บ้านทดลอง Home Isolation - Urban Creature

ตัวเลขที่ฉุดไม่อยู่ส่งผลให้เตียงผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขไม่เพียงพอ จนเกิดมาตรการเสริมแก้วิกฤติที่เรียกว่า Home Isolation หรือการพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านทางเลือก และทางรอดใหม่ แทนการรักษาตัวที่โรงพยาบาล 

ตัวเลขน่าสนใจอยู่ที่ผู้ป่วยสีเขียว หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อาการน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ซึ่งนับเป็น 80% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด และเป็นกลุ่มที่สามารถทำการพักรักษาตัวอยู่บ้านด้วยการทำ Home Isolation ได้ หากทุกคนที่ติดเชื้อสามารถกักตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้ปัญหาเตียงไม่พอทุเลาลงอย่างมาก

จนเกิดคำถามที่ว่า หากโควิดไม่ใช่โรคเดียวที่เราต้องทำ Home Isolation ถ้าในอนาคตมีโรคระบาดเกิดขึ้นอีก บ้านที่เราอาศัยอยู่ควรมีหน้าตาแบบไหน คอลัมน์ Urban Sketch จึงอยากชวนทุกคนไปจินตนาการบ้านทดลองภายใต้กฎเหล็กของ Home Isolation อย่างสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา อยู่ห่างจากผู้อื่น 1 – 2 เมตร หรือห้ามใช้ห้องน้ำร่วมกัน แต่ถ้าเรายังอยากอยู่ด้วยกันเหมือนปกติ รูปแบบการอยู่อาศัยของเราจะเป็นอย่างไรหากเราต้องอยู่กันแบบนี้ตลอดไป

หากพูดว่าเราอาจจะต้องทำการ Home Isolation ตลอดไป ภาพในหัวคงจะเหมือนหนัง Sci-Fi Dystopia ที่ชวนเศร้าใจไม่น้อย เราคงจะได้เห็นการใช้ชีวิตคู่ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ถูกเนื้อต้องตัวกัน ใช้ชีวิตในโลกภายนอกด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย จนกลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 34 ต่อจากโทรศัพท์มือถือ ได้เห็นการยืนพูดคุยกับผู้อื่นที่ต้องเว้นระยะห่าง 1 – 2 เมตร ที่ไม่เอื้อต่อการทำความรู้จักหรือตกหลุมรักใครสักคน 

การแบ่งสัดส่วนห้องอาจจะต่างจากเดิมเล็กน้อย ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านอาจจะต้องมีถึงสองชิ้น แม้กระทั่งเตียงนอน ภาพนั้นจะเป็นอย่างไร เราลองไปจินตนาการ Concept Design การออกแบบวิถีชีวิตภาพนั้นด้วยกัน ภายใต้กฎและข้อแนะนำของ การอยู่ร่วมกันแบบ Home Isolation

ดูหนังเรื่องเดียวกัน แต่คนละฟากฝั่งของบ้าน

อยู่ห่างกันอย่างน้อย 1 – 2 เมตร รูปแบบความสัมพันธ์ของคนในอนาคตอาจจะพัฒนาไปในทิศทางที่แปลกประหลาด เพราะเราจะได้เห็นคนที่อยู่บ้านเดียวกัน ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อพบกัน นั่งห่างกันสัก 1 – 2 เมตร เพื่อดูหนังเรื่องเดียวกัน หัวเราะและร้องไห้ไปกับภาพยนตร์ไปพร้อมๆ กัน แต่ไม่สามารถแม้แต่จะเอื้อมมือไปปลอบ ไปกอด หรือหยิบทิชชูซับน้ำตา เพราะห้ามสัมผัสเนื้อตัวกัน 

มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ – อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อกลายเป็นของสามัญประจำบ้าน ชนิดที่ว่าถ้าขึ้นบ้านใหม่สักหลัง อาจจะต้องซื้อสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างแรก ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ปรอทวัดไข้ ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้าน

กินข้าวพร้อมกันแต่ไม่ได้กินด้วยกัน

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน – ในวันที่เราไม่สามารถรับประทานอาหารร่วมกัน สิ่งที่ทำได้มากที่สุดก็คงเป็นการ นั่งกินข้าวกับคนที่เรารัก ส่งยิ้ม ทักทายกัน ผ่านกระจกใสที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนกำแพง กั้นเขตผู้กักตัว ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่คนอื่นๆ ภายในบ้าน มวลความรู้สึกคงเป็นทั้งสุขและเศร้าอย่างบอกไม่ถูก

แยกของใช้ส่วนตัวแยกทำความสะอาด – เราอาจจะเห็นการซื้อของใช้ภายในบ้าน เพิ่มเป็นสองชิ้นจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาทิ จากเดิมที่เคยใช้โต๊ะเดียวกินข้าวร่วมกันก็อาจจะต้องมีเพิ่มเป็นสองโต๊ะ หรือแม้กระทั่งเครื่องซักผ้าที่เคยมีแค่เครื่องเดียว อาจจะต้องมีกันบ้านละสองเครื่อง แม้จะอยู่กันแค่สองคน เนื่องจากต้องแยกทำความสะอาด ของทุกชิ้นที่ผู้กักตัวสัมผัสหรือสวมใส่

