Pomme Chan นักวาดที่เชื่อว่าเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย - Urban Creature

‘เซ็กซ์’ คือเรื่องปกติ และมันเกิดจากการตกลงกันระหว่างคน 2 คน ว่าจะแนบเนื้อชิดใกล้ เสพหลากอารมณ์ผ่านทางร่างกายให้เหมือนอยู่บนก้อนเมฆ แม่น้ำ หน้าผา โทลเวย์ หรือใดๆ ก็แล้วแต่สถานการณ์ แต่ไหงฝ่ายหญิงกลับไม่มีสิทธิ์พูดเรื่องนี้ได้เท่าฝ่ายชายกันล่ะ

เพราะหากมอง ‘เซ็กซ์’ ให้เหมือนการกินข้าวที่เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มนุษย์ต้องการ มันจะไม่มีคำว่าหยาบ ทะลึ่ง น่าเกลียด ไม่รักนวลสงวนตัว แรด ใจแตก ผ่านออกมาจากปากบุคคลขี้ตัดสิน ขี้สร้างกรอบความเป็นหญิงในไทยเป็นแน่

“น้องเป็นสื่อแรกเลยนะเนี่ยที่มาคุยกับพี่เรื่องเพศ” นักวาดภาพประกอบหญิงในวัย 39 ปี บอกฉันด้วยความตื่นเต้น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา พี่ปอม-ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง หรือ Pomme Chan นักวาดภาพประกอบหญิงคู่สนทนาวันนี้ของฉัน ใครๆ ก็มองเธอจากเนื้องานลายดอกไม้หวานๆ ส่วนใหญ่ที่เธอวาด ไม่ได้คิดว่าจะมีมุมมองเรื่องเพศแต่อย่างใด แต่เปล่าเลย เธอย้ำกับฉันเสมอว่า “ผู้หญิงมีสิทธิ์พูดเรื่องเซ็กซ์” และยังชวนถกเรื่องเพศที่ผู้หญิง ผู้ชาย และ LGBTQ+ ถูกกดทับมาตลอดตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา ที่ทำงาน และวาทกรรมในสังคม เพราะไม่ว่าเพศไหนก็มีสิทธิ์พูดเรื่องเซ็กซ์ได้เท่ากัน

01 ‘ครอบครัว’ ด่านแรกที่พูดคุยเรื่องเพศ

“เซ็กซ์และเพศควรเป็นเรื่องที่ลูกสบายใจที่จะพูดอย่างเปิดเผยในครอบครัว”

พี่ปอมเริ่มบทสนทนาแรกด้วยการบอกฉันว่าเธอโตมากับแม่ที่เปิดกว้างเรื่องเพศ แต่ในขณะเดียวกันก็โตมากับพ่อที่เข้มงวด ในวัย 12 ปี พี่ปอมมีแม่เป็นอดีตแอร์โฮสเตส เธอปัดมาสคาราและทาครีมบำรุงเป็นตั้งแต่ตอนนั้น เพราะแม่สอนให้ดูแลตัวเอง ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องแก่แดดเหมือนผู้ใหญ่สมัยก่อนบางคน พออายุ 16 ปี แม่ไม่ห้ามพี่ปอมใส่สายเดี่ยวสวยๆ แถมยังบอกอีกว่าต้องใส่เสื้อในแบบไร้สายนะจะได้สวย หรือไม่ก็โนบราไปเลยถ้าใส่เสื้อในแล้วอึดอัด 

แต่ก็ไม่ลืมเปิดใจกับพี่ปอมเรื่องรักษาเนื้อรักษาตัว จะคบกับใครสามารถบอกได้ ไปถึงขั้นไหนสามารถบอกได้ นั่นทำให้พี่ปอมกล้าเล่าให้แม่ฟังเหมือนเพื่อน เช่น บอกตลอดว่าจูบกับแฟนแล้วนะ แม่ก็จะสอนว่าไม่ใช่กับใครก็ได้ ต้องเต็มใจที่จะทำ ต้องผ่านสเต็ปการเดตมาก่อน ไปจนถึงเริ่มสอนวิธีการป้องกันแทนการ ‘ห้าม’ โดยเน้นย้ำว่าจะมีเซ็กซ์ได้ควรบรรลุนิติภาวะ หรืออายุ 20 ปีก่อน เพราะเป็นช่วงที่รู้จักร่างกายตัวเอง รู้เท่าทันใจและความคิดมากพอ

“แม่สอนเรานับวันตกไข่ เรื่องการท้อง ไปจนถึงการใช้ถุงยาง การที่เขาไม่สั่งเรา ไม่ห้ามเรา แต่บอกวิธีทำให้มันปลอดภัยจากการท้องหรือโรคติดต่อ แล้วก็บอกเราแบบขำๆ ว่า แม่ยังไม่อยากเป็นยายนะจ๊ะ (หัวเราะ) ทำให้เรารู้สึกสบายใจและไม่ต้องปิดบังอะไรเขา”

กลับกันในส่วนพ่อที่เข้มงวด เวลาพี่ปอมจะออกจากบ้านต้องใส่เสื้อคลุมก่อนแล้วค่อยไปถอดข้างนอก แต่งตัวโป๊ก็ต้องแอบวิ่งออกจากบ้าน มีเดตกับแฟนก็ต้องบอกว่าเพื่อนสนิท เวลาเห็นคู่รักเดินผ่านก็จะบอกพี่ปอมว่า “ดูสิ นักศึกษาจับมือกัน แกอย่าทำแบบนั้นเชียวนะ” ไปทริปกับเพื่อนก็ต้องโกหกพ่อ การโตมากับครอบครัว 2 ขั้ว พี่ปอมบอกว่าโชคดีที่มีแม่ที่เข้าใจ ถ้าไม่มีผู้ปกครองคนไหนเข้าใจเลย เหมือนเด็กๆ บางคนในสมัยนี้ ก็อาจเกิดปัญหาครอบครัว เพราะที่บ้านไม่ใช่ที่ที่สบายใจอีกแล้ว

“ครอบครัวมีส่วนสร้างความเข้าใจให้เด็กมากที่สุด เรื่องเซ็กซ์ควรสอนก่อนว่าทำอย่างไรให้ปลอดภัย คุณค่าของการมีเซ็กซ์คืออะไร คือการปลดปล่อยอารมณ์ตามฮอร์โมนไหม ไม่ใช่ลดทอนการมีเซ็กซ์ว่าไม่ดี เพราะอย่าลืม พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับลูก 24 ชั่วโมง ถ้าคุณไม่สอน เขาจะไปหาวิธีอื่น ซึ่งเสี่ยงมากกว่า”

02 กดทับทางเพศที่แฝงในชีวิตประจำวัน

ฉันเคยคิดเหมือนกันว่าเด็กรุ่นใหม่กำลังถูกสอนโดยอาจารย์ Gen X ที่เอาบริบทของรุ่นตัวเองมาสอนเด็ก โดยที่โลกได้หมุนเปลี่ยนไปทุกวัน เด็กผู้หญิงหลายคนเติบโตมากับการบังคับให้หวงแหน ‘ซิง’ และจะถูกตีตราว่าง่ายถ้าให้ซิงก่อนแต่งงาน แต่ความเป็นจริง มันคือสิทธิ์ทางร่างกายของผู้หญิงไม่ใช่เหรอ

“การเปิดซิงครั้งแรกไม่ใช่ไม่มีค่านะ มันก็มีค่าในความรู้สึกของผู้หญิงบางคน แต่เรามองว่าถ้าเราเสียไปด้วยความสมัครใจ เราเลือกแล้วว่าจะมีเซ็กซ์กับใครและตอนไหน มันก็ไม่ผิด เพราะนั่นคือร่างกายของเรา จะเก็บซิงไว้จนแต่งงานหรือไม่เก็บก็ได้ เพราะซิงไม่ใช่ทรัพย์สมบัติระดับโลก”

‘ต้องเก็บซิงไว้จนแต่งงาน’ ไม่ใช่ประเด็นเดียวที่พี่ปอมมองว่าเป็น Soft Power ที่แฝงตัวมากับค่านิยมสังคมไทยในชีวิตประจำวัน แต่ยังมีประเด็นการคุกคามทางเพศและความไม่เท่าเทียมทางเพศซ่อนอยู่ในรั้วการศึกษาไปจนถึงที่ทำงาน เริ่มกันที่มัธยมฯ ในรั้วโรงเรียนหญิงล้วนที่พี่ปอมเรียน แน่นอนเธอโตมากับสังคมที่เริ่มมีคำว่าทอม ดี้ หรือหญิงรักหญิงในรั้วโรงเรียน มีวิธีจีบกันน่ารักๆ ผ่านการเขียนกลอนหรือส่งเพลงกัน ซึ่งคนในโรงเรียนจะมองเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีเด็กผู้ชายคนใดเข้ามาจีบหรือขอเบอร์นักเรียนหญิงในโรงเรียนก็จะถูกเพื่อนๆ แอนตี้ โดนด่าว่าแรด ไม่เป็นกุลสตรี เสนอตัวให้ผู้ชาย ซึ่งเป็นการกดทับทางเพศทั้งเพศหญิงที่ถูกตีตรา และการลดทอนความรักของ LGBTQ+ ว่าเป็นรักที่ไม่จริงจัง

“ปอมมีคำถามตั้งแต่เด็กว่าทำไมเอกสารต่างๆ มีให้กรอกเพศแค่ชาย หญิง ใครเป็นคนกำหนดสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วคนที่ไม่ได้สบายใจที่จะติ๊กช่องไหนล่ะ มันคือสิ่งที่สังคมควรตระหนักกันให้มากว่าเป็นการทำร้ายใจใครหรือเปล่า”

เข้ามหาวิทยาลัยพี่ปอมก็ไม่วายถูกคุกคามทางเพศ เวลาเดินผ่านกลุ่มผู้ชายก็จะถูกรุ่นพี่แซวว่า “เรียนคณะไหนจ๊ะ วี๊ดวิ้ว” ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ต้องเดินก้มหน้า สับขาให้เร็ว เพื่อหนีจากตรงนั้น หรือตอนฝึกงาน เธอโดนหัวหน้าแผนกใช้สายตาและพูดเหยียดลับหลังกับพวกเดียวกันว่า “เด็กคนนั้นได้ยังวะ” หรือเวลาเธอเดินผ่านก็จะซี้ดปากใส่ มองหน้าอก หรือทักทายว่าขาสวยจัง ซึ่งพี่ปอมมองว่าเรื่องพวกนี้เกิดจากที่คนไทยถูกสอนมาให้ ‘เคารพผู้ใหญ่’ ทำให้เด็กไม่กล้าหือ เพราะพูดไปก็จะถูกตอกกลับว่ามันขนาดนั้นเลยเหรอ คิดมากจัง ทำให้ผู้ใหญ่ที่คิดว่ามีอำนาจคุกคามเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่ควรแก้ไขให้เกิดขึ้นจริง พี่ปอมบอกว่าทางสถาบันการศึกษาและบริษัทที่ทำงานควรเปิดให้มีการร้องเรียน เพราะเด็กน้อยคนที่จะกล้าเผชิญหน้าตัวคนเดียว ไม่ใช่แค่เรื่องเพศแต่รวมไปถึงการเลือกปฏิบัติด้วยเช่นกัน เพราะมีเด็กหลายคนที่อึดอัด ไม่รู้จะพูดกับใครจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ส่วนประเด็นเรื่องเซ็กซ์ในวิชาเรียนควรแก้ไข เพราะบางตำรายังมีการสอนว่าผู้หญิงที่ควงผู้ชาย แต่งตัวเปรี้ยว เป็นผู้หญิงใจแตก ซึ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมเหยียดเพศที่ควรยกเลิกได้แล้ว ที่สำคัญเซ็กซ์ควรเรียนรู้ได้ตั้งแต่ตอนเรียน สอนการป้องกันที่ถูกต้องในทุกมิติ ตั้งแต่ตัวช่วยในการสำเร็จความใคร่ ไปจนถึงการมีเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย แต่ควรเป็นไปเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นต้น

03 ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ผู้หญิงต้องเรียบร้อย

“การปลูกฝังความคิดลบๆ เรื่องเพศนี่ปลูกฝังมากันยาวนานจริง ดูง่ายๆ เลย เวลาผู้หญิงถูกข่มขืน สังคมจะโทษเหยื่อว่าแต่งตัวยั่วเอง”

น้ำเสียงของพี่ปอมจริงจังและแรงกล้าในคำตอบ เพราะมีคนส่วนมากที่ยังมีความคิดว่าผู้หญิงต้องแต่งตัวมิดชิด เป็นกุลสตรี หากแต่งตัวโป๊แล้วโดนคุกคามทางเพศจะโทษผู้หญิงทันทีว่าทำตัวเอง แทนที่จะมุ่งเป้าไปโทษผู้ชายที่ทำผิด ทั้งๆ ที่ผู้ชายเองไม่ใช่เหรอที่ต้องมีสติและควบคุมตัวเอง ไม่ใช่ปัญหาของผู้หญิงที่จะต้องแต่งตัวเรียบร้อยออกจากบ้านเลย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนเริ่มออกมารณรงค์ขับเคลื่อน ‘การโนบราไม่ผิด’ เพราะเป็นสิทธิ์ในร่างกายของผู้หญิง ผู้ชายไม่มีสิทธิ์มาลวนลาม ตัวพี่ปอมเอง 1 วันก่อนจะคุยกับฉัน เธอก็โนบราไปทำงานเช่นกัน

ไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่โดนวางกรอบ ชี้ถูก ชี้ผิด ในสังคม ทางด้านผู้ชายก็มักถูกคาดหวังให้รวย เปย์ มีรถ มีงานดีๆ ผู้หญิงจะได้ชอบเช่นกัน รวมถึงการกดความรู้สึกเอาไว้ว่าห้ามร้องไห้ ห้ามอ่อนแอ เพราะดูไม่แมน ซึ่งวาทกรรมที่กล่าวมาเข้าข่าย Toxic Masculinity หรือภาวะการกดทับผู้ชายที่ต่างจากกรอบความเข้มแข็งของผู้ชายที่คาดหวังให้เป็นช้างเท้าหน้า เป็นผู้นำครอบครัว และต้องเก่งกว่าผู้หญิง

“ผู้ชายบางคนอาจละเอียดอ่อน ชอบดูแลบ้าน เรามองว่าการดูแลบ้านก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ไม่เห็นจะผิด หรือถ้าผู้ชายจะร้องไห้หรืออ่อนแอมันผิดตรงไหน ผู้ชายก็คนนะ”

04 กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อเพศหญิงและ LGBTQ+

“ถ้ามีโอกาสได้แก้ไขกฎหมายเรื่องเพศ อยากแก้ไขอะไรบ้าง” ฉันถามพี่ปอม ก่อนเธอจะอธิบายแจกแจงอย่างตั้งใจดังนี้

1. Sex Toy ควรถูกกฎหมาย – อุปกรณ์การช่วยตัวเองอย่าง Sex Toy ไม่ได้อันตราย เป็นเพียงปัจจัยที่เหมือนการกินข้าว หิวน้ำ และเป็นความต้องการทางฮอร์โมน ซึ่งเป็นการหาทางออกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ผิดและไร้พันธะ ซึ่งต่างประเทศก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย

2. Sex Worker คืออาชีพสุจริต – อาชีพขายบริการเป็นเพียงอาชีพ ทุกคนมีเหตุผลของการกระทำไม่ว่าพวกเขาจะอยากประกอบอาชีพนี้ด้วยเหตุผลใด ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล สังคมไม่มีสิทธิ์ดูถูก เพราะเป็นอาชีพที่ตอบสนองสังคมรูปแบบหนึ่ง ควรถูกกฎหมายได้แล้ว

3. ผลักดัน ‘ทำแท้งถูกกฎหมาย’ – หากการทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ไม่อยู่ในเงามืด จะช่วยลดปัญหาครอบครัว และปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ไปมาก เพราะครอบครัวที่เลี้ยงลูกไม่ได้ เด็กจะกลายเป็นเด็กกำพร้า บ้างก็ถูกทิ้งไว้ตามถังขยะ อนาคตจะแย่ลงไปทุกที อีกทั้งอาจเกิดปัญหาสุขภาพในผู้หญิงที่ทำแท้งเถื่อน ซึ่งหากทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายจะช่วยลดอันตรายต่อผู้หญิง โดยอาจกำหนดระยะครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ ต้องผ่านการพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดูความพร้อมต่างๆ เป็นต้น

“ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากท้องเพื่อไปทำแท้ง ทุกคนล้วนมีเหตุผล”

4. #สมรสเท่าเทียม – พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ไม่ตอบโจทย์ความเท่าเทียมทางเพศ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นอะไรไป ต้องผ่าตัดเร่งด่วน แต่กฎหมายยังไม่สามารถให้คู่รัก LGBTQ+ เซ็นผ่าตัดได้ ซึ่งเป็นการปิดกั้นความเท่าเทียมออกจากคู่สมรสชาย-หญิง ดังนั้นต้องเกิดกฎหมายสมรสเท่าเทียม

05 ผู้หญิงพูดเรื่องเซ็กซ์ได้แค่ไหน

การมีเซ็กซ์ทำให้เกิดการเรียนรู้ในหลากมิติ พี่ปอมบอกฉันว่าเซ็กซ์ที่มากับคู่รักจะทำให้เห็นการรับส่ง ว่าฝ่ายตรงข้ามเห็นแก่ตัวหรือเปล่า อีกคนให้เราแบบไหน แล้วเราให้เขาแบบไหน แฟร์ไหม รู้สึกดีไหม ซึ่งมีหลายคู่ที่ไม่ลองก่อน แต่งงานไปก็ทำให้เลิกกัน ส่วนเซ็กซ์ที่มากับ One Night Stand ก็จะทำให้เราได้ปลดปล่อยอารมณ์ ทั้งทางกายภาพและฮอร์โมน โดยที่ไม่มีอะไรผูกมัด

“สรุปเลยนะคะ ผู้หญิงสามารถพูดเรื่องเซ็กซ์ได้ทุกครั้งที่เราอยากพูด เพราะเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการใช้ชีวิตเพียงเท่านั้น”

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.