ขอออกตัวก่อนว่าเราไม่ใช่นักอ่านมังงะตัวยงหรือชื่นชอบงานเขียนประเภทการ์ตูนอะไรขนาดนั้น
และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเลือกหยิบงานของ ‘สะอาด’ มาอ่านช้าเหลือเกิน เมื่อเทียบกับคนรอบๆ ตัวที่รู้จักและอ่านงานของเขาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่รู้จักเขาเอาซะเลย เพราะเท่าที่จดจำได้ ชื่อของ ‘สะอาด’ น่าจะเป็นชื่อของคนทำงานสร้างสรรค์กลุ่มแรกๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวด้านการเมือง และแสดงจุดยืนของตัวเองอย่างเข้มแข็งผ่านปากคำให้สัมภาษณ์ในหลากหลายสื่อ รวมถึงผลงานการ์ตูนที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของเขาเอง และลงตามสื่อออนไลน์ที่เขาร่วมงานด้วย
ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง, ครอบครัวเจ๋งเป้ง, บทกวีชั่วชีวิต, การศึกษาของกระป๋องมีฝัน และให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต คือผลงานส่วนหนึ่งที่ผ่านมาของนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่คนนี้
นอกจากลายเส้นที่ไม่เนี้ยบ มุกตลกร้าย และคาแรกเตอร์ตัวละครที่มีเสน่ห์ (ปนกวนๆ) สิ่งที่ทำให้ผลงานของสะอาดเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านจำนวนมาก น่าจะหนีไม่พ้นประเด็นสังคมที่เขาสอดแทรกไว้ในการ์ตูน ตั้งแต่เรื่องอาชีพการงานของคนทำงานสร้างสรรค์ที่ไม่ได้รับการสนับสนุน การศึกษา ชาติพันธุ์ สิทธิเสรีภาพ เป็นต้น ยังไม่นับการดำเนินเรื่องที่ชวนให้ติดตาม รู้สึกร่วมไปกับตัวละคร และทิ้งท้ายด้วยความหวังเล็กๆ ที่ทำให้คนอ่านอย่างเราเกือบน้ำตาคลอ
ด้วยเหตุนี้ เราจึงชวน ‘สะอาด’ หรือ ‘ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์’ มาบอกเล่าถึงเหล่ามังงะที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเขา ตั้งแต่มังงะเรื่องแรกที่ชอบ เรื่องที่เปลี่ยนชีวิตและแนวคิด นักเขียนมังงะที่ชื่นชม ตัวการ์ตูนที่ยกนิ้วให้ ไปจนถึงมังงะที่อยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน
เราจำการ์ตูนเรื่องแรกที่อ่านไม่ได้ แต่จำเรื่องแรกที่อ่านแล้วชอบมากๆ ได้ คือเรื่อง ‘จอมโจรอัจฉริยะ’ นักเขียนคือ โกโช อาโอยาม่า คนเดียวกับที่เขียนไยบะและโคนัน เราชอบเรื่องนี้มากระดับที่เอาชื่อพระเอก ‘ไคโตะ’ มาเป็นพระเอกการ์ตูนเรื่องแรกที่เราเขียน
เราได้อ่านเรื่องนี้เพราะพี่ชายที่อายุห่างกัน 6 ปี เป็นคนบ้าการ์ตูนมากๆ ซื้อการ์ตูนแทบทุกเรื่องที่อยู่ในชั้นมา เราเลยได้อานิสงส์อ่านการ์ตูนที่พี่เราอ่าน บางเรื่องก็ผู้ใหญ่มากๆ ดาร์กสุดๆ
