เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในอำเภอเมืองฯ
เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เรียนโรงเรียนขนาดเล็กใกล้บ้านตั้งแต่อนุบาล-ประถมฯ
เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ต้องย้ายไปอยู่บ้านญาติในตัวเมืองเพื่อเรียนชั้นมัธยมฯ
“ไปอยู่กับป้าเถอะลูกจะได้ไม่ต้องตื่นเช้ามาก เดินทางก็ไม่อันตรายด้วย” พ่อแม่ว่า
เพราะบ้านอยู่ไกลจากโรงเรียนร่วมยี่สิบห้ากิโลเมตร ถ้าไม่ยอมห่างอ้อมอกพ่อแม่ก็ต้องยอมตื่นตั้งแต่ตีห้า เพื่อขึ้นรถรับ-ส่งที่จ่ายเป็นรายเดือนแต่เช้าตรู่ และกลับถึงบ้านในเวลาเกือบฟ้ามืด เราในวัยนั้นจนถึงเราในวัยนี้รู้สึกว่าทำไมการเรียนหนังสือให้ครบตามหลักสูตรการศึกษาถึงต้องไกลบ้านออกไปทุกที แต่ยังดีที่พอมีโรงเรียนละแวกบ้านอยู่บ้าง แม้จะถูกจัดอยู่ในประเภทโรงเรียนขนาดเล็ก ที่กระทรวงศึกษาธิการไล่ ยุบ-ควบรวม มานานเกือบ 3 ทศวรรษ
ปี 2536 กระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นโจทย์จากทาง ธนาคารโลก (World Bank) ที่ทำการวิจัยแล้วพบว่า การยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จะทำให้เด็กได้เรียนกับคุณครูครบทุกช่วงชั้น และครบทุกวิชา
ไม่น่าเชื่อว่าปีที่หลายคนเพิ่งลืมตาดูโลกอย่างยังไม่ประสากับการศึกษา โรงเรียนขนาดเล็กก็ถูกไล่ยุบ-ควบรวมเสียแล้ว หากแต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนเราว่า สถานศึกษาใกล้บ้านนั้นมีความสำคัญและจำเป็นต่อเด็กในทุกพื้นที่ ยิ่งถ้ามีโรงเรียนใกล้บ้านยิ่งส่งเสริมให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้อย่างดี รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid Thailand) เป็นอีกคนที่คิดเช่นนั้น เกือบ 10 ปีที่เธอร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง เพื่อแถลงให้ใครต่อใครได้รู้ว่า การยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่ใครเขาว่าดี มีผลเสียซุกอยู่ใต้พรม
และเราสัญญากับเธอไว้ว่า จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนอย่างสุดความสามารถผ่านบทความชิ้นนี้ เพื่อให้สังคมไทยตระหนักว่า โรงเรียนขนาดเล็กร่วม 15,000 แห่งทั่วประเทศไม่ควรถูกยุบ-ควบรวม
ร. รุ่งทิพย์
หากเท้าความถึงการต่อสู้ของรุ่งทิพย์ ประเด็นโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่เรื่องแรกที่เธอจับ แต่รุ่งทิพย์สนใจปัญหาสังคมตั้งแต่วัยสิบกว่าขวบ เธอเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย จนได้รับรู้ปัญหาต่างๆ ก่อนกลับมาไตร่ตรองว่า ในฐานะเยาวชนทำอะไรกับสิ่งที่เกิดได้บ้าง เมื่อเข้าวัยนักศึกษาที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เธอให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ซึ่งปัญหาหลักตอนนั้นคือเรื่องวัตถุนิยม บริโภคนิยม และปัญหาครอบครัว เธอจึงร่วมเรียนรู้ ให้ความช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษา จนพัฒนาสู่การเป็นเทรนเนอร์เยาวชน
ขณะเดียวกันเธอยังแบ่งเวลาครึ่งหนึ่งจากการเรียนมาลุยออกค่ายอาสาพัฒนาชุมชน จนเข้าใจบริบทของประเทศไทยที่เห็นและเป็นอยู่มากขึ้น โดยเฉพาะ ความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นบ่อเกิดของอีกนับสิบปัญหา เหล่านี้จึงกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้เธอมุ่งมั่นและเอาจริงกับปัญหาสังคม
