มหาลัยไม่ใช่ตัวกำหนดชีวิตของ 3 ไอดอลคนรุ่นใหม่ - Urban Creature

“เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย” เพราะวัยรุ่นคือช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวเอง และยังต้องเจอวาระแห่งชาติอย่างการสอบเข้ามหาลัย บางคนสับสน บางคนผิดหวัง และไม่ใช่ทุกคนจะเจอเส้นทางชีวิตตั้งแต่อายุ 18 แต่แท้จริงแล้วชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่นั้น เราจึงลองสำรวจความคิดของไอดอลรุ่นใหม่ไฟแรง ที่เรียนจบมาไม่ตรงสายแต่ประสบความสำเร็จได้ และเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆคน

คิดแบบวิศวะในบทบาทพิธีกร ‘เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์’

ผลแอดมิดชั่นในสารคดีเรียลลิตี้ Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ พิสูจน์ความมุ่งมั่นของเปอร์ สุวิกรม ที่สามารถเอ็นท์ติดคณะวิศวะโยธาได้สำเร็จ ทั้งยังแจ้งเกิดในวงการบันเทิงที่แม้จะตรงข้ามกับสิ่งที่เรียน แต่ในวันนี้เขาก็มั่นคงในเส้นทางพิธีกร พร้อมกับความท้าทายใหม่นั่นก็คือการเป็นเจ้าของบริษัท

เราไม่มีทางรู้จนกว่าจะได้ลองทำ

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” คำถามยอดฮิตที่ยากจะตอบ เช่นเดียวกับเปอร์ สุวิกรม ที่ตอนเป็นเด็กม.ปลายเขาเองก็คงคิดหนัก เพราะพอได้เข้ามาคลุกคลีในกองถ่าย Final Score ก็รู้สึกชอบคณะนิเทศฯ ส่วนบริหารก็เป็นอีกคณะที่สนใจเพราะฝันอยากมีบริษัทเป็นของตัวเอง แต่การได้เห็นคุณพ่อทำงานวิศวกรมาตั้งแต่เด็ก มีระบบความคิดและการวางแผนอย่างรอบคอบ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เปอร์แอดฯเข้าคณะวิศวกรรมโยธา อินเตอร์ พระจอมเกล้าฯธนบุรี ส่วนงานในวงการบันเทิงก็รุมเข้ามาหลังจากหนังเรื่องแรก ไม่ว่าจะเป็นดีเจคลื่น Fat Radio หรืองานพิธีกรที่เขาเองก็ไม่เคยคิดฝัน แต่พอได้ทำก็พบว่านี่แหละตัวตน โดยเฉพาะบทบาทพิธีกรที่มีเสียงชื่นชมหนาหูในทุกผลงานที่ผ่านมาตั้งแต่ อุตลุดจุดฝัน, หนึ่งวันเดียวกัน, เจาะใจ และ The Idol จนมาถึงรายการที่เขาปลุกปั้นด้วยตัวเอง Perspective

อย่ากลัวที่จะถาม

แม้พิธีกรจะไม่ต้องข้องเกี่ยวกับฟิสิกส์ตัวเลข แต่การเรียนวิศวะก็สอนให้เปอร์มีความคิดเป็นระบบ เวลาสัมภาษณ์คนเก่งๆที่ประสบความสำเร็จก็จำเป็นต้องมีกระบวนความคิดในการสื่อสารที่ดี เปอร์ชอบตั้งคำถามไม่เฉพาะในงานเท่านั้น แต่ยังกล้าเข้าหาคนที่มีความรู้ความสามารถเพื่อสนองความอยากรู้ของตัวเอง อาศัยครูพักลักจำและเรียนรู้ประสบการณ์จากคนอื่น แล้วนำมาเล่าสู่กันฟังโดยไม่ตัดสินว่าใครดีหรือไม่ดี นี่เองคือจุดเริ่มต้นของรายการ Perspective ที่สร้างแรงบันดาลใจดีๆให้กับคนดู

