‘ใครคือผู้ที่เร็วที่สุดในโลก’ คำถามที่หลายคนตั้งตารอในแต่ละปีสำหรับการแข่งขัน ‘Motorsport’ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ‘Formula 1’ หรือ ‘F1’ การแข่งขันรถยนต์สูตร 1 ที่ขับเคี่ยวกันด้วยความเร็วกว่า 300 กม./ชม. โดยทั้งนักแข่งและผู้ชมต่างก็โฟกัสที่ความเร็วเป็นหลัก โดยอาจลืมไปว่าในการแข่งขันรถยนต์นั้น สิ่งที่ตามมาคือการสิ้นเปลืองพลังงานและการปล่อยมลพิษทางอากาศปริมาณมหาศาล
ด้วยจำนวนรถยนต์ 20 คันจากทั้งหมด 10 ทีม และการแข่งขัน 23 รายการทั่วโลก คือสาเหตุที่ทำให้การแข่งขัน F1 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 256,000 ตันในแต่ละฤดูกาล จากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมากในแต่ละการแข่งขัน ซึ่งขัดกับเทรนด์โลกในปัจจุบันที่กำลังพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน
ถึงอย่างนั้นทางผู้จัดเองก็ไม่ได้ละเลยปัญหาการสร้างมลภาวะนี้ และได้มองหาทางแก้ปัญหาที่สามารถจัดการไปพร้อมกับสร้างความสนุกสนานจากการแข่งขันได้ โดยมี ‘สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์’ (Singapore Grand Prix) การแข่งขัน F1 ในประเทศสิงคโปร์ เป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์
‘สิงคโปร์’ จุดเริ่มต้นแห่ง Net Zero ของการแข่ง F1
ปัญหาการปล่อยมลภาวะจำนวนมากจากการแข่งขัน F1 ทำให้ ‘สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA)’ หันมาให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเริ่มจากการอนุมัติแผนพัฒนาการแข่งขันอย่างยั่งยืนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการแข่งขัน F1 ให้เหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2030
และนโยบายลดการปล่อยมลภาวะของการแข่งขันนี้ก็เริ่มจากการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการจัดการแข่งขันมากขึ้น ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ถึง 85 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
หลังจากประสบความสำเร็จจากการเปลี่ยนเชื้อเพลิง ฝ่ายจัดการแข่งขันก็เดินหน้าทำตามแผนการ Net Zero โดยมองว่าประเทศสิงคโปร์นั้นมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน จึงมอบหมายให้ ‘สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์’ เป็นจุดเริ่มต้นการแข่งขัน F1 ที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นที่แรก โดยฝ่ายจัดการแข่งขันได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวสิงคโปร์เพื่อสร้างความยั่งยืนในการแข่งขัน โดยได้ประกาศแผนงานรายละเอียดที่จะนำไปสู่ Net Zero 2030 สำหรับ ‘สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์’
ลดคาร์บอนฟุตพรินต์และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทนทั้งหมด
ภายในการแข่งขันสิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ มีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในสนามกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ และใช้หลอดไฟ LED ประหยัดพลังงาน ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึงหนึ่งในสามจากที่เคยใช้มาก่อน
สำหรับส่วนอื่นๆ ของการแข่งขันนั้นก็ไม่ลืมที่จะลดการสร้างมลภาวะด้วย อย่างการประชาสัมพันธ์ให้แฟนๆ ที่ตั้งใจมาดูการแข่งขันใช้ขนส่งสาธารณะในการเดินทาง หรือการเปลี่ยนจากตั๋วพิมพ์เป็นตั๋วอิเล็กทรอนิกส์
รวมถึงการห้ามขายน้ำบรรจุขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งช่วยลดปริมาณขวดพลาสติกได้ถึง 160,000 ขวด เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยมีสถานีเติมน้ำจำนวนมากภายในสนาม เพื่อให้ทุกคนหันมาใช้ขวดน้ำของตัวเองเพื่อลดจำนวนขยะพลาสติก
เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสร้างความเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันให้ชาวสิงคโปร์
ความรวดเร็วควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นแค่หัวใจหลักของการจัดการแข่งขันสิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์เท่านั้น แต่ผู้จัดงานยังมองเห็นถึงโอกาสต่างๆ ของเศรษฐกิจในท้องถิ่น จนทำให้เกิดการจ้างงานในทุกภาคส่วนของการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมา พนักงาน หรืออาสาสมัคร ที่มีจำนวนกว่า 30,000 คนในแต่ละการแข่งขัน รวมถึงยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาด้านเทคนิคได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับการแข่งขัน F1
หลักคิดของผู้จัดงานที่ว่าด้วยการสนับสนุนความหลากหลาย ไม่แบ่งแยก และเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยสร้างความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขันระดับโลกนี้ให้กับชาวสิงคโปร์
ด้วยเหตุนี้ ประเทศสิงคโปร์ที่มีความมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม จึงเหมือนได้แสดงความรับผิดชอบต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการแข่งขันครั้งนี้ไปด้วย อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากความพยายามของ FIA ในการนำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดมาใช้ทั้งในการแข่งขันและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ เพื่อให้ ‘สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์’ เป็นการแข่งขัน F1 สนามแรกที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายในปี 2030
Sources :
F1 | bit.ly/4bq3tRx, bit.ly/49jVjIp, bit.ly/3HFFY9o
The Standard | bit.ly/3HKKiUO