Rumba Bor กระชากสิ่งของเชยๆ ให้กลับมามีชีวิต - Urban Creature

“สิ่งที่เราทำคือการกระชากเก้าอี้จีนเชยๆ ที่คนอาจมองข้ามไป ให้หันมามองสิ่งของใน Everyday Life ในมุมมองใหม่ๆ ที่ Sustainable มากขึ้น”

‘รัมภา ปวีณพงษ์พัฒน์’ เจ้าของแบรนด์ Rumba Bor บอกถึงความตั้งใจของเธอในการเริ่มต้นทำแบรนด์สิ่งของเครื่องใช้รักษ์โลก ที่มีจุดเด่นคือการดึงเอาของใช้ในชีวิตประจำวันมาผสมผสานความครีเอทีฟ โดยใช้วัสดุที่รีไซเคิลเป็นหัวใจหลัก

หญิงสาวเล่าว่า จุดเริ่มต้นของ Rumba Bor เกิดขึ้นเมื่อเธอเรียนจบด้าน Fine Arts มาได้สักพัก และเริ่มรู้สึกอยากเริ่มทำแบรนด์เป็นของตัวเองด้วยการนำสิ่งที่เรียนมาใช้ทำงานให้สนุก

นอกจากแพสชันส่วนตัว ในช่วงที่เรียนอยู่ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย รัมภามักเห็นคนทิ้งสิ่งของเครื่องใช้อย่างเฟอร์นิเจอร์อยู่บ่อยๆ โดยเธอมักจะเดินไปดูว่ามีอะไรน่าสนใจและหยิบจับไปใช้ในงานออกแบบของตัวเองได้บ้าง ตรงนี้เองที่ส่งผลให้รัมภาซึมซับเรื่องสิ่งของมือสอง ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม และเข้าใจการใช้ชีวิตในแบบที่ไม่ต้องซื้อของใหม่บ่อยๆ

rumba bor

หลังจากลองผิดลองถูกอยู่นาน ผลงานชิ้นแรกภายใต้แบรนด์ Rumba Bor ของรัมภา ก็ออกมาเป็น ‘เฌย (Choei)’ เก้าอี้จีนรูปลักษณ์คุ้นเคยที่ลูกหลานคนจีนคุ้นตาดี ซึ่งหญิงสาวนำมาตีความใหม่ และใช้พลาสติกโพลีโพรไพลีนรีไซเคิล (PP Recycle) ในการทำ

“มันเกิดจากการที่เรามีโอกาสไปเดินดูโรงงาน แล้วเจอเก้าอี้ที่ลวดลายเชยๆ สีม่วงแดง ทำมาจากพลาสติก PVC ย่อยสลายไม่ได้ ขายไม่ออก แถมไม่ดีกับสิ่งแวดล้อม ตอนเห็นเรารู้สึกว่ามันเท่ดี เลยจัดการดัดแปลง เอาพลาสติกรีไซเคิลมาฉีดลงไปในแม่พิมพ์แทน” รัมภาเล่าถึงจุดตั้งต้นของเก้าอี้เฌย

มากไปกว่านั้น เธอยังมองว่าเก้าอี้ตัวนี้มีโพเทนเชียลที่จะต่อยอดออกไปได้เยอะมาก และเป็นความท้าทายว่าจะเอามาปรับอย่างไรให้ดูมีค่าขึ้น จนสุดท้ายได้ออกมาเป็น ‘เฌยกะทิ’ เก้าอี้สีขาว ‘เฌยสาคู’ เก้าอี้สีใส และ ‘เฌยรวมมิตร’ จากการนำแม่สีสามสีมาผสม ตวง และหยอดสีเก้าอี้แบบชิ้นต่อชิ้น รวมเป็น 9 เฉด 111 ตัว ที่มีดีเทลในลวดลายและการไล่สีไม่ซ้ำกัน

ด้วยความที่แบรนด์วางตัวเป็น ‘Functional Art Collective’ พื้นที่รวบรวมงานศิลปะที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ Rumba Bor จึงไม่ใช่แค่การทำงานของรัมภาเพียงคนเดียว แต่เป็นการร่วมมือสร้างสรรค์ผลงานของคนหลากหลายกลุ่ม ที่จะไม่หยุดอยู่แค่เก้าอี้เฌยเท่านั้น แต่แบรนด์ยังมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ แบรนด์จึงปล่อย ‘ถึกโท้ท (Teuk Tote)’ กระเป๋าถือใบใหญ่ดีไซน์เรียบ หยิบใช้ง่ายๆ แมตช์ได้กับทุกลุค ทำมาจาก PP Recycle มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ออกมาจับตลาดต่อจากเก้าอี้เฌย ก่อนจะขยับไปนำเสนอลูกกรงเซรามิกเชยๆ ให้น่าสนใจขึ้นในเร็วๆ นี้

“เราจะไม่หยุดอยู่แค่การใช้พลาสติก PP Recycle แต่ในอนาคตจะมีการใช้วัสดุที่มีความ Sustain อื่นๆ ด้วย เอาอะไรเก่าๆ อย่างวัสดุที่เป็น Dead Stock มาทำใหม่ในรูปแบบที่รักษ์โลกมากขึ้น” รัมภาเล่าถึงความตั้งใจของแบรนด์

rumba bor

อีกทั้งในเร็วๆ นี้ หญิงสาวมีแผนการจะเปิดโชว์รูม Rumba Bor แถวๆ ลาดพร้าว 101 เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับทำงานเวิร์กช็อป ให้เธอและทีมได้ทดลองอะไรใหม่ๆ รวมไปถึงให้ผู้สนใจเข้ามาเดินดูสินค้าได้

แต่ถ้าในระหว่างนี้ ใครที่อยากสัมผัสเก้าอี้เฌยจริงๆ ลองไปจิบกาแฟบนเก้าอี้เฌยก่อนได้ที่ ‘JEEN COFFEE BAR’ บาร์กาแฟเปิดใหม่บนถนนทรงสวัสดิ์ ย่านเยาวราช หรือสั่งซื้อสินค้าจาก Rumba Bor บนช่องทางออนไลน์ได้ที่ linktr.ee/rumbabor

rumba bor

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.