ระบบระบายอากาศแยกกับฝั่งผู้กักตัว – เพราะเชื้อไวรัสติดต่อได้ทางการสูดดม บ้านทดลองหลังนี้จึงถูกออกแบบให้มีระบบอากาศสองส่วนด้วยกัน ทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นภายในบ้านได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา

แยกขยะ แยกการติดต่อกับโลกภายนอกสักพัก

ห้ามผู้กักตัวออกจากบ้าน – กฎข้อสำคัญที่สุดสำหรับผู้ทำการ Home Isolation คือการห้ามออกจากบ้านโดยเด็ดขาด และงดให้ผู้อื่นมาเยี่ยมเยือน เพื่อลดการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น

ช่องส่งอาหาร – ในอนาคตบ้านทุกหลังอาจจะออกแบบประตูบ้านให้มีช่องส่งอาหารที่บริเวณประตูเข้าออก ด้วยลักษณะการบริโภคของผู้คนที่หันมาสั่ง Delivery กันมากขึ้นการที่เราไม่จำเป็นต้องออกไปสัมผัส พูดคุยกับคนอื่นก็เป็นหนึ่งในวิธีการลดความเสี่ยงไปในตัว

ถังขยะปิดฝามิดชิด – เราผลิตขยะในทุกวันปริมาณมาก ความน่ากลัวคือขยะบางชิ้นอาจจะปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากร่างกายที่มีเชื้อไวรัสติดอยู่ สิ่งที่พึงกระทำคือการแยกขยะออกจากคนในบ้าน มัดปากถุงรวมถึงการปิดฝาถังขยะให้มิดชิด

นอนข้างกันแต่ไม่สามารถแม้จะกอดกัน

แยกห้องนอนสำหรับผู้กักตัว – สิ่งจำเป็นของการอยู่ร่วมกับคนกักตัวคือการแยกห้องนอน แต่การแยกห้องนอนสำหรับชีวิตคู่ คงเปรียบเหมือนการแยกกันของโรมิโอ กับจูเลียต แต่ถ้าเราอยากอยู่ด้วยกันแม้ยามคนใดคนหนึ่งต้องกักตัวสิ่งที่ทำได้มากที่สุดคงเป็นการนอนกันคนละเตียง นั่งมองหน้าพูดคุยกันผ่านกระจก

ห้องพักต้องมีอากาศโปร่งและถ่ายเท แสงเข้าถึง – อากาศและแสงสว่างเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการอยู่แบบ Home Isolation มีงานวิจัยรายงานว่าการที่ไม่มีอากาศบริสุทธิ์ไหลเวียนอยู่ในห้องอย่างเพียงพอ จะเพิ่มโอกาสให้คุณได้รับเชื้อไวรัส เพราะฉะนั้นห้องทดลองห้องนี้จึงออกแบบให้ในแต่ละห้อง มีอากาศที่โปร่งโล่งสบาย ถ่ายเทได้สะดวก พร้อมทั้งแยกการใช้อากาศผ่านหน้าต่างคนละบานกับผู้กักตัวอย่างชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่กัน

แยกกันใช้ห้องน้ำ หรือจัดตารางการเข้าห้องน้ำให้ชัดเจน

แยกการใช้ห้องน้ำดีที่สุด – อีกหนึ่งสิ่งที่ควรระวังคือการใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้กักตัว เพราะการใช้ห้องน้ำร่วมกัน มีโอกาสทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่สูงขึ้น เนื่องจากห้องน้ำมักมีขนาดที่แคบอากาศถ่ายเทไม่สะดวก อาจจะเกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ในอากาศ และสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้ออาจจะ เกาะตามผิวสัมผัสของวัตถุในห้องน้ำอย่างไม่ตั้งใจ ทำให้ผู้ใช้งานต่ออาจจะติดเชื้อไวรัสได้ ทางที่ดีที่สุดคือการแยกกันใช้ห้องน้ำระหว่างผู้กักตัว

หากจำเป็นให้ผู้กักตัวใช้ห้องน้ำคนสุดท้าย – เชื่อว่าไม่ใช่บ้านทุกหลังจะมีห้องน้ำถึง 2 ห้อง วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือให้ผู้ที่ไม่กักตัวใช้ห้องน้ำก่อนทุกครั้ง พร้อมทำความสะอาดพื้นผิววัสดุหยิบจับ ไม่ว่าจะเป็นฝารองนั่ง ลูกบิดประตู หรือก๊อกน้ำต่างๆ ด้วยผ้าชุบน้ำยาฟอกขาว 0.1% หรือแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5% เป็นต้น หรือเพื่อกันลืมอาจจะทำรายการการเข้าห้องน้ำ ในแต่ละวันเพื่อสำรวจว่าการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งปลอดภัยหรือไม่

หวังว่าสิ่งที่เราจินตนาการขึ้นมาคงไม่เกิดขึ้นจริงในโลกอนาคต เพราะมันช่างเป็นโลกที่ดูเศร้าหมอง และหดหู่ไม่น้อย โดยหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะสามารถถอดหน้ากาก ออกไปสูดอากาศนอกบ้านได้อย่างสดชื่น พูดคุยกับคนอื่นในระยะใกล้ชิดที่มากกว่า 1 เมตร หรือแม้กระทั่งได้นั่งซบคนที่เรารักในโรงภาพยนตร์ ให้คนข้างหลังหมั่นไส้ได้ในเร็ววัน 

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.