ประสบการณ์การดูหนังที่เพอร์เฟกต์ของคุณถูกนิยามไว้แบบไหน ต้องอยู่ในห้องที่เงียบและมืดสนิท แอร์เย็นฉ่ำ เก้าอี้นุ่ม หรือมีป็อปคอร์นเสิร์ฟตลอดการฉาย
ตามประสาคนรักหนัง เราเคยคิดว่าสิ่งเหล่านั้นช่วยสร้างอรรถรสได้ไม่น้อยเช่นกัน จนกระทั่งได้รู้จักกับ Skyline Film Bangkok กิจกรรมฉายหนังที่ป็อปขึ้นมาบนหน้าฟีดเมื่อไม่นานมานี้
ถ้าคุณเคยเห็นเหมือนกัน อาจพอรู้ว่า Skyline Film Bangkok นั้นเป็นการฉายหนังบนดาดฟ้า มองเผินๆ แล้วไม่ต่างอะไรจากหนังกลางแปลงที่เราคุ้นเคย แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือ พวกเขาจัดฉายหนังบนดาดฟ้าที่เน้นขายบรรยากาศ ความสะดวกสบาย และสร้างประสบการณ์แบบใหม่ที่นักดูหนังอาจไม่เคยได้รับจากที่ไหนอย่างการดูหนังเอาต์ดอร์แล้วสวมหูฟังของตัวเอง ไหนจะมีกิจกรรมพิเศษต่างๆ อาทิ เครื่องดื่มพิเศษ โฟโต้บูท ให้มาทำคอนเทนต์รอดูหนัง
ธรณ์ พิทูรพงศ์ และ แมน-พลัฏฐ์ เหมะจันทร์ คือสองชายหนุ่มที่อยู่เบื้องหลังอีเวนต์นี้ ซึ่งบอกเลยว่ากำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นเทรนดี้และนักท่องเที่ยวสุดๆ จากการฉายครั้งแรกที่กะทำเอาขำๆ พวกเขาขยับขยายให้กลายเป็นธุรกิจจริงจัง เปลี่ยนภาพจำเกี่ยวกับประสบการณ์การดูหนังที่เพอร์เฟกต์ของหลายคนไปตลอดกาล
ข้างหลังจอภาพ Skyline Film Bangkok เริ่มต้นด้วยวิธีคิดแบบใด และอะไรทำให้การฉายหนังของพวกเขาพิเศษขึ้นมา เราขอชวนคุณหย่อนก้นนั่ง ใส่หูฟัง แล้วตามไปฟังเคล็ดลับของพวกเขากัน
จากไต้หวันสู่เมืองไทย
บทเรียนภาษาจีนคือสิ่งที่ดึงดูดธรณ์ให้เดินทางไปไต้หวัน แต่ขากลับนอกจากสกิลภาษา เขาได้ธุรกิจติดมือมาประเทศไทยด้วย
หลายปีก่อนระหว่างที่ไปลงคอร์สเรียนภาษา ชายหนุ่มสมัครงานพาร์ตไทม์ทำ เขาได้งานในบริษัทให้คำปรึกษาสตาร์ทอัพไต้หวันที่อยากมาลงทุนในไทย ธรณ์จึงได้คลุกคลีกับสตาร์ทอัพไต้หวันหลายเจ้า และมีสายตาของที่ปรึกษาผู้แนะนำได้ว่าธุรกิจแบบไหนเหมาะแก่การมาลงทุนในประเทศไทย
เมื่อปี 2018 ธรณ์มีโอกาสเข้าร่วมอีเวนต์ของ Skyline Film ธุรกิจดูหนังที่โดดเด่นเรื่องการนำภาพยนตร์ไปฉายในพื้นที่ใหม่ๆ ที่มอบประสบการณ์ซึ่งแตกต่างจากโรงภาพยนตร์ ทั้งดาดฟ้า ชายหาด และพิพิธภัณฑ์ ด้วยบรรยากาศการฉายหนังยามเย็นบนดาดฟ้าที่ทำให้ชายหนุ่มประทับใจ เขาจึงเข้าไปติดต่อขอเป็นพาร์ตเนอร์ทันที
“เราคิดว่าถ้านำมาฉายที่เมืองไทย วิวและบรรยากาศน่าจะสวยกว่าไต้หวันด้วย หลังจากนั้นก็นัดเขามาดูสถานที่ ช่วงนั้นไปดูดาดฟ้าหลายตึก เราคิดว่าเราน่าจะเป็นคนที่ขึ้นดาดฟ้ามากที่สุดในประเทศไทยแล้ว” ธรณ์หัวเราะ และบอกว่าสุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกดาดฟ้าของ River City Bangkok ด้วยหลายปัจจัย ทั้งวิวแม่น้ำเจ้าพระยาอันสวยงาม มีพื้นที่กว้างขวาง ที่จอดรถ ห้องน้ำรับรองบนดาดฟ้า และที่สำคัญคือเดินทางมาสะดวก
แต่พอไอเดียเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โควิด-19 ก็ระบาดหนัก โปรเจกต์นี้ถูกพับไปหลายปี กระทั่งธรณ์กลับมาเดินเครื่องเต็มกำลังอีกครั้งเมื่อโควิดซา ครั้งนี้เขาชวนแมนมาลงเรือลำเดียวกัน เพราะชายหนุ่มเคยทำงานด้านโลจิสติกส์มาก่อน แมนจึงรับหน้าที่เก็บและจัดแจงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบการรับชม
“แต่เราทั้งคู่ไม่ได้เป็นคนชอบดูหนังนะ” ประโยคนี้ของธรณ์ทำให้เราประหลาดใจ “หลายคนคิดว่าเราต้องเป็นคนดูหนังแน่ๆ แต่เราดูไม่จบก็หลายเรื่อง แต่ที่เลือกมาทำสิ่งนี้เพราะอินกับไวบ์ อินกับบรรยากาศโดยรวมที่เรารู้สึกว่าโรแมนติกมากกว่าดูในโรงภาพยนตร์ปกติ”
หนังของคนที่ไม่ค่อยดูหนัง
แล้วอย่างนี้ คนไม่ค่อยชอบดูหนังจะเลือกหนังมาฉายยังไง เราสงสัย
“อาศัยการสอบถามจากหลายๆ คน หนังที่เลือกมาฉายแทบจะครึ่งต่อครึ่งเลยที่เราไม่เคยดู เพิ่งมาได้ดูครั้งแรกก็เพราะทำงานตรงนี้” ธรณ์บอกตามตรง
“แต่พอหลังจากทำมาสักพัก เราลงลึกกับการดูหนังมากขึ้น การดูหนังทำให้เราได้ประสบการณ์ แง่คิด จินตนาการ และเยียวยาจิตใจ หลังๆ เราก็ดูหนังมากกว่าเป็นความเพลิดเพลินด้วย”
เรื่องแรกที่ Skyline Film นำเข้ามาฉายคือ About Time ของ Richard Curtis ซึ่งถือเป็นหนังรักในดวงใจของใครหลายคน และอีกเหตุผลที่จิ้มเข้ามาฉาย เพราะเป็นหนังที่ได้รับความนิยมระดับหนึ่งในหมู่คนดูไทย
“ช่วงแรกๆ ก็มีหวั่นๆ ว่าจะมีคนมาดูหรือเปล่า เพราะเวลาบอกเพื่อนสนิทหรือที่บ้านว่าไปดูหนังบนดาดฟ้าแล้วใส่หูฟังดู พวกเขาก็ต่อต้านว่าใครเขาจะไป คนเขาอยากไปดูหนังในโรง ไปนั่งที่เย็นๆ จะไปดาดฟ้าทำไมให้ร้อน แต่เราก็รู้สึกว่ามันต้องได้ดิ ไต้หวันทำได้ ทำไมไทยจะทำไม่ได้ แค่ต่างกันที่สถานที่และอากาศเฉยๆ” ธรณ์ย้ำเสียงหนักแน่น
เป็นอย่างที่ธรณ์จินตนาการไว้ว่า ‘มันต้องได้ดิ’ จริงๆ เพราะเพียงเปิดฉายรอบแรก บัตรดูหนังบนดาดฟ้าของ Skyline Film ก็ขายหมดเกลี้ยง
สองหนุ่มวิเคราะห์ว่า คนที่ซื้อตั๋วมาดูน่าจะอยากลองประสบการณ์ใหม่ๆ ในการดูหนัง ซึ่งนอกจากจะได้เพลิดเพลินกับภาพยนตร์เรื่องโปรด ในงานยังมีบูทจำหน่ายขนม เครื่องดื่ม โฟโต้บูท และป้าย Skyline ซึ่งเป็นจุดเช็กอินสุดฮิต ให้คนรักหนังได้มาพบปะสังสรรค์กัน
อีกเหตุผลคือ หลายคนเคยเป็นลูกค้าของ River City Bangkok อยู่แล้ว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนที่ชอบงานศิลปะและอินดี้ ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของ Skyline Film
“สถานที่มีผลมาก การมาดูหนังอย่างเดียวอาจเป็นเรื่องน้อยไปสำหรับกลุ่มลูกค้า แต่ถ้าเป็นที่นี่ เขาอาจจะมาดูหนังและลงไปดูงานศิลปะข้างล่างด้วย ขณะเดียวกัน เราก็ดึงกลุ่มคนที่สนใจแค่ดูหนังให้มาดูงานศิลปะที่ River City Bangkok ด้วย กลายเป็นว่าสองสิ่งนี้ส่งเสริมกัน” ธรณ์เล่า
ออกแบบประสบการณ์ดูหนังให้ไร้ที่ติ
เมื่อพูดถึงกลุ่มลูกค้า สองหนุ่มเล่าให้ฟังว่า เมื่อฉายไปหลายครั้ง กลุ่มลูกค้าของพวกเขาก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
“จากตอนแรกที่คาดไว้ว่าจะมีแต่คนรักการดูหนังที่มา กลับกลายเป็นว่าคนกลุ่มนั้นมีเพียงสามสิบเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะเป็นวัยรุ่นเทรนดี้ คู่รักที่มาเดตกันเสียส่วนใหญ่ ช่วงหลังๆ ก็มีคนต่างชาติเยอะ” แมนบอก