การ์ตูนของโกโช จะมีความคลีนและความเด็กแบบใสๆ สูง ทำให้สื่อสารกับเด็กได้ดี อย่างตอนเด็กเราชอบมายากลมาก จนเขียนเรียงความหัวข้อโตขึ้นอยากเป็นอะไรว่า อยากเป็นนักมายากล เพราะตอนนั้นมองว่านักเขียนการ์ตูนมันยาก ซึ่งก็คงได้รับอิทธิพลจากจอมโจรคิดด้วย เพราะมันเท่มากเลยกับการเป็นโจรและสร้างสรรค์สิ่งที่เหมือนเวทมนตร์ออกมา
งานเล่มนี้ของพี่ตั้มทำให้เราพบว่าการวาดแบบนี้มันทรงพลังได้ การวาดน้อยๆ ที่ลายเส้นดูเขี่ยๆ และเรียบง่าย มันสร้างอิมแพกต์ให้คนอ่านได้ด้วย ตอนที่เปิดอ่าน เราตกใจมากเพราะด้วยความที่โตมากับการ์ตูนญี่ปุ่นที่แบ็กกราวนด์โหดๆ ใส่งานภาพวิจิตรอลังการงานสร้าง พอมาเจอโปรดักชันที่ทำด้วยตัวคนเดียว และมีความรู้สึกที่ ‘ดูจะวาดแบบนี้แหละ’ ไม่มีท่ามาก เรียบง่าย มันกลับงดงามมากในหลายๆ บท
ทุกวันนี้เรากลับไปอ่านแล้วยังชอบอยู่เลย มันทำให้เราค้นพบว่าศิลปะการเล่าเรื่องมันกว้างกว่าที่คิด งานที่ทรงพลังและมีคุณค่าต่อจิตใจไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่เราคิดตอนเด็กๆ การ์ตูนเรื่องนี้มันมีสุนทรียะบางอย่างที่ทำให้เราหันมามองความงามของชีวิตประจำวัน ซึ่งมันสำคัญกับเรามากๆ ในฐานะที่เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย แล้วเราก็นำมาใช้ในกระบวนการทำงานอยู่ถึงทุกวันนี้ เพื่อที่จะพยายามมองเห็นความงามของสรรพสิ่ง
การ์ตูนเรื่องนี้เป็นเหมือนหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นความงามของความเรียบง่ายและวิถีทางการทำงานในฐานะนักเขียนการ์ตูน
เล่มนี้ยังไม่มีแปลไทย เป็นการ์ตูนของคนยิวสัญชาติอเมริกัน เขาพูดถึงผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และวาดเป็นกึ่งอัตชีวประวัติ แต่เป็นชีวประวัติของพ่อเขา กระบวนการทำงานของเขาคือการไปสัมภาษณ์พ่อเขาว่าช่วงที่อยู่ในค่ายกักกันมันมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยไม่ได้เล่าเฉพาะความโหดร้ายอย่างเดียว เขาเล่าในเลเยอร์ของผู้รอดชีวิตเหล่านั้นที่พอมาตั้งรกรากในอเมริกาแล้วมีชีวิตเป็นยังไง เผชิญกับทรอม่าหลังเหตุการณ์นั้นไหม เขามีวิธีคิดในเชิงการเมืองแบบไหน ซึ่งเรารู้สึกว่ามันทั้งพยายามเล่าประวัติศาสตร์ในเชิงบุคคลและวิพากษ์ตัวบุคคลเหล่านั้นไปในทีด้วย เช่น ชาวยิวผู้รอดชีวิตบางคนก็ยังเหยียดผิวคนดำในอเมริกา ซึ่งเราไม่เคยเจอวิธีคิดแบบนี้ในการ์ตูนญี่ปุ่น เพราะส่วนมากเราโตมากับการ์ตูนโชเน็นที่สื่อสารแบบเมนสตรีม มันเลยมีวิธีคิดหลายอย่างที่อนุรักษนิยมหรือสอดคล้องกับเมนสตรีมของฝั่งญี่ปุ่น
