กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ‘สิงคโปร์’ ได้พลิกโฉมตัวเอง จากเกาะเล็กๆ ที่มีขนาดไม่ถึงครึ่งของกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นมหานครที่ยิ่งใหญ่ เป็นศูนย์กลางการศึกษาและการพาณิชย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
สิงคโปร์ ยังถูกกล่าวขานว่าเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ทั้งความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และคุณภาพชีวิตที่ดีอื่นๆ สำหรับทุกคนในเมือง โดยเฉพาะด้าน ‘ความปลอดภัย’ สิงคโปร์มีอัตราเกิดอาชญากรรมที่ต่ำมากเพียง 27.86% และมีความปลอดภัยถ้าเดินคนเดียวในเวลากลางวันสูงถึง 78.09% ส่วนความปลอดภัยถ้าเดินคนเดียวในเวลากลางคืนก็มีถึง 70.87%
เหล่านี้ล้วนเป็นเพราะสิงคโปร์มีการบริหารจัดการเมืองที่ดีมากๆ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เราจึงชวนมาดูกันว่าอะไรที่ทำให้สิงคโปร์ ได้ชื่อว่าเป็น ‘ประเทศที่มีความปลอดภัยขั้นสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก’
| ความปลอดภัย…ในพื้นที่สาธารณะ
จากการจัดอันดับของ World Economic Forum พบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก ถึง 29.3% และมีพื้นที่สาธารณะ 350 แห่ง มีเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวยาว 112 กม. โดยการออกแบบจะเน้นวางผังเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียว สร้างสวนสาธารณะให้กระจายทั่วเมือง พร้อมเชื่อมโยงทางเดินเท้าและช่องทาง จักรยาน เพื่อสร้างแหล่งสันทนาการเชิงธรรมชาติ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง คุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชาวสิงคโปร์
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังจัดทำแผนแม่บท Lighting Masterplan for Singapore City Centre ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการสร้างภูมิทัศน์ยามค่ำคืนที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยหลักๆ จะเน้นในพื้นที่ใจกลางเมืองที่ประกอบด้วย 5 เขตหลัก คือ ถนนออร์ชาร์ด ถนนบูกิส แม่น้ำสิงคโปร์ ย่านอ่าวมาริน่า และย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ
โดยการออกแบบ Night Lighting จะเน้นตกแต่งไปที่ทางเดินที่มีหลังคาคลุม พื้นที่สาธารณะที่อยู่ชั้นแรก ด้านหน้าของอาคารที่สามารถมองเห็นได้จากถนนและพื้นที่โดยรอบ สวนลอยฟ้า และอาคาร Building Crow ซึ่งทั้งหมดจะไม่เน้นแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่แสงไฟที่ส่องสว่างจาก Night Lighting จะต้องให้ความปลอดภัยแก่ผู้คนอีกด้วย
| คมนาคมปลอดภัย สำหรับคนทุกวัย
“หากเทียบกันในระดับเมือง สิงคโปร์จัดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเรื่องความปลอดภัยจากการใช้ถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือของหน่วยงาน”
นายดิพาน บู๊ส ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งอาวุโส ธนาคารโลก
จากรายงาน Global status report on road safety 2018 ในกลุ่มประเทศอาเซียนขององค์กรอนามัยโลก พบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุน้อยที่สุด มีค่าเฉลี่ยประชากรในประเทศที่เสียชีวิต 2.8 คนต่อประชากรแสนคน คิดเป็นค่าเฉลี่ยประชากรเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 197 คนตลอดปี ค.ศ. 2015
การสัญจรในสิงคโปร์นั้นสะดวกสบาย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่ไม่มาก ทำให้เดินทางเชื่อมต่อไปมาหากันได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งเครือข่ายขนส่งมวลชนก็มีประสิทธิภาพสูง ที่สำคัญผู้คนยังมีระเบียบวินัยในการข้ามถนน เพราะเมืองมีการออกแบบให้ถนนแทบทุกเส้น มีทางข้าม ทางลอดถนน (Underpass) หรือสะพานที่เป็นทางเชื่อมให้ผู้คนข้ามเป็นจำนวนมาก และถนนในสิงคโปร์บางแห่ง จะมีเครื่องสำหรับให้ผู้สูงอายุแตะบัตรประจำตัว เพื่อให้สัญญาณไฟจราจรข้ามถนนมีเวลานานกว่าปกติ
สิงคโปร์ยังมีการจัดตั้งหน่วยงาน Singapore Road Safety Council (SRSC) องค์กรที่เข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ เสียชีวิต บาดเจ็บ จากการใช้ถนน นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชัน MyTransport.SG ของรัฐบาลที่คอยให้บริการแผนที่แบบโต้ตอบกล้องจราจร และข้อมูลเรียลไทม์สำหรับการขนส่งมวลชนแก่ประชาชนอีกด้วย
.
