นวัตกรรมระบบขนส่งในศตวรรษที่ 21 เขยิบอีกขั้น
เมื่อ ‘เรือ’ อัจฉริยะใช้ระบบ ‘AI’ เคลื่อนที่
ควบคุมด้วยตัวเองแบบไร้คนขับ ซึ่งเป็นได้ทั้งเรือ รับ-ส่งผู้โดยสาร
เรือขนส่งสินค้า และพื้นที่สาธารณะที่คอยบริการคนเมือง
ลบภาพจำเรือโดยสารที่ต้องมีคนคอยคุมหางเสือ หรือมีฟังก์ชันแค่ รับ-ส่งคนเท่านั้น เพราะเมืองที่ขึ้นชื่อว่า ‘เมืองที่อยู่ร่วมกับน้ำ’ อย่าง ‘อัมสเตอร์ดัม’ ประเทศเนเธอร์แลนด์ กำลังจะปล่อยโครงการแรก ‘roundAround’ เรืออัจฉริยะที่ขนส่งผู้โดยสารด้วยระบบ ‘AI’ ซึ่งเป็นสมองหุ่นยนต์มาช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้คนเมืองสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยใช้ชื่อว่า ‘Roboat’
Roboat เริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2557 ได้รับความร่วมมือจาก ‘MIT Senseable City Lab’ นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีของอเมริกา และ ‘AMS Institute’ องค์กรพัฒนาเมืองอัมสเตอร์ดัม จากผลการศึกษาใน พ.ศ. 2560 มีเรือแล่นในคลองกว่า 500 ลำ/วัน และมีนักท่องเที่ยวประมาณ 17 ล้านคน/ปี ทำให้การจราจรทางน้ำติดขัดและหนาแน่นมาก พวกเขาจึงทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาระบบสัญจรทางเรือ และยกระดับคุณภาพชีวิตในเมืองให้ดีขึ้นกว่าที่เคย โดยใช้ระยะเวลา 5 ปี ด้วยงบประมาณ 25 ล้านยูโรหรือประมาณ 866 ล้านบาท
การนำทางของเรือใช้ระบบ ‘Lidar’ ตรวจจับด้วยเลเซอร์ในการเดินทาง ซึ่งจะแปลงภาพออกมาเป็นแผนที่สามมิติแบบเรียลไทม์ หากเจอสิ่งกีดขวาง มันก็จะวิเคราะห์หาทางหลีกเลี่ยงที่ดีที่สุด และยังสามารถวัดสภาพน้ำและเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในคลอง เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ Roboat ยังสามารถเชื่อมต่อกันเป็นขบวนใหญ่ด้วยเทคโนโลยีพิเศษ ทำให้เรือสามารถใช้ฟังก์ชันได้หลากหลายมากขึ้นกว่า รับ-ส่งผู้โดยสาร
ก่อนหน้านี้พวกเขาได้ทดลองตัว Roboat ขนาดเล็ก และพัฒนามาเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทดลองใช้ขนาดจริงใน พ.ศ. 2564 สานฝันระบบขนส่งเรือที่ทันสมัยและทำงานได้ด้วยตัวเอง เมื่อย้อนกลับมามองกรุงเทพฯ ที่มีบริบทเมืองเคียงคู่กับน้ำมายาวนาน ก็หวังว่า Roboat จะเป็นกรณีศึกษาที่ดี ต่อยอดในบ้านเราได้สักวันหนึ่ง ไปตามดูกันดีกว่า ว่าพวกเขาจะพัฒนา Roboat เป็นฟังก์ชันอะไรกันบ้าง และชาวกรุงเทพฯ ชอบแบบไหนกัน ?
แนวคิดการดีไซน์ ‘Roboat’ ในโครงการ ‘roundAround’ มีลักษณะคล้ายกับตัวเลโก้ ที่สามารถแยกออกเป็นตัวเล็กๆ และสามารถต่อรวมกันเป็นภาพใหญ่ได้ โดย Roboat นี้มีขนาดเล็กใช้ขนส่งผู้โดยสารได้ทุกสถานการณ์ และมีความยืดหยุ่นในพื้นที่จำกัด อย่างการเป็นเรือข้ามข้ามฝั่งหรือใช้สัญจรในเมือง ทั้งโดยสารแบบส่วนตัว เดินทางท่องเที่ยว หรือขนส่งสาธารณะ และเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ในเมืองกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลได้สะดวกรวดเร็ว รวมทั้งแบ่งเบาการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนนได้อีกด้วย
Roboat ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า มีระบบ GPS ติดตัวตลอดการเดินทาง ข้อดีของมันทำให้สามารถควบคุมจุดหมายปลายทางได้อย่างแม่นยำ นอกจากโดยสารคนแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นไปรษณีย์ขนส่งสินค้า พัสดุ อาหารสด หรือเปิดแผงอาหารลอยน้ำได้อีกด้วย รับรองว่าถ้ามาตั้งสาขาที่กรุงเทพฯ เมื่อไร แม่ค้าบ้านเราต้องถูกใจสิ่งนี้แน่นอน
นอกจากนี้ฟังก์ชันการขนส่งสินค้า นักพัฒนายังมองไปถึง ‘การเก็บขยะ’ ในเมือง เนื่องจากปกติคนมักจะวางถุงขยะไว้ตามริมคลอง ทำให้มีหนูมาแทะกัดกินสกปรก แถมยังทำลายทัศนียภาพของเมืองในสายตานักท่องเที่ยวอีกด้วย Roboat จึงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจในการจัดการเรื่องเหล่านี้ และยังช่วยแบ่งเบาภาระของรถขนขยะที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้รถติด
หากจะข้ามแม่น้ำหรือคลองเส้นใหญ่ ปล่อยเป็นหน้าที่ของ Roboat ด้วยขนาดที่เล็ก เคลื่อนที่ได้คล่องตัว และมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่น สามารถปรับได้เข้ากับทุกความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการรองรับปริมาณคนได้ทันท่วงที ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่กีดขวางการสัญจรของเรืออื่นๆ อีกด้วย นักพัฒนาคาดว่าจะใช้ Roboat ข้ามฝั่งได้ไม่ถึง 2 นาทีเท่านั้น จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 10 นาที
ด้วยโครงสร้างของ Roboat เป็นแบบลอยตัว ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็จะคล้ายกับโป๊ะบ้านเรา แต่ของอัมสเตอร์ดัมสามารถควบคุมให้เรือเทียบเชื่อมกัน หรือแยกเป็นชิ้นส่วนออกจากกันแล้วแต่สถานการณ์ นักวิจัยจึงนำข้อดีตรงนี้มาใช้งานเป็น ‘สะพานชั่วคราว’ แก้ปัญหาความหนาแน่นสูง หากมีคนสัญจรบนสะพานเยอะ ที่สำคัญโครงสร้างนี้ใช้เวลาประกอบหรือถอดเก็บภายในไม่ถึงชั่วโมง ซึ่งไม่ต้องเสียเงินและเสียเวลาในการก่อสร้างใหม่
หากพูดถึงพื้นที่สาธารณะลอยน้ำเจ้า Roboat ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน ด้วยรูปร่างของเรือที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าประยุกต์ใช้งานกับบริบทรอบข้างได้ง่าย จึงสามารถต่อยอดเป็นพื้นที่สาธารณะอย่าง ตลาดลอยน้ำ หรือพื้นที่กิจกรรม ช่วยสร้างความคึกคักและสีสันใหม่ๆ ของเมือง
Source :
https: //is.gd/lvKCwm
https: //is.gd/AUkXKT
https: //is.gd/nL3rlE
https: //is.gd/IYT4rh
https: //is.gd/O1QFq8
https: //is.gd/FVpX0q
https: //is.gd/lvKCwm
https: //is.gd/SanobK
Content Writer : Jarujan L.
Graphic Designer : Vachara P.