ในยุคที่ใครๆ ต่างบอกว่านิตยสารตาย (ไปนาน) แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าเราจะได้เห็นร้านนิตยสารอิสระร้านใหม่ที่ทำให้เรากลับมาใจเต้นกับสื่อสิ่งพิมพ์ได้อีกครั้ง
Rock Paper Scissors Store คือร้านที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ ‘ย้วย-นภษร ศรีวิลาศ’ และ ‘เฟิม-เฟื่องฟู จิรัฐิติวณิชย์’ คู่รักผู้เป็นเนิร์ดแมกกาซีนอินดี้ที่เชื่อว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย (ที่ตายน่ะคือสื่อสิ่งพิมพ์ที่น่าเบื่อเท่านั้นแหละ) เลยเสาะหาซีนน่าสนใจจากหลายประเทศทั่วโลกที่คนทำก็เนิร์ดเรื่องสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ต่างจากพวกเขา
ทว่าสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ แต่ละเล่มถูกชูด้วยคอนเซปต์ที่เราฟังแล้วต้องถามว่า ‘แบบนี้ก็มีด้วยเหรอ ทำได้ด้วยเหรอ ต้องรู้ด้วยเหรอ’ เช่น นิตยสารบ้านที่เชื่อว่า Interior ที่ดีที่สุดของบ้านคือชีวิตของผู้อยู่อาศัย หรือนิตยสารจากโคเปนเฮเกนที่หน้าตาเหมือนหนังสือแฟชั่น แต่จริงๆ แล้วเล่าเรื่องธุรกิจได้อย่างเข้มข้น สนุกสนาน ด้วยกระบวนท่าใหม่
นอกจากซีนเจ๋งๆ ในร้านของย้วยกับเฟิมยังเต็มไปด้วยสารพัดสิ่งที่ช่วยยกระดับประสบการณ์การอ่านให้รื่นรมย์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกาแฟดริปฝีมือเฟิม คาเนเลหอมอร่อย หรือไอเทมต่างๆ ที่คนไม่ซื้อนิตยสารก็ช้อปได้อย่างสะดวก อย่างแว่นกันแดดที่พกไปอ่านหนังสือในที่เอาต์ดอร์ โคมไฟแสงอุ่นสุดชิก หรือแก้วกาแฟที่นำของเหลือจากกากกาแฟมาทำน้ำเคลือบให้ได้เทกซ์เจอร์การดื่มที่พิเศษขึ้น
ช็อปที่ชูคอนเซปต์ Magazine/Things/Coffee ของทั้งคู่เกิดขึ้นได้ยังไง คอลัมน์ Urban Guide ตอนนี้อาสาพาทุกคนลัดเลาะซอยสุขุมวิท 39 ไปหาพวกเขาที่ร้านกัน
Zine Lover
แค่ช่วงเริ่มบทสนทนาเราก็เซอร์ไพรส์แล้ว เพราะย้วยบอกว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเป็นเนิร์ดแมกกาซีนทุกวันนี้ไม่ใช่แมกกาซีนเล่มไหน แต่เป็นแฮร์รี่ พอตเตอร์
ย้วยเป็นเด็กต่างจังหวัดที่มีแฮร์รี่ เป็นหนังสือในดวงใจเหมือนกับเด็กหลายคน แต่เธออินมากจนต้องสมัครสมาชิกนิตยสาร ‘เล่มโปรด’ ของนานมีบุ๊คส์เพื่ออ่านเรื่องราวของแฮร์รี่ในนั้น
“เราชอบความรู้สึกของการรอแมกกาซีนมาส่งที่บ้านมากๆ หลังจากนั้นจึงเริ่มไปเที่ยวร้านหนังสือใกล้บ้าน มีโอกาสได้อ่านนิตยสารหลายเล่มที่ไม่ได้เล่าแค่เรื่องแฟชั่น เล่มที่ประทับใจคือ ต้าเจียห่าว เป็นนิตยสารที่เอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับความเป็นจีนมาเล่าได้สนุกมาก”
