ลาแล้ว โรงภาพยนตร์สกาลา - Urban Creature

“ลาแล้วอย่างไม่มีทางหวนกลับ ไม่มีแม้กระทั่งตัวอาคารที่จะอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยแห่งสยามสแควร์ กระทั่งสยามประเทศ”

คือประโยคที่ผมเตรียมขึ้นสเตตัส พร้อมภาพจากม้วนฟิล์ม (ที่บันทึกไว้ในช่วง 3 – 5 กรกฎาคม 2563) ทันทีที่นั่งดูวิดีโอการทุบอาคารสกาลาลงเพื่อเตรียมปรับพื้นที่เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ตามแผนพัฒนาที่มี บ.ซีพีเอ็น เป็นผู้คว้าสิทธิ์ที่ดินแปลงนั้นไป 

ภาพขาวดำม้วนนี้ บันทึกไว้ในวันที่สกาลาเตรียมเลิกกิจการ ปิดไฟดวงสุดท้าย ปิดตำนานที่อยู่ที่สยามสแควร์มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ภาพบรรยากาศผู้คนที่ต่างเคยมีความทรงจำ ผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ ร่วมเป็นสักขีพยานว่าครั้งหนึ่งที่นี่เคยรุ่งโรจน์เพียงใด 

เรื่อยมาหลังการปิดม่าน ของตกแต่งบางส่วนได้ถูกย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่สวนนงนุชในฐานะเจ้าของทรัพย์สินเหล่านั้น เหลือเพียงตัวอาคารแบบ Late Modernist ผสมกับลวดลายแบบ Art Deco อันโดดเด่น ที่ครั้งหนึ่งมันเคยได้รางวัล “อนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555” จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นอาคารโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนที่สวยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

แม้ก่อนหน้านี้เราจะได้ยินข่าวมาบ้างว่า เจ้าของที่ดินอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมจะดูแลอาคารแห่งนี้และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปตามความเหมาะสม 

ทว่าให้หลัง 1 ปีเศษ อาคารที่ครั้งหนึ่งเคยส่องแสงเรืองรอง เติบโตเคียงคู่เมือง และได้กลายเป็นมากกว่าเพียงแค่อาคารก่ออิฐถือปูนทั่วไป กลับอันตรธานหายไป ไม่เหลือแม้แต่อิฐปูนที่พอจะเป็นประวัติศาสตร์แบบจับต้องได้อีกต่อไป

เราไม่ได้ต้องการแช่แข็งการพัฒนา แต่เราเชื่อว่าการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่พร้อมๆ กับเศรษฐกิจที่เติบโตทำได้ดีกว่านั้น

ใครสักคนเคยบอกไว้ว่า บ้านเมืองเรานี่แปลก เราโหยหาความงามแห่งอดีต พร้อมๆ กันนั้นเราก็ทำลายมัน และต่างโห่ร้องยินดีที่จะสร้างอาคารปลอมๆ แข็งๆ ไร้จิตวิญญาณขึ้นมาเพื่อที่มันจะทำหน้าที่เป็นเพียงฉากหลังประกอบการถ่ายรูป

กรณีอย่างสกาลา และในอีกหลายๆ ที่ คงจริงไม่น้อย เมื่อวันนี้มองไปทางไหน ก็จะเห็นว่าย่านแต่ละย่านถูกโครงการขนาดยักษ์แปลงโฉม ขาดไร้ซึ่งสีสันของผู้คน ร้างแล้งซึ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และน่าเศร้าที่มันได้กระจายอยู่เต็มเมืองแห่งนี้

Writer & Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.