แต่งานชิ้นนี้มันจงใจสร้างขึ้นมาเพื่อวิพากษ์ตัวประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ เลยทำงานกับเราในแง่การรับรู้ประวัติศาสตร์ว่ามันเคยโหดร้ายขนาดไหน และในฐานะผู้เขียน เขาทำงานอย่างจริงจังมาก และตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อย่างแหลมคม ซึ่งหนังสือแบบนี้มันก็ฟอร์มให้เรากลายเป็นหนึ่งในคนที่ทำงานในเชิงการเมือง และเห็นที่ทางว่างานเชิงการเมืองมันเป็นแบบนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการ์ตูนการเมืองแบบที่เราเคยอ่านในหนังสือพิมพ์อย่างเดียว มันมีความเป็นคอมิก มีคุณค่าในเชิงศิลปะ และแหลมคมในเชิงความคิดด้วย
เราเจอเล่มนี้ในช่วงเวลาที่อยากจริงจังกับการ์ตูน ความเบียวของเราคือการเข้าไปในร้านหนังสือคิโนะฯ แล้วซื้อหนังสือแนวกราฟิกโนเวล 100 เรื่องที่คุณควรอ่านก่อนตาย เพราะเราอยากสำรวจจักรวาลของคอมิกหรือกราฟิกโนเวลของโลกว่าเป็นแบบไหน ก็เลยมานั่งไล่แปลแต่ละเรื่องว่าเป็นยังไงบ้าง หนึ่งในเล่มที่ทุกสำนักต้องพูดถึงคือ Maus ที่เป็นเหมือน Forrest Gump ของวงการภาพยนตร์ เป็นอารมณ์แบบงานคลาสสิกที่คนเรียนภาพยนตร์ต้องดู
เลือก ‘ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต’ เพราะเราเขียนเล่มนี้ด้วยความรู้สึกที่แทนตัวเองในช่วงชีวิตตอนนี้ และรู้สึกว่าได้ใส่ความสามารถทั้งหมดที่มีในเล่มนี้แล้ว เราเลยชอบมันที่สุด
เราเลือกมา 3 คน เป็นชาวญี่ปุ่นหมดเลย คนแรกคือ ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ เป็นคนเขียนเรื่อง Slam Dunk เราชอบงานของเขามากอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราชอบมากเป็นพิเศษคือ ความเป็นมืออาชีพของเขา เพราะเราชอบคนตั้งใจทำงาน เวลาอ่านผลงานหรือบทสัมภาษณ์ของเขา เราจะพบว่าคนคนนี้ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง
Slam Dunk คือตัวอย่างที่ดีมากๆ ถ้าคนดูอานิเมะอาจจะไม่รู้ แต่ในมังงะ ลายเส้นตั้งแต่เล่ม 1 จนถึง 31 มันเปลี่ยนไปเหมือนคนละคน เปลี่ยนแบบเลเวลอัป แถมงานภาพ กระบวนการเล่าเรื่อง และความเป็นมนุษย์ของตัวละคร Sakuragi Hanamichi จากเป็นนักเลงต่อยตีชาวบ้าน ก็เริ่มกลายเป็นนักบาสที่เป็นมืออาชีพ เคารพกติกาและคู่แข่งมากขึ้นในตอบจบ
เรารู้สึกว่ากระบวนการแบบนี้ ความเติบโตทั้งหมดของการ์ตูนเรื่องหนึ่งคือ มายด์เซตของคนเขียนคนนี้ที่เขาพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะไม่หยุดพัฒนาตัวเองให้เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ตามวัย
