Skywalk สยาม แลนด์มาร์กแห่งใหม่กรุงเทพฯ - Urban Creature

ช่วงหลายเดือนนี้ชาวกรุงเทพฯ ที่ผ่านไปผ่านมาแถวสยาม น่าจะเกิดความสงสัยหรือรอดูการเปลี่ยนแปลงของสกายวอล์กแยกปทุมวันกันอยู่บ้าง เราจะมาบอกข่าวดีว่าโครงการปรับปรุงทางเดินลอยฟ้าเปิดให้ใช้งานแล้วอย่างสวยงาม วันนี้เราอาสาพาไปชมแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่เราคาดหวังให้กลายเป็น Art District ที่สำคัญของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับสวนสาธารณะลอยฟ้า High Line ที่นิวยอร์ก!!

สกายวอล์กแห่งนี้เชื่อมเป็นวงกลมระหว่างห้างสรรพสินค้า สยามดิสคัฟเวอรี่-สยามสแควร์-มาบุญครอง-หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีทางเดินต่อขยายยาวไปจนถึงสถานี BTS สนามกีฬา ผูกโยงไลฟ์สไตล์ของชาวเมือง โดยรวมเอาศูนย์กลางการค้า แหล่งการศึกษา และศิลปะเข้าไว้ด้วยกัน

การออกแบบสถาปัตยกรรมโดดเด่นโค้งรับแนวรถไฟฟ้า และอิงกับความเป็นมาของแยกปทุมวันซึ่งแปลว่า ‘ดอกบัว’ ใช้ฟอร์มวงกลมที่มีความโมเดิร์นเป็นหลัก โดยรอบวาง Sculpture รูปทรงก้านใบบัวคลุมตลอดแนวทางเดิน เมื่อมองจากด้านบนจะเหมือนใบบัวลอยอยู่ในสระ ที่นอกจากความสวยงามยังให้ร่มเงา พื้นทางเดินเป็นแพตเทิร์นวงกลมสีเขียว Greenery สบายตา สลับฝาท่อระบายน้ำลักษณะคล้ายใบบัว ที่สำคัญยังออกแบบให้เหมาะกับคนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้สูงอายุและผู้พิการเพราะให้ความสะดวกในการใช้วีลแชร์ มีพื้นที่กว้างขวางสามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น ทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยด้วยกล้อง CCTV

ที่เจ๋งไปกว่านั้น เขาชวนศิลปินสตรีทอาร์ตถึง 13 คน ไม่ว่าจะเป็น จักรกฤษณ์ อนันตกุล, พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์, รักกิจ ควรหาเวช, ยุรี เกนสาคู และอีกหลายศิลปิน มาวาดลวดลายลงบน Installation Art รูปใบบัวที่กระจายอยู่รอบๆ น่าถ่ายรูปเช็กอินเป็นที่สุด นอกจากนี้ยังเตรียมจับมือกับหอศิลปฯ จัดแสดงงานศิลปะกลางแจ้ง ทั้งผลงานของศิลปินในและนอกประเทศให้คึกคักตลอดทั้งปี

ถ่ายรูปกันให้หนำใจ เพราะลานห้างฯ MBK ยังมีผลงานของ โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ให้ชมกันตั้งแต่หน้าห้างฯ ที่มีหุ่นน้องหมายักษ์ ส่วนทางเดินด้านข้างขนานไปจนถึงโรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส และตึกคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีลายเส้นกราฟฟิตี้บนผนังแบบยาวเหยียด รวมถึง Sculpture ที่สามารถนั่งเล่นนอนเล่นหรือขี่เล่นได้อีกแหนะ เป็นอีกมุมพักผ่อนที่ไม่ควรพลาด

หากเดินจนครบรอบต้องสะดุดกับตัวการ์ตูนสุดน่ารักนี้แน่นอน เรามาคุยกับศิลปินที่ชีวิตน่าสนใจไม่แพ้ผลงานของเขากันบ้าง “เหนือ-จักรกฤษณ์ อนันตกุล” กราฟิกดีไซเนอร์ผู้ท่องโลกศิลปะทั้งในไทยและต่างประเทศ ภาพวาดของเขาไปไกลถึงอังกฤษ ลงนิตยสาร Monocle และ Metropolitan แถมยังเป็นนักวาดภาพประกอบที่ได้รับการแนะนำบนเว็บไซต์ Designboom ส่วนผลงานในไทยที่หลายคนคุ้นเคย ก็คือมิวสิกวิดีโอ The Flowers ซิงเกิลล่าสุดจาก POLYCAT ท็อปปิกที่เราจะพูดคุยกันคงเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากงานที่ร่วมในโปรเจกต์สกายวอล์กนี่เลย งานเพนต์สไตล์คิวต์ๆ ที่ใครเห็นก็แฮปปี้ดีต่อใจ รูปทรงเรขาคณิตสีสดใสเหมือนของเล่นเด็ก ผสานตัวอักษรที่แทรกซึมระหว่างช่องว่าง แฝงความรักของพระเจ้าให้อบอุ่นทุกอณู

