แกๆ เป็นอะไรอะ
อ๋อ เป็นสาววาย
ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คำว่า ‘สาววาย’ กลายเป็นคำตอบของทุกสิ่งที่ใช้อธิบายเหตุการณ์ใดก็ตามที่ดูไม่เมกเซนส์ให้ปิดจบได้ จนเกิดเป็นวลี ‘สาววายกู้โลก’ ที่ช่วยชุบชีวิตไทม์ไลน์สุดเคร่งเครียดให้มีสีสัน
แต่กว่าสาววายจะเชิดหน้าชูตา พูดเล่นติดตลกได้อย่างทุกวันนี้ ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการหลบๆ ซ่อนๆ ส่งซิกรหัสลับกับคนขายหนังสือเหมือนลักลอบส่งของผิดกฎหมาย ต้องฟันฝ่ากับคำว่าไม่ผ่านกองเซนเซอร์ ต้องเจอกับการตื่นรู้เพื่อข้ามผ่านจากสาววายสมองไหลมาเป็นสาววายคุณภาพ
นอกจากตัวแฟนคลับที่เติบโตขึ้น สื่อบันเทิงในรูปแบบวายหรือสื่อที่นำเสนอภาพชายรักชายและหญิงรักหญิงก็เดินทางมาไกลไม่ต่างกัน จนตอนนี้นับเป็นภาพจำของประเทศไทยที่หลายคนมองว่านี่แหละคือ ‘ซิกเนเจอร์ เลเยอร์คัสตอม ซอฟต์พาวเวอร์ ออนเดอะร็อก เฮลตี้’
คอลัมน์ Report ประจำ Pride Month เลยขอชวนมาสมองไหล ส่องการเดินทางของอุตสาหกรรมวายที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ไปจนถึงการถกเถียงเรื่องข้อดีข้อเสียของการมีอยู่ของมัน
เปิดไทม์ไลน์ สาววาย (พี่จะอยู่) ทุกยุค
‘สาววาย’ เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเสพสื่อประเภทชายรักชาย (Boys Love : BL) หรือหญิงรักหญิง (Girls Love : GL) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยถอดเอาตัวอักษรตัวแรกของคำว่า Yaoi (ยาโอย) ที่หมายถึง BL และ Yuri (ยูริ) ที่หมายถึง GL ออกมาเรียกแทนสั้นๆ
แต่สำหรับประเทศไทย หากพูดถึงคำว่า ‘วาย (Y)’ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงแค่สื่อประเภทชายรักชายมากกว่า เพราะคำว่า ‘คู่จิ้น’ ที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า ‘Imagine’ ในบริบทสังคมไทยเกิดขึ้นจากคู่ชาย-ชาย ทำให้เมื่อพูดถึงคำว่าวาย ภาพจำแรกที่ปรากฏจึงผูกอยู่กับคู่ชาย-ชายก่อน ไม่ต่างกับคำว่าสาววายที่ใช้เรียกแทนกลุ่มแฟนคลับที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงกันจนคุ้นชิน
แต่ถ้าถามว่าวัฒนธรรมคู่จิ้นและสาววายบนหน้าจอของประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นได้ยังไง เราขอแบ่งออกเป็น 5 ยุคประวัติศาสตร์ที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจภาพของวงการนี้มากขึ้น
ประวัติศาสตร์ความเป็นวายเริ่มต้นจากปี 2547 ในยุคที่การจิ้นเริ่มต้นด้วยการมองเห็นเคมีที่เกิดจากการแสดงบทบาทของตัวละครสมทบอย่างจอนและที ในละครโทรทัศน์เรื่อง รักแปดพันเก้า ทำให้ภูริและแฮ็คส์ กลายเป็นคู่จิ้นเพศเดียวกันคู่แรกๆ ที่แฟนคลับฟินถึงนอกจอ ส่งผลให้ละคร ซีรีส์ หรือซิตคอมเรื่องอื่นๆ ที่มีตัวละครสมทบเป็นคู่รักเพศเดียวกันได้รับความสนใจตามไปด้วย
ไม่ว่าจะเป็น โอ-ฟลุค ที่รับบท พี-ก้อง จากเรื่อง พรุ่งนี้ก็รักเธอ (ปี 2552) มาร์ช-ตั้ว จากบท ภู-ธีร์ และ เบลล์-ฝน จากบท ก้อย-ดาว ในซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น Season 2 (ปี 2557) หรือล่าสุดในละครชุด ดวงใจเทวพรหม ที่แค่ภาคภูมิและก้องภพสบตากัน ก็พาให้สาววายสมองไหลหยิบเอาฉากนั้นมาสร้างคอนเทนต์แชร์ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ
มากไปกว่านั้น เมื่อเคมีในจอไม่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงจิตใจ พัฒนาการของสาววายก็ขยายไปไกลขึ้น เริ่มมีการมองหาเคมีใหม่ๆ บนโลกความเป็นจริง จากเรียลลิตี้ประกวดร้องเพลงทั้งจากค่าย Academy Fantasia และ The Star จนมีคู่จิ้นทั้งชายและหญิงถือกำเนิดขึ้นจำนวนมาก แต่ถ้าให้เลือกคู่ดังที่ใครๆ ก็น่าจะเคยได้ยินคงหนีไม่พ้น นัท-ต้อล จาก AF4, โตโน่-ริท จาก The Star 6 และตำนานอย่าง เต๋า-คชา จาก AF8
อีกทั้งในปี 2550 เดียวกันนี้ ก็เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นยุคที่ภาพยนตร์เริ่มนำเสนอเรื่องราวความรักของคนเพศเดียวกันมากขึ้น โดยยังใช้นิยามว่า ‘หนังรัก’ ไม่ใช่ ‘หนังวาย’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รักแห่งสยาม จุดกำเนิด โต้ง-มิว หรือแม้กระทั่งเรื่อง เพื่อน…กูรักมึงว่ะ ในปีเดียวกัน ก่อนส่งไม้ต่อให้เรื่อง Yes or No อยากรัก ก็รักเลย ในปี 2553 ที่พาให้ติ๊นาและออมดังไกลถึงประเทศจีน อีกทั้งยังเกิดสื่อที่เรียกตัวเองว่าหนังเกย์ใต้ดิน ซึ่งนำเสนอเนื้อเรื่องที่ไปไกลกว่าความรักใสๆ เพื่อเจาะตลาดสาววายเฉพาะกลุ่ม
ก่อนที่ในปี 2557 จะให้กำเนิดยุคของซีรีส์วายบนดินอย่างเป็นทางการด้วย Love Sick The Series ซีรีส์วายเรื่องแรกบนฟรีทีวี ที่สร้างปรากฏการณ์ “ผมอยากมีโน่” ดันกระแสคู่จิ้น ไวท์-กัปตัน จนค่ายซีรีส์เล็กใหญ่กระโดดลงมาเล่นในสนามนี้ ตามมาด้วยซีรีส์วายชื่อคุ้นหูจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Make It Right The Series และ SOTUS The Series ในปี 2559 และ 2moons The Series ในปี 2560
แต่ถ้าให้เคาะว่ายุคไหนเฟื่องฟูสุด จากการสิงตัวในคอมมูฯ นี้มา เราขอยกให้ช่วงปี 2562 คาบเกี่ยวไปถึงปี 2563 นี่แหละที่ทำให้คนในสังคมไทยเริ่มคุ้นชินกับซีรีส์วายอย่างเป็นทางการ รวมไปถึงสามารถตกแฟนคลับสาววายจากนานาประเทศมาได้ ไม่ว่าจะเป็น มิว-กลัฟ จากเรื่อง TharnType The Series, ไบร์ท-วิน จากเรื่อง 2gether The Series ไปจนถึง บิวกิ้น-พีพี จากเรื่อง I Told Sunset About You ที่แม้จะแยกกันทำงานเดี่ยวแล้ว แต่กลุ่มสาววายก็ตามซัพพอร์ตเป็นแพ็กคู่เสมอมา
กราฟกระแสวายพุ่งขึ้นเรื่อยๆ มาถึงปี 2565 ที่มีนักแสดงวายหลายคู่ขึ้นทำเนียบคู่จิ้นแห่งปีโดยการโหวตของมหาชน ไม่ว่าจะเป็น ซี-นุนิว (กิเลน-เกื้อ) จาก Cutie Pie, มาย-อาโป (คินน์-พอร์ช) จาก KinnPorsche The Series La Forte, เจมีไนน์-โฟร์ท (ติณณ์-กันต์) จาก My School President และคู่หญิง-หญิงอย่าง ฟรีน-เบ็คกี้ (คุณสาม-ม่อน) จากเรื่อง GAP The Series ที่เป็นตัวจุดกระแสซีรีส์หญิงรักหญิงให้กลับมาโด่งดังอีกครั้ง
Y-Economic สาววายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
เมื่อความต้องการของตลาดมาก ใครก็อยากคว้าโอกาสไว้ ทำให้ในปี 2566 หลังจากกระแสซีรีส์วายดังเปรี้ยงปร้างไปในปีที่ผ่านมา ดันให้ค่ายใหญ่ค่ายเล็กหรือแม้กระทั่งโมเดลลิ่งที่อยากดันเด็กเริ่มลงทุนในซีรีส์วายมากขึ้น อ้างอิงจากสถิติการออนแอร์ซีรีส์วายจาก World of BL และ MyDramaList จำนวนกว่า 74 เรื่อง โดยแบ่งเป็นชาย-ชาย 56 เรื่อง และหญิง-หญิง 18 เรื่อง