เขาเป็นคนหนึ่งที่ซื่อสัตย์ในการทำงาน อย่าง Slam Dunk เกิดขึ้นตอนเขาอายุ 23 และจบตอนเขาอายุ 30 กว่าๆ ที่เป็นวัยทำงาน ซากุรางิก็โตตามนั้น หรือผลงานในช่วงหลังสามสิบของเขาอย่างเรื่อง Vagabond ที่เป็นเรื่องของนักดาบ Musashi Miyamoto ที่เคยอยากเป็นหนึ่งในปฐพี พอในช่วงท้ายๆ ที่แก่ เขาก็เล่าตัวมุซาชิในแง่ที่ทำงานแสวงหาความหมายทางจิตวิญญาณ ซึ่งเราไม่ค่อยเจอความซื่อสัตย์นี้ในงาน Shōnen Jump เท่าไหร่ เพราะงานแนวนี้มักอิงกับตลาดอย่างมหาศาล หรือนักเขียนบางคนก็ยึดติดกับแบรนด์ เพราะเขารู้ว่าคนอ่านจะจำลายเส้น ดีไซน์ และการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ ได้ เพื่อตอกย้ำภาพจำให้ชัดเจน ขายได้ และประสบความสำเร็จ
ต่อมาคือ ฮิโรมุ อารากาวะ ที่เขียน Silver Spoon, Fullmetal Alchemist และ Hyakushou Kizoku ผลงานของเขาเป็นส่วนผสมของการ์ตูนโชเน็นที่เราชอบตอนเด็กๆ และการ์ตูนแก๊กที่มุกตลกของเขาคมมาก ขณะเดียวกัน เขาดูเป็นคนเข้าใจความเป็นมนุษย์และประวัติศาสตร์ ดูตั้งคำถามในเชิงปรัชญาเยอะ
ถ้าสังเกตดู Fullmetal Alchemist เป็นการ์ตูนโชเน็นที่ลึกไปกว่าการ์ตูนโชเน็นทั่วๆ ไป มันตั้งคำถามในเชิงปรัชญาเยอะ และไม่ได้เกิดขึ้นกับเรื่องนี้เท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกเรื่องที่เขาเขียน มันเลยทำให้เราชอบรสนิยมของเขาที่สามารถถ่ายทอดความสนุกและเนื้อหาในเชิงลึกออกมาได้ด้วย
คนสุดท้ายคือ ไทโย มัตสึโมโตะ งานของเขายังไม่มีแปลไทย งานภาพคนนี้มีความเป็นยุโรปค่อนข้างเยอะ วาดฉากแบบไม่ใช้ไม้บรรทัด และเป็นคนที่เหมือนเห็นความงามของทัศนียภาพในการวาดฉาก การวางเฟรม มุมกล้อง และการเล่าเรื่องมีความเป็น Cinematic สูงมาก เหมือนเรากำลังดูภาพยนตร์ที่สวยงามสักเรื่องหนึ่ง อันนี้คือความชื่นชมในการถ่ายทอดภาพของเขาที่เราเห็นแล้วชอบเลย
แต่ในวันหนึ่งที่เราได้อ่านงานที่เป็นภาษาอังกฤษของเขา เขาดูเป็นคนที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ของคนสูงมาก ถ่ายทอดความเจ็บปวดของผู้คนออกมาได้ลึกและดี คนคนนี้เป็นเหมือนคนที่เราอยากไปให้ถึงในแง่ผลงาน คือสามารถถ่ายทอดเบื้องลึกในจิตใจของตัวละครได้ดี
อีกอย่าง เวลาเสพงานของเขาไปทีละช่องทีละหน้า มันเหมือนเราค่อยๆ ละเลียดความงามไปทีละนิด ซึ่งความรู้สึกแบบนี้มันไม่เกิดกับ Slam Dunk แน่ๆ เพราะแต่ละหน้าของมันเกิดจากระบบสตูดิโอที่ทำยังไงก็ได้ให้ทุกอย่างสมจริงที่สุด ทีมงานอาจต้องวาดคนทีละคนเพื่อทำให้บรรยากาศในสนามมันดูเร่าร้อน แต่มัตสึโมโตะรื้อวิธีคิดแบบนี้ออก เพราะถ้าเขาจะวาดสนามบาสแบบไม่ค่อยสมจริง เบี้ยวๆ แต่เราดูแล้วรู้สึกว่าสนามบาสนี้ช่างสวยงามเหลือเกิน เป็นสุนทรียะบางอย่างที่เราไม่เคยได้รับ ซึ่งเขาทำได้ดีทั้งในฐานะนักเขียนที่เล่าเรื่องและตัวละครที่ดำเนินเรื่อง
เราชอบตัวละครหนึ่งจาก Shakariki (สิงห์นักปั่น) ชื่อ โนโนมูระ เทรุ ที่เป็นนักปั่นจักรยาน มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่ปัจจุบันย้อนกลับไปมองก็ยังชอบอยู่ เราไม่เจอคาแรกเตอร์ไหนที่เป็นแบบไอ้คนนี้ในมังงะญี่ปุ่นเลย เขาเป็นพระเอกที่แทบไม่พูด น้ำมูกยืดๆ และชีวิตคิดแต่จะขี่จักรยานปีนเขาลูกไหน ไม่สนใจอย่างอื่นเลย คนเขียนดีไซน์เรื่องให้ตัวละครที่เหลือต้องมาแวดล้อมตัวเอกคนนี้ เพราะต้องบาลานซ์คนไม่พูดด้วยการสร้างคนที่พูดเยอะๆ มาคอยอธิบายสถานการณ์ โดยเขาก็สามารถปั้นให้เทรุที่เป็นคนเงียบมากมีแอ็กชันที่มีเสียงออกมา สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน และแสดงถึงความเป็นนักสู้ได้
ซีนหนึ่งที่เราจำไม่ลืมคือ ตัวละครนี้คือหนึ่งในคนที่ขี่จักรยานปีนเขาได้เก่งที่สุด เป็นคนที่เจอทางลาดแล้วไม่อยากไป ไม่ชอบทางลง แต่เวลาเห็นเขาแล้วจะตาลุกเป็นไฟ และมีแมตช์หนึ่งที่ใกล้จะชนะแล้ว เขาก็พยายามขึ้นเขาและทำลายคู่แข่งไปได้ตั้งหลายคน แต่สุดท้ายคนเขียนดันไปทวิสต์ว่าเทรุขี่จักรยานล้มจากการที่คู่แข่งล้มก่อนหน้า ด้วยความมุ่งมั่น เขาก็ไม่ยอมปล่อยแฮนด์ทั้งที่ไถลไปกับถนนท่ามกลางฝนตกหนัก ส่งผลให้เขาประสบอุบัติเหตุร้ายแรง ตอนอ่านก็รู้สึกว่ามันโหดและดาร์กมาก แต่คนเขียนก็เล่าถึงพาร์ตที่เทรุทำกายภาพบำบัดจนกลับมาเก่งและได้แชมป์ การที่ตัวละครมันสู้ขนาดนี้ ทำให้เราประทับใจมาจนถึงปัจจุบัน
อีกคนคือ โคทาโร่ จาก Kotaro Lives Alone (โคทาโร่อยู่คนเดียว) ที่เป็นเด็กกำพร้า ต้องอยู่คนเดียวและมีคนมาแวดล้อมคอยซัปพอร์ตเด็กคนนี้ให้เขาไม่ต้องเผชิญกับทรอม่าเรื่องครอบครัวมากนัก เราชอบคาแรกเตอร์ของโคทาโร่ที่ไม่แสดงออกถึงความทุกข์เลย แต่ถ้าเราอ่านไปเรื่อยๆ จะรู้ว่าลึกๆ แล้วเขาคือเด็กที่ช่างเจ็บปวดเหลือเกิน เขาต้องการความรักมากๆ แต่เขาแค่อยากจะแข็งแกร่งเหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่งให้ได้ เรารู้สึกว่าคาแรกเตอร์ตัวนี้มีเลเยอร์บางอย่างที่แค่ตัวมันเองก็ทรงพลังมากแล้ว และเราก็ไม่ค่อยได้เห็นอะไรแบบนี้จากตัวละครอื่นๆ ในมังงะ