หลังเรียนจบรุ่งทิพย์กกกอดแพสชันไปทำงานเป็นผู้ประสานงานกับองค์กรเอกชนระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ต่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวกับการสร้างกิจกรรมให้เยาวชนในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกได้เรียนรู้ คิด วิเคราะห์ ตระหนัก และมองเห็นรากเหง้าปัญหาของประเทศต่างๆ เธอบอกว่านี่คือการสร้างพื้นฐานให้กับเยาวชน ปลูกฝังถึงการมีจิตสาธารณะ และคิดถึงคนอื่นนอกจากตัวเอง
“การทำงานกับเยาวชนเป็นสิ่งที่ประทับใจมากๆ มันได้เห็นพลัง ความคิดสร้างสรรค์เยอะมากในตัวพวกเขา เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เขาค้นเจอศักยภาพที่แท้จริง และใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมหรือสาธารณะ เพื่อให้เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน สิ่งหนึ่งที่จะติดตัวไว้คือการคิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว”
การทำงานกับเยาวชนเป็นรถไฟเที่ยวแรกที่รุ่งทิพย์ตีตั๋ว เพื่อเดินทางไปสู่จุดหมายที่ใหญ่กว่านั้นอย่างเรื่อง สิทธิมนุษยชน ที่เบาบางเหลือเกินในประเทศไทย
“งานสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยช่วงยี่สิบปีก่อนเป็นเรื่องยาก การจะอธิบายคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ ให้คนเข้าใจได้นั้นท้าทายมาก เพราะหลายคนมีความรู้สึกว่าคอนเซปต์นี้เป็นของต่างชาติ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสังคมไทย มันก็เลยเหมือนกับว่าคุณไปรับความคิดจากตะวันตกมาแล้วพยายามยัดเยียดใส่หัวให้ปฏิบัติและเข้าใจ”
เธอเล่าย้อนถึงเรื่องราวในขบวนรถไฟใหม่ที่หนักหนาเอาการ เพราะสังคมไทยปิดใจและยังไม่เชื่อในการเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชน แต่ก็พยายามสร้างความเข้าใจในด้านต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อ ฟังแล้วเราพอนึกภาพตามออก เพราะสังคมที่เราเติบโตมาก็แทบจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ จนเรียนปริญญาตรีเฉพาะด้านถึงได้ทำความเข้าใจอย่างเจาะลึก เราจึงถามกลับไปว่าที่เคยหนักตอนนี้เบาลงบ้างไหม เธอตอบปนหัวเราะว่า แม้ 4 – 5 ปีให้หลังมานี้ เรื่องสิทธิในไทยจะกระเตื้องขึ้นมาก มีทั้งคนรุ่นใหม่รุ่นเก่าจำนวนไม่น้อยที่ช่วยกันผลักดัน แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายมากอยู่ดี
รถไฟเที่ยวถัดมาที่รุ่งทิพย์ตีตั๋วขณะเรียนปริญญาโทคณะสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยมหิดลคือ องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid Thailand) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนานาชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อตั้งเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรม ซึ่งในไทยนั้นเริ่มเมื่อปี 2544 มุ่งเน้นให้ประชาชนที่ประสบความยากจนและการกีดกันทางสังคมได้พัฒนาศักยภาพด้านสิทธิมนุษยชน เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของตนเองได้