และในปี 2567 ที่ผ่านมาเพียงครึ่งปี เราพบว่ามีซีรีส์วายออนแอร์ไปแล้วมากถึง 24 เรื่อง (นับถึงสิ้นเดือนมิถุนายน) แบ่งเป็นชาย-ชาย 24 เรื่อง และหญิง-หญิง 3 เรื่อง ซึ่งภายในงานเสวนา Bangkok Pride Forum 2024 ‘ภัณฑิล จงจิตรตระกูล’ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์คาดการว่า เมื่อจบปีจะมีซีรีส์วายออนแอร์มากกว่า 100 เรื่องเลยทีเดียว
มากไปกว่าโอกาสและความหลากหลายในวงการบันเทิงแล้ว เวลา 20 ปีที่ผ่านการเดินทางของอุตสาหกรรมบันเทิงวายในประเทศไทยค่อนข้างเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคนในสังคมว่า สามารถสร้างเม็ดเงินและชื่อเสียงให้อุตสาหกรรมบันเทิงได้แบบถล่มทลาย
เพราะหากเทียบกันด้วยตัวเลขแล้ว จากมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งหมด 10,000 ล้านบาท มูลค่าตลาดรวมของสื่อประเภทวายสามารถทำเงินได้ถึง 1,000 ล้านบาท ในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 2,000 ล้านบาทภายในปีนี้
และในจำนวนเม็ดเงินมหาศาลนี้เป็นเพียงตัวเลขที่พูดถึงมูลค่าทางตรง ยังไม่รวมเม็ดเงินในทางอ้อมที่เหล่าสาววายได้ทำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการต่อยอดออกมาจากซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต แฟนมีต การซื้อสินค้าในรูปแบบท็อปสเปนเดอร์ หรือแม้แต่เม็ดเงินจากสาววายอินเตอร์แฟนที่เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อตามรอยซีรีส์ หรือคู่จิ้นที่พวกเขาชื่นชอบ โดยจากการสำรวจพบว่า อินเตอร์แฟนหนึ่งคนใช้จ่ายในประเทศไทยเฉลี่ย 50,000 บาทกันเลยทีเดียว
จากจุดนี้เองที่ทำให้รัฐบาลเห็นว่า อุตสาหกรรมวายมีศักยภาพพอจะยกระดับสู่สายตาทั่วโลกไปพร้อมๆ กับการผลักดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ อื่นๆ ของประเทศไทย จึงเกิดเป็นการลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงความร่วมมือ Memorandum of Intent (MOI) ร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับบริษัท Be On Cloud และบริษัท Idol Factory เพื่อส่งเสริมสินค้าไทยในซีรีส์วาย หวังดึงกลุ่มแฟนคลับให้หันมาสนใจสินค้าท้องถิ่นไทยมากขึ้น
อีกทั้งปีนี้ยังเป็นปีแรกที่รัฐบาลมีงบประมาณสำหรับสนับสนุนการถ่ายทำซีรีส์วายโดยเฉพาะ และมองหากลยุทธ์ใหม่ๆ ในการส่งออกซีรีส์วายสู่สายตาชาวโลกมากขึ้น เพื่อส่งเสริมเรื่องความหลากหลายผ่านความบันเทิงไปพร้อมๆ กับการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม
สื่อบันเทิงวาย มีดีมีร้ายปะปนกันไป
จากความเฟมัสและเม็ดเงินที่สะพัดเป็นพันล้าน ซีรีส์วายดูเป็นอุตสาหกรรมที่จะมากู้โลกจริงๆ สมดั่งที่สาววายชอบพูดเล่นกัน ทว่าหนึ่งสิ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันมาถึงทุกวันนี้คือ เป็นเรื่องดีจริงใช่ไหมที่สัดส่วนวงการซีรีส์วายเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน
เพราะแม้การเพิ่มขึ้นของซีรีส์วายจะหมายถึงจำนวนเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นยังทำให้เนื้อหาของสื่อมีความหลากหลาย กล้าเล่นในท่าทีต่างๆ และโปรดักชันเป๊ะปังอลังการกว่าเดิม
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้คำว่า ‘วาย’ อีกนัยหนึ่งก็เป็นการจำกัดกรอบของสื่อประเภทนี้เช่นเดียวกัน วงการวายกลายเป็นวงการที่ ‘คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า’ กล่าวคือ หากนักแสดงซีรีส์วายต้องการข้ามไปเล่นซีรีส์ชายหญิง หรือมีคู่จิ้นคนใหม่ก็มักไม่ได้รับการตอบรับมากเท่าเดิม หนักกว่าหน่อยก็โดนดูถูกความสามารถด้านการแสดง เพราะผู้คนมีภาพจำว่านักแสดงซีรีส์วายแค่หน้าตาดีก็เล่นได้แล้ว
ในขณะที่คนอีกกลุ่มมองว่า สนามนี้เป็นความท้าทาย หากเป็นนักแสดงมาก่อนแล้วก้าวเข้ามาแสดงซีรีส์วายจะถูกมองในเชิงชื่นชม อีกทั้งเอาเข้าจริงก็มีอยู่หลายครั้งที่นักแสดงที่อยู่ในวงการมานานดังเปรี้ยงปร้างระดับอินเตอร์ในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงเพราะแสดงซีรีส์ประเภทนี้ นี่จึงเป็นความอิหลักอิเหลื่อที่อาจส่งผลต่อระบบนิเวศบันเทิงไทยในระยะยาว
นอกจากนี้ คงต้องยอมรับกันตามตรงว่า การมีอยู่ของซีรีส์วายคือการหากินกับอัตลักษณ์ทางเพศของชาว LGBTQIAN+ และหลายครั้งมักกลายเป็น ‘Queerbaiting’ ที่หมายถึงการนำเรื่องราวของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมาใช้เป็นจุดขาย เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจ เรียกกระแสความนิยมและแรงสนับสนุนจากกลุ่มแฟนคลับ โดยขาดการตระหนักรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง
อีกทั้งสาววายที่เสพสื่อเหล่านี้หลายครั้งไม่ได้มีความเข้าใจในเพศที่หลากหลายอย่างแท้จริง บางครั้งเลยเถิดไปสู่การ ‘เฟติช’ (Fetish) เกย์โดยไม่รู้ตัว รวมไปถึงการแปะป้ายเรื่องรสนิยมทางเพศให้คนอื่น และจิ้นจนเกินขอบเขตกับความสัมพันธ์ของคนมีชื่อเสียงที่เป็นเพศเดียวกัน นำมาซึ่งภาวะอึดอัดในการร่วมงานหรือการคบหาของพวกเขา
หากต้องการให้วงการนี้ดำรงอยู่ต่อไปโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งภาครัฐ ผู้จัดซีรีส์ นักแสดง และกลุ่มแฟนคลับที่เรียกตัวเองว่าสาววาย ควรร่วมกันทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และผลักดันวงการนี้อย่างมีความตระหนักรู้ เพราะอย่าลืมว่าความบันเทิงวายๆ ที่เราฟินกันอยู่ ยังมีคนเพศหลากหลายในชีวิตจริงอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบและเจ็บปวดแค่เพียงเพราะเขาเป็นตัวของตัวเอง
Sources :
Bangkok Pride | bangkokpride.org
MyDramaList | t.ly/porrY
Short Recap | shortrecap.co/culture/y-history
The Standard | t.ly/erg-B
Urban Creature | omegaverse-problematic-world, series-y-softpower-or-ruin-entertainment
World of BL | world-of-bl.com
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ | t.ly/hbeF0
กระทรวงพาณิชย์ | t.ly/F31-3
กรุงเทพธุรกิจ | t.ly/oxJaF
งานเสวนา Forum : ‘ซีรีส์วาย ยูริ และกระทรวงพาณิชย์ : การเชื่อมโยงวัฒนธรรมและการค้า’ ในงาน Bangkok Pride Forum 2024