สิงคโปร์ทดลองใช้ Lego ปลูกปะการัง - Urban Creature

สิงคโปร์เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของสายพันธุ์ปะการังกว่า 1 ใน 3 จาก 800 สายพันธุ์ทั่วโลก ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมากสำหรับประเทศเล็กๆ แต่ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ปะการังในสิงคโปร์ลดจำนวนลงเรื่อยๆ เนื่องจากการถมที่ดินและการพัฒนาชายฝั่งที่ทำให้บ้านของปะการังถูกทำลาย

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) จึงได้คิดค้นวิธีในการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ปะการัง ด้วยการทดลองใช้ตัวต่อเลโก้ (Lego) มาใช้เป็นบ้านในการอนุบาลปะการังขนาดเล็กหรือปะการังที่ถูกทำลาย ซึ่งเป็นการทดลองนำเลโก้มาใช้ในการอนุรักษ์ปะการังเป็นครั้งแรกของโลก 

Jani Tanzil หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ของโครงการนี้ บอกว่า เลโก้เป็นวัสดุขนาดเล็กที่สามารถปรับแต่งได้ง่าย และยังมีปุ่มที่เหมาะกับการยึดเกาะของปะการัง หากมีปะการังชิ้นใหญ่ก็สามารถนำเลโก้มาต่อเพิ่มเพื่อให้ได้บ้านที่หลังใหญ่ขึ้น ไม่ต่างจากการต่อเลโก้เล่นในชีวิตประจำวัน ที่ถูกออกแบบมาให้ต่อได้หลากหลายรูปทรง โดยนักวิทยาศาสตร์จะดำน้ำเพื่อลงไปเก็บปะการังที่เสียหายออกจากแนวปะการังและตัดชิ้นส่วนออกมาเพาะใหม่บนตัวต่อเลโก้ และนำไปเพาะในอะควาเรียม จากชิ้นส่วนปะการังชิ้นเล็กๆ ก็สามารถเติบโตเป็นช่อใหญ่ได้ 

เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ และมีพื้นที่จำกัด การจะหาพื้นที่ที่กว้างมากพอเพื่ออนุบาลปะการังเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประชากรส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่อาศัยในตึกสูง การใช้เลโก้ในโครงการนี้จึงช่วยประหยัดพื้นที่ได้มาก เพราะสามารถนำตัวต่อมาห้อยต่อกันเพื่อทำฟาร์มแนวตั้ง (​​Vertical Farming) ได้ ถึงแม้จะไม่ใช่ไอเดียที่ใหม่เท่าไหร่ แต่เมื่อนำมาปรับใช้กับการปลูกปะการังแล้วมันเวิร์กมากๆ เพราะตัวต่อเลโก้กินพื้นที่น้อยและสามารถต่อร้อยกับเชือกให้ยาวขึ้นไปได้เรื่อยๆ และประหยัดพื้นที่ในอะควาเรียมที่พวกเขาใช้เป็นที่ทดลองไปได้เยอะ ซึ่งในขณะนี้กำลังทำการทดลองกันอยู่ที่ St. John’s Island National Marine Lab และรอให้ปะการังโตมากพอที่จะนำกลับคืนสู่ท้องทะเลต่อไป 

Sources : 
BBC | t.ly/Epni
VICE | t.ly/VsmV

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.