ความสนุกต่อยอดสู่การเขียนเรื่องสั้นส่งประกวดในนิตยสารหลายเล่ม ได้รางวัลบ้างและไม่ได้รางวัลบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่อยู่ยั้งยืนยงคือความรักในการอ่าน และความฝันอยากเป็นคนทำนิตยสาร
หลายปีก่อน ช่วงที่นิตยสารหลายเล่มในไทยกำลังทยอยปิดตัว เด็กจบด้านเศรษฐศาสตร์อย่างย้วยก็ไม่อยากพลาดโอกาส เธอจึงผละจากงานสื่อสารองค์กรที่ทำอยู่แล้วกระโดดมาทำงานกับนิตยสาร a day BULLETIN จนได้เป็นกองบรรณาธิการสมใจ
“การทำสื่อมันเปิดโลกมากเลย ถูกจริต ชีวิตสนุกสุดมัน แต่ก่อนจะมันได้ วันแรกก็อยากลาออกแล้ว เพราะไม่เหมือนอย่างที่คิด เราเคยทำงานออฟฟิศเขียนก๊อบปี้ที่เป็นคำทางการ พอต้องมาเขียนงานในนิตยสารที่มีพื้นที่จำกัดก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้สนุก แต่พอจับจุดวิธีทำงานได้มันก็สนุกและเปิดโลก เรานิยามงานนี้ว่าเป็นงานที่จ้างเราให้ไปเจอคนเจ๋งๆ ได้ดูบ้านคน ได้เดินทาง ได้รู้ว่านิตยสารที่เราเคยอ่านมีกระบวนการยังไง”
เมื่อก่อนย้วยเคยอินแมกกาซีนอย่างไร วันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น บวกกับนิสัยของนักเล่าเรื่องผู้ต้องทำงานกับสื่อหลากหลาย จากที่เคยเป็นนักเขียนก็ขยับขยายมาสู่การเป็นบรรณาธิการ โฮสต์รายการพอดแคสต์ หรือแม้กระทั่งเจ้าของเพจที่ทำด้วยแพสชันสนุกๆ แต่สร้างรายได้ ทำให้เธอสืบเสาะหากระบวนท่าใหม่ๆ เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ในการเล่าเรื่อง
ยิ่งมาเจอเฟิมที่พบว่าเป็นเนิร์ดแมกกาซีนเหมือนกัน อย่างตอนเวลาเที่ยวด้วยกันในต่างประเทศ สิ่งที่ทั้งคู่ไม่พลาดคือการเดินเข้า Selected Shop และช็อปซีนเจ๋งๆ เพื่อดูว่าซีนของคนบ้านเมืองอื่นเขาไปถึงไหน ทุกอย่างหล่อหลอมจนกลายเป็น Rock Paper Scissors Store ในวันนี้
Zine Collector
“การเปิดร้านแมกกาซีนเป็นความฝันแอบๆ ที่เราไม่กล้าบอกใคร เพราะมันฟังดูไร้สาระ แค่เปิดร้านหนังสือยังยากเลย ยิ่งร้านแมกกาซีนยิ่งยากเข้าไปอีก” เธอเล่าความหวั่นใจในช่วงแรกเริ่มให้ฟัง
