เหล่าแมวน้ำตะเกียกตะกายหนีนักล่า และถูกถลกหนังเพื่อนำไปทำเสื้อผ้าและเครื่องประดับ คงเป็นภาพที่หลายคนสะเทือนใจไม่น้อย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นี่คือคัลเจอร์ดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองในแคนาดา จนกลายเป็น ‘เทศกาลล่าแมวน้ำ’ ที่รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดขึ้นทุกปี ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ทั่วโลก
ล่าแมวน้ำ เป็นเทศกาลดั้งเดิมของชนเผ่าอินูอิต ประเทศแคนาดา ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมิถุนายนของทุกปี ต่อมาได้กลายเป็นอีเวนต์ที่รัฐบาลอนุญาตให้ล่าได้แบบเชิงพาณิชย์และถูกกฎหมาย
เพราะมองว่าเป็นการรักษาสมดุลทางทะเล และรักษาวัฒนธรรมชนเผ่าที่มีมากว่า 4,000 ปีซึ่งต้องเล่าก่อนว่า ทางตอนเหนือของแคนาดานั้นหนาวจัดทำให้มีแหล่งอาหารน้อยมาก การล่าแมวน้ำมาทำเป็นอาหารและเสื้อผ้าสวมใส่กันหนาวจึงเป็นเรื่องปกติที่ชาวอินูอิตจะทำกัน แต่เมื่อโลกเปลี่ยนผ่าน การล่าสัตว์บางชนิดถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรม และการล่าแมวน้ำที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะทำเพื่อการค้ามากกว่ารักษาวัฒนธรรมนั่นเอง
แมวน้ำยิ่งเด็ก ยิ่งเป็นที่ต้องการ!
แมวน้ำลายพิณ หรือ แมวน้ำหลังอาน (Harp Seal) เป็นเป้าหมายหลักของเหล่านักล่า โดยพวกมันจะอพยพจากขั้วโลกเหนือมายังแคนาดาเพื่อหาความอบอุ่น แต่ใครจะคิดล่ะว่า การอพยพของพวกมันดูเป็นที่จับของตานักล่าซะเหลือเกิน ซึ่งแมวน้ำที่ถูกล่าส่วนใหญ่จะมีอายุไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น เรียกได้ว่ายิ่งเด็กยิ่งดี
‘ซีลเลอร์’ นักล่าสุดโหด
ผู้รับบทนักล่าแมวน้ำ เราเรียกว่า ‘ซีลเลอร์’ (Sealer) ซึ่งเป็นผู้ช่ำชองในการล่าแมวน้ำโดยเฉพาะ พวกเขาต้องทำงานสู้กับความเหน็บหนาว และต้องรู้ว่าแผ่นน้ำแข็งช่วงเวลาไหนหนาหรือบางพอที่จะเดินไปสังหารแมวน้ำได้ โดยมีอาวุธคู่กายคือกระบองและขอเหล็ก hakapiks เพื่อทุบหัวและเกี่ยวร่างของเหล่าแมวน้ำขึ้นมาบนเรือ
อาวุธอีกอย่างหนึ่งคือปืน ซึ่งกฎหมายบอกไว้ว่า ถ้าแมวน้ำยังไม่แน่นิ่ง นักล่าสามารถใช้ปืนยิงแมวน้ำได้เลยโดยต้องยิงบนเรือเท่านั้นห้ามยิงบนผืนน้ำแข็ง แต่โรงงานแปรรูปหนังแมวน้ำในแคนาดาจะไม่ค่อยชอบใจหนังแมวน้ำที่มีตำหนิสักเท่าไร ทำให้นักล่าต้องระมัดระวังในการยิงเป็นพิเศษ นั่นหมายความว่า แมวน้ำบางตัวที่ถูกยิงมากกว่า 1 นัดจนพรุน อาจถูกปล่อยให้ทนทุกข์ทรมาน และต้องลาโลกนี้ไปแบบฟรีๆ
ล่าแล้วไปไหน ?
เหล่าแมวน้ำที่โดนล่าปีละหลายแสนตัวได้ถูกถลกหนัง และทิ้งซากที่เหลือไว้บนแผ่นน้ำแข็ง โดยส่วนหนังและขนได้กลายเป็นเครื่องประดับ เสื้อผ้าแฟชั่น และสิ่งของต่างๆ ไปจนถึงนำเนื้อของพวกมันไปประกอบอาหารในภัตตาคารชั้นเลิศ หากเป็นส่วนอวัยวะเพศของแมวน้ำก็จะมีราคาสูง ซึ่งถ้าถูกส่งไปยังประเทศจีน เชื่อว่ามันจะเป็นยากระตุ้นเซ็กซ์ได้ดีเลยทีเดียว
เทศกาลที่มากับแรงต่อต้าน
แมวน้ำที่ถูกล่าโดยชนเผ่าอินูอิตคิดเป็นร้อยละ 3 ของจำนวนแมวน้ำทั้งหมด แต่นอกเหนือจากนั้นเป็นการล่าเพื่อการค้าที่รัฐสนับสนุน เลยไม่แปลกใจที่จะมีองค์พิทักษ์สัตว์จำนวนมากออกมาทักท้วงการล่าแมวน้ำ โดยกองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ IFAW (International Fund For Animal Welfare) ได้ออกมาต่อต้านการล่าแมวน้ำ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล เพราะทีมงานหลายต่อหลายคนถึงขั้นเคยถูกนักล่าแมวน้ำทำร้ายร่างกายมาแล้ว
ข่าวการล่าแมวน้ำที่แคนาดามีให้เราเห็นอยู่เนืองๆ ท่ามกลางกระแสต่อต้านความรุนแรง อย่างสหภาพยุโรปที่ออกมากีดกันการกระทำเหล่านี้ หรือแม้แต่อินเดียที่แบนสินค้าจากแมวน้ำ แต่สุดท้ายทางการแคนาดาก็ยังคงยืนยันว่าจะอนุรักษ์ประเพณีล่าแมวน้ำไว้ต่อไป
‘ล่าแมวน้ำ’ ตลาดเริ่มฟุบ
ณ เวลานี้ กระแสต่อต้านความรุนแรง และแบนการกระทำที่ไร้จิตใจมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการของผู้บริโภค และการออกล่าแมวน้ำในแต่ละปีลดน้อยลงตามไปด้วย อย่างในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่นอร์เวย์และรัสเซียซึ่งรับแมวน้ำจากแคนาดา ตลาดก็เริ่มเล็กลงเรื่อยๆ
ทั้งหมดทั้งมวล เราคงพูดได้ว่าการล่าสัตว์เพื่อรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมคงส่งผลต่อธรรมชาติไม่มากนัก แต่การใช้วัฒนธรรมมาเป็นเครื่องบังหน้าเพื่อการค้าจนเกินความจำเป็น นี่ล่ะที่จะทำให้ ‘แมวน้ำ’ สูญพันธุ์เร็วขึ้น เพราะอย่าลืมว่าพวกมันต้องเผชิญกับวิกฤตโลกร้อนที่ทำลายชีวิตและบ้านของพวกมันอยู่แล้ว
SOURCES