สิงคโปร์ยังเร่งพัฒนาเกี่ยวกับการให้บริการทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เอื้อต่อคนทุกกลุ่ม อย่างการพยายามสร้างหลังคาคลุมพื้นที่ทางเดินเท้า (Walk way) สร้างทางเข้าออกมากกว่า 2 ทางที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือจัดให้มีการสร้างลิฟต์ขนส่งเพื่อคอยบริการผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก และสตรี รวมถึงในอนาคตสิงคโปร์จะทำให้รถโดยสารประจำทางทุกคันสามารถให้บริการแก่กลุ่มคนที่ใช้รถเข็น (Wheelchair) ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2020
| เพิ่มกล้องวงจรปิด ตรวจตราประชาชน
จากการจัดอันดับของเว็บไซต์คอมแพริเทค (Comparitech) ที่ประมวลข้อมูลเพื่อการวิจัยและการเปรียบเทียบธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยีของอังกฤษ เปิดเผยว่า นอกจากจีนที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่สาธารณะจำนวนมากที่สุดในโลกแล้ว สิงคโปร์ถือเป็นประเทศในเอเชีย ที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในที่สาธารณะเป็นจำนวนมากเช่นกัน ด้วยจำนวนกล้อง 15.25 ตัวต่อประชากร 1,000 คน
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้จัดตั้ง GovTech (Government Technology) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการจากภาครัฐ โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกแก่ชาวสิงคโปร์ แทนการต้องเข้ามาติดต่อและเข้าถึงภาครัฐแบบเดิม โดยหน่วยงาน GovTech จะทำหน้าที่ในการพัฒนาเมืองตามแนวทาง Smart Nation โดยเน้นการปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัลเป็นหลัก
ซึ่ง GovTech ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจตราและดูแลประชาชน โดยโครงการนำร่องคือ Lamppost-as-a- Platform (LaaP) เป็นโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดบนยอดเสาไฟถนน 110,000 เสาทั่วประเทศ โดยกล้องจะเชื่อมเข้ากับระบบซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถในการจำแนกและตรวจจับใบหน้าบุคคล (Face Recognition) ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์ฝูงชน และช่วยป้องกันการก่อการร้ายได้
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ 2559 สำนักงานตำรวจแห่งชาติสิงคโปร์ ยังได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วประเทศ กว่า 62,000 ตัว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะใกล้กับที่พักอาศัย ลานจอดรถ ตลาด สวนสาธารณะกว่า 10,000 จุดทั่วทั้งประเทศ และยังคงขยายการติดตั้งให้ครอบคลุมทุกจุดในเมือง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบความปลอดภัยของประชาชน ได้ตลอด 24 ชม. ผ่านศูนย์ควบคุมระบบกล้อง เมื่อเกิดเหตุร้ายจึงสามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว และตามจับคนร้ายได้ทันเวลา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ท่าอากาศยานสิงคโปร์ชางงีเริ่มทดสอบระบบจำแนกใบหน้า มาใช้งานในสนามบิน T4 (Terminal4) เพื่อตามหาผู้โดยสารหาย โดยจะจำแนก-ตรวจจับใบหน้าของคนตามจุดต่างๆ ของสนามบิน หลังจากนั้นจะดำเนินการตามบุคคลนั้นให้กลับมาขึ้นเครื่องบินให้ทันเวลา
| บล็อกเหตุร้าย ด้วยกฎหมายเข้มข้น
ชื่อเสียงเรียงนามของสิงคโปร์ที่ทั่วโลกกล่าวขาน คือการเป็นเมืองที่สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัย เหล่านี้ล้วนเป็นเพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาดต่อการกระทำความผิดต่างๆ เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคม ที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตามกฎหมายกันอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน
เช่น การกระทำผิดทั่วไปในชีวิตประจำวัน อย่างการ
– สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ปรับสูงสุด 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 22,000 บาท
– ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ปรับสูงสุด 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 22,000 บาท
– ข้ามถนนในที่ห้ามข้าม จำคุกสูงสุด 3 เดือน หรือปรับสูงสุด 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ประมาณ 22,000 บาท
– เมาสุราในที่สาธารณะ จำคุกสูงสุด 1 เดือน หรือปรับสูงสุด 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 22,000 บาท
– ทะเลาะวิวาท โทษสูงสุดจำคุก 1 ปี หรือเสียค่าปรับ สูงถึง 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ประมาณ 22,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– ลักทรัพย์ (ลัก จี้ ชิง ปล้น หรือขโมยของในร้านค้า) จำคุก 3 – 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
การกระทำผิดเกี่ยวกับการก่อจลาจลหรือชุมนุมประท้วง
– ชุมนุมหรือเดินขบวนผิดกฎหมาย จำคุกสูงสุด 2 ปี
– ก่อจลาจล ต้องโทษสูงสุดคือ จำคุก 5 ปี พร้อมเฆี่ยนด้วยหวาย หากใช้อาวุธ เพิ่มโทษเป็นจำคุกสูงสุด 7 ปี
การกระทำผิดที่มีโทษประหารชีวิต
– การค้ายาเสพติด เป็นความผิดร้ายแรงที่สุด เพราะสิงคโปร์ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างยิ่ง ซึ่งหากกระทำความผิดจะมีโทษสูงสุด คือ ประหารชีวิต
– ฆาตกรรม ผู้กระทำผิดก็มีโทษประหารชีวิตเช่นกัน