บรรณาธิการบริหารแห่ง Urban Creature บอกทีมในเช้าวันประชุมกองบรรณาธิการว่า “ภายในปี 2048 มหาสมุทรอาจว่างเปล่า ไร้สิ่งมีชีวิต” หลังจากเมื่อคืนพี่แกใช้เวลาจดจ่อกับ Seaspiracy ภาพยนตร์สารคดีใน Netflix ที่ตีแผ่อุตสาหกรรมประมงซึ่งทำร้ายสิ่งมีชีวิตในทะเลไปมหาศาล ทั้งอวนจับปลาที่สร้างขยะและฆ่าสัตว์น้อยใหญ่มากกว่าพลาสติก ปัญหาการจับสัตว์น้ำพลอยได้ที่เน้นกวาดทุกสปีชีส์ในทะเลด้วยอวนขนาดใหญ่ที่คลุมโบสถ์ได้ทั้งหลัง แรงงานทาสที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ฟาร์มสัตว์ทะเลที่เข้ามาแย่งพื้นที่ป่าโกงกางซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญบนโลกจนเกิด Climate Change รวมไปถึงการชี้ให้ทุกคนหยุดกินปลาเพื่อจบทุกปัญหา
หลากเสียงในห้องประชุมเริ่ม “เชี่ย แล้วต้องทำไงวะ” “กูดูจบแล้วอยากเลิกกินปลา” “โหดร้ายว่ะ” “คืนนี้จะกลับไปดู” ขึ้นมาจนกลายเป็นเสียงนอยซ์
เย็นวันนั้น เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที ฉันใช้ไปกับการดู Seaspiracy พร้อมความรู้สึกหดหู่ที่เกิดขึ้น แต่เดี๋ยวก่อน…หลังจากที่สติแตกไปครู่หนึ่ง อยู่ดีๆ ก็คิดขึ้นว่า “เคยเรียนข่าวมา หาข้อมูลเพิ่มเติมและอัปเดตมันหน่อยเป็นไง”
อวนสร้างความเสียหายต่อทะเลมากแค่ไหน การลดใช้พลาสติกไม่จำเป็นเลยหรือเปล่า การจับสัตว์น้ำพลอยได้ต้องเร่งแก้ไขก่อนที่มันจะสูญพันธุ์หรือไม่ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทะเลส่งผลเสียอย่างไร ตกลงแรงงานทาสในไทยมีอยู่ไหม และการเลิกกินปลาเป็นคำตอบที่ดีจริงหรือในวันที่ชาวประมงพื้นบ้านยังคงเลี้ยงชีพด้วยการหาปลา
ทุกคำถาม มีคำตอบ ขอเวลาไม่นาน เพ่งสายตาให้มั่น ไล่อ่านทุกบรรทัด ไปเจาะข้อมูลเอกสารที่สารคดีไม่ได้บอก และความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านประมงในไทยกัน
ลุย
01 The ‘อวน’ of the Sea
ท่ามกลางแคมเปญรณรงค์ Say No พลาสติกที่เกิดขึ้นแทบทุกมุมโลก เนื่องด้วยพลาสติกเป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะโลกร้อน และภัยร้ายต่อสัตว์ทะเลที่ต้องตายเพราะขยะพลาสติกลอยวนไปติด พัน บาด หรือเผลอกินเข้าไป
ทว่า Seaspiracy ตอกกลับคนดูด้วยการปาข้อมูลใส่รัวๆ ว่า…ปัญหาบิ๊กเบิ้มที่คนหรือแม้แต่องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ค่อยพูดถึงกันคือ ขยะจาก ‘อวนจับปลา’ ที่เป็นตัวการคร่าชีวิตเหล่าสัตว์น้ำ
สารคดีชี้ว่าปี 2018 ขยะ 46 เปอร์เซ็นต์ในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นอวนจับปลาที่ถูกทิ้งหลังทำประมง และวาฬที่เกยตื้นตายบนชายหาดประเทศอังกฤษ มีสาเหตุการตายมาจากอุปกรณ์ประมง อีกทั้งยังแปะงานวิจัย Marine turtles dying after becoming entangled in plastic rubbish จากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ ซึ่งบอกว่าเต่าทะเลตายเพราะขยะพลาสติกเพียงปีละ 1,000 ตัว คำถามคือ แล้วพวกมันตายจากอวนที่สารคดีไม่ได้บอกล่ะเท่าไหร่
คำตอบคือ 100,000 ตัว
