ศิลปะบนฝาท่อ จากกลุ่มเมืองยิ้มและชุมชนคลองผดุงฯ - Urban Creature

การนำศิลปะเข้าไปรวมอยู่กับสิ่งเล็กๆ ที่หลายคนมองข้าม อาจเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจของเมืองให้มากขึ้น ยกตัวอย่าง ‘ศิลปะบนฝาท่อ’ ของประเทศญี่ปุ่น ที่หยิบเอาสถานที่หรือสัญลักษณ์ในประเทศมาออกแบบและสื่อถึงเอกลักษณ์สำคัญๆ บนฝาท่อ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของย่านหรือเมือง จนเป็นเหมือนแบรนด์ดิงของพื้นที่นั้นๆ ที่ชวนให้นักท่องเที่ยวได้สนุกกับการเดินเท้า มองหาศิลปะตามเส้นทาง และใช้เวลาเอนจอยกับระหว่างทางมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน กรุงเทพฯ เองก็เคยมีศิลปะบนฝาท่อในย่านคลองโอ่งอ่างมาก่อนหน้านี้ และในตอนนี้มีอีกหนึ่งพื้นที่อย่างบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ที่เราอาจนึกไม่ถึงว่านอกจากตลาดโบ๊เบ๊ที่เป็นสถานที่ใกล้เคียงแถวนั้นแล้ว จะมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างฝาท่อสีสันสดใสวางเรียงรายตามทางเท้าด้วย

คอลัมน์ Art Attack ขออาสาพาทุกคนไปเดินชมฝาท่อที่ถูกแต่งแต้มด้วยศิลปะจากจินตนาการและการใช้ชีวิตของเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ผ่านความร่วมมือระหว่าง ‘กลุ่มเมืองยิ้ม’ และกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้ดีขึ้น และคืนพื้นที่ทางเท้าให้กับผู้คนในย่านได้ออกมาใช้ชีวิตร่วมกันมากกว่าเดิม

กลุ่มนักออกแบบที่อยากมอบรอยยิ้มให้ผู้คน

‘กลุ่มเมืองยิ้ม’ เกิดจากการรวมตัวกันของสามสมาชิกที่ทำงานด้านการออกแบบหลากหลายแขนง ได้แก่ ‘ดิว-วรรธนะ ทรงเพ็ชร์มงคล’ นักวิจัยผังเมืองและนักออกแบบ, ‘ธาม ศรีเพริศ’ นักออกแบบภายใน และ ‘ลอนทราย กังขาว’ สถาปนิก

ทั้งสามสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาด้วยกัน แต่ด้วยความที่เรียนคนละสาขา ทำให้ตลอดระยะเวลาการเรียนพวกเขายังไม่เคยมีโอกาสร่วมงานกันมาก่อน หรือกระทั่งเข้าสู่ช่วงทำงานแล้วทั้งหมดก็ยังไม่เคยลงมือทำโปรเจกต์ใดๆ ด้วยกันเลย

Smiling Cities Manhole

ถึงจะเรียนคนละสาขา และต่างคนต่างมีหน้าที่การงานที่ถนัดของตัวเอง ทั้งสามคนก็มีความสนใจร่วมกันอยู่ นั่นคือ การสร้างพื้นที่อยู่อาศัยที่สามารถมอบรอยยิ้มให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งนำมาสู่การรวมตัวกันและเป็นที่มาของชื่อกลุ่มเมืองยิ้มที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ปี 2565

ฝาท่อ กับการเป็นจิ๊กซอว์ในการพัฒนาเมือง

ระหว่างที่เริ่มต้นเดินสำรวจฝาท่อกันแบบไม่กลัวร้อนบนทางเท้าย่านคลองผดุงกรุงเกษม ดิวก็เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการพัฒนาฝาท่อของกลุ่มเมืองยิ้มให้เราฟัง “ฝาท่อเป็นหนึ่งในโครงการตามนโยบายของกรุงเทพมหานครที่จะพัฒนาภูมิทัศน์ของคุณภาพชีวิตในระดับสายตาคนเดินเท้า โดยตัวฝาท่อเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของโจทย์ที่มี คือจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนกลับมาใช้พื้นที่ในย่านให้มากขึ้น แล้วจะพัฒนาคุณภาพพื้นที่ตรงนั้นยังไงให้คนอยากเข้ามาใช้งาน และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

“ในฐานะของสถาปนิกที่เป็นดีไซเนอร์ด้วย เรามองว่าสิ่งที่คนให้ความสำคัญในชีวิตเมืองปัจจุบันมักอยู่ในระนาบแนวตั้ง เช่น ป้ายโฆษณา ป้ายจราจร เราจึงอยากใช้ประโยชน์ขององค์ประกอบในแนวราบที่สามารถทำเป็น Social Engagement ได้ด้วย”

ทั้งสามคนพาเราไปเดินดูฝาท่อขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ที่มีสีสันสดใสดึงดูดสายตาคนที่ผ่านไปผ่านมาให้หยุดมอง ซึ่งเป้าหมายของการพัฒนาฝาท่อนี้ไม่ใช่แค่เพื่อให้เป็นสีสันของเมืองเท่านั้น แต่ยังอยากให้สื่อถึงอัตลักษณ์ของย่านและชีวิตริมน้ำที่ซ่อนอยู่ภายในพื้นที่โบ๊เบ๊ เพื่อให้คนในชุมชนได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมพัฒนาตัวงานไปด้วยกัน ไม่ใช่งานที่เกิดจากฝีมือดีไซเนอร์อย่างเดียว

Smiling Cities Manhole

ด้วยเหตุนี้ หากไปสำรวจดูลวดลายต่างๆ บนฝาท่อ จะเห็นว่าแต่ละอันมีลายเส้นที่แตกต่างกันไป จากฝีมือการออกแบบ วาดภาพ หรือการลงสีของผู้ใช้พื้นที่จริงอย่างเด็กนักเรียนโรงเรียนบำรุงอิสลาม ที่มาร่วมถ่ายทอดชีวิตริมคลองตามจินตนาการของแต่ละคนบนฝาท่อเหล่านี้ด้วย

แต่กว่าจะออกมาเป็นลวดลายบนฝาท่ออย่างที่เราเห็น ศูนย์วิจัยอิสระด้านการศึกษาเมือง Urban Studies Lab ได้ลงพื้นที่ไปทำเวิร์กช็อปกับน้องๆ ในหัวข้อ ‘ชีวิตในเมือง’ ก่อนที่กลุ่มเมืองยิ้มจะเข้าไปช่วยสานต่อในขั้นตอนการทําให้กราฟิกออกมาเป็นลวดลายฝาท่อที่สมบูรณ์ โดยธามอธิบายว่า ในขั้นตอนการออกแบบภาพวาดต่างๆ ที่น้องๆ ถ่ายทอดออกมา อาจเป็นการสื่อสารทางอ้อมตามประสบการณ์ที่แต่ละคนมี ซึ่งในฐานะนักออกแบบ พวกเขาจะทำหน้าที่ช่วยวิเคราะห์ เพื่อนำมาปรับใช้ในงานจริงอีกครั้ง

“การทำงานกับน้องๆ ทำให้เราได้เห็นถึงความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมและความคิด เพราะความเป็นเด็กจะไม่ได้มีข้อจำกัดเชิงสังคมบางอย่าง เขาสามารถพูดหรือวาดออกมาได้โดยที่บางทีเขายังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ถ่ายทอดออกมานั้นมันไปแตะ Critical Point บางอย่างของการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน อีกทั้งยังทำให้เรารู้ว่า สิ่งเล็กๆ ของชีวิตในเมืองอย่างทางเท้าหรือคุณภาพพื้นที่ระหว่างการเดินเท้ามันฝังรากเข้าไปในความรู้สึกและคุณภาพชีวิตของคนด้วย” ดิวพูดขณะชี้ชวนให้เราดูผลงานของน้องๆ บนฝาท่อ

มากไปกว่านั้น กลุ่มเมืองยิ้มมองว่าการร่วมมือกับคนในย่านทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกที่ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นนักออกแบบหรือทีมวิจัย แต่จะเป็นใครก็ได้ที่สามารถทำให้เมืองดีขึ้น เพื่อที่สุดท้ายทุกคนจะได้รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมืองไปพร้อมๆ กัน และเกิด Sense of Belonging กับพื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น รวมถึงความรู้สึกภูมิใจเมื่อได้เห็นผลงานของตัวเองเกิดขึ้นจริง

