นอกจากการเป็นเมืองคอนเสิร์ต สถาปัตยกรรม เมอร์ไลออน และต้นแบบคาสิโนแล้ว สิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ แห่งเกาะเซนโตซา ยังมีจุดเด่นสำคัญอย่างทางเท้าออกแบบดีที่ทำให้ชาวเมืองเดินได้สะดวกอีกด้วย
🚶ทางเท้ากว้างที่มีหลังคา ช่วยให้คนอยากเดิน
การออกแบบทางเท้าของสิงคโปร์เน้นไปที่ทางเดินที่มีหลังคา ทางเดินเชื่อม และทางเชื่อมระหว่างอาคาร ที่รวมถึงเส้นทางเชื่อมต่อบนดินและชั้นใต้ดิน ด้วยองค์ประกอบสำคัญของการออกแบบอย่างการมีกันสาดและทางเดินที่มีหลังคา จากลักษณะของสภาพอากาศสิงคโปร์ที่เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน กันสาดและหลังคานี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องผู้เดินเท้าจากแสงแดดจัดและความถี่ของฝน
อีกทั้งยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับทางเดินที่มีหลังคาตามแนวอาคารพาณิชย์และอาคารอเนกประสงค์ที่หันหน้าไปทางถนนและทางเท้าว่า ต้องมีหลังคาสูงอย่างน้อย 3.6 เมตร และอาจอนุญาตให้มีเพดานที่สูงขึ้นได้หากมีการใช้วัสดุกรุผนังที่เหมาะสมและเพิ่มความกว้างของทางเดิน
ส่วนข้อกำหนดความกว้างขั้นต่ำของทางเดินที่มีหลังคาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับที่ตั้งและความใกล้กับสถานีขนส่ง
– ทางเดินบริเวณพื้นที่ใจกลางเมืองหรือภายในรัศมี 200 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า MRT/สถานีขนส่งหลัก : ความกว้างโดยรวมขั้นต่ำ 3.6 เมตร และความกว้างสุทธิขั้นต่ำ 3 เมตร
– ทางเดินระหว่าง 200 – 400 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า MRT/สถานีขนส่งหลัก : ความกว้างโดยรวมขั้นต่ำ 3 เมตร และความกว้างสุทธิขั้นต่ำ 2.4 เมตร
– ทางเดินอื่นๆ ทั้งหมด : ความกว้างโดยรวมขั้นต่ำ 2.4 เมตร และความกว้างสุทธิขั้นต่ำ 2 เมตร
🩴ปรับโครงสร้างทางเท้าให้ตอบโจทย์คนเดิน
สำหรับวัสดุที่ใช้ทำทางเท้ามีหลากหลายแบบ เช่น คอนกรีตบล็อก อิฐ และหินธรรมชาติ รวมถึงพวกคอนกรีตบล็อกแบบซึมผ่านได้ เพราะช่วยจัดการน้ำฝนได้ดี รวมถึงล่าสุดมีการทดลองใช้วัสดุรีไซเคิล เช่น พลาสติก เป็นส่วนผสมในแอสฟอลต์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความยั่งยืน
รวมถึงพัฒนาโครงสร้างทางเดินอื่นๆ เพื่อให้คนทุกกลุ่มเดินได้สะดวกขึ้น อย่างการติดตั้งลิฟต์ในสะพานลอยคนเดินข้าม (POBs) ที่สร้างใหม่หลังปี 2018 ส่วนสะพานลอยที่มีอยู่เดิมแต่ใกล้กับระบบขนส่งสาธารณะ สถานพยาบาล หรือบริเวณที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่จำนวนมากก็จะติดตั้งลิฟต์เพิ่มเติมด้วย
🛞ลดความสำคัญของรถยนต์ เปลี่ยนถนนเป็นพื้นที่คนเดิน
สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุในการเดินเท้าผ่านโครงการ Green Man Plus (GM+) ที่ทางข้ามกว่า 1,000 แห่งทั่วเกาะอนุญาตให้ผู้สูงอายุและผู้พิการขยายเวลาสัญญาณไฟเขียวได้ เพื่อไม่ให้ต้องเร่งรีบในการเดินมากจนเกินไป พร้อมทั้งเปลี่ยนบันไดตามทางเดินที่มีหลังคาเป็นทางลาดแทน
นอกจากนั้น สิงคโปร์ยังทำโครงการสำคัญสำหรับคนเดินเท้าอย่าง ‘Friendly Streets’ ที่มีเป้าหมายเปลี่ยนพื้นที่ที่การจราจรหนาแน่นให้เป็นมิตรต่อคนเดินเท้าและนักปั่นจักรยานมากขึ้นภายในปี 2026 โดยเน้นไปที่ทางข้ามที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง หรือทางข้ามที่มีความสูงระดับเดียวกับทางเท้า ไม่ต้องให้เดินขึ้นเดินลงระหว่างการข้ามถนน รวมถึงยกทางม้าลายให้สูงขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ขับขี่รถชะลอความเร็วโดยอัตโนมัติเมื่อถึงทางข้าม
หรือการออกแบบพื้นผิวถนนสีเขียวพร้อมกับเนินหลังเต่าเพื่อกระตุ้นให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็ว ซึ่งได้เลือกพื้นที่ทดลองหลัก 10 แห่งที่มีปริมาณคนเดินเท้าสูง และได้รับผลตอบรับดีจากทั้งคนเดินเท้าและผู้ขับขี่จักรยาน จึงตั้งเป้าขยายโครงการนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ภายในปี 2030
Sources :
BA Contracts | tinyurl.com/2dc39hsa
Land Transport Authority | bit.ly/4kCaN0X
Ministry of Transport | tinyurl.com/2djxq2ko
Rice Media | tinyurl.com/268g6zoq
Urban Redevelopment Authority | tinyurl.com/t58njs6
Vulcan Post | bit.ly/41E9Qg0
_______________________________________
‘City Walk, City Work เมืองเดินได้เดินดี’ คือซีรีส์คอนเทนต์จาก Urban Creature ที่อยากชวนทุกคนมาสำรวจความเป็นเมืองเดินได้ของกรุงเทพฯ และผลักดันเรื่องนี้ไปด้วยกัน