สมคิด คชาพงษ์ ช่างแทงหยวกสายวัดอัปสร - Urban Creature

หากพูดถึงคำว่า แทงหยวก บางคนอาจแอบขมวดคิ้วเพราะนึกไม่ออกว่ามันคืออะไร หรือไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ แท้จริงแล้ว แทงหยวกคือศิลปะไทยโบราณชนิดหนึ่ง ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาจากการแทงหยวกกล้วยให้เป็นลวดลายสวยงามที่ปัจจุบันหาดูได้ยาก 

ครั้งนี้ เราจึงพาย้อนเวลาไปท่องโลกศิลปะการแทงหยวกกับ คุณสมคิด คชาพงษ์ ครูช่างแทงหยวก สายวัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร ที่จะถ่ายทอดศิลปะแขนงนี้ให้ชมแบบไม่มีกั๊ก ก่อนวันสัมภาษณ์ คุณครูสมคิดยกหูโทรศัพท์บอกเราว่าเตรียมต้นกล้วยพร้อมแล้วนะ แถมยังเปรยถึงการตำน้ำพริกด้วยตัวเองเพื่อทำเมนูพิเศษอย่างขนมจีนและแกงเขียวหวานฟัก รอเลี้ยงพวกเราด้วย แค่นี้ก็ทำให้เราใจฟูมากๆ นับวันรอล้อหมุนออกเดินทางเพื่อตามรอยต้นกล้วยไปยังจังหวัดนนทบุรีบ้านคุณครูอย่างใจจดใจจ่อ

จากหยวกกล้วยธรรมดา ถูกรังสรรค์ลวดลายได้อย่างงดงามเพียงปลายมีด นั่นคือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปะที่เรียกว่า ‘การแทงหยวก’ นอกจากความประณีตละเอียดลออ สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือความมุ่งมั่นฝึกฝนจนชำนาญของช่างแทงหยวกที่ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่คนแล้ว และคุณครูสมคิด คชาพงษ์ คือหนึ่งในช่างที่ลงมือแทงหยวกมาร่วม 50 ปี ทั้งยังเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยอย่างดีในแวดวงช่างแทงหยวก จากผลงานอันโดดเด่นจนได้รับการยกย่องให้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ช่างแทงหยวก ประจำปี 2563 จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)

เด็กชายสมคิดแทงหยวกครั้งแรก

วัยเด็กของหลายคนอาจสนุกสนานกับการวิ่งเล่น แต่สำหรับเด็กชายสมคิดการนั่งเรือเอี้ยมจุ๊นติดตามปู่กับพ่อ ออกไปแทงหยวกตามวัดต่างๆ กลายเป็นความสนุกอย่างหนึ่งในชีวิต จากเด็กน้อยที่ไม่ได้สนใจศิลปะแขนงนี้กลับซึมซับจนหันมาจับมีดแทงหยวกครั้งแรกตั้งแต่ชั้น ป.2 (โห ถ้าเทียบกับเราในวัยเดียวกันตอนนั้นคงยังวิ่งเล่นอยู่แน่ๆ)

“การเดินทางในสมัยก่อนยังไม่เจริญ บางวัดหรือสถานที่ต่างๆ ถนนยังเข้าไม่ถึงเลยด้วยซ้ำ การเดินทางเลยใช้เรือเป็นหลัก ทำให้ช่างแทงหยวกในสมัยก่อนกระจายตัวอยู่ตามวัดในหัวเมืองต่างๆ ซะเป็นส่วนใหญ่ ครูเองก็เริ่มต้นซึมซับวิถีช่างแทงหยวกตั้งแต่ตอนนั้น สมัยก่อนตอนเป็นเด็ก ครูนั่งหัวเรือตามปู่กับพ่อไปวัดทุกครั้งที่มีงาน ไปนั่งเล่น นั่งดู ถึงเวลากินก็กินกับเขา ทำไม่เป็นหรอกก็ไปดูเขานั่งทำเฉยๆ (หัวเราะ) ยิ่งช่วงหน้างานศพ มีนาคม เมษายน พฤษภาคม ช่วงนี้งานจะชุมมาก แทบจะกินนอนกันที่วัดเลย

