมเด็กๆ ถนนเกือบทั้งสายจะมีแต่คนทำงานเกี่ยวกับการฉายหนังกลางแปลง แต่ปัจจุบันเมืองเปลี่ยน อุตสาหกรรมเปลี่ยน ตึกก็ถูกเปลี่ยนสภาพไปทำธุรกิจประเภทอื่นแทน
“แต่เมื่อสามสิบถึงสี่สิบปีก่อน เรื่องของการทำเมืองสร้างสรรค์มันไม่ได้ถูกพูดถึง เราไม่ได้มีการอนุรักษ์ไว้ แต่สิ่งที่ทำให้เราสามารถไปสู่เมืองสร้างสรรค์ได้คือ เราจะเห็นว่าในกระแสห้วงเวลาสิบปีที่ผ่านมา เราเริ่มมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เขามาทำหนังทำเพลง สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัด และเขาก็เริ่มรวมกลุ่ม ขยายความร่วมมือให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ
“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เดิมทีถ้าเราไม่ได้เข้ามาร่วมกลุ่ม ไม่ได้เข้ามาส่งเสริม คนก็ไม่รู้ มันเลยเป็นเหตุผลที่เราพยายามจะรวมคนกลุ่มนี้ให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้ เพื่อให้คอมมูนิตี้ตัวนี้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่หรือคนที่อยู่ในเมือง ได้เห็นความสำคัญและเห็นศักยภาพของการที่เราจะเป็นเมืองสร้างสรรค์”
จากคำบอกเล่าของประธานหอการค้าฯ ทำให้เราได้เห็นอีกว่า ในจังหวัดเองก็มีการจัดงานดนตรีเกิดขึ้นหลายครั้งและจัดกันเป็นประจำติดต่อกันมา 10 กว่าปี เช่น ‘โครงการดนตรีในสวน’ ที่รวมวงดนตรีของลูกหลานศรีสะเกษไปบรรเลงเพื่อให้คนออกกำลังกายและคนที่ไปพักผ่อนหย่อนใจได้ฟัง
หรือแม้กระทั่งเฟสติวัลประจำเมืองอย่าง ‘งานประกวดวงโยธวาทิตโลก’ ที่จัดติดต่อกันมา 6 – 7 ปี ต้อนรับวงจากต่างประเทศ ทั้งเกาหลีใต้ ภูฏาน โปแลนด์ อเมริกาใต้ ฯลฯ ซึ่งในปีนี้งานประกวดวงโยธวาทิตโลกก็กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงธันวาคมนี้
“การมีอีเวนต์ช่วยเติมพลังให้เมืองมีความสดใหม่เสมอ ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเมืองนี้มีกิจกรรมดีๆ ที่เหมาะกับเขา กลุ่มที่เป็นครอบครัวก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่เมืองยากจนล้าสมัย แต่เป็นเมืองที่มีอีเวนต์ดีๆ ที่จะพาลูกพาครอบครัวมาดูได้ ซึ่งผมคิดว่าการที่เราทำแบบนี้มันเป็นการสร้างทิศทางให้กับทุกคนในศรีสะเกษได้มองเห็นว่า เมืองของเราไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เมืองเกษตร แต่ยังมีอย่างอื่นด้วย
“เราพยายามผลักดันให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมือง ผมคิดว่าเด็กๆ จะได้ประโยชน์โดยตรง เขาจะได้แรงบันดาลใจ ได้แรงจูงใจ เพื่อนำไปสร้างอาชีพหรืออาจอยากกลับมาพัฒนาเมืองนี้ต่อ
“อย่างปีแรกที่จัดงานประกวดวงโยธวาทิตโลก วงจากศรีสะเกษมีเข้าร่วมอยู่วงสองวง แต่หลังจากนั้นมาเด็กศรีสะเกษได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น”
นอกจากนี้ ประธานหอการค้าเล่าถึงงาน Sound of Sisaket (ซาวสีเกด) 2023 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 25 – 27 ส.ค. 2566 ณ บริเวณวงเวียนแม่ศรี (ถนนราชการรถไฟ 1) ให้เราฟังว่า จะใช้พื้นที่บริเวณถนนเส้นสถานีรถไฟสำหรับการจัดงาน มีเวทีสำหรับโชว์เกี่ยวกับดนตรีตลอดสามวัน เพราะปีแรกมีแค่วันเดียว แต่ปีนี้จะจัดให้ถึงสามวันตามคำเรียกร้อง ทั้งยังมีตลาดนัดที่นำทุกสินค้าสร้างสรรค์มาให้ได้ช้อปกันกว่า 70 ร้าน
มากไปกว่านั้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ยังได้เตรียมพัฒนาสถานที่บริเวณทางรถไฟให้มีเครื่องเล่นดนตรีประยุกต์ โดยนำเอารูปแบบมาจากเครื่องดนตรีโบราณ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคน 6 ชาติพันธุ์ คือ ส่วย ลาว เยอ เขมร จีน ไทย ที่นับเป็นความหลากหลายที่รวมอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ มาจำลองเอาไว้ในพื้นที่เรียนรู้ด้านดนตรี เสมือนเป็น Music Playground ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้และเล่นดนตรี รวมถึงมี Exhibition ที่สถานีรถไฟให้ได้ร่วมทำกิจกรรม Interactive ต่างๆ อีกด้วย
“ผมคิดว่า Sound of Sisaket จะเป็นเวทีที่ทำให้พวกเราชาวศรีสะเกษได้ส่งเสียงให้ทุกคนได้รู้ว่า ที่นี่มีจุดเด่นในเรื่องของศิลปะ โดยเฉพาะเรื่องของดนตรี และได้รวมเหล่าคนที่ชื่นชอบในเรื่องของดนตรีมาแสดงออกร่วมกัน เราอยากประกาศให้ประเทศไทยและทั่วโลกรู้ว่า ถ้าพูดถึงดนตรีอีสาน ต้องนึกถึงศรีสะเกษ”
ต้อมทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม พร้อมเชิญชวนให้คนที่สนใจหรือใครที่ยังไม่เคยมาเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ได้ลองมาชมความสวยงามของเมืองที่แสนเรียบง่าย สัมผัสวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนและรับฟังเสียง ‘ดนตรี’ ที่เมืองศรีสะเกษจะร่วมกันบรรเลงให้เมืองได้พัฒนาไปด้วยความสร้างสรรค์
เกี่ยวกับ CEA หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ทำงานร่วมกันภายใต้โครงการ Thailand Creative District Network (TCDN) ที่ช่วยส่งเสริมการสร้างเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทยกว่า 33 เมืองทั่วประเทศ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุบลราชธานี สกลนคร นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ เลย และอุดรธานี
โดย ‘ศรีสะเกษ’ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก TCDN เมื่อ พ.ศ. 2563 เพื่อสนับสนุนให้ตัวแทนในพื้นที่จากทุกจังหวัดที่มีความพร้อมและต้องการพัฒนาย่านของตน ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันค้นหา พัฒนา และต่อยอดสินทรัพย์ในท้องถิ่น ปลุกปั้นให้พื้นที่นั้นๆ ก้าวสู่การเป็น ‘พื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อย่างยั่งยืน
ติดตามความเคลื่อนไหวของงานได้ที่ Sound of Sisaket (ซาวสีเกด) 2023