แสนสิริ เปลี่ยนพื้นที่รกร้าง ปลูกอาหารให้ช้างไทย - Urban Creature

หยิบอะไรก็ได้ขึ้นมาสักอย่าง ปาลงไปตรงไหนก็ได้ในประเทศไทย คงยากที่จะหล่นไปในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

เป็นที่ทราบกันดีครับว่าตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวไทยหยุดชะงักมาเกือบ 2 ปี แถมส่งผลกระทบทั้งอุตสาหกรรมไล่ตั้งแต่สายการบิน โรงแรม บริษัททัวร์ และแม้แต่ปางช้างก็หนีไม่พ้น เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เมื่อประเทศปิดตัวก็ยากที่จะหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องช้าง

“หยิบหญ้าเนเปียร์สักหลายกำ ปาลงไปในแปลงเกษตร ที่แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่รกร้างรอการพัฒนา ช้างอีกหลายเชือกที่เชียงใหม่จะได้อิ่มท้อง”

ใช่ครับ อาจจะเป็นสุภาษิตที่คุ้นเคยแต่เนื้อหาไม่คุ้นเลย จนต้องขออนุญาตพาเข้าเรื่องครับว่า Urban Creature กำลังจะเล่าเรื่องพันธมิตรที่น่ารักของเราอย่างแสนสิริ ที่ได้แบ่งปันที่ดินรอการพัฒนาจำนวน 70 ไร่ ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ให้กับสมาคมสหพันธ์ช้างไทยใช้ในการปลูกหญ้าเลี้ยงช้าง 

โดยใช้ชื่อโครงการว่า Sansiri Backyard for Elephants เพราะมองเห็นร่วมกันแล้วว่าตอนนี้ปางช้างกำลังขาดรายได้ และลำพังอาศัยการบริจาคอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอในระยะยาว จึงปรับเอาพื้นที่รกร้างที่ตอนนี้ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับใคร มาช่วยช้างที่กำลังขาดรายได้

ช้างไทยยามไร้การท่องเที่ยว

นอกจากเกาะสวย หาดทรายขาว ธรรมชาติบนดอย และแหล่งแฮงเอาต์ยามค่ำคืน ‘ช้าง’ ถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกให้มาเยี่ยมเยือนประเทศไทย แต่เมื่อการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ปากท้องของช้างก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายต่อจำนวนประชากรช้างในไทย ซึ่งต้องบอกว่าก่อนหน้านี้มีสถิติไม่สู้ดีมาอยู่แล้ว เห็นได้จากในปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยมีช้างอยู่ราว 12,500 เชือก ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียง 3,800 เชือก ซึ่งจะเห็นได้ว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรช้างไทยได้สูญหายไปในเวลาเพียงชั่วอายุขัยของช้างเท่านั้น 

“จากจำนวนช้างที่เหลืออยู่เกือบทั้งหมดอยู่ในมือเอกชนที่ผูกติดอยู่กับการท่องเที่ยว มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ลากยางพาราอยู่ที่ภาคใต้ ซึ่งเวลาที่เราพูดถึงการท่องเที่ยวเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์คือนักท่องเที่ยวต่างชาติ พอปิดประเทศจึงทำให้ช้างไทยได้รับผลกระทบทั้งหมด”

คุณธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทยเล่าให้ฟังว่าก่อนโควิดงานของพวกเขาคือพยายามสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้างมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของช้างมากกว่าที่จะยึดธุรกิจเป็นตัวตั้ง แต่พอมีการระบาดของโควิด-19 ก็จำเป็นต้องหยุดแพลนและหาทางรอดเฉพาะหน้ากันก่อน 

“เมื่อปีที่แล้วพอทราบว่าจะปิดประเทศแน่นอน ทางสมาคมฯ ก็เลยเรียกประชุมใหญ่ แล้วก็ตั้งโครงการใหม่ขึ้นมาเพื่อเปิดระดมทุนจัดหาอาหารให้ช้าง และจัดการเรื่องเวชภัณฑ์พร้อมระดมทีมสัตวแพทย์เข้าไปช่วยดูแลช้าง 

“ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีปางช้างอยู่สองร้อยห้าสิบแห่ง ซึ่งหลายที่เป็นปางช้างที่เปิดขึ้นมารองรับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ น่าเสียดายว่าก็มีการถอนตัวกันไป ทิ้งไว้แต่ช้างและควาญอยู่ในสถานที่ที่ว่างเปล่า การช่วยเหลือด้านอาหารช้างก็มีปัญหา เราจึงส่งอาหารไปยังปางช้างที่ปิดตัวลงเพื่อคอยประคับประคองช้างไว้ และส่งทีมสุขภาพช้างไปช่วยด้วยอีกต่อหนึ่ง”

การระบาดครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ นักท่องเที่ยวจะกลับมาไหม จะสามารถเปิดประเทศได้ทันกำหนดเวลาหรือเปล่า คำถามเหล่านี้ล้วนยากที่จะหาคำตอบ และการขอระดมทุนไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ตลอดเวลา เพราะความเดือดร้อนเริ่มกระจายครอบคลุมไปทุกที่ การรับเงินบริจาคเพียงอย่างเดียวจึงตอบได้ชัดเจนว่าไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนนัก

ส่งหญ้าเข้าปากช้าง

อย่างที่เล่าไปในหัวข้อที่แล้วครับว่า ช้างไทยต้องการสมการที่มีความยั่งยืนมากขึ้น แสนสิริที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ของช้างไทยมาโดยตลอดจึงเกิดไอเดียขึ้นมาว่านอกเหนือจากการหาเงินให้ช้าง เราจะสามารถปลูกอาหารเพื่อเลี้ยงช้างได้หรือเปล่า

“ก่อนหน้านี้เราช่วยเหลือแบบระยะสั้น คุณเศรษฐา (เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่แสนสิริ) และลูกค้าหลายเจ้าก็ช่วยกันบริจาคเงินที่รวมกันแล้วกว่า หนึ่งล้านห้าแสนบาท ให้กับสมาคมสหพันธ์ช้างไทยเพื่อช่วยเลี้ยงช้างทั้งหมด สิบห้าเชือกให้อิ่มท้องจนถึงช่วงสิ้นปีนี้

“แต่ก็กลับมาคิดกันว่าถ้าช่วยเท่านี้ไม่เพียงพอแน่ในระยะยาว ทีนี้แสนสิริมีที่ดินรอการพัฒนาอยู่ที่เชียงใหม่เจ็ดสิบไร่ จึงเกิดความคิดว่าปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเพื่อนำไปเป็นอาหารเลี้ยงช้างดีกว่า เลยปลูกหญ้านาเปียร์ ซึ่งเป็นพืชที่โตเร็ว สามารถปลูกได้ตลอดปี เติบโตได้ดีในช่วงหน้าฝน คาดว่าจะเก็บผลผลิตได้ถึงสองหมื่นตันในหนึ่งปี” 

ในฐานะผู้อยู่กับโครงการมาตั้งแต่แรกเริ่ม คุณอานนท์ วิทยะสิรินันท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส ฝ่าย Partnership ของแสนสิริ บอกว่าความร่วมมือในครั้งนี้ใช้เวลาไม่นานก็เกิดขึ้นได้จริง เพราะแสนสิริเองก็อยากช่วย ส่วนสมาคมสหพันธ์ช้างไทยก็ยินดีอยู่แล้วหากจะมีทางออกที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของช้างดีขึ้น ทีนี้พื้นที่ 70 ไร่ ที่ตั้งอยู่ข้างโรงพยาบาลสันกำแพงที่แต่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของไมยราบและวัชพืชนานาชนิด ก็เปลี่ยนโฉมมาเป็นแปลงเกษตรภายในเวลาอันรวดเร็ว

“วันที่เราคุยกัน (26 สิงหาคม) เป็นวันสุดท้ายของการปลูก เพิ่งจะหายเหนื่อยกันเลย (หัวเราะ)” คุณธีรภัทรบอกผ่านน้ำเสียงอารมณ์ดีว่านัดเวลากันเหมาะเหม็ง ไม่อย่างนั้นก็ได้ยืนคุยกันกลางฝนกลางนาแน่ๆ เพราะทิ้งงานไม่ได้ “สมาคมฯ รับปากกับแสนสิริไว้ว่า เราจะเป็นคนเปิดหน้างาน รับผิดชอบในการปลูกและการดูแล ที่ผ่านมาใช้เวลาไปทั้งหมดห้าสิบวัน มีความกดดันนิดหน่อยเพราะต้องปลูกให้ทันฝนก็เลยเร่งงานกันพอสมควร”

เมื่อแผนชัดเจนจึงเริ่มต้นด้วยการแบ่งที่ดินออกเป็นสัดเป็นส่วน มีการไถพรวน และยกร่องให้เหมาะกับการทำเกษตร ก่อนจะนำท่อนหญ้าเนเปียร์มาลง ตรงไหนมีความแฉะก็เลือกปลูกหญ้าลูซี่ที่ชอบน้ำ ส่วนพื้นที่ชายขอบก็ปลูกสมุนไพรไว้รักษาช้าง ซึ่งลำพังเพียงแสนสิริและสมาคมฯ งานใหญ่แบบนี้ คงไม่เสร็จด้วยเวลาที่รวดเร็วขนาดนี้เป็นแน่ 