ตัวละครล่าสุดที่ชอบคือ อาเนีย จาก Spy x Family คงเหมือนทุกคนที่ชอบเพราะน่ารัก กวนตีน และเหมือนมันรื้อสูตรของตัวละครเด็กน่ารักประมาณหนึ่ง อาเนียมีความเป็นเด็กเวรอยู่ แล้วเราก็ชอบเด็กเวรที่มาในฟอร์มน่ารัก รู้สึกว่าตัวละครนี้ทำให้คนทุกเพศทุกวัยชอบได้
โควตนี้มาจากการ์ตูนบาสเกตบอลเรื่อง Ahiru no Sora เราชอบและใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง มันเป็นเซนส์ของความหวังที่ไม่ได้เกิดขึ้นในใจ แต่เราต้องเทกแอ็กชันเพื่อสร้างความหวังขึ้นมา ซึ่งมันอาจสอดคล้องกับตัวละครในเรื่องที่แพ้ยับ แพ้เละเทะ แพ้จนไม่รู้จะแพ้ยังไง แพ้จนเพื่อนเราปาหนังสือการ์ตูนทิ้งว่าจะแพ้อะไรนักหนา แล้วสุดท้ายมันก็ยังแพ้อยู่ดีนะ (หัวเราะ)เราคิดว่ามันเป็นรสนิยมของคนเขียน เขาพูดเองเลยว่าเขาชอบการ์ตูนที่ตัวละครแพ้ รู้สึกว่ามันมีความเล่าของเรื่องเล่ามากกว่า แต่บางครั้งเวลาที่อ่าน เราจะรู้สึกว่าเขาใจร้ายกับตัวละครไปไหน เหมือนจงใจให้ตัวละครแพ้มากๆ ความรู้สึกตอนอ่านจะคล้ายๆ กับนิยายไทยเรื่อง พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ที่นักเขียนเหมือนเป็นคนควบคุมทุกอย่างในเรื่องอีกที
อยากแนะนำผลงาน 3 เล่มของมัตสึโมโตะ ที่เราอ่านและชอบมากๆ นั่นคือ Ping Pong (1996), Sunny (2013) และ Cats of the Louvre (2019) เราอยากให้เขาดังกว่านี้ และที่ทางของมังงะแนวนี้ควรมีมากกว่านี้ในประเทศไทย เพราะเราแทบไม่เคยเห็นงานแบบนี้ในตลาด เห็นแต่งานฝั่งการ์ตูนที่มาจากอานิเมะ ตาหวาน และเมนสตรีม แต่งานของนักวาดคนนี้มีเอเลเมนต์หลายอย่างที่แตกต่างจากคนอื่น แล้วดันทำได้ดี
เราเลยคิดว่าคนที่ชอบมังงะก็น่าจะชอบงานแนวนี้ได้ ทั้งนี้ เรื่อง Sunny น่าจะเป็นหนึ่งในการ์ตูนที่เราชอบที่สุดในชีวิต อ่านแล้วร้องไห้ จนรู้สึกว่าแค่เกิดมาอ่านเรื่องนี้แล้วตายไปก็ไม่ใช่ชีวิตที่แย่แล้ว มันเล่าเรื่องของเด็กกำพร้ากลุ่มหนึ่งที่อาศัยในบ้านหลังเดียวกัน โดยมีคนแก่คนหนึ่งที่ทำงานเอกชนแล้วเอาเด็กเหล่านี้มาดูแล พวกเขาต่างมีความเจ็บปวดในใจและสื่อสารถึงความเจ็บปวดแตกต่างกัน บางคนเงียบ บางคนอยากเป็นคนเด่นดังในหมู่เพื่อนๆ หรือบางคนก็เกเรไปเลย แต่เด็กห้าคนนี้มีนิสัยที่เหมือนกันคือติดดมโคโลญ ตอนอ่านเราก็สงสัยว่าทำไปทำไม แต่สุดท้ายเรื่องมาเฉลยว่ากลิ่นนี้เป็นกลิ่นเดียวกับแม่ของพวกเขา
เราอ่านแล้วเห็นความลึกที่ว่า ถ้าคนเขียนไม่ได้อยู่ในบ้านหลังนี้ ยังไงก็เขียนออกมาแบบนี้ไม่ได้เด็ดขาด เลยไปเสิร์ชจนพบว่าเขาเติบโตมาในบ้านแบบนี้จริงๆ เพราะฉะนั้น เราเลยคิดว่ามันทำให้เขาเข้าใจความเจ็บปวดลึกๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กได้ดีมาก