“ตอนเรียนปริญญาโทชั้นปีสองประมาณปี 2550 แอ็คชั่นเอดกำลังหาคนทำงานชั่วคราวมาทำโครงการ Tsunami Response เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสึนามิ ตอนนั้นพี่กำลังทำวิทยานิพนธ์ซึ่งหัวข้อเกี่ยวพันกับสิ่งที่แอ็คชั่นเอดทำอยู่ เลยตัดสินใจเข้ามาเป็นผู้จัดการโครงการ หลังจากนั้นพี่ก็มาเป็นผู้ประสานงานโปรแกรมสิทธิสตรีอยู่ประมาณปีหนึ่ง แล้วก็ออกไปเป็นอาสาสมัครสองปี กลับมาอีกทีตอนปี 2555 เพื่อจับประเด็น การศึกษา และแน่นอนว่าเมื่อทำ พี่ไม่อยากทำเรื่องที่เขาทำกันอยู่แล้ว เพราะจะไม่ได้ประโยชน์อะไร ประกอบกับตอนนั้นมีปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ยืดเยื้อกันมานาน เลยตัดสินใจทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง”
ร. โรงเรียนขนาดเล็ก
โรงเรียนขนาดเล็กนั้นเล็กแค่ไหน ไม่ได้วัดจากขนาดของอาคาร หรือพื้นที่โดยรวม หากแต่วัดตามจำนวนนักเรียนที่มีน้อยกว่า 120 คน ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดปี 2563 มี 14,976 แห่ง มีนักเรียนรวม 968,992 คน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กตามนโยบาย ธนาคารโลก (World Bank) มาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน เพื่อหวังลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เพราะธนาคารโลกเชื่อว่า การยุบ-ควบรวมจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นการรวมเอาทรัพยากรมาอยู่ในที่เดียว ทั้งยังมีครูครบทุกช่วงชั้นเรียนและครบทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา แต่รุ่งทิพย์บอกเราว่า
สำหรับประเทศไทย ยิ่งไล่ยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากเท่านั้น
“นโยบายยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเป็นปัญหามาตลอด แต่ความเข้มข้นมันขึ้นๆ ลงๆ ขึ้นอยู่กับว่าถ้ารัฐมนตรีคนไหนเข้ามาแล้วโดนกดดันมากๆ ก็จะรื้อฟื้นนโยบายนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งปี 2555 ที่พี่กลับมาทำงานกับแอ็คชั่นเอดเป็นปีที่กระทรวงศึกษาธิการนำนโยบายยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กออกมาปฏิบัติอย่างเข้มข้น เริ่มไล่ยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีผลคะแนนสอบ O-NET ต่ำกว่ามาตรฐาน และไม่มีผลงานทางวิชาการมากพอที่ทำให้เห็นว่าควรเก็บโรงเรียนนี้เอาไว้
“ซึ่งโรงเรียนที่มีโอกาสยุบ-ควบรวมมากที่สุดคือโรงเรียนที่มีเด็กน้อยกว่าหกสิบคน รวมกับผล O-NET ต่ำ ซึ่งจะทำให้ผลสอบในโรงเรียนขนาดเล็กสูงนั้นค่อนข้างยาก เพราะว่าหนึ่ง โรงเรียนไม่มีครูครบทุกช่วงชั้นเรียนที่ดูแลเด็ก และไม่ครบทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา ซึ่งถ้าถามว่าทำไมมีครูน้อย เพราะตามกฎกำหนดสัดส่วนครูกับนักเรียนอยู่ที่ครูหนึ่งคนต่อเด็กยี่สิบคน นักเรียนหกสิบคนในโรงเรียนจะได้ครูกี่คนกัน
“ดังนั้นมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ครูสามารถสอนเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ถ้าเรายังใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิม แต่ถามว่ามีที่ทำได้ไหม คำตอบคือ มี แต่นั่นหมายถึงว่าครูต้องทุ่มสุดตัว ต้องรักในการเป็นครู ต้องเสียสละ เพื่อที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กได้เรียนรู้เต็มที่”
เธอบอกต่อว่า งานวิจัยเรื่องผลกระทบจากการยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยยังแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบที่ตามมาจากการยุบนั้นชัดเจนขนาดไหน
ผลกระทบที่ 1 – เด็ก เพราะเมื่อไม่มีโรงเรียนขนาดเล็กใกล้บ้าน เด็กๆ ต้องเดินทางไกลขึ้น ต้องเสี่ยงอันตรายมากกว่าเดิม โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง และเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น บนดอย
ผลกระทบที่ 2 – ผู้ปกครอง ยิ่งเดินทางไกลขึ้น ต้องไปส่งลูกหลานเรียนในเมือง แน่นอนว่ารายจ่ายก็มากขึ้นตาม ทั้งยังต้องคอยกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะเด็กในช่วงอนุบาลถึง ป.6 ยังเป็นเด็กเล็กที่ยังต้องมีผู้ใหญ่ดูแลอย่างใกล้ชิด
ผลกระทบที่ 3 – เด็กหลุดระบบ เมื่อโรงเรียนที่เคยอยู่ใกล้ถูกยุบหายไป แล้วผู้ปกครองมองว่ามันไม่คุ้มที่จะให้ลูกหลานเดินทาง เพราะหนึ่งเป็นห่วงความปลอดภัยของเด็ก และสองภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นโอกาสที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษาจึงมีความเป็นไปได้สูง
ขณะฟังรุ่งทิพย์อธิบายผลกระทบต่างๆ ไม่มีข้อไหนเลยที่เราไม่เห็นด้วย เพราะประสบการณ์วัยเด็กที่เผชิญ ต้องห่างพ่อแม่ มีปัญหาก็ปรึกษาไม่ได้ทันที ทำให้เราเชื่อเหลือเกินว่าการยุบ-ควบรวมนั้นมีผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้
ร. ร่วมสู้อย่างเป็นหนึ่ง
แอ็คชั่นเอดจึงร่วมขับเคลื่อนประเด็นนี้กับ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และ กลุ่มผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก จากภาคใต้ เหนือ อีสานประมาณ 30 คนที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบ-ควบรวม เริ่มจากการจัดเวทีให้ทุกคนมารวมตัวกัน เพื่อพูดถึงปัญหา และผลจากนโยบายดังกล่าว พร้อมร่วมกันหาแนวทางแก้ไขกับสิ่งที่เกิด
“ประเด็นอยู่ที่โรงเรียนขนาดเล็กมีทรัพยากรน้อย จะไปต่อต้านอย่างเดียวโดยไม่มีข้อเสนอได้อย่างไร พี่คิดในมุมที่ว่า ถ้าไม่ควรยุบ-ควบรวม ก็ต้องมีข้อเสนอแนะ แล้วก็ควรเป็นข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ ถ้าอย่างนั้นก็ควรหาต้นแบบเพื่อนำเสนอกับกระทรวงศึกษาธิการว่า ถึงแม้โรงเรียนเราจะเล็ก แต่ก็จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการมองหาโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นต้นแบบ และการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เพื่อดูว่าพวกเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง และควรจัดการอย่างไร”
เมื่อตกลงปลงใจว่าจะร่วมสู้กันอย่างไม่ท้อถอย การค้นหาโรงเรียนต้นแบบจึงเริ่มต้น ซึ่งคัดเลือกได้ทั้งหมด 3 โรงเรียนจาก 3 ภูมิภาค ก่อนส่งทีมงานลงไปพูดคุยกับครู นักเรียน ผู้ปกครอง ไปจนถึงสังเกตการณ์ว่าโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร รวมถึงสัมภาษณ์ผู้ที่ทำงานในแวดวงการศึกษาและนักวิชาการว่า ถ้าไม่ยุบ-ควบรวม จะมีหนทางอื่นไหม ก่อนรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาเรียบเรียงสู่หนังสือเรื่อง ร้อยมือร่วม รวมใจปั้น ฝันเป็นจริง บนเส้นทางการเรียนรู้ของโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการในปีของรัฐมนตรีพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ประกาศเดินหน้ายุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กอย่างเต็มที่
เมื่อกระทรวงฯ เดินหน้าเต็มที่ รุ่งทิพย์และเครือข่ายทั้งหมดก็ไม่คิดถอย รวมตัวเดินขบวนเรียกร้องอย่างมุ่งมั่น จนได้รับการเชิญเข้าไปพูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นทางการว่าถ้าไม่ยุบ-ควบรวม แล้วจะทำอย่างไรให้โรงเรียนขนาดเล็กมีประสิทธิภาพ จนเกิดการตั้งคณะทำงานที่รุ่งทิพย์พาโรงเรียนขนาดเล็กในเครือข่ายซึ่งเริ่มปรับการเรียนการสอนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานชุดนั้น เพื่อร่วมกันหาทางออกของการไม่ยุบ-ควบรวม
เรื่องราวกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี แต่โชคชะตากลับทดสอบกันไม่จบสิ้น เพราะอยู่ได้ไม่นานกระทรวงฯ ก็เปลี่ยนรัฐมนตรีคนใหม่ รุ่งทิพย์บอกเราพร้อมส่ายหัวประกอบว่า กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยจนมึน และเมื่อเปลี่ยนหนึ่งครั้ง ก็ต้องยื่นเรื่องใหม่เสมอ จนรู้สึกว่าเสียทรัพยากรไปโดยใช่เหตุ จึงเปลี่ยนแผนแล้วเดินหน้าสร้างโรงเรียนต้นแบบให้เกิดขึ้นจริง ลงพื้นที่อย่างจริงจังเพื่อตามหาโรงเรียนขนาดเล็กที่อยากปรับการเรียนการสอนเพื่อไม่ให้โดนยุบ-ควบรวม หลังจากนั้นแอ็คชั่นเอดกระจายตัวตั้งเครือข่ายตามภูมิภาค ทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง เพื่อลงพื้นที่ชักชวนโรงเรียนในภาคนั้นๆ ร่วมกันเป็นกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก สำหรับร่วมกันสร้างนวัตกรรมการศึกษาที่จะยึดให้โรงเรียนขนาดเล็กยังคงอยู่
ร. รุ้งที่ปลายอุโมงค์
หากหลังพายุฝนพัดกระหน่ำ ย่อมมีสายรุ้งพาดผ่านบนฟากฟ้าที่ส่องสว่าง การรวมตัวกัน ลองผิดลองถูก และอดทนหารืออย่างไม่หยุดพักของรุ่งทิพย์ ทีมแอ็คชั่นเอด สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และกลุ่มผู้บริหารก็คงเปรียบเป็นรุ้งที่ส่องประกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“เราลงพื้นที่อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2555 และมาทำงานอย่างเต็มกำลังในปี 2558 ที่ให้โรงเรียนทดลองนวัตกรรมต่างๆ ในที่สุดก็มาชัดเจนเมื่อประมาณปี 2560 เราค้นพบสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรม PBL (Problem-based learning) PLC (Professional learning community) และ จิตศึกษา ที่ ‘ครูวิเชียร ไชยบัง’ เป็นผู้คิดค้น รวมถึง เครื่องมือสอนคิด ของ ‘ดร.ศราวุธ สุตะวงค์’”
‘โรงเรียนลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์’ คือกระถางบ่มเพาะแรกที่เป็นประตูบานสำคัญสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก โดยครูวิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้สั่งสมวิชา จนสรรค์สร้างต้นแบบนวัตกรรมการศึกษาซึ่งประกอบด้วย 3 แนวคิด
PBL (Problem-based learning) การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเกี่ยวข้องกับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนนำไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ต่อได้
PLC (Professional learning community) การสะท้อนผลการเรียนการสอนครบทุกระดับชั้นในโรงเรียนโดยครู เพื่อพูดถึงปัญหาที่พบ ความท้าทายต่างๆ และร่วมกันหาแนวทางแก้ไข
จิตศึกษา การพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้และความฉลาดทางด้านอารมณ์ (EQ) ความฉลาดด้านจิตวิญญาณ (SQ) เพื่อสร้างสมาธิ และความผ่อนคลายใจก่อนเริ่มเรียน
‘โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงราย’ คือกระถางบ่มเพาะที่สองที่ ดร.ศราวุธ สุตะวงค์ ผู้อำนวยการค้นเจอเครื่องมือสอนคิด จากประเทศนิวซีแลนด์ แล้วเล็งเห็นว่ามีความน่าสนใจ และเป็นประโยชน์สำหรับการเรียนการสอนและนักเรียน จึงเข้าไปคุยกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดว่าอยากลงทุนกับเครื่องมือชิ้นนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ซึ่ง อบจ. เห็นดีกับสิ่งนี้ ตัดสินใจทุ่มทุน 10 ล้านบาทเพื่อส่งต่อประโยชน์สูงสุดให้ลูกหลานชาวเชียงราย
“จากหน้ามือเป็นหลังมือ” คือประโยคที่รุ่งทิพย์ใช้อธิบายผลจากการใช้นวัตกรรมการศึกษาให้เราฟังอย่างเห็นภาพ เธอบอกว่าผลการเรียนของนักเรียนจากโรงเรียนลำปลายมาศ และโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เธอและเครือข่ายจึงเริ่มศึกษาดูงาน ก่อนฟอร์มทีมครูวิทยากรเพื่อส่งไปฝังตัวตามโรงเรียนขนาดเล็กภาคต่างๆ ที่ร่วมลงเรือลำเดียวกัน
“เครือข่ายเราเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ เราได้เห็นผู้บริหารโรงเรียนหลายคนที่ลุกมาเอาจริงเอาจัง เด็ดเดี่ยว และตั้งใจพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาเด็กๆ ของตัวเอง ซึ่งต้องชื่นชมทั้งผู้อำนวยการและคุณครูที่มีใจเกินร้อย เพราะการเอาหลักสูตรมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนมักมีแรงเสียดทานอย่างครูท่านอื่นที่ไม่เห็นด้วย ผู้ปกครอง และเขตการศึกษา”
ผู้อำนวยการและคุณครูทำงานด้วยใจ มีจิตวิญญาณของความเป็นครูเต็มร้อย จนเมล็ดที่เพาะไว้ งอกงามขึ้นในตัวเด็ก
“พี่ลงพื้นที่ไปประเมินผลที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชุมพร ซึ่งเริ่มใช้จิตศึกษากับ PLC พี่ลงไปนั่งทานข้าวกับเด็กอนุบาล ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าได้เห็นถึงวินัยที่เกิดขึ้น คือพี่ อ.3 ต้องคอยดูแลน้อง อ.1 ให้น้อง อ.1 ทานข้าวก่อน แล้วพี่ อ.3 จะต้องตักข้าวให้ พาไปนั่งทาน ส่วน อ.2 ก็จะดูแลตัวเองได้แล้ว เมื่อพี่ อ.3 ดูแล อ.1 อ.2 เสร็จแล้วตัวเองถึงจะมาทานข้าว นอกจากนี้ เด็กอ.3 ยังสามารถตอบคำถามเราได้ พูดคุยรู้เรื่อง ถามอะไรไปเขาตอบเราได้หมดเลย มันยิ่งทำให้เราเชื่อมั่นว่านวัตกรรมตัวนี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ส่วนในโรงเรียนอื่นที่ไปดู ก็ได้เห็นการดูแลซึ่งกันและกันระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง”
รุ่งทิพย์บรรยายถึงความงอกงามที่ได้สัมผัสด้วยสองตาพร้อมรอยยิ้ม ก่อนพูดถึงผลลัพธ์สำคัญจาก 4 นวัตกรรมการศึกษาอย่าง การลดการบุลลี่ ให้ฟังว่า สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยในโรงเรียนที่เลือกใช้นวัตกรรมในการเรียนการสอน เพราะทั้ง PBL PLC จิตศึกษา และเครื่องมือสอนคิดจะสอนให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น มีคุณธรรม จริยธรรม ไปจนถึงหล่อหลอมให้ทุกคนในโรงเรียนรู้จักเคารพซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะครูที่เมื่อคาดหวังให้เด็กเคารพ ก็ต้องเคารพเด็กด้วยเช่นกัน เธอบอกว่าให้มองเด็กเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีศักดิ์ศรี เพื่อให้ครูพึงระลึกว่าต้องมีท่าทีเคารพเด็กเสมอ
เมื่อเด็กได้รับความเคารพ เขาจะเคารพคนอื่นและเคารพซึ่งกันและกันไปโดยปริยาย
“พี่เห็นผลที่เกิดขึ้นจากการใช้นวัตกรรม เลยยิ่งมีความมั่นใจว่า ถ้าสามารถขยายนวัตกรรมเหล่านี้ไปสู่โรงเรียนต่างๆ ให้มากที่สุด คงจะได้ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศนี้ที่มีคุณภาพขึ้น” เธอกล่าวด้วยสายตามุ่งมั่น
แม้จะหนักหนาเอาการ เพราะแอ็คชั่นเอดต้องระดมทุนในการทำงาน และหาทรัพยากรด้วยตัวเอง เพื่อขยายการใช้นวัตกรรมเหล่านี้สู่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนับหมื่นแห่ง แต่ทุกคนในเครือข่ายก็ขยับก้าวอย่างสม่ำเสมอ จาก 1 2 เรื่อยไปจน 10 โรงเรียนตัวอย่าง ที่เทียบสัดส่วนแล้วคงเป็นเพียงหยิบมือเดียว ตอนนี้แอ็คชั่นเอดและเครือข่ายร่วมกันสร้างโรงเรียนต้นแบบได้มากถึง 70 แห่ง พร้อมด้วยนวัตกรรมการศึกษาที่ใช้ได้ผลจริงจนกลายเป็นข้อเสนอที่ชัดเจน มีผู้อำนวยการเป็นแนวหน้าที่ฉลาด มีทีมวิทยากรที่เข้มแข็ง และทีมงานทุกคนคอยจับจูงกันเพื่อเดินไปยังเป้าหมายการไม่ยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก
ร. รอวันไม่ยุบ-ควบรวม
กว่าสิบปีที่รุ่งทิพย์ขับเคลื่อนประเด็นโรงเรียนขนาดเล็กอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง เพื่อเสริมทัพเพื่อนร่วมทางอย่างผู้อำนวยการและครูที่เปรียบได้กับด่านหน้า ทุกวันนี้ดอกและผลจากเมล็ดที่บ่มเพาะ งอกเงยเป็นความสุขในสายตาเด็กๆ และความสุขที่ผลิบานในใจเธอ เราถามกลับไปว่า มีเหนื่อย มีท้อบ้างไหม รุ่งทิพย์นิ่งไปสักครู่ ก่อนตอบกลับด้วยเสียงสั่นเครือ และหน่วยน้ำใสแห่งความภูมิใจที่คลอเคลียตาว่า
“เหนื่อยมันก็แค่เหนื่อยกาย แต่ใจพวกเราไม่มีท้อ เพราะเป้าหมายชัดเจน พวกเรารู้ว่ากำลังทำอะไร แล้วสิ่งที่ทำมันเห็นการงอกงาม พี่และทีมทุกคนกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศนี้ จะมีใครสักกี่คนที่จะได้รับโอกาสนั้น ดังนั้นเมื่อมีโอกาส พี่ก็จะทำให้เต็มที่ งานตรงนี้ยิ่งใหญ่ถึงขั้นปฏิรูปการศึกษา ถ้าพี่ไม่มีพลัง ก็ไม่สามารถส่งพลังนั้นให้กับคนที่ทำงานร่วมด้วย”
แปลกแต่จริงที่น้ำเสียงและแววตาอันมุ่งมั่นของรุ่งทิพย์ส่งมาถึงเราจนแอบน้ำตาคลอตาม เราจึงอยากให้เธอเน้นย้ำอีกครั้ง เพื่อส่งพลังไปถึงทุกคนให้ร่วมกันตระหนักว่า โรงเรียนขนาดเล็กไม่ควรถูกยุบ-ควบรวม เธอบอกว่า สุดท้ายแล้วมันกลับมาที่คำว่า “สิทธิมนุษยชน คือการที่ทุกคนที่เกิดมามีสิทธิเท่าเทียมกัน และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ดังนั้นเมื่อเป็นเรื่องของการศึกษา เท่ากับว่านี่คือสิทธิของเด็กที่ชัดเจนมาก โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน
“มีคำกล่าวว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า แต่การยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้สะท้อนถึงสิ่งที่สังคมยึดถือเลยสักนิด ดังนั้นหากคิดว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า คือคนที่จะนำพาประเทศให้ก้าวหน้า ทำไมเราไม่สร้างเด็กในวันนี้ให้มีคุณภาพสูงสุด ช่วยให้เขาค้นพบศักยภาพทั้งกาย ใจ และสมอง เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่จะนำพาประเทศไปเจอวันที่ดีกว่าเดิม”
รุ้งที่ปลายอุโมงค์จากน้ำพักน้ำแรงของทุกคนกำลังเด่นชัดเป็นภาพเชิงประจักษ์ให้สังคมเห็นว่า โรงเรียนขนาดเล็กสามารถเติบโตอย่างยิ่งใหญ่และมีคุณภาพได้หากทุกคนตั้งใจทำ และหากสังคมไทยยอมละทิ้งกรอบเดิมที่เคยมองลงไปเสียบ้าง เพื่อเปิดใจให้โรงเรียนขนาดเล็ก ครู นักเรียน และเครือข่ายทุกคนได้พิสูจน์ให้เห็นถึงผลสำเร็จ
กว่าจะถึงวันนั้นในอีกไม่ช้า เราหวังว่าคุณที่อ่านมาจนถึงย่อหน้าสุดท้ายนี้ จะเชื่อมั่นในโรงเรียนขนาดเล็กเหมือนที่เรา และรุ่งทิพย์เชื่อ เพื่อรอวันที่สายรุ้งเส้นนั้นเด่นชัดมากพอจนโรงเรียนขนาดเล็กไม่ถูกยุบ-ควบรวม