“ความน่ารักของโครงการนี้คือแทบไม่ได้จ้างใครเลย เราได้พี่น้องควาญช้างทั่วเชียงใหม่ที่ได้ข่าวแล้วมาช่วยลงแรง ได้ อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ที่นอกจากจะดูแลคนป่วยเป็นหน้าที่หลักยังแบ่งเวลามาปลูกหญ้า กลุ่มมัคคุเทศก์ที่มีความใกล้ชิดกับช้างถึงตอนนี้จะตกงานก็เอาแรงมาช่วยกัน ที่ประทับใจมากคือกลุ่มพี่น้องกะเหรี่ยงบนดอย ที่ปกติแล้วจะไม่ค่อยลงมาในเมืองเพราะเสี่ยงเรื่องโควิด แต่พอรู้ว่าที่ดินตรงนี้โล่งและไม่ได้อยู่ใกล้ชุมชนก็รวมตัวกันมา เพราะเขารู้ว่าลูกชาย สามี หรือญาติพี่น้องประกอบอาชีพเป็นควาญช้าง วันนี้พอช้างเดือดร้อนก็อยากมาช่วย” 

นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทยเล่าด้วยความภูมิใจ พร้อมรับรองว่าหญ้าทุกต้นจากที่นี่เข้าปากช้างแน่นอน 

อยากให้ทุกที่มีสวนหลังบ้าน

หากผู้อ่านคนไหนเป็นแฟนสารคดีสัตว์โลกจะทราบดีว่าช้างเป็นสัตว์ที่กินจุมาก ตัวเลขเฉลี่ยคือร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว/วัน หรือวันหนึ่งช้างจะต้องการอาหารประมาณ 200 – 400 กิโลกรัม และถ้าเทียบให้เห็นภาพขึ้นมาอีกนิดคือปลูกหญ้า 1 ไร่ ก็จะเลี้ยงช้างได้ 1 ตัว พอดิบพอดี 

“ตอนนี้ประชากรช้างทั่วเชียงใหม่มีอยู่ราวหกร้อยเชือก แน่นอนว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่สามารถเลี้ยงครอบคลุมทุกตัวและทุกวันได้ตลอดไป แต่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้แน่นอน สมาคมสหพันธ์ช้างไทยดูแลช้างทั่วประเทศ เราก็เป็นห่วงช้างในจังหวัดอื่นด้วยเหมือนกัน แต่ด้วยเรื่องของต้นทุนก็เป็นไปไม่ได้ที่จะขนหญ้าจากเชียงใหม่ไปให้ช้างที่กาญจนบุรี” 

เมื่อประชากรช้างกระจายอยู่หลายพื้นที่ คำตอบอาจจะไม่ใช่แปลงขนาดใหญ่เพียงที่เดียว อาจจะมีขนาดย่อมลงมาและกระจายตัวไปทั่วประเทศ คุณธีรภัทรบอกว่าผู้ประกอบการหรือหน่วยงานซึ่งมีที่ดินเปล่ารอการพัฒนาไว้ในครอบครองแล้วอยากลงมือช่วยก็สามารถเดินรอยตามโครงการนี้เช่นเดียวกัน

“เราช่วยช้างทั้งประเทศอยู่แล้ว ถ้าเกิดพื้นที่อื่นสนใจเราก็มีความพร้อมที่จะส่งทั้งทีมงานและท่อนพันธุ์หญ้าไปให้ ขออาสาเป็นฝ่ายปฏิบัติการ เพราะในวันที่เปิดประเทศผมอยากให้ทุกคนอยู่กันครบ มาช่วยกันเป็นกำลังในการดึงรายได้เข้าประเทศ แต่ ณ เวลานี้เราต้องพยายามให้ช้างอยู่รอดก่อน” 

เพราะไม่อยากทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และช้างในฐานะประชากรสำคัญที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่ควรถูกลืม “เราหวังจะเห็นช้างอิ่มท้องมากขึ้น”คุณอานนท์ เล่าว่าโครงการนี้คือการนำเอาคอนเซปต์ Sansiri Backyard มาปรับใช้ จากเดิมที่ปลูกกันหลังบ้านของทุกโครงการ ให้ลูกบ้านนำผลผลิตไปประกอบอาหารโดยไม่ต้องพึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตตลอดเวลา ในวันนี้ขอใช้พื้นที่นี้มาช่วยช้าง และอยากชวนทุกคนมาร่วมด้วย