คอนเซปต์ ‘ความรัก’ ในโปรเจกต์ Skywalk

เมื่อได้โจทย์กว้างๆ พูดถึง ‘สยาม’ พี่เหนือเล่าตัวคอนเซปต์ให้ฟังว่าเขานึกถึงสถานที่ที่วัยรุ่นมาเจอกัน มีเรื่องราวความรัก ความเป็นเพื่อน สิ่งที่เอามาประกอบกันคือความทรงจำเล็กๆ ที่ประทับใจ อย่างรูปม้าก็ได้ไอเดียมาจากยี่ห้อแชมพูเร่งผมยาว หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่จุดประสงค์หลักคือการทำให้คนเหล่านั้นได้เห็นความสดใสแล้วมีความสุข ที่สำคัญพี่เหนือยังทำหน้าที่เป็นจดหมายของพระเจ้า เพื่อส่งต่อความรักแก่เพื่อนมนุษย์

“God is Love พระเจ้าคือความรัก เป็นข้อความที่เราใส่ลงไป เราอยากให้คนที่เหนื่อยได้มาพัก วันหนึ่งเขาอาจผิดหวัง วันหนึ่งเขาอาจมีความทุกข์ คำนี้จะไปทำงานในใจเขา ให้เขารู้ว่ายังมีรักรออยู่ ความรักที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ แล้วความรักจะช่วยเยียวยา นั่นคือสิ่งที่เราอยากให้เขาได้ชีวิตกลับไป”

ฟีดแบ็กเป็นยังไงบ้าง?

พื้นที่ตรงสกายวอล์กกั้นไว้ให้ทำงานเป็นเวลาสองวัน ในวันที่สามที่ขอเข้าไปใส่ข้อความเพิ่มเติมก็เริ่มมีคนเดินผ่านไปผ่านมาแล้ว จึงได้เห็นรอยยิ้ม คำชื่นชม คนมาถ่ายรูป หรือกระทั่งชาวคริสเตียนเข้ามาพูดคุยว่าเขาดีใจที่มีศิลปินกล้าคิดกล้าทำ หลายคนมองว่าข้อความในงานดูจริงจัง แต่ในความคิดของพี่เหนือมันคือชีวิต บางคนมีความโกรธเกลียดอยู่ในใจ แต่เมื่อได้อ่านประโยค God is Love หรือ Jesus the Bread of Life ก็อาจจะคิดได้ว่าให้อภัยดีกว่า

“เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใครได้ แต่ถ้อยคำของพระเจ้าสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ เหมือนที่เราเคยเป็นซึมเศร้าแล้วสิ่งนี้เข้ามาพลิกชีวิต พอเรามีประสบการณ์ตรงนั้น เราเชื่อว่าพระเจ้ามีจุดประสงค์ให้เราเข้าใจคนที่เป็นเหมือนเรา แล้วเราจะทำยังไงให้เขาได้นำพระพรมาช่วยรักษาเขาได้มากที่สุด”

สตรีทอาร์ตยากกว่างานรูปแบบอื่นมั้ย?

ความยากของงานที่ต้องลงพื้นที่จริงคือมีคนสัญจรและแอ็กทิวิตี้เข้ามาเกี่ยวข้อง พี่เหนือแชร์ประสบการณ์ถึงความแตกต่างจากการทำภาพลงแมกาซีน ตรงที่มันมีแอ็กชันกับคนย่านนั้นโดยตรง จึงต้องเข้าใจคนในพื้นที่นั้นว่าพวกเขาจะแฮปปี้กับการที่เราเข้าไปทำมั้ย เช่นเดียวกับงาน Installation ว่าเราจะสร้างให้มันอยู่เฉยๆ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เพราะงานศิลปะเกิดมาเพื่อรับใช้คน ความสวยงามเป็นแค่ฟังก์ชันหนึ่ง