อินไซต์ของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อการโปรโมตงานที่ทีมเบื้องหลังจะโปรโมต 2 ภาษาขึ้นไปเสมอ เพื่อสร้างความสนใจให้ลูกค้าได้ทุกกลุ่ม เช่นเดียวกับการสื่อสารของสตาฟฟ์ประจำงานที่จะสื่อสารได้หลายภาษา รวมถึงซับไตเติลของหนังบางเรื่องซึ่งไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ พวกเขาก็ต้องใส่ซับไตเติลภาษาอังกฤษเพิ่มเข้าไปด้วย
นั่นไม่ใช่ความท้าทายเดียวที่สองหนุ่มต้องเจอ
“ตอนทำงานกับคนไต้หวัน บางทีเจอปัญหาก็หันไปถามเขาได้ แต่ปัญหาบางอย่างมันก็เพิ่งเกิดขึ้นที่ไทย เช่น ปัญหาไฟไม่พอ ไฟดับ เราก็ต้องแก้กันไปตามสถานการณ์ ลมแรงเกินไปจนจอจะล้ม เราต้องขึงจอดีๆ หรืออย่างปัญหาอากาศร้อนของเมืองไทย เราก็แก้ด้วยการเอาพัดลมมาตั้งให้”
“แล้วถ้าฝนตกล่ะ” เราถาม
“อาจต้องเลื่อนวันออกไป จริงๆ ทุกวันที่วางแผนฉาย เรามีการเช็กกับกรมอุตุฯ ก่อนเสมอ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเจอปัญหาฝนตกกระหน่ำตอนที่ฉาย มีแต่ตกช่วงเช้าและเราจัดตอนเย็น” ธรณ์เล่าเบื้องหลัง
งานฉายหนังเพื่อความหลากหลาย
จนถึงตอนนี้ Skyline Film เปิดฉายหนังมาแล้วหลายสิบเรื่องภายในระยะเวลาเกือบปี ชายหนุ่มทั้งสองเล่าให้ฟังว่า เป้าหมายของพวกเขาในตอนนี้คือสร้างความหลากหลายให้ได้มากที่สุด ทั้งหนังที่เลือกมาฉายและกลุ่มคนดู
“เราไม่อยากให้คนติดภาพจำว่ามา Skyline Film คือการมาเดต แต่เราอยากให้มีลูกค้าหลายๆ กลุ่มเข้ามา ไม่ว่าจะคู่รัก ครอบครัว นักท่องเที่ยว และสายดูหนังทั่วไป จึงพยายามเลือกหนังคละๆ กันให้ได้มากที่สุด อย่างที่ผ่านมาก็มีทั้งหนังรักอย่าง About Time หนังตลก The Hangover และหนังอบอุ่นอย่าง Little Miss Sunshine” ธรณ์บอก
“ช่วงแรกๆ เรามอง Skyline Film เป็นแพสชัน มันเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจของเราว่าอยากทำมานาน อยากรู้ว่าทำได้หรือไม่ได้ ตอนแรกคิดไว้ว่าจะทำแค่ครั้งเดียวด้วยซ้ำ แต่พอกระแสดีขึ้น หลายคนอยากให้จัดอีก เราก็อยากทำให้ดีขึ้น มองลึกขึ้นในแง่ธุรกิจ เริ่มมีการวิเคราะห์ว่าจะทำยังไงให้ธุรกิจนี้เติบโตมากขึ้น”
ถึงตรงนี้แมนเสริมต่อ “ต่อจากนี้เรามองหาสถานที่ใหม่ๆ ด้วย อาจเริ่มจากในกรุงเทพฯ ก่อนว่าจะขยายไปที่ไหนได้บ้าง อนาคตไกลกว่านั้นก็อยากจะพาหนังไปฉายที่ทะเลหรือต่างจังหวัด เพราะมีอีกหลายสถานที่มากๆ ในเมืองไทยที่สวยงาม อย่างทะเลของเราก็สวยกว่าต่างชาติมาก เราอยากจะไปตรงนั้น เพราะตอนนี้เรามีกลุ่มลูกค้าต่างชาติหลายคนที่รู้จักเราแล้ว เราก็อยากจะดึงเขาไปเห็นความสวยงามของเมืองไทยตรงนั้น”
Next Station ของ Skyline Film จะเป็นที่ไหน คงต้องรอติดตามกัน แต่ระหว่างนี้ ใครที่อยากสัมผัสประสบการณ์ชมหนังกลางแปลงแบบใหม่ เข้าไปเช็กตารางฉายได้ที่ skylinefilmbkk
“การทำงานตรงนี้มันทำให้เราเห็นว่าหลายคนมีความสุขกับการดูหนังและบรรยากาศ ซึ่งพอเขามีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วย” แมนทิ้งท้ายก่อนจะไปเตรียมตัวฉายหนังเรื่องต่อไปบนดาดฟ้ายามเย็น