“เชียงใหม่มีพื้นที่กว้างมหาศาล และมีที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้งานและรอการพัฒนาอีกจำนวนมาก เราหวังว่า Sansiri Backyard for Elephants เป็นแนวทางว่าหากยังไม่ได้ใช้ที่ดิน สามารถหยิบมาแบ่งปันให้กับช้างหรือภาคส่วนอื่นได้อีกมาก” 

Elephant in the room 

หากไม่นับเรื่องปากท้องเราอาจคิดว่าการไม่มีนักท่องเที่ยวน่าจะหมายความว่าช้างได้พัก ไม่ต้องออกไปโชว์ตัวหรือทำกิจกรรม แต่ที่จริงแล้วสุขภาพของช้างไทยกำลังแย่ลงในช่วงนี้ 

“การที่ทุกอย่างหยุดการเคลื่อนไหวกระทบต่อสุขภาพช้างเป็นอย่างมาก การท่องเที่ยวที่ดีก็ส่งเสริมสุขภาพช้างให้ดีตามไปด้วย ช้างอยู่นิ่งๆ กล้ามเนื้อก็ลีบ ระบบย่อยหรือข้อต่อก็มีปัญหา และมีความเครียดสูง ตอนนี้เราแก้ปัญหาเรื่องอาหารช้างได้ดีพอสมควรแล้ว เป้าหมายต่อไปของสมาคมฯ คือการเทความสนใจไปที่ควาญช้างให้มากที่สุด ประคับประคองเขาให้อยู่ในตำแหน่งงานให้ได้” 

นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทยบอกว่าสถานการณ์ตอนนี้เหมือนกับสำนวน Elephant in the room ช้างตัวใหญ่ขนาดนี้ทำไมถึงไม่มีคนเห็น 

“แสนสิริไม่ได้เห็นมนุษย์อย่างเดียว แต่มองมาถึงช้างด้วย โครงการ Sansiri Backyard for Elephants เป็นข้อความที่สื่อออกไปทั่วโลกแล้วว่าเราทอดทิ้งช้างไม่ได้ ถัดไปก็เป็นคำถามไปยังรัฐบาลแล้วว่ามองเห็นความสำคัญของช้างที่ดึงรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาทอยู่ไหม เข้ามาสนับสนุนช้างและควาญได้ไหม ถ้าไม่ได้มองว่าเป็นการช่วยเหลือ อยากให้มองว่าเป็นงบลงทุนเพื่อรักษาการท่องเที่ยวก็ได้” 

ในเดือนสิงหาคมอันชุ่มฉ่ำ ที่มีฝนโปรยลงมาส่งท้ายตลอดวันตลอดคืน หญ้าที่เชียงใหม่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจนในแปลงแรก และกำลังทยอยแทงหน่อขึ้นมาจากดิน เหล่าพี่น้องจิตอาสายังเดินหน้าเข้ามาช่วยกันหว่านเมล็ด จนความร่วมมือคนละเล็กละน้อยกำลังจะออกดอกออกผลในไม่ช้า 

“การช่วยเหลือกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราก็เห็นกันอยู่แล้วว่าตอนนี้ความช่วยเหลือยังไปได้ไม่ทั่วถึง” คุณอานนท์ ในฐานะตัวแทนจากแสนสิริผู้คลุกคลีกับโครงการนี้มาตั้งแต่แรกเริ่มบอกว่า หมดเวลาสำหรับการรอและถึงเวลาลงมือทำแล้ว “ตอนนี้เป็นจุดที่บริษัทใหญ่ในประเทศไทยที่มีเงินจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องรอการประชุม คุณเศรษฐาพูดเสมอว่าถ้าเกิดมัวแต่รอประชุมกัน คนก็ตายทั้งประเทศแล้ว ถ้าคุณมีความสามารถจะทำอะไรได้ขอให้ทำเลย” 

Sansiri Backyard for Elephants เป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ในโครงการ No One Left Behind ของแสนสิริ ที่ไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่กำลังเชิญชวนให้ทุกคนหันกลับมามองในภาพกว้างว่า ในเวลานี้ไม่มีใครอีกแล้วที่สมควรจะถูกลืม และไม่เวลาไหนเหมาะสมกับการยื่นความช่วยเหลือให้แก่กันเท่ากับตอนนี้อีกแล้ว 

สำหรับตอนนี้สมาคมสหพันธ์ช้างไทยยังคงต้องการจิตอาสาจำนวนมากมาร่วมกันหว่านเมล็ด หรือตัดใบหญ้าเนเปียร์ต่อไป หากท่านไหนสนใจสามารถติดต่อไปทางสมาคมฯ ได้ที่เบอร์ 094-7267818 หรือ 099-2401114 โดยจำกัดกลุ่มละไม่เกิน 20 คน 

ภาพ : แสนสิริ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.