องค์กรรณรงค์สิ่งแวดล้อมอิสระระดับโลกอย่าง กรีนพีซ (Greenpeace) รายงานว่าอวนเส้นหม้อและกับดักที่ใช้ในการประมงเชิงพาณิชย์มากกว่า 640,000 ตันถูกทิ้งในทะเลทุกปี ซึ่งมีน้ำหนักเท่ากับรถบัสสองชั้น 55,000 คัน (ช็อก) และในแต่ละปีมีสัตว์ทะเลเสียชีวิตเพราะติดเศษอวนมากกว่า 100,000 ตัว โดยประเทศไทยก็มีสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ตายเพราะเศษอวน เช่น วาฬบรูด้าเพศเมียที่เสียชีวิตบริเวณอ่าวไทย
เมื่อกี้ Seaspiracy ให้ข้อมูลว่าปี 2018 มีขยะอวน 46 เปอร์เซ็นต์ในมหาสมุทรแปซิฟิกใช่ไหม รู้ไหม ปีถัดมา (2019) ตัวเลขขยะจากอวนและเครื่องมือประมงขึ้นสูงถึง 86 เปอร์เซ็นต์ กรีนพีซยังบอกอีกว่ามีขยะปนเปื้อนอยู่ในทะเลมากถึง 42,000 ตัน ทุกๆ ปี สัตว์ทะเลจำนวน 1 ล้านตันถูกอวนประมงจับ กว่าหมื่นตัวเป็นเต่าทะเล ฉลาม และโลมา ขณะเดียวกันขยะพลาสติกประเภทต่างๆ ราว 8 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเลทุกปี ทำให้สัตว์หลายตัวต้องตายเพราะกินขยะเหล่านี้
ดังนั้น การที่ อาลี ผู้ดำเนินเรื่องในสารคดีเรื่องนี้บอกว่าการช่วยกันงดใช้หลอดพลาสติกเป็นการตำน้ำพริกลงทะเลเพราะช่วยอะไรไม่ได้เลย อาจไม่จริงนัก (พวกเราช่วยกันได้ แต่อย่าลืมตระหนักถึงเรื่องอวนด้วย!)
สำหรับวิธีการแก้ปัญหา ตัวฉันเองที่ไม่ได้ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรง คงตอบไม่ได้อย่างชัดเจน จึงให้ ดอมินิก-ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประมง มาเป็นกำลังเสริม
“ผมคิดว่าความพยายามของทุกคนมีความหมาย สิ่งที่ประชาชนอย่างเราๆ ทำได้เลยและเห็นเป็นรูปธรรมนั่นก็คือการช่วยรณรงค์เรื่องการไม่ใช้หลอดพลาสติก และลดใช้ Single-used Plastic
“ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาขยะจากอวน ต้องใช้ความร่วมมือและความรับผิดชอบระหว่างภาครัฐและบริษัทผู้ผลิต บริษัทควรปรับปรุงการออกแบบอวนจับปลาให้สามารถนำไปรีไซเคิล ฝังกลบ ง่ายต่อการกำจัด หรือ เปลี่ยนไปใช้พลาสติกชนิดเดียวในการผลิต
“อีกวิธีที่น่าสนใจคือการทำ Tag ติดไว้ที่อุปกรณ์ตกปลาทุกชนิด เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าเจ้าของคือใคร วัสดุที่ใช้คืออะไร หากรัฐบาลออกมาตรการนี้พร้อมกับลงพื้นที่สำรวจขยะจากอวน และมีนโยบายระหว่างประเทศ เพราะขยะทางทะเลมันลอยข้ามประเทศอื่นได้ จะช่วยชี้ว่าใครเป็นคนผิด และช่วยจับประมงผิดกฎหมายได้ด้วย”
ดอมินิกพูดถึงประมงผิดกฎหมายขึ้นมา ทำให้ฉันยกข่าว “เครือข่ายประมงพื้นบ้าน” บุกยื่นหนังสือถึงผู้ว่า จี้จับกุมประมงผิดกฎหมายโดยเร็ว ที่เพิ่งอ่านจาก มติชนออนไลน์ เมื่อปลายเดือนที่แล้วขึ้นมา เพราะสาเหตุที่เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราชร้องเรียน เนื่องจากพบการทำประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายประเภทอวนรุน อวนลาก ลอบพับ และคราดหอย ซึ่งทำลายระบบนิเวศในอ่าวปากพนัง และพุ่งชนเรือตรวจการณ์จนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย
ตามปกติแล้วเครือข่ายประมงพื้นบ้านจะใช้เครื่องมืออวน 1 ชนิด จับปลา 1 ชนิด ที่ไม่กระทบระบบนิเวศ หน้าดิน และสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายกำหนดทุกประการ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า ทำไมกลุ่มผู้มีอำนาจหรือนายทุนถึงไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายเลย
02 สัตว์น้ำพลอยตาย
ประเด็นถัดมาที่ Seaspiracy ตั้งใจเล่าตั้งแต่ต้นจนถึงกลางเรื่องอย่างน่าสนใจคือ Bycatch หรือการจับสัตว์น้ำพลอยได้ของเรือประมงพาณิชย์ ซึ่งใช้เครื่องมือประมงจับสัตว์ทะเลตัวอื่นๆ ขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ และทารุณมันก่อนปล่อยให้ตายลงทะเล เช่น องค์กรอนุรักษ์เต่าทะเล Sea Turtle Conservancy เผยว่าในแต่ละปี อเมริกามีเต่าทะเลตายถึง 250,000 ตัวจากการถูกเรือประมงจับ ทำร้าย และฆ่า
องค์กรพิทักษ์ฉลาม Shark Allies กล่าวว่า วิธีการจับปลาเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันโดยใช้เบ็ดราว อวนล้อมจับ และอวนลากหน้าดิน จะทำให้เกิดการจับปลาสายพันธุ์อื่นๆ ที่อุตสาหกรรมไม่ได้ตั้งใจจับจำนวนมาก เช่น ฉลาม เต่า หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์จะเป็นขยะบนเรือลากกุ้ง และ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์จะถูกโยนกลับลงน้ำ ซึ่งน่าสะเทือนใจที่ฉลามจำนวน 50 ล้านตัวถูกจับรวมกับปลาชนิดอื่น บ้างถูกจับตัดครีบไปทำหูฉลาม บ้างก็ถูกทิ้งลงทะเลแม้บาดเจ็บ
25 มีนาคมที่ผ่านมา สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN เพิ่งยกลำดับให้ฉลามเลมอนและฉลามพยาบาลแอตแลนติก อยู่ในสถานะความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมถึงฉลามในทะเลแคริบเบียนที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ยังไม่รวมจำนวนสายพันธุ์ฉลามที่น่าเป็นห่วงว่าจะใกล้สูญพันธุ์ถึง 76 สายพันธุ์
สำหรับประเทศไทย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่า จำนวนของฉลามทุกชนิดมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากภัยคุกคามของมนุษย์ โดยจำนวนฉลามในรอบ 10 ปี จากการรายงานของสะพานปลาพบว่ามีอัตราลดลง 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจำนวนของฉลามหัวค้อนและฉลามเสือดาวมีอัตราลดลงอย่างมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ใน 10 ปี หากไม่มีกฎหมายคุ้มครองไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ฉลามในทะเลไทยจะสูญพันธุ์อย่างแน่นอน
เรื่องจริงที่เกิดขึ้นคือ หากกัปตันเรือเป็นคนดี เขาจะพยายามช่วยชีวิตสัตว์ทะเลที่ได้รับบาดเจ็บจากการจับสัตว์น้ำพลอยได้ แต่ถ้าไม่ การทำทุจริตหรือการลักลอบนำเข้าในตลาดมืดจะเกิดขึ้น เพราะหูฉลามมีมูลค่าสูงมาก นั่นคือสิ่งที่ดอมินิกพูดเสริม
“แม้เราจะมีผู้สังเกตการณ์ที่ขึ้นเรือประมงไปด้วย แต่ถ้ากัปตันเรือไม่ดี เขาอาจจะโยนกล้องหรือโน้ตบุ๊กลงทะเลก็ได้ ฉะนั้น การฝึกคนและตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีความซื่อตรงในการทำงาน ไม่ทุจริตในการรับซองขาวนำฉลามไปขายผิดกฎหมายจึงสำคัญ