“แต่เราชอบแมกกาซีนมาก พอลาออกจากงานประจำ เราทำเพจก็มีเงินซื้อแมกกาซีนที่ชอบเก็บสะสมไว้ ความดีงามของมันคือมีโครงสร้างที่น่าตื่นเต้น แม้ว่าบางเล่มจะเปิดมาเป็นสิบปีแล้วแต่ยังมีท่าเล่าที่ใหม่มาก เช่น Science of the Secondary แมกกาซีนจากสิงคโปร์ที่ 1 เล่มจะเล่า 1 เรื่องในมิติต่างๆ มันทำให้เราตื่นเต้นเหมือนอ่าน a day สมัยก่อน สงสัยว่าเขาเล่าได้ยังไง ชอบจัง ทำไงดี” หญิงสาวเล่าถึงแมกกาซีนเล่มแรกที่พรีออเดอร์มาขายให้เราฟัง
อันที่จริงตอนแรกย้วยไม่คิดว่าจะเปิดร้านเลย แต่ด้วยการบิลด์ของคนรักอย่างเฟิมที่แนะนำให้ย้วยลองเปิดขายออนไลน์ดูก่อนก็นำมาซึ่งสเปซแห่งนี้ “ก่อนหน้านั้น TheCOMMONS ชวนไปเปิดบูทขายหนังสือมือสอง เราก็ได้เงินมาก้อนหนึ่ง พี่เฟิมแนะนำว่าเอาไปลงทุนซื้อนิตยสารมาขายไหม ทำเล็กๆ ก็ได้ เพราะไหนๆ ก็ซื้อเอง แถมจ่ายค่าส่งแพง เรายังตามหาหนังสือพวกนี้เลย มันน่าจะมีอีกสักห้าหกคนที่ตามหาหนังสือแบบนี้เหมือนกัน พี่เฟิมเองก็ชอบด้วย ก็บิลด์กันเข้าไป”
เธอหัวเราะ ก่อนจะสรุปว่า Day 1 ของ Rock Paper Scissors เริ่มขึ้นตอนปลายปีที่แล้ว ก่อนจะขยับขยายมาเปิดหน้าร้านใจกลางย่านทองหล่อ-พร้อมพงษ์ เพราะอยากให้นิตยสารไปสู่กลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น เพื่อให้พวกเขาได้มาหยิบจับ เห็นภาพว่าในโลกยังมีแมกกาซีนที่น่าตื่นเต้นรอให้เปิดดูอีกหลายเล่ม และที่แน่ๆ คือมันยังไม่ตาย
“ตอนโดนถามว่าเดี๋ยวนี้ยังมีคนอ่านนิตยสารอยู่เหรอ ช่วงแรกๆ เราบอกเขาว่ามีค่ะ แต่พอไม่เห็นตัวอย่างเขาก็อาจจะไม่เชื่อ เราเลยอยากมีหน้าร้านให้เขาเห็นว่า ดูสิ มีคนทำเต็มไปหมด แสดงว่ามันยังมีตลาด
“แต่ถ้าตอบคำถามจริงๆ ว่าแมกกาซีนตายไหม มันตายนะถ้าไม่ปรับตัว อาจฟังดูเป็นคำตอบคลิเช แต่เราอยากให้เห็นว่าแมกกาซีนที่รอดเขามีหน้าตาเป็นยังไง การเปิดร้านนี้ก็เป็นพื้นที่อธิบายแทนคนทำสื่อด้วยว่า แมกกาซีนที่ตายไปเขาเคยพึ่ง Advertorial แบบหนึ่ง แต่แมกกาซีนที่ยังอยู่เขาก็ยังพึ่งแอดฯ เหมือนกัน แต่เป็นแอดฯ ที่ Exclusive มีน้อยๆ หรือจริงๆ ลูกค้าซื้อเนื้อหาทั้งเล่ม แต่เขาทำให้เนียนได้ยังไง”
Zine Selector
‘เนิร์ด’ คือคำที่ออกมาจากปากย้วย เมื่อเราถามว่าคัดสรรแมกกาซีนที่จะวางขายในร้านยังไง
แมกกาซีนแต่ละเล่มไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ย้วยกับเฟิมสนใจ อาจไกลตัวหรือใกล้ตัวก็ได้ แต่ที่แน่ๆ คือมันเล่าเรื่องได้ลึกและสนุก
“เหมือนตอนเรามีเพื่อนเนิร์ดๆ ที่ชอบเกมหรือไอที ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้อินกับมัน แต่เราชอบเวลามันอินเรื่องนี้จัง เวลาพูดถึงเรื่องพวกนี้ตามันจะเป็นประกาย” เธอเปรียบเทียบให้ฟัง
