สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในปัจจุบันไม่ใช่แค่ห้างสรรพสินค้าใหญ่โตอีกต่อไป แต่เป็นแกลเลอรีแสนน่ารัก ห้องสมุดบรรยากาศอบอุ่น หรือพื้นที่ทำกิจกรรมที่ให้คนมาพบปะ พูดคุย และเรียนรู้นอกเหนือตำราเรียน
แน่นอนว่าสถานที่เหล่านี้หาได้ง่ายมากในกรุงเทพฯ แต่ในทางกลับกัน จังหวัดอื่นๆ กลับหาสถานที่พักผ่อนแบบนี้ได้ยากเหลือเกิน ซึ่ง ‘ต๊ะ-ณัฐชยา สุขแก้ว’ ก็คิดแบบนี้เช่นเดียวกัน เธอจึงตัดสินใจใช้ช่วงเวลาพักจากงาน IT กลับมาที่บ้านเกิดจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสร้างพื้นที่แห่งศิลปะ การเรียนรู้ และเป็นมิตรกับจิตใจให้ผู้คนในจังหวัดของเธอ
ต๊ะเล่าที่มาของชื่อ ‘สรรสรางค์ แกลเลอรี’ ว่ามาจากคำว่าสรรค์สร้าง แต่เธอนำคำมาปรับใหม่เพื่อให้ได้ความรู้สึก Feminine และสร้างความสมดุลกับสิ่งต่างๆ ในจังหวัดมากขึ้น เพราะเธอรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ในจังหวัดบ้านเกิดมีความ Masculine ทั้งการแสดงออกและศิลปะ เธอจึงอยากทำสถานที่นี้เป็นเหมือน Safe Space ที่ทำให้ศิลปะและความรู้เข้าถึงง่ายกว่าที่เคย
ด้วยความที่ใช้เวลาพักงานในการสรรค์สร้างพื้นที่แห่งนี้ขึ้นมา ต๊ะจึงมีเวลาจัดการทุกอย่างแค่ 1 เดือนกว่าเท่านั้น ซึ่งหลายๆ คนที่ไปเยือนจะได้เห็นว่าส่วนต่างๆ ของตึกมีการจัดการแบบ Minimum คือตั้งใจปรับปรุงเท่าที่จำเป็น เพื่อปล่อยออกไปสำรวจตลาดก่อน
ที่เป็นแบบนั้นเพราะต๊ะเล่าว่า นี่คือการสร้าง Minimum Viable Product (ผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง) โดยอิงจากข้อมูลที่ได้รับจากการสัมภาษณ์นักเรียนทั้งอาชีวะและสายสามัญ รวมถึงคนทำงานในจังหวัด หรือพูดง่ายๆ ว่าใช้แนวคิดและวิธีการทำงานแบบลดขั้นตอนการทำงาน เพื่อทำให้ที่นี่ใช้เวลาไม่นานในการเปิดทำการ และรอรับฟีดแบ็กกลับมาพัฒนาสถานที่และกิจกรรมให้ดีขึ้น
สำหรับฟังก์ชันการใช้งาน ‘สรรสรางค์ แกลเลอรี’ ต๊ะออกแบบตัวพื้นที่ให้มีทั้งหมด 3 ชั้น โดยแบ่งกิจกรรมแต่ละชั้น ดังนี้
– ชั้น 1 พื้นที่สำหรับนั่งพัก ทำกิจกรรมระบายสีอะคริลิก รับประทานเครื่องดื่ม มีแล็ปท็อปให้ใช้งาน รวมถึงมีห้องสำหรับเวิร์กช็อป 2 ห้อง
– ชั้น 2 – 3 ห้องสมุดตามธีมทั้งหมด 4 ธีม คัดเลือกหนังสือโดยแฟนพันธุ์แท้รางวัลซีไรต์ และมีหนังสือจากสำนักพิมพ์ Salmon Books, P.S. Publishing, Feminista และนาคร รวมถึงหนังสือที่ทีมงานของสรรสรางค์ช่วยกันส่งมาให้ เพื่อที่ผู้ใช้บริการจะได้อ่านหนังสือหลายแนว
– ชั้น 3 แกลเลอรีสำหรับจัดแสดงงานศิลปะประเภทต่างๆ ทั้งผลงานของศิลปิน ผลงานของเด็กที่มาทำกิจกรรม และภาพยนตร์ศิลปะ เพราะต๊ะต้องการให้คนรู้สึกว่าศิลปะไม่ใช่แค่รูปหรือรูปปั้นเท่านั้น และอีกห้องที่น่าสนใจในชั้นนี้คือ ห้องพักของศิลปิน ที่ต๊ะนิยามว่าเป็นใครก็ได้ที่มีความรู้ในด้านใดด้านหนึ่ง และต้องการมาสอนหรือแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้คน
นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อปและกิจกรรมพิเศษที่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามโอกาส เช่น ในเดือนมิถุนายนที่เป็น Pride Month ทางแกลเลอรีได้นำ Mental-Verse ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการสำรวจโลกในจิตใจของเรา โดย สสส. และ Eyedropper Fill มาฉายให้คนนครฯ ได้รับชมกันด้วย รวมถึงมีกิจกรรมที่พูดถึงเรื่อง Gender Sensitivity และเรื่องอื่นๆ เช่น การเงินพื้นฐาน การดริปกาแฟ การตลาด และกิจกรรมอีกมากมาย ซึ่งตารางเวิร์กช็อปตอนนี้มีกิจกรรมอัดแน่นเต็มไปถึงเดือนกันยายนแล้ว
“สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือ เราอยากให้ที่นี่เป็นสถานที่ที่คนทุกวัยมาเรียนด้วยกัน มานั่งคุยกัน ทุกคนมาแชร์เรื่องราวต่างๆ ให้กันฟัง มาสอนในเรื่องที่อยากแชร์ให้คนอื่นได้รู้ด้วย ซึ่งเราอยากให้คนนำโมเดล ‘สรรสรางค์ แกลเลอรี’ ไปทำเยอะๆ นะ เอาคอนเซปต์นี้ไปทำได้เลย มันเป็นโมเดลพื้นที่ที่เราอยากให้ทุกจังหวัดมี” ต๊ะทิ้งท้าย
สรรสรางค์ แกลเลอรี (Sansarang Gallery) เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป
ที่อยู่ : 828 สรรสรางค์ แกลเลอรี 21 ถนนศรีปราชญ์ ตำบลคลัง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000 (goo.gl/maps/6NjGdKxJe2UBHmRB9)
วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 09.30 – 20.30 น.
ช่องทางการติดต่อ : โทร. 09-8923-6374 หรือ sansaranggallery