โอกาสไม่ได้วิ่งมาหาเราเสมอ

เมื่อเปอร์มีประสบการณ์มากพอจึงหันมาทำบริษัทผลิตรายการของตัวเองในชื่อ Black Dot การเดินทางครั้งนี้เป็นเหมือนการเรียนรู้ใหม่จึงค่อนข้างยาก แต่เปอร์ก็ทุ่มเทเต็มที่เพราะถือคติว่าถ้าอยากเปลี่ยนแปลงก็ต้องให้ใจกับมัน สิ่งที่น่าลอกเลียนแบบของเปอร์คือการทำอะไรทำจริง ในวันที่เขาสับสนว่าจะเลือกทางไหน เขากลับไปถามตัวเองว่ามีทักษะมากพอที่จะได้รับโอกาสนั้นแล้วหรือยัง อีกสิ่งหนึ่งคือไม่ยอมแพ้และพิสูจน์จนกว่าจะเชื่อว่าทำได้หรือไม่

จากเด็กอักษรฯมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับ ‘เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์’

นักเขียน นักเขียนบท คนทำหนัง เจ้าของรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก ฟรีแลนซ์…ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ด้วยรายได้เฉียดร้อยล้าน หลายคนรู้จักเต๋อ นวพลในบทบาทเหล่านี้ แต่รู้หรือไม่ว่าเขาไม่ได้จบนิเทศฯ แต่เป็นเด็กอักษรฯที่กล้าคิดกล้าลงมือทำจนก้าวมาเป็นผู้กำกับแถวหน้าของเมืองไทย

ไม่ได้ไปต่อ…ไม่ได้แปลว่าต้องหยุดฝัน

ย้อนไปสมัยเอ็นทรานซ์ เต๋อ นวพล คงเหมือนเด็กทั่วไปที่โดนขู่ว่าเรียนนิเทศฯตกงาน หรือกว่าจะได้กำกับต้องไปเป็นผู้ช่วยตั้ง 10 ปี เขาจึงตัดสินใจเรียนคณะอักษรฯที่มีความชอบเหมือนกัน และมั่นใจว่าจบมามีงานทำแน่ๆ สุดท้ายก็เอ็นท์ติดอักษรฯจุฬา แต่ในระหว่างเรียนก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องหนังที่สนใจมาตั้งแต่เด็ก มีวิชาของคณะนิเทศฯว่างปุ๊บก็ไปลงเรียน เต๋อเริ่มทำหนังสั้นตอนปี 2 หลังจากนั้นก็ฝึกงานกับค่ายหนัง GTH พอเรียนจบก็ออกหนังสือและเขียนคอลัมน์ เมื่อปีกกล้าขาแข็งจึงมีโอกาสได้เขียนบทหนังเรื่อง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ, Top Secret วัยรุ่นพันล้าน และ รัก 7 ปี ดี 7 หน  ที่กลายเป็นหนังทำเงิน กระทั่งโดดขึ้นแท่นมากำกับหนังอินดี้ พาหนังฟอร์มเล็กอย่าง 36 ไปคว้ารางวัลไกลถึงเมืองปูซาน ตามด้วยหนังขวัญใจเด็กแนว Mary is happy, Mary is happy ที่ฉายวันแรกก็คนล้นโรงหนังนอกกระแส House RCA มาแล้ว

ความรู้ไม่มีคำว่าไร้ค่าถ้ารู้จักประยุกต์

หลายคนคงนึกไม่ออกว่าจบเอกจีนจะเอาอะไรมาสู้กับเด็กฟิล์ม แต่ด้วยจิตวิญญาณเด็กอักษรฯ สิ่งที่เต๋อ นวพลให้ความสำคัญที่สุดคือ ‘คอนเทนต์’ การเรียนอักษรศาสตร์นอกจากความรู้เรื่องภาษา ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และปรัชญา ยังเป็นแนวคิดที่เขานำมาใช้กับการทำหนัง การเขียนบทที่ดีต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของการกระทำ หรือความรู้สึกนึกคิดที่ล้วนมีไม่เหมือนกัน ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมตัวละครในหนังของเขาจึงมีเสน่ห์และเข้าถึงได้ง่าย จนบางทีก็แอบเผลอไปสนิทสนมด้วยซ้ำ