“โจทย์ยากคือ จะตรวจสอบเรือทุกลำอย่างไร หากติดกล้องบนเรือ ควรแอบติดรอบเรือไปเลย เพราะกัปตันคงรู้ก่อน แล้วตัดครีบฉลามตรง Blind Spot และหากมีการใช้เทคโนโลยีติดตามตัวกัปตัน ส่งรูปไปองค์กรที่ดูแลปัญหาการจับปลาผิดกฎหมาย ก็อาจดีขึ้น”
03 ฟาร์มเลี้ยงกุ้งและ Climate Change
George Monbiot นักเขียน นักขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม และคอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์ The Guardian ปรากฏตัวในสารคดี พร้อมบอกว่า ป่าโกงกางในโลกซึ่งเป็นกำแพงต้านพายุได้อย่างดีถูกทำลายไปแล้ว 38 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปทำบ่อเลี้ยงกุ้ง
สิ่งนี้คือประเด็นที่ดอมินิกมองว่า Seaspiracy ทำได้ดี เขาเสริมอีกว่า ป่าชายเลนของไทยถูกทำลายไปเพื่อทำฟาร์ม และการได้มาซึ่งอาหารกุ้งต้องใช้ปลาบดราว 5 – 6 ตัน ซึ่งเขามองว่าเป็นวงจรที่ไม่มีประสิทธิภาพเอาซะเลย
“หากคุณมองจากบนเครื่องบิน ถัดจากสนามบินสุวรรณภูมิจะมีฟาร์มกุ้งเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมมากมาย ผลเสียระยะสั้นคือ การปนเปื้อน ส่วนระยะยาวคือ การเกิด Climate Change เพราะพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวหายไป
“ตัวเลขปลาหนึ่งตันที่ถูกโยนลงถังขยะ (เพื่อมาทำปลาป่น) มีมูลค่าสามพันกว่าบาท ซึ่งถ้าหากปลาเหล่านั้น อย่างแมกเคอเรลหรือทูน่า มีโอกาสได้เติบโตเสียก่อนมันจะมีมูลค่ามากกว่านี้หลายเท่าตัว หรือปลาทูน่าหนึ่งร้อยบาทในเวอร์ชันปลาป่น เป็นเจ็ดพันบาทในเวอร์ชันอุดมสมบูรณ์ที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีรายได้”
วิธีการแก้ปัญหาวัฏจักรฟาร์มกุ้ง ดอมินิกคิดว่าเราควรหันไปพึ่งแหล่งโปรตีนทางเลือก เช่น พืช และถั่วเหลือง แทนการกินกุ้งฟาร์ม มันอาจจะยาก แต่จะเป็นแรงกระเพื่อมที่ลดปัญหาดังกล่าวได้
04 แรงงานทาสไทยดีขึ้น แรงงานข้ามชาติสาหัส
นาทีที่ 1:06:26 ในสารคดี เป็นจุดเริ่มต้นของประเด็นแรงงานทาส แน่นอน เกิดข้อถกเถียงมากมายจากผู้ชมเพราะเกี่ยวเนื่องกับแรงงานทาส ‘ไทย’ โดยตรง
อาลี ได้สัมภาษณ์ผู้ที่อ้างว่าเป็นแรงงานทาสไทย ซึ่งให้การว่า เขาอยู่บนเรือถึง 10 ปี 2 เดือน 2 วัน หากขึ้นไปแล้วไม่มีใครสามารถลงมาจากเรือได้ ส่วนแรงงานทาสไทยอีกคนอยู่มา 6 ปี เครียดจนอยากฆ่าตัวตายถึง 3 ครั้ง เพราะถูกกดขี่ ด่า ว่า และมีการใช้ความรุนแรงด้วยน้ำร้อนรวมถึงใช้ปืนขู่
แต่สถานการณ์ความรุนแรงที่ว่าเรียกได้ว่า ‘เคย’ เกิดขึ้นในประเทศไทยหลายปีก่อน เพราะก่อนหน้านี้ EU (สหภาพยุโรป) เคยให้ใบเหลือง (IUU) ประเทศไทยเมื่อปี 2015 เนื่องจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งประเทศเราใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองถึง 4 ปีกว่าจะถูกยกเลิกใบเหลือง และผ่านการรับรองจนได้ใบเขียว
และต้นปี 2019 ประเทศไทยเพิ่งลงนามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง (International Labour Organization C188 – Working in fishing Convention) และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ลงนามรับรอง เพื่อสนับสนุนให้มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาในภาคอุตสาหกรรมประมง ทั้งเรื่องแรงงานและการทำประมงที่ผิดกฎหมาย โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 มกราคม ปี 2020
อีกทั้งประเทศไทยยังลงนามในข้อตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่า (Port State Measures Agreement – PSMA) เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัด การทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agricultural Organization – FAO) อีกด้วย
และปัจจุบันปัญหาแรงงานทาสไทยกำลังดีขึ้นก็จริง แต่ปัญหาแรงงานข้ามชาติก็ยังไม่ได้ถูกพิจารณาแก้ไข
ฮิวแมนไรตส์วอตช์ เผยแพร่รายงานชื่อ “โซ่ที่ซ่อนไว้ : การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย” (Hidden Chains : Forced Labor and Rights Abuses in Thailand’s Fishing Industry) ซึ่งกล่าวถึงกรณีแรงงานประมงข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เมียนมาและกัมพูชา ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในภาคการประมง ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างตามเวลา และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของไทย และไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน
ไม่เพียงแค่นั้น ข้อมูลจาก องค์การยุติธรรมนานาชาติ (International Justice Mission) ที่ศึกษาแรงงานประมง 260 คนในปี 2018 พบว่า 1 ใน 3 ของแรงงานประมงต่างด้าวตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และ 3 ใน 4 ของแรงงานเหล่านี้ต้องทำงานขัดหนี้ และถูกบังคับให้ทำงานวันละอย่างน้อย 16 ชม.
“ปัจจุบันอัตราการเกิดขึ้นของแรงงานประมงไทยลดลง เนื่องด้วยตัวเลือกทางอาชีพตามท้องถนนเพิ่มขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์ฉวยโอกาสจากแรงงานข้ามชาติที่พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยไม่ได้ พวกเขาไม่รู้จะติดต่อใคร ไม่สามารถไว้วางใจใคร ไม่เข้าใจสิทธิในไทย
“หากคุณเปลี่ยนกฎหมายและอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิในองค์กรสหภาพแรงงานเช่นเดียวกับคนไทย ปัญหามากมายบนเรือจะเริ่มหายไป เพราะพวกเขารู้สึกมีพลังส่งเสียงเพื่อหยุดการทารุณนี้ และควรมีการฝึกเจ้าหน้าที่แรงงานหรือตำรวจที่ระบุได้ว่ามีปัญหาบนเรือ ติดตามการบังคับใช้แรงงานบนเรือ เพราะถ้าเราไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ฝึกอบรมมาอย่างดี ไม่ว่ากฎหมายจะดีเพียงใด เราก็ตามคดีนี้ไม่ได้จริง” ดอมินิกว่า
อย่างไรก็ตาม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) กำลังผลักดันให้เจ้าหน้าที่ของไทยทำการกักเรือในกรณีที่มีการละเมิดร้ายแรงตามกฎหมายและระงับการยื่นขอใบอนุญาตทำงานใหม่สำหรับนายจ้างที่ละเมิดกฎหมายแรงงานที่ยังไม่แก้ไข พร้อมทั้งมีโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับ การใช้แรงงานเด็ก และลักษณะงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรม รวมถึงขจัดการแสวงประโยชน์กับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเล
05 “เลิกกินปลา” ชาวประมงพื้นบ้านจะอยู่อย่างไร
เมื่อดู Seaspiracy จบ คุณจะเห็นบทสรุปของสารคดีที่ชี้ให้ทุกคน ‘เลิกกินปลา’ แต่ท้ายที่สุด สารคดีไม่ได้พูดถึงผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งดำรงชีวิตและเลี้ยงปากท้องตัวเองด้วยการจับปลาแม้แต่นิดเดียว
ขณะที่ประมงพาณิชย์จับปลาเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจใช้อวนจับปลาขนาดใหญ่ ที่ดอมินิกบอกฉันว่าใหญ่เท่าสยามพารากอนได้ ไม่ว่าปลาเล็ก ปลาใหญ่ ก็ถูกกวาดเข้าอวนด้วยความเร็ว อีกทั้งส่งผลเสียต่อระบบนิเวศตามแนวปะการัง
แต่ประมงพื้นบ้านแตกต่างออกไป พวกเขาใช้ภูมิปัญญาที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นในการจับปลาเท่าที่ขาย ไม่จับปลาทุกสปีชีส์ หรือออกจับปลาระยะไกล พร้อมๆ กับคำนึงถึงการอนุรักษ์ปลาในท้องทะเล เช่น แนวเขตอนุรักษ์ บ้านปลา ธนาคารปูม้า ไข่หมึก หรือการปลูกป่าชายเลน
“ผมคิดว่าสารคดีที่ชี้ให้คนเลิกกินปลาเลย มันดูเป็นทางเลือกคนมีเงินเกินไป เพราะสภาพเศรษฐกิจในประเทศไทย ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเลือกกินมังสวิรัติ หรืออาหารทางเลือกอื่นๆ ยิ่งชาวประมงพื้นบ้านที่เขาใช้อาหารทะเลต่อชีวิตจากมื้อไปอีกมื้อ จะให้เขาทำอย่างไร เมื่อคนชนชั้นกลางไปบอกว่า เขาเลวเพราะต้องกินอาหารทะเลอยู่ แต่ไม่ได้มองว่าผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่เติบโตมากับวิถีชีวิตชาวเลจะตกงาน และไม่มีข้าวกิน” ดอมินิกกล่าว
ช่วงโควิด-19 แบบนี้ สถานการณ์ประมงพื้นบ้านยิ่งสาหัส นโยบายของรัฐบาลที่ประกาศกฎหมายยับยั้งโรคระบาด ทำให้ชาวประมงขายสัตว์ทะเลไม่ได้ อย่างประมงพื้นบ้าน จังหวัดตรัง บางวันขายปลาได้เพียง 60 บาทเพื่อยังชีพ โดยไร้วี่แววการเยียวยาจากรัฐบาล ต่างจากชาวสวนยางที่มีประกันรายได้
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด (เพราะอยากให้กลับไปคิดกันต่อ) ภาพยนตร์สารคดี Seaspiracy ทำงานได้ดีในการสร้างความตระหนักถึงอาหารทะเลว่ามันมาจากไหน และอะไรที่สูญเสียไปบ้างจากการทำประมง ทว่ากลับปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีบางข้อมูลที่ตกหล่นไปและขาดความรอบด้าน
คำตอบของการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนจริงๆ ยังคงเป็นโจทย์หินที่มนุษย์ต้องนำกลับไปทำการบ้าน แม้วันนี้ทางออกกลางๆ อาจเป็นการจำกัดการกินปลา ทั้งในแง่ปริมาณ และสายพันธุ์ เพื่อลดการสูญพันธุ์
แต่ในระยะเวลาอีกยาวไกล ถ้าอยากเห็นทุกสิ่งมีชีวิตดำรงอยู่โดยไม่มีการสูญเสีย มนุษย์ที่มีสติปัญญาและกำลังแรงนี่แหละ ที่ต้องหาทางออกกันต่อไป
เพราะทุกชีวิต ทุกสายพันธุ์ ทุกชนชั้น และทุกเชื้อชาติ ล้วนมีค่าบนโลกใบนี้
Sources :
BBC
Greenpeace
Greenpeace
ILO
Khaosod
Matichon
PPTV
ScienceDaily
Shark Allies
The Guardian