“หลังจากนั้นไม่นานปู่ลองโยนหยวกกล้วยให้ลองนั่งแทงดู แต่แทงยังไงก็ไม่สวยสักที เบี้ยวไปเบี้ยวมา ปู่ก็เลยแนะนำให้ใช้เหงือกกล้วยตานีเอามาวางทาบกับกาบกล้วยเป็นไม้บรรทัด ถามว่าไอ้ส่วนเหงือกกล้วยอยู่ตรงไหน ให้ลองสังเกตตรงขอบๆ ของกาบกล้วยดู อยู่ตรงนั้นแหละ พอเจอแล้วก็ฉีกออกมาแล้วชุบน้ำนิดหน่อยก็เป็นอันใช้ได้ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มฝึกครั้งแรกเหงือกกล้วยจะช่วยได้มาก แต่กว่าจะได้ก็หมดต้นกล้วยไปหลายต้นอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ)

“แต่ถ้ายังไม่แม่นในส่วนของลาย อาจจะต้องเริ่มตั้งแต่การฝึกร่าง ฝึกผูกลายต่างๆ ลงบนกระดาษ พอฝึกคล่องแล้วก็ค่อยลองไปแทงลงบนหยวกกล้วยจริงๆ วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความแม่นยำ เพราะการแทงหยวกช่างจะไม่นิยมทาบลายแล้วแทงตาม แต่จะเป็นการแทงแบบฟรีแฮนด์ล้วนๆ ดังนั้นความชำนาญและความแม่นยำจึงสำคัญมาก ต้องฝึกฝนจนชำนาญ อย่างตัวครูเองก็คลุกคลีตีโมงอยู่ในวงการศิลปะแทงหยวกเกือบห้าสิบปีแล้ว”

ตลอดชีวิตการเป็นช่างแทงหยวก ครูสมคิดมีโอกาสได้ไปแทงหยวกหลายงาน ทั้งงานเล็กและงานใหญ่ แต่งานที่ประทับใจและจำไม่ลืม คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมช่างจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน (เชิงตะกอน) ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

“ตอนนั้นพอครูได้รับการติดต่อจากสำนักพระราชวังก็รู้สึกตื้นตันมากที่ฝีมือการแทงหยวกของครูซึ่งพยายามสานต่อมาเกือบห้าสิบปีได้รับการยอมรับให้มีส่วนร่วมในงานสำคัญ เรียกว่าเป็นก้าวที่ครูภูมิใจมาก”

หยวกเสาติดดอก

นั่งไทม์แมชชีนตามรอยหยวกกล้วย

เราลองนั่งค้นหาความเป็นมาของงานแทงหยวกว่าที่จริงแล้วจุดเริ่มต้นอยู่ที่ไหนกันแน่ ก็พบว่ามีข้อมูลค่อนข้างหลากหลาย แต่ที่เห็นภาพชัดที่สุดคงเป็นสมัยพระนเรศวรมหาราช ซึ่งขณะนั้นมีการออกรบบ่อยครั้ง หากมีการตายเกิดขึ้นที่ไหนก็จะทำการเผาที่นั่นเลย โดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นเชิงตะกอน แล้วนำหยวกกล้วยมาคลุมเชิงตะกอนก่อนเผา ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ตกเป็นของช่างแทงหยวก และนับแต่นั้นเป็นต้นมาหลังจากหมดยุคของการออกรบ ช่างแทงหยวกส่วนใหญ่จึงประจำอยู่ตามวัดต่างๆ มีการพัฒนาเทคนิค การคิดค้นลวดลายการแทงหยวกส่งต่อกันมาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นลวดลายที่สวยงามแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน 

“ถ้าพูดถึงศิลปะแทงหยวก สืบค้นข้อมูลจะรู้เลยว่ามีมายาวนานมาก ซึ่งประเทศไทยถือเป็นชาติแรกและชาติเดียวในโลกที่มีงานช่างแทงหยวก เรียกว่าเป็นงานช่างของคนไทยโดยแท้เลย ที่สำคัญ ยังใช้ได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืองานอวมงคล

“อย่างงานมงคลก็จะเป็นพวกงานเทศน์มหาชาติ ตกแต่งรถบุปผชาติ ตกแต่งเรือแห่พระ ก่อพระเจดีย์ทราย ลอยกระทง หรือแบบที่ทันสมัยขึ้นมาหน่อยเขาจะใช้ทำเป็นฉากในงานบวช งานแต่งงาน ทำเป็นซุ้มเข้างานก็มีอยู่บ้าง แล้วก็งานอวมงคลหลักๆ เลยก็งานศพ คนส่วนใหญ่จะได้เห็นงานแทงหยวกกันในงานนี้เลยล่ะ นอกจากความสวยงามที่ทำให้ผู้ที่ล่วงลับครั้งสุดท้ายแล้ว ยังถือเป็นปรัชญาทางธรรมผ่านการแทงหยวกที่ดีข้อหนึ่งเลย เขาว่าความสดสวยไม่ช้าก็เหี่ยวแห้ง เหมือนชีวิตของคนเราย่อมร่วงโรยไปตามกาลเวลา 

“อย่างในศาสนาอิสลามก็มีใช้ศิลปะแขนงนี้เหมือนกันในพิธีขลิบอวัยวะเพศชาย โดยจะแทงหยวกขึ้นมาเป็นแท่นเพื่อให้เด็กขึ้นไปนั่งทำพิธี ซึ่งการแทงหยวกนี้ก็เหมือนเป็นตัวแทนของการแสดงความเคารพ ให้เกียรติ เฉลิมฉลอง ไปจนถึงการรับขวัญ แตกต่างตามแต่ละโอกาสและงานที่ถูกจัดขึ้น”

เราเองก็เพิ่งรู้ว่าศิลปะแขนงนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่วัดหรือในศาสนาพุทธเท่านั้น และนอกจากการนำศิลปะแทงหยวกมาใช้ในโอกาสต่างๆ แล้วยังมีเอกลักษณ์ที่แบ่งออกไปตามแต่ละตระกูลอีกด้วย อย่างคุณครูสมคิดเรียกว่าเป็นตัวแทนของสายวัดอัปสรฯ ที่สืบต่อกันมาจนถึงรุ่นที่ 7 

พอเริ่มพูดคุยกับคุณครูสมคิดจึงทำให้เกิดความคิดที่ว่า นี่อาจเป็นเสน่ห์ของศิลปะไทยที่ไม่เหมือนชาติอื่น ยิ่งประยุกต์เอาของใกล้ตัวอย่างต้นกล้วยมาสร้างคุณค่า จนกลายเป็นงานศิลปะที่ยากจะเลียนแบบ และนอกจากความสวยงามอ่อนช้อยที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว การฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดความชำนาญก็ยิ่งเสริมคุณค่าให้ศิลปะแทงหยวก เหมือนกับคุณครูสมคิดที่แทงหยวกให้เราดูแบบสดๆ โดยไม่มีการร่างเส้นแต่ใช้ความจำและความแม่นยำล้วนๆ 

ตัวจริงเรื่องแทงหยวกต้องสายวัดอัปสรสวรรค์ฯ

หากพูดถึงสายช่างแทงหยวกตัวจริงในประเทศไทย จะมาจากต้นตระกูลที่มาจากวัดใหญ่เป็นส่วนมาก และสายวัดอัปสรฯ ก็เป็นอันดับต้นๆ ที่ขึ้นชื่อเรื่องฝีไม้ลายมือ คุณครูสมคิดก็เป็นหนึ่งในลูกหลานของคุณปู่ทวดหมื่นสวัสดิ์ประชารักษ์ (จ้อย ม่วงนุ่ม) ต้นตระกูลช่างแทงหยวกสายวัดอัปสรสวรรค์ฯ ซึ่งสมัยนั้นได้มีโอกาสถวายงานรัชกาลที่ 5 จนได้รับพระราชทานหยวกติดพิมพ์โปรยถม หรือตัวพิมพ์เครื่องถม อุปกรณ์ชั้นสูงที่ใช้ในการแทงหยวกในสมัยก่อน ส่งต่อกันมาเรื่อยจากรุ่นคุณปู่ขันธ์ คุณพ่อเชิด จนถึงคุณครูสมคิดที่เป็นทายาทรุ่นปัจจุบันด้วย

“การแทงหยวกของสายวัดอัปสรฯ สังเกตได้เลยเราจะแทงลายแบบเกลียวเป็นหลัก อย่างเกลียวกนก เกลียวใบเทศ หรือลายรักร้อย จะเป็นลายที่ไม่ค่อยเหมือนของคนอื่นเขา ในตระกูลครูทุกคนจะมีลายไม้ตายเฉพาะตัวที่เขียนขึ้นมาเอง และความชำนาญในการลงน้ำหนักมือที่พอดี ไม่ยกมือออกจากกาบกล้วยจนกว่าจะฉลุลวดลายเสร็จ ต้องตั้งใจมีสมาธิมากๆ เครื่องมือบางชิ้นที่ครูมีก็ได้รับมรดกตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะตัวพิมพ์เครื่องถมที่ใช้ในการสร้างสรรค์ลวดลายที่เป็นแบบแผนเฉพาะของช่างสายตระกูลวัดอัปสรฯ เลย

“อีกอย่างที่สำคัญคือการเลือกใช้ต้นกล้วยตานีสายพันธุ์น้ำผึ้งเป็นหลัก เพราะรังผึ้งที่อยู่บริเวณหยวกกล้วยนั้นมีความแน่น อุ้มน้ำได้เยอะ ลำต้นใหญ่ยาว สีสันสวยงามเหมือนงาช้าง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะสายพันธุ์ นอกจากส่วนที่เป็นหยวกกล้วยแล้ว ยังมีการใช้ผัก และผลไม้ประกอบเข้าไปด้วย อย่างแตงโม ฟักทอง มะละกอ จะนิยมนำมาสลักเป็นดอกไม้และใบไม้ ด้วยสีสันที่สดเมื่ออยู่คู่กับหยวกกล้วยสีขาวแล้วก็ยิ่งช่วยส่งเสริมกัน ครูว่านี่แหละเป็นตำรับเฉพาะของสกุลช่างวัดอัปสรสวรรค์ฯ”

เราเคยได้ยินมาว่าต้นกล้วยเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์รอบด้าน นอกจากกินผลแล้ว ลำต้น ใบก็ยังมีประโยชน์เยอะมากไม่แพ้กัน เลยอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า นอกจากประโยชน์ด้านความสวยงามที่นำมาใช้ในศิลปะแทงหยวกแล้ว หยวกกล้วยมีประโยชน์อย่างอื่นอีกไหมนะ 

“มีสิ” คุณครูสมคิดตอบเราอย่างหนักแน่น 

“เหตุผลที่ส่วนใหญ่เขาเลือกใช้แทงหยวกในงานศพกันนอกจากประดับประดาเพื่อความสวยงามแล้ว หยวกกล้วยยังอุ้มน้ำได้นานอย่างต่ำหนึ่งถึงสองวัน ยิ่งถ้าอากาศไม่ร้อนก็ยังคงสภาพอยู่ต่อไปได้นานขึ้น และคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งคือการทำเป็นผนังกั้นความร้อนเวลาเผาศพ เพราะกล้วยตานีอย่างที่บอกมีรังผึ้งเยอะก็ยิ่งอุ้มน้ำไว้เยอะ ซึ่งในสมัยก่อนสักประมาณห้าสิบหกสิบปีที่แล้ว เขาจะเผากันแบบเชิงตะกอนโล่งๆ ไม่เหมือนในปัจจุบันที่มีเมรุ มีเตาเผาในพื้นที่มิดชิด โดยก่อนจะเผาศพเขาก็จะเอาหยวกกล้วยที่แทงหยวกเอาไว้ประดับในตอนแรก นำมาแยกชิ้นส่วนแล้วตั้งเป็นผนังกันไฟไม่ให้ปะทุออกมา”

หยวกลายล้วน (หยวกปักฐาน)

แทงหยวกให้ดีต้องครบหนึ่งเที่ยว

นับแต่นั้นมา กล้วยตานีก็กลายเป็นวัตถุดิบหลักของศิลปะการแทงหยวก แต่กว่าจะแทงหยวกออกมาสำเร็จสมบูรณ์แล้วนำไปประกอบพิธีต่างๆ ได้นั้นจะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ครูสมคิดไม่รอช้าหยิบหยวกกล้วยที่แทงเอาไว้เป็นตัวอย่างพร้อมอธิบายให้เราฟังอย่างใจเย็น

“รายละเอียดของการแทงหยวกหลักๆ ครูยกตัวอย่างเป็นเที่ยวแล้วกัน หนึ่งเที่ยวในการแทงหยวกหมายความว่าหนึ่งด้าน ถ้าให้สมบูรณ์ต้องมีสี่เที่ยวหรือสี่ด้าน โดยรายละเอียดหลักๆ สำหรับหนึ่งเที่ยวคือ กระจังฟันหนึ่ง กระจังฟันสาม กระจังฟันห้า และกระจังฟันปลา เป็นชิ้นครูสำหรับการเริ่มต้น แต่รายละเอียดเรื่องลาย รูปแบบการตกแต่งนั้นจะเปลี่ยนไปตามประเภทของงาน
 
“นอกจากกระจังลายพื้นฐานแล้ว ยังมีลายกลีบบัว ลายฟันจระเข้ เป็นลายที่เขานิยมกัน แต่สำหรับสายสกุลช่างแทงหยวกวัดอัปสรฯ เขาก็จะมีลายที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครที่คิดค้นขึ้นเอง อาจมีคล้ายกันบ้างก็นิดหน่อย แต่ถ้าคนดูลายเป็นจะรู้เลยว่าไม่ใช่นะ ช่างแต่ละคนมีเทคนิคที่ต่างกันไป รู้ไหมว่าของครูคืออะไร” เรานั่งคิดอยู่ครู่หนึ่งครูสมคิดก็เฉลยซะแล้ว

(ภาพซ้ายเรียงจากบนลงล่าง : กระจังฟันปลากลีบบัว แข้งสิงห์ แข้งสิงห์กนก ลายกนกเสา / ภาพขวาเรียงจากบนลงล่าง : กระจังฟันปลา กระจังฟันปลากลีบบัว กระจังฟันสาม กระจังฟันห้า)

“เทคนิคของครูคือการแทงเกลียว เป็นลวดลายหลักที่ทุกงานต้องมีแน่ๆ แล้วก็การแทงหยวกด้วยมือข้างซ้าย ดังนั้นลายของครูจะเริ่มจากฝั่งซ้ายเหมือนกัน อย่างเวลามีงานแทงหยวกเยอะๆ แขนซ้ายเริ่มล้าครูก็สลับมาใช้แขนขวาแทน เพราะถนัดทั้งสองข้างเลย แต่สมัยก่อนแทงหยวกเป็นที่นิยมยิ่งกว่ายุคนี้เยอะ การทำด้วยมือในปริมาณมากอาจใช้เวลาและช่างพอสมควร 

“ช่วงรัชกาลที่ห้าจึงมีการสร้างตัวพิมพ์เครื่องถมขึ้นมา เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างลายสำเร็จรูปได้ แต่ส่วนใหญ่จะใช้งานระดับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ งานทั่วไปจะไม่ค่อยนิยมกันเท่าไหร่ ซึ่งชุดที่เห็นอยู่ตอนนี้เป็นชุดพิมพ์ของต้นตระกูลช่างสายวัดอัปสรสวรรค์ฯ ที่ยังหลงเหลืออยู่ คิดว่าสายสกุลอื่นๆ อาจไม่หลงเหลืออยู่แล้ว”

ระหว่างพูดคุยกันไปเรื่อยๆ ครูก็เริ่มหยิบมีดและพิมพ์ที่ใช้ในการแทงหยวกออกมาให้ดู พร้อมเล่าเรื่องราวให้ฟังอย่างไม่รู้สึกเบื่อ ที่สำคัญ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นจนตอนนี้คุณครูเป็นรุ่นที่ 7 แล้วประมาณ 400 กว่าปี ก็ยังคงอยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน

ศิลปะโบราณกับช่องว่างที่รอคนรุ่นใหม่มาเติมเต็ม

“เวลาผ่านไปคนรุ่นใหม่เขาสนใจศิลปะแทงหยวกน้อยลงเป็นเรื่องธรรมดา” 

คุณครูสมคิดบอกกับเราแบบนั้น แต่เราก็อยากรู้ว่าจริงๆ แล้วที่สุด ศิลปะแขนงนี้จะหายไปจริงไหม

“ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ครูก็คงต้องยอมรับว่าคนสนใจน้อยลง ช่างแทงหยวกเองก็ล้มหายตายจากไปเยอะตามกาลเวลา ลูกหลานเขาก็อาจไม่ได้สนใจ เพราะต้องใช้เวลาฝึกค่อนข้างนาน ยิ่งไม่ได้ฝึกตั้งแต่เด็กๆ ยิ่งยาก พอไม่ได้ฝึกฝน ไม่ได้ซึมซับ เมื่อหมดรุ่นจริงๆ ก็เลยตามเลยไป แต่ก็ยังดีที่ตอนนี้มีคนรุ่นหลังพยายามศึกษา กลับมารื้อฟื้นกันอยู่บ้าง ครูก็รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ยังมีคนสนใจกันอยู่ ยินดีมากๆ ที่เข้ามาถาม เข้ามาขอข้อมูล ส่วนตัวครูเองก็พยายามเก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้ให้มากที่สุด

“ถามว่าแทงหยวกจะสูญหายไปไหม คงไม่หรอก ยังมีความหวังอยู่ ครูยังคงสานต่อและส่งต่อความรู้เกี่ยวกับศิลปะแทงหยวกไปเรื่อยๆ เพราะที่ผ่านมาก็ยังเห็นความตั้งใจมันผลิดอกออกผลออกมาบ้าง ถึงช้าหน่อยแต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย เหมือนกับที่พวกเรามานั่งคุยกับครูอยู่ตรงนี้”

บทสนทนาของเรากับคุณครูสมคิดจบลง แต่กลิ่นแกงเขียวหวานฟักที่คุณครูกับภรรยาทำไว้รอส่งกลิ่นหอมมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับเรื่องราวของศิลปะการแทงหยวกในมุมที่ไม่เคยรู้มาก่อน หากเราไม่ได้มีโอกาสมานั่งพูดคุยกับครูช่างที่ถือว่าเป็นทายาทของสกุลช่างอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ที่ในอนาคต ศิลปะการแทงหยวก อาจหาดูได้ยากกว่านี้ 

เราเลยหวังว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ของการส่งต่อเรื่องราว และรู้สึกอยากอนุรักษ์ศิลปะไทยให้ยังคงอยู่ต่อไป หรือหันกลับมาหยิบเอาเทคนิคการแทงหยวกไปลอกคราบสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ๆ เพื่อให้คนได้รู้จักมากขึ้นเพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่ยังหลงเหลืออยู่เติบโตต่อไป

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.