“หน้าที่ของแมกกาซีนที่เรารู้จักคือการอัปเดตเทรนด์ แต่วันหนึ่งมันทำหน้าที่นั้นไม่ได้แล้วเพราะอินเทอร์เน็ตทำได้เร็วกว่า เพราะฉะนั้นนิตยสารที่เราเลือกมาจึงเป็นเรื่องที่เรานึกไม่ออกว่าจะเสิร์ชอินเทอร์เน็ตว่าอะไร
“ยกตัวอย่าง หนังสือที่เล่าเรื่องอาหารว่าด้วย Sustainable Food ที่ไม่ได้เล่าแค่เรื่องออร์แกนิก แต่มีเรื่องความเหลื่อมล้ำของชาวไร่ว่าเขากินดีอยู่ดีหรือเปล่า หรืออย่าง MacGuffin นิตยสารจากอัมสเตอร์ดัมที่เล่มหนึ่งเล่าเรื่องโต๊ะ แต่เล่าเนิร์ดมากเพราะเล่าตั้งแต่เรื่องโต๊ะตัวแรกในโลก อนาโตมีโต๊ะ โต๊ะในหนัง โต๊ะของประธานาธิบดี โต๊ะในเกมโชว์ อะไรแบบนี้”
มากกว่านั้น เธอยังบอกว่าคนทำนิตยสารก็ต้องสนุกและคลั่งไคล้
“พอเราเจอหนังสือแบบนี้ เราก็จะไปดูว่าใครทำ ไปดูไลฟ์สไตล์ในไอจีของเขาว่าเป็นคนแบบไหน ได้เห็นความเจ๋งของหลายคนที่เราคาดไม่ถึง เช่น บางคนทำงานประจำเป็นช่างสัก บางคนเป็นนักเต้นที่ทำนิตยสารเกี่ยวกับ Performance Art เพราะเขาไม่เคยอ่านนิตยสารที่เล่าเรื่องในฟีลด์ของเขาได้สนุกเลย เราก็จะตื่นเต้นกับพี่เฟิมสองคนว่าเขาเท่จัง ความน่ารักอีกอย่างของแมกกาซีนอินดี้คือมันทำกันไม่กี่คนเอง มันยิ่งสร้างแรงบันดาลใจว่าใครก็ทำได้”
ปัจจุบันแมกกาซีนอิสระใน Rock Paper Scissors มีมากกว่า 10 หัว โดยนำเข้าจากหลายเมืองและประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย เช่น โคเปนเฮเกน แคนาดา ลอนดอน บาร์เซโลนา สเปน สิงคโปร์ ฯลฯ
“ครั้งหนึ่งเคยมีลูกค้าคนญี่ปุ่นเดินเข้ามาในร้านด้วยความตื่นเต้น เพราะเขาเพิ่งรู้ว่าโลกนี้มีชาติอื่นๆ ทำแมกกาซีนเยอะขนาดนี้ และที่ตกใจคือแมกกาซีนหนึ่งเล่มทำด้วยคนไม่กี่คน เพราะในภาพจำของเขา กองบรรณาธิการนิตยสารกองหนึ่งต้องทำห้าสิบคน ไม่มีทางทำสองคนแล้วเสร็จ” ย้วยหัวเราะ
Zine and Things
ย้วยบอกว่า ครั้งหนึ่งร้านสีสันสดใสที่สะท้อนตัวตนของเธอและคนรักร้านนี้เคยเป็นโรงเรียนกวดวิชามาก่อน อย่างตู้จัดเก็บนิตยสารที่เห็นก็เคยเป็นตู้เก็บชีตการเรียน ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ในร้านมาจากการจัดวางอย่างลองผิดลองถูกของทั้งสองคนเอง
“ความท้าทายในการรีโนเวตแทบไม่มี แต่ความท้าทายในการทำร้านคือคนไม่เข้าใจว่าเป็นร้านอะไร บางคนคิดว่าถ้ามีกาแฟขายก็คือร้านกาแฟ และถ้าเป็นร้านกาแฟแล้วร้านสวย นั่นคือคาเฟ่ มาถ่ายรูปกันเถอะ ซึ่งเราไม่ได้อยากให้เป็นอย่างนั้น ชาเลนจ์ของเราคือจะทำยังไงให้คนนึกถึงหนังสือมากกว่ากาแฟ”
