จากตอน Docile Body ที่พูดถึงความเต็มใจปล่อยให้ร่างกายเป็นสินค้า คราวนี้ เราขอสานต่อด้วยการเจาะลึกเรื่องราวของ “หญิงขายบริการ” ที่มีประเด็นถกกันอย่างเข้มข้นระหว่างนักอนุรักษ์นิยมเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม และนักวิชาการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเพื่อให้โสเภณีในประเทศไทยถูกกฎหมาย ถึงทิศทางความเป็นไปของ “โสเภณี” ว่า อาชีพนี้ ควรถูกกฎหมายหรือไม่?
ถ้าให้นักท่องเที่ยวเติมคำบรรยาย “ประเทศไทย” หลากหลายคำอธิบายคงถูกหยิบยกมาใส่ต่อท้ายกันอย่างสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็น “สยามเมืองยิ้ม” “ของกินอร่อย” “คนไทยใจดี” และอีกหนึ่งคำจากชาวต่างชาติที่ควบคู่มากับภาพลักษณ์แสนบวก นั่นคือ
ดินแดนเซ็กส์ทัวร์
อีสำเพ็ง | ยุคที่โสเภณีไทย ‘เคย’ ถูกกฎหมาย
แม้การนุ่งน้อย ห่มน้อยของหญิงสาว และการเสิร์ฟเรือนร่างของเธอให้กับชายที่วนเวียนเข้ามาจะถูกมองเป็นเรื่องผิดจรรยา และขัดต่อภาพลักษณ์ความเป็นเมืองพุทธ (คนบางกลุ่มว่ามาแบบนั้น) แต่ว่ากันตามจริง หญิงบริการในบ้านเราอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่ชาวไทยมาตั้งแต่ ‘สมัยกรุงศรีอยุธยา’ ที่โสเภณีพัฒนามาจากการเป็นนางทาส
จวบจนยุครัตนโกสินทร์ มีการกล่าวถึงคำว่า ‘โสเภณี’ ในกฎหมายตราสามดวงที่ใช้ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 นั่นหมายถึงการมีอยู่ของอาชีพนี้อย่างเปิดเผย ประกอบกับสมัยนั้น มีชาวจีนอพยพเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่ไม่มีภรรยาหรืออยู่ไกลกับครอบครัว ส่งผลให้ความต้องการทางเพศมีมากยิ่งขึ้น การค้าโสเภณีจึงเกิดขึ้นกันเป็นล่ำเป็นสัน
“…ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำยอดเรียงเคียงขนาน มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง… (สุนทรภู่ – นิราศเมืองแกลง) ”
ในหนังสือบางกอกเล่ม 2 ส.พลายน้อยเล่าไว้ว่า คำว่า “สำเพ็ง” ในยุคสมัยหนึ่ง ถูกใช้ในคำด่าว่า “อีสำเพ็ง” เพราะแถวนั้นขึ้นชื่อด้านโสเภณี ถึงขั้นที่รัฐบาลเคยกำหนดให้เป็นเขตโสเภณีเลยทีเดียว ซึ่งชื่อเสียงของสำเพ็งลุกลามมาถึงสมัยที่การตัดถนนเจริญกรุง ตรอกซอกซอยแถวนั้น มีซ่องดังที่หนุ่มน้อยใหญ่ต่างติดใจ เช่น อำแดงแฟง ยายเต๊า และยายอิ่มขาว เป็นต้น
ล่วงเลยมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงประกาศเลิกทาส แต่ทาสผู้หญิงส่วนหนึ่งไม่มีช่องทางทำมาหากิน เลยเลือกหันไปขายบริการ แต่ก็ตามมาด้วย ‘กามโรค’ ที่แพร่ตัวอย่างรวดเร็ว รัชกาลที่ 5 จึง จึงทรงออกพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 (พ.ศ. 2452) เพื่อป้องกันและควบคุมกามโรค โดยบัญญัติให้สถานบริการทางเพศต้องจดทะเบียนและมีชื่อโสเภณีที่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งโสเภณีแต่ละคนต้องไปจดทะเบียนกับเจ้าพนักงาน
ทำให้อาชีพนี้ค่อนข้างรุ่งเรือง สร้างรายได้ให้กับแผ่นดินอย่างมหาศาล และขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีโรงโสเภณีจดทะเบียนที่ตั้งอยู่ในสำเพ็งประมาณ 40 แห่ง ส่วนหญิงที่มาประกอบอาชีพนี้แบ่งเป็นหญิงจีน 1,441 คน หญิงไทย 950 คน หญิงเวียดนาม 58 คน และหญิงลาว 50 คน ที่มาจากการอพยพย้ายถิ่นฐาน
ปรับโสเภณีให้ผิดกฏหมาย | (แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนจริง)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติมีมติว่า ‘การค้าประเวณีทำให้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ตกต่ำลง และเป็นต้นเหตุแห่งความเสื่อมทรามต่างๆ เช่น การค้าผู้หญิง อาชญากรรม และการแพร่เชื้อกามโรค’ ประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในสมาชิก จึงออกพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 แทนพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 ทำให้อาชีพโสเภณีกลายเป็นเรื่องผิดกฏหมาย แต่ก็ยังมีให้เห็นผ่านตา เพราะ ช่วงสงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2503) ไทยกลายเป็นฐานทัพให้อเมริกา ต้องจัดหาผู้หญิงไปคอยบริการ การขายบริการของผู้หญิงยุคนั้นจึงยังมีให้เห็น แอบทำกันแบบลับๆ และเปลี่ยนรูปแบบสู่โรงน้ำชา เมียเช่า และสถานบริการต่างๆ
ปี พ.ศ.2530 ไทยประกาศเป็นปีท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจและทำรายได้มหาศาลคือ ‘การบริการทางเพศ’ จึงทำให้ธุรกิจกามเพิ่มจำนวนขึ้นอีกมากมาย ถึงขั้นได้รับสมญานามใหม่ว่า “สยามเมืองเซ็กซ์” ที่รัฐบาลไทยยกมือปิดปากบอกว่า ‘ฉันรับไม่ได้’ แต่ก็เปิดตาดูอะไรเหล่านี้กันต่อไปแบบไม่ได้คัดค้านอย่างจริงจัง
จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2536 ประเทศไทยถูกเพ่งเล็งมากเรื่องโสเภณีเด็ก รัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี (2539) แม้กระนั้น จำนวนโสเภณีก็มิได้ลดลง ลากยาวมาจนถึงปัจจุบันที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อน แอบแฝงอยู่ในรูปแบบอื่นๆ เช่น อาบอบนวล เด็กนั่งดริงค์ บาร์ โรงเตี๊ยม เซ็กส์โฟน
Red Light District | ถนนโลกีย์ถูกกฎหมาย
“Red Light District – เขตเที่ยวกลางคืน และสามารถขายบริการทางเพศได้อย่างถูกกฎหมาย และสีแดงที่ว่า มาจากสีไฟที่ใช้ส่องแสง เพื่ออวดโฉมเหล่านางงามตู้กระจก”
“Red Light District หรือ ย่านโคมแดง” คือเขตที่ถูกแบ่งให้เป็นพื้นที่สำหรับ ‘กิจกาม’ ของการให้บริการทางเพศอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งในต่างประเทศหลายแห่ง ทำกันอย่างจริงจัง และเปิดเผยแบบจริงใจ ในบริเวณโคมแดงจะมีโสเภณียืนโชว์เรือนร่างตามตู้กระจก
พูดให้เห็นภาพกันอีกนิด คือจะมีตึกเรียงรายกันเป็นตับ และด้านหน้าของตัวตึกจะกรุกระจกใส ไว้ใช้อวดโฉมของผู้ให้บริการ ซึ่งจะมีแสงไฟสีแดงส่องแสงยามค่ำคืน นอกจากนี้ ยังมีซ็กส์ช็อป หนังโป๊ ชุดวาบหวิว และอุปกรณ์เพิ่มความบันเทิงวางขายเกลื่อนกลาด โดยมีเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขเข้าไปควบคุมดูแล และเรื่องราวอย่างว่า จะต้องกระทำเพียงในเขตนี้เท่านั้น จะไปตั้งรกราก หรือแอบทำมาหากินนอกเขตไม่ได้เด็ดขาด
อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์
ก่อนจะพูดถึงกรณีของประเทศไทย เราขอยกตัวอย่าง Red Light District จากต่างประเทศที่บ้านเขาทำกันอย่างเปิดเผยมาเล่าสู่กันฟังให้เข้าใจกันเสียก่อน นั่นคือ ‘นครอัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์’ เพราะอย่างที่รู้กันว่า เซ็กส์กับเมืองนี้เป็นของคู่กันราวกับขนมปังคู่เนยถั่ว รัฐบาลจึงประกาศให้เป็นเขตโคมแดง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจตุรัสแดมเท่าไหร่นัก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวผู้หญิงแบบถูกกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข ตำรวจคอยดูแล และมีการตรวจสุขภาพที่ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ
นอกจากนางงามตู้กระจกที่ดึงดูดนักเที่ยวให้ตบท้าวเดินขึ้นบันไดสีแดงกันแล้ว “พิพิฒภัณฑ์เซ็กส์ (Sex Museum)” แห่งนครอัมสเตอร์ดัมก็น่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน ภายในจัดแสดงเรื่องราวใต้สะดือตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่ามาทุกมิติของเรื่องเพศ จัดเป็นห้องเรียนเพศศึกษาชั้นเยี่ยมเลย
“องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการที่รัฐบาลของแต่ละประเทศควรให้การรับรองอาชีพโสเภณีในฐานะอาชีพที่สุจริต”
กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
การเรียกร้องให้บ้านเราก้าวสู่วงการ Red Light Distirct รับรองให้โสเภณีเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย เริ่มเป็นประเด็นฮอตในช่วงปี พ.ศ. 2543 นำโดย “มูลนิธิส่งเสริมโอกาสหญิง หรือ เอ็มพาวเวอร์ (empower)” ที่เป็นกระบอกเสียงด้านสิทธิให้กับหญิงขายบริการมาโดยตลอด โดยครั้งหนึ่ง ได้มีการจัดสัมนาแรงงานหญิงบริการทางเพศแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถาการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหญิงบริการ และเพื่อเรียกร้องให้มีการรับรองอาชีพขายบริการทางเพศให้เป็นอาชีพถูกกฎหมาย
เพราะว่าต่อให้ปิดตาเดิน เราก็ยังเห็นภาพของอาชีพการขายบริการทางเพศอยู่เป็นจำนวนมาก และยังถือเป็นอีกหนึ่งกำลังหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แหล่งท่องเที่ยวที่มีทะเลสวยน้ำใส อย่างภูเก็ตและพัทยา ที่มีการสำรวจจาก Lonely Planet ผ่านนักท่องเที่ยวกว่า 7,500 คน จาก 130 ประเทศทั่วโลกว่า “อยากมาประเทศไทย เพื่อหาความสุขทางเพศ”
นอกจากนี้ สถานบริการในบ้านเรานั้น ผุดขึ้นเรียงรายกันเป็นดอกเห็น เพียงแค่ในกรุงเทพฯ ก็มี 3 ย่านดัง ชื่อเสียงแบบติดท็อปฮิตที่แขกไปใครมา ก็ต้องแวะเวียนไปปรับอารมณ์กันบ้าง และเป็น 3 ย่านสำคัญ ที่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติหลายคนมองว่า ควรประกาศให้เป็นเขตการค้าบริการทางเพศอย่างถูกกฎหมาย ได้แก่ ซอยคาวบอย, ซอยนานา และ ซอยพัฒพงษ์
โสเภณี | ถูกระเบียบ
หากวันข้างหน้า Red Light District สามารถเกิดขึ้นจริงในบ้านเรา “โสเภณี” จะกลายเป็นอาชีพสุจริตอย่างถูกกฎหมายไปโดยปริยาย ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น อาชีพนี้จะกลายเป็นอาชีพทางเลือกที่ผู้ให้บริการได้เลือกทำด้วยตนเอง
และการก้าวขาเข้าสู่การเป็นผู้โสเภณี จะต้องกำหนดอายุขั้นต่ำ ขึ้นทะเบียนโดยตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกเดือน และคุมเข้มเรื่องการป้องกันโรค ในทางกลับกัน เราควรกำหนดอายุ และตรวจสุขภาพผู้เข้าใช้บริการด้วย
ทุกวันนี้ บ้านเราอยู่กันแบบ ‘เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง’ เพราะปากก็พูดว่า เรื่องราวโสเภณีมันขัดต่อภาพลักษณ์ความเป็นเมืองพุทธ แต่เมื่อปลายปี 2560 รัฐบาลดันประกาศให้การเข้าใช้บริการอาบ อบ นวด (ที่เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่มีการค้าประเวณีซุกตัวอยู่) เข้าโครงการช้อปช่วยชาติ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ดังนั้นการทำให้โสเภณีเป็นอาชีพที่ถูกกฏหมาย และจัดตั้งเขตโคมแดงจึงควรได้รับการพิจรณา
Sources: คำ ผกา-อรรถ บุนนาค. “ถึงเวลาหรือยังที่โสเภณีจะเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย,”คิดเล่นเห็นต่าง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555 : น.340-347
ปริศนานาม..สำเพ็ง
โสเภณีถูกกฎหมาย ช่วยปราบทุจริต รักษาศีลธรรม
ปูมหลัง ‘โสเภณี’ ในสยามประเทศ
ย่านโคมแดงในกรุงอัมสเตอร์ดัม..
Photo credit : www.chicstreetsandeats. com