คุณคิดเห็นอย่างไรกับการทำการุณยฆาต
ในช่วงหลังๆ มานี้เรามักได้ยินคำว่า ‘การุณยฆาต’ กันบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘นโยบายตายดี’ ที่ทางพรรคก้าวไกลใช้ในการหาเสียงเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา หรือจากการเปิดตัวซีรีส์ ‘การุณยฆาต’ ที่ได้ ‘ต่อ ธนภพ’ และ ‘เจเจ กฤษณภูมิ’ มานำแสดง โดยจะมีกำหนดฉายในเร็วๆ นี้
Rights to die คือชื่อแคมเปญธีสิส ภายใต้โครงการ Senior Project ของ ‘โบ-ปณิตา พิชิตหฤทัย’ นิสิตภาควิชาวารสารสนเทศและสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อยากชวนทุกคนมาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการการุณยฆาต สิทธิในการเลือกตาย และการวางแผนการตายอย่างเป็นรูปธรรม บนแฮชแท็ก #เลือกเกิดไม่ได้เลือกตายได้ยัง ซึ่งเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่เธอพบเจอในชีวิตจริง
โบเล่าว่า ไอเดียของแคมเปญธีสิสที่อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกคนบนโลกออนไลน์ถึงประเด็นการการุณยฆาต เกิดขึ้นหลังจากแม่ของโบซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มีความต้องการทำการุณยฆาตในช่วงสุดท้ายของชีวิต ทำให้เธอพบกับรายละเอียดบางอย่างที่น่าสนใจและอยากพูดถึง
“แม่เราสนใจเรื่องการุณยฆาต เพราะเขามีเป้าหมายว่าเขาอยากจากไปในวันที่เขายังสามารถคุยกับลูกได้ แต่ด้วยอาการป่วยที่ไม่สามารถเดินทางไปทำการุณยฆาตที่ต่างประเทศได้ เราเลยมาลิสต์กันว่า แล้วถ้าอยู่ไทยเราจะทำอะไรได้บ้าง” โบเล่าถึงความสนใจของแม่ในวาระสุดท้าย
จากเหตุการณ์นี้ทำให้โบได้พูดคุยกับหมอ และพบว่าในประเทศไทยเองก็มีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 ที่เปิดให้บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข เพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ซึ่งก็พูดได้กลายๆ ว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยก็เปิดประตูหนึ่งบานสู่การการุณยฆาตไปแล้ว
แต่ในทางปฏิบัติโบกลับพบว่า แม้เราจะเซ็นใบปฏิเสธการรักษากับโรงพยาบาลหนึ่งเอาไว้ก่อนแล้ว แต่ถ้ามีเหตุให้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลอื่น แล้วญาติหรือลูกหลานไม่เอาใบนี้ตามไปด้วย มันก็จะเกิดการยื้อชีวิตขึ้นอยู่ดี
“เรารู้สึกว่าช่องว่างตรงนี้สำคัญมาก เพราะมันหมายความว่าสิทธิที่เราจะเลือกตายอาจไม่ได้แข็งแรงมากพอ มันเลยถึงเวลาที่ต้องมาพูดคุยกันให้จริงจังสักทีว่า สรุปแล้วสิทธิการตายควรจะเป็นสิ่งที่เราพูดได้ด้วยตัวเราเองหรือเปล่า” โบกล่าว
โดยในโปรเจกต์แคมเปญธีสิสนี้จะจัดทำขึ้นภายในช่องทาง Instagram และ X (Twitter) ภายใต้แฮชแท็ก #เลือกเกิดไม่ได้เลือกตายได้ยัง เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้คนเข้ามาร่วมกันสนทนาเกี่ยวกับเนื้อหาดังกล่าว
อีกทั้งตัวแพลตฟอร์มของ Rights to die เองยังมีการนำเสนอเนื้อหา Informative Post เพื่อให้ข้อมูลเรื่องการการุณยฆาต เรื่องราวการต่อสู้ประเด็นการุณยฆาตในไทย
ไปจนถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการการุณยฆาต รวมถึงการปล่อย Interview Video จาก ‘Sammon’ บุคลากรทางการแพทย์และนักเขียนนิยายเรื่องการุณยฆาต, ‘Aertha’ อดีตบุคลากรทางการแพทย์และอินฟลูเอนเซอร์ และ ‘เอกภพ สิทธิวรรณธนะ’ ตัวแทนนโยบายตายดี จากพรรคก้าวไกล
ใครสนใจประเด็นเรื่องการการุณยฆาต เข้าไปพูดคุยแสดงความคิดเห็นกันได้ที่ Instagram @rightstodie และ X (Twitter) @RTDcampaign หรือเว็บไซต์ rightstodie.com/