“เราเคยไปทำสตรีทอาร์ตที่ซอยหนึ่ง ซึ่งศิลปินกราฟฟิตี้เขาวาดไว้ก่อนหน้านั้น คุณป้าคนหนึ่งเดินมาบอกว่า ‘หนูช่วยระบายตรงตาสิงโตตาเสือนี้หน่อยได้มั้ย?’ เวลาปวดฉี่ตื่นขึ้นมาเขาเดินผ่านหน้าต่างแล้วเห็นตาดวงนี้มันน่ากลัว เลยรู้สึกว่ามันอิมแพกต์ต่อคนที่อยู่อาศัย เราจึงต้องคิดถึงแพลตฟอร์มที่เข้าไปทำว่ามันส่งผลต่อคนอื่นอย่างไร”

วัตถุดิบความสุขหาได้ที่ไหน?

บางคนอาจจะมองว่าเราโลกสวย แต่เราคิดว่าคนที่โลกสวยเขาต้องผ่านอะไรมาเยอะเหมือนกัน เพียงแต่เขามองเห็นความหวังว่ามันต้องผ่านไปได้ อย่างหลุยส์ อาร์มสตรอง ก็เป็นคนที่แต่งเพลงโลกสวย แต่แม่เขาเป็นโสเภณี ชีวิตเขาลำบากกว่าจะมาถึงจุดนี้ ดังนั้นคนที่เรียนรู้ในความยากลำบากจะเห็นว่ามันทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น และมีความหวังที่จะอยู่เพื่อคนอื่น เพื่อให้กำลังใจว่ามันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น

“ในพระคัมภีร์สอนว่าเราหนีออกจากความทุกข์ยากไม่ได้ เราเคยถามพระเจ้าว่าเราจะผ่านความทุกข์ยากได้ยังไง แต่พระคัมภีร์บอกว่างั้นเจ้าต้องไปอยู่นอกโลกแล้วล่ะ ความทุกข์ยากบนโลกเป็นสิ่งที่เราต้องเจอ มันอยู่ที่ว่าเรามองด้วยใจที่ขอบคุณรึเปล่า ขอบคุณที่ทำให้เราผ่านพ้นและเข้มแข็งขึ้น หรือมองเป็นสิ่งที่เราต้องชดใช้และจมอยู่กับมัน ถ้าเรายอมรับแล้วถามพระเจ้าว่าให้เราเรียนรู้กับมันยังไง ชีวิตก็เปลี่ยน กลายเป็นเราได้วัคซีนเพิ่ม การฉีดวัคซีนมันเจ็บแต่มันจะทำให้เราแข็งแรง”

เป็นไปได้มั้ยที่กรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองศูนย์กลางศิลปะ

ผู้ใหญ่และคนในสังคมต้องยอมรับก่อนว่ามันมีประโยชน์และสามารถให้อะไรกับชีวิต ถ้าคนมีอำนาจมองเป็นแค่เทรนด์ก็จะได้ผลระยะสั้น พอลงมือสนับสนุนแล้วยังไม่เห็นผลก็จะถอนตัว คุณต้องมีความเชื่อที่จะผลักดันเพราะมันต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี หรือ 3 ปีอย่างน้อย ต่างประเทศเขาก็ใช้เวลานานอย่างอังกฤษหรือฝรั่งเศสก็แข่งกันมีมิวเซียมจนกลายเป็น Brand Identity เป็นเครื่องการันตีว่างานเขามีคุณภาพ ส่วนประเทศรอบข้างมองประเทศไทยว่าเป็นผู้ผลิตราคาถูกเพราะเราพรีเซนต์ตัวเองแบบนั้น เราจึงต้องเริ่มที่การยอมรับและให้คุณค่ากับงานศิลปะ แล้วมันก็จะกลายเป็นกลไกให้คนทำงานสามารถอยู่ได้ คนที่ซื้อไปก็มีความสุขที่จะเสพ

“คนไทยมีไอเดียมีความสนุก ชาวสิงคโปร์มาคุยกับเราว่าประเทศเขาอยู่ในช่วงวัยที่น่าเบื่อ เขามาหาเราเพราะเขาชอบจินตนาการ ทำให้เข้าใจเลยว่าจินตนาการของเราสำคัญมากๆ เราใช้จินตนาการในการทำงานตลอด แต่ก็ต้องมีคนที่ทำงานด้วยแล้วช่วยให้มันสำเร็จ คนในสังคมก็เป็นส่วนร่วมให้ประเทศเราสำเร็จด้วยเช่นกัน”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.