นอกจากความร่วมมือนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ผ่านงานศิลปะบนฝาท่อแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้คนในชุมชนได้มาสนุกกัน เช่น ฝาท่อบางอันจะเว้นเส้นประเป็นรูปรอยเท้าให้คนมายืนถ่ายรูป บางอันทำเป็นแผนที่ตรงบริเวณสะพานขาวไล่จนไปถึงตึกสหประชาชาติ เพื่อบอกว่าแถวนี้มีพื้นที่สำคัญตรงไหนและมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง รวมไปถึงการซ่อนรอยยิ้มซึ่งเป็นกิมมิกเล็กๆ ที่ชวนให้คนที่มาชมฝาท่อนั้นได้มองหาภาพรอยยิ้มที่ซ่อนไว้ในทุกๆ ฝาท่อด้วย

ศิลปะที่ดึงชีวิตของย่านให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

“การมีศิลปะบนฝาท่ออาจช่วยทำให้คนเมืองอยากเดินมากขึ้น รวมถึงยังช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนออกมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมเชิงสังคมในพื้นที่ นอกจากนี้ยังดึงให้คนที่ปกติไม่ได้มาเดินในย่านนี้เข้ามาใช้งานพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย” ดิวอธิบายถึงสิ่งที่เขาคาดหวังจากโปรเจกต์นี้ให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม

และเมื่อเราถามถึงประโยชน์ในแง่การพัฒนาเมืองและชุมชน ทั้งสามคนก็มองตรงกันว่า เมื่อพื้นที่ได้รับการปรับปรุง ย่อมเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนในย่านออกมาใช้ชีวิตข้างนอกและพบปะกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกมาวิ่งเล่น ออกกำลังกาย นั่งพักผ่อน ตกปลา หรือใช้เป็นจุดนัดพบ ยิ่งพอตกเย็นที่อากาศไม่ค่อยร้อน ผู้คนจะออกมาใช้ชีวิตกันอย่างคึกคัก ราวกับตัวพื้นที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

นอกจากความสดใสของชาวริมคลองผดุงกรุงเกษมแล้ว ดิวยังเสริมว่า เขาได้รับฟีดแบ็กจากพนักงานทำความสะอาดว่าจำนวนขยะลดน้อยลง รวมถึงข้อมูลจากตำรวจว่าปริมาณรถจักรยานยนต์ที่ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้าก็ลดน้อยลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นการทำลายศิลปะส่วนรวมบนทางเท้าให้จางหายไป

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเมืองยิ้มไม่ได้มองว่าในอนาคตทุกเมืองจำเป็นต้องมีศิลปะบนฝาท่อแบบนี้ หรือการพัฒนาต่อไปคือการมีฝาท่อลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ไอเดียนี้เป็นแค่วิธีหนึ่งในการจุดประกายว่า การออกแบบหรือการมีส่วนร่วมของชุมชนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากสิ่งเล็กๆ ซึ่งในอนาคตก็อาจเกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณอื่น ไม่ใช่แนวระนาบอย่างบนทางเดินก็ได้

“เราไม่ได้อยากให้มันจบแค่ฝาท่อ ถ้าให้เทียบกับเมืองอื่นคือเราแค่ใช้ฝาท่อไปเปลี่ยนจุดเริ่มต้น ทำให้คนกรุงเทพฯ เดินได้มากขึ้นเท่านั้นเอง” ทรายสรุปทิ้งท้าย

Smiling Cities Manhole

หากใครมีโอกาสได้ไปเดินเล่นย่านโบ๊เบ๊หรือแถวคลองผดุงกรุงเกษม อย่าลืมแวะไปชมงานศิลปะบนฝาท่อกัน หรือตามไปชมรูปสวยๆ ได้ในแฮชแท็ก #เมืองยิ้มได้ แต่หากสนใจอยากร่วมออกแบบฝาท่อเหมือนโครงการนี้ กลุ่มเมืองยิ้มก็พร้อมพูดคุยและซัพพอร์ตที่ กลุ่มเมืองยิ้ม Smiling Cities

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.