แม้บาร์กาแฟจะถูกสร้างขึ้นเพื่อซัพพอร์ตรายได้ทางฝั่งนิตยสาร แต่เมนูของที่นี่ก็ไม่ได้เป็นเมนูในคาเฟ่อื่นๆ
“เราไม่ได้อยากเป็น Another Coffee Shop เพราะมีคาเฟ่เยอะอยู่แล้ว เราไม่มีช็อกโกแลตปั่นหรือเครื่องดื่มสนุกๆ แต่เน้นเสิร์ฟกาแฟ น้ำแอปเปิลอาโอโมริ มีขนมบ้างคือคาเนเล และเน้นขายไอเทมอื่นๆ ด้วย”
เธอเปรียบว่า ถ้าประเทศอื่นๆ มี Selected Shop เฉพาะสำหรับเครื่องเขียนหรือของแต่งบ้าน Rock Paper Scissors Store ก็เป็นช็อปคัดสรรสำหรับคนรักการอ่าน ซึ่งเต็มไปด้วยไอเทมที่จะทำให้ประสบการณ์การอ่านรื่นรมย์ขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟตั้งโต๊ะสุดน่ารักแบรนด์ Soden ที่เธอรักเป็นการส่วนตัวเพราะใช้อ่านหนังสือแล้วสบายตาสุดๆ แว่นกันแดดสำหรับการอ่านหนังสือนอกบ้านในวันที่แดดเปรี้ยง แก้วกาแฟพิเศษที่ Hands and Heart แบรนด์ที่เฟิมร่วมก่อตั้งจับมือกับ Aoon Pottery นำของเหลือจากกากกาแฟมาทำเป็นน้ำเคลือบ จิบแล้วได้เทกซ์เจอร์ที่ดี หรือถุงเท้าน่ารักๆ ที่ใส่แล้วอบอุ่นระหว่างอ่านนิตยสาร
“บางทีลูกค้าต่างชาติเข้ามาหาเราแล้วไม่อยากซื้อนิตยสาร เพราะแต่ละเล่มหนัก ซื้อไปแล้วเดินทางต่อลำบาก เขาก็จะเลือกซื้อสิ่งเหล่านี้แทนได้” หญิงสาวอธิบายข้อดี
Zine Community
“การเปิดร้านนี้มีความหมายกับเราในหลายแง่ แง่หนึ่งคือเติมเต็มความฝันที่อยากเปิดร้านแมกกาซีน มันเป็นพื้นที่ทดลองที่เราไม่รู้เหมือนกันว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน แต่เราอยากลองทำมันสักครั้ง เพราะมีช่วงหนึ่งที่เราไม่อยากอยู่ประเทศนี้แล้ว แต่รู้สึกว่าถ้าต้องทำอะไรในประเทศนี้ก็ขอทำธุรกิจนี้ให้เกิดขึ้นได้” ย้วยเล่าความสำคัญของ Rock Paper Scissors Store
“นอกจากการเป็นพื้นที่ความฝันและพิสูจน์ตัวเอง ที่นี่เป็นพื้นที่ที่จุดประกายความฝันของใครหลายคน ทำให้เราได้เจอเพื่อนที่ตื่นเต้นกับแมกกาซีนเหมือนกัน เหมือนได้เจอตัวเราอีกเวอร์ชันหนึ่ง
“จากวันหนึ่งที่เคยหมดศรัทธากับการทำงานสื่อ เราพบว่าแมกกาซีนเหล่านี้เป็นเหมือนดวงไฟเล็กๆ ที่บอกว่า เฮ้ย มันยังสนุกได้ พอยิ่งเอามาขายก็ยิ่งรู้สึกว่า คนที่เขาทำหนังสือเหล่านี้ยังมีอะไรให้เล่าได้ไม่สิ้นสุด แล้วพอเราขายได้ก็รู้สึกว่ายังมีคนอยากอ่านเรื่องเหล่านี้อยู่เต็มไปหมด”
Rock Paper Scissors Store
เวลาทำการ : เปิดทุกวัน ยกเว้นวันอังคาร เวลา 13.00 – 18.00 น.
พิกัด : 14 DH Grand Tower ซอยสุขุมวิท 39 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
แผนที่ : maps.app.goo.gl/g3YEuAUKEdUo5TYV6?g_st=ic
ช่องทางติดต่อ : rockpaperscissorsstore
3+1 เล่มที่ Rock Paper Scissors อยากแนะนำ
1) Apartamento
“นิตยสารเล่มนี้เติบโตในไทยสักพัก เป็นนิตยสารรายหกเดือนที่แต่ละเล่มไม่มีธีมกำหนด แต่คิวเรตคนในเล่มได้สนุกมากๆ เขาตั้งต้นด้วยคอนเซปต์ว่า Interior ที่ดีที่สุดของบ้านคือชีวิตคน เราชอบวิธีคิดของเขามากที่เขาไปเยี่ยมบ้านคนแบบไม่พิธีรีตอง บ้านที่อยู่ในเล่มก็ไม่ได้เข้าขนบบ้านสวยแต่เจ้าของบ้านอาจจะทำงานเจ๋งๆ บทสัมภาษณ์ในเล่มนี้ไม่ได้ชวนคุยอวดเฟอร์นิเจอร์แต่คุยเรื่องชีวิตมากกว่า เช่น เจอกับแฟนคนนี้ได้ยังไง เห็นไม่ได้ออกผลงานนาน ช่วงนี้ทำอะไรอยู่ เราว่ามันสนุกและแปลกดี”
2) Science of the Secondary
“นิตยสารเล่มแรกที่เรานำเข้ามาขาย คนทำอยู่สิงคโปร์ คอนเซปต์ของเขาคือ หนึ่งเล่มเล่าหนึ่งเรื่อง ซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลที่ถามว่าต้องรู้เหรอ เล่าทำไม ฉันต้องรู้ใช่ไหม แต่สนุกมาก เล่มที่โดนเส้นมากคือเล่มถุงเท้า ซึ่งเขาจะเล่าตั้งแต่ถุงเท้าที่เราใส่ว่ามีชื่อเรียกว่าอะไร เวลาใส่ถุงเท้าแล้วกล้ามเนื้อมัดไหนทำงาน มีกระดาษสองหน้าที่พิมพ์ภาพรอยถุงเท้าจากข้อเท้าได้เต็มหน้ากระดาษ ซึ่งจะมีแมกกาซีนที่ไหนพิมพ์แบบนี้ได้อีก”
3) Headlight Journal
“นิตยสารจากโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก หน้าตาเหมือนหนังสือแฟชั่นแต่จริงๆ เป็นหนังสือธุรกิจ เขาเล่าเรื่องแบรนด์ต่างๆ ได้แบบหาอ่านยากในนิตยสารเล่มอื่น เพราะคนเดนมาร์กไม่อวดตัวว่าภูมิใจกับแบรนด์ ไม่ชอบบอกว่า Sustain เพราะเขา Sustain อยู่แล้ว ถ้าไม่ Sustain ก็ขายไม่ได้ มันเลยดีงามไปหมด เราชอบอันนี้เพราะไม่ได้มีแค่เรื่องผู้ประกอบการ แต่ยังมีเรื่องทำงานที่ประสาทกิน ทำให้เราเห็นว่าแม้แต่ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกยังเจอความประสาทกิน (หัวเราะ)”
4) LOVEZINE เรื่องจริงหวังแต่ง
“หนังสือว่าด้วยความสัมพันธ์ที่เราเขียนกับพี่เฟิม เท้าความก่อนว่าหนังสือความสัมพันธ์ขายดีมากก่อนหน้านี้ แต่พอเราจะเขียนกับ SALMON. มันเลยไม่เหมือนที่อื่น คอนเซปต์ของเล่มนี้คือ เขียนเหตุการณ์เดียวกันกับแฟนแต่เป็นคนละมุม โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบฉากหนังบ้าง แมกกาซีนบ้าง สูตรอาหารบ้าง ให้อารมณ์เหมือนอ่านซีนเล่มหนึ่ง”