ไอเดียหาได้รอบตัวอยู่ที่เรามอง

ไม่ง่ายเลยที่ใครจะสามารถทำหนังให้แปลกใหม่อยู่เสมอ การเปิดหูเปิดตาและสังเกตสิ่งต่างๆรอบตัวจึงเป็นการพัฒนาสกิลอย่างหนึ่ง เต๋อ นวพลเชื่อว่าฉากที่น่าประทับใจในหนังส่วนใหญ่ล้วนมาจากชีวิตจริง และเรื่องจริงก็มักโดนใจคนดู หนังทุกเรื่องของเขาจึงมีตัวละครที่สามัญธรรมดาหรือมีเนื้อหาพูดถึงประเด็นใกล้ตัว ความเก่งกาจคือเขาสามารถหยิบมุมมองที่น่าสนใจและนำเสนอออกมาได้แบบไม่ซ้ำใครนั่นเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่ผลงานใหม่ของเต๋อออกมาเราจะตื่นเต้นทุกครั้ง ล่าสุดแค่เห็นโปสเตอร์หนังลำดับที่ 5 เรื่อง Die Tomorrow ซึ่งเตรียมเข้าฉายปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ เราก็ลุ้นตาแตกแล้วว่าคราวนี้เขาจะมาไม้ไหน!

วิชาเศรษฐศาสตร์สู่คนทำสารคดี ‘สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’

พิธีกร นักเขียน และนักสารคดีที่มีความบ้าบิ่นอยู่ระดับใกล้เคียงนักข่าวสงคราม วรรณสิงห์เดินทางมากว่า 60 ประเทศทั่วโลก นำมาสู่สารคดีท่องเที่ยวที่ได้ชื่อว่า ‘เถื่อน’ ที่สุด และหนักแน่นด้วยอุดมการณ์ที่อยากจะเข้าใจโลก ผ่านแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่เขาตั้งใจศึกษาเพื่อพัฒนาสังคม

ผลของความพยายามคือเครื่องพิสูจน์

‘ประเสริฐกุล’ คือนามสกุลที่พ่วงท้ายนักเคลื่อนไหวผู้มีชื่อเสียงของประเทศ ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ การมีพ่อเป็นนักวิชาการรัฐศาสตร์และแกนนำ 14 ตุลาฯ และแม่เป็นนักเขียนรางวัลซีไรท์ วรรณสิงห์ต้องการพิสูจน์ความสำเร็จในเส้นทางของตัวเอง จึงเลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ อินเตอร์ ม.ธรรมศาสตร์ ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาประเทศนี้ พอเรียนจบก็มาทำงานพัฒนาสังคมกับองค์กร Change Fusion แต่เมื่อเข้ามาทำงานก็รู้ตัวเองว่าไม่ใช่สิ่งที่ถนัด หลังจากนั้นมีโอกาสได้เป็นพิธีกรสารคดี พื้นที่ชีวิต รายการที่เดินทางทั่วโลกเพื่อสำรวจเรื่องศาสนาและปรัชญา จึงได้พบว่าอยากเป็นพิธีกรรายการท่องเที่ยวที่ให้ประโยชน์กับสังคมด้วย นอกจากนี้วรรณสิงห์ยังเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ เถื่อนเจ็ด รวมถึงรายการใหม่ที่เขาลงมือทำเองทุกขั้นตอน เถื่อน Travel ที่เดินทางไปยังสถานที่โหดๆอย่าง อัฟกานิสถาน แอฟริกา และเกาหลีเหนือ เพื่อค้นหาคำตอบที่ทุกคนคาใจและเข้าใจสถานการณ์ของประเทศนั้นอย่างแท้จริง

เข้าใจลึกซึ้งจึงวิเคราะห์

คณะเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ศึกษาเฉพาะเรื่องเงิน แต่คือความต้องการทางวัตถุของมนุษย์ที่ทุกคนมีร่วมกัน เป็นส่วนหนึ่งที่วรรณสิงห์ใช้ในการทำงานพิธีกรและเขียนสคริปท์ การเป็นนักเขียนหรือคนทำสื่อมีหน้าที่ต้องอธิบายให้คนดูเห็นภาพว่า ประเทศนั้นมีที่มาในอดีตอย่างไร มีอารยธรรมแบบไหน นับถือศาสนาอะไร ระบบเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งยังมีองค์ประกอบอื่นอีกมาก รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนาและปรัชญา จึงเป็นความรู้อีกส่วนที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม

ออกเดินทางเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่

การท่องเที่ยวเปิดโลกทัศน์ของวรรณสิงห์ ประสบการณ์ที่เขาพบเจอทำให้เข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น จากคนที่อีโก้สูงเปลี่ยนมายอมรับในความแตกต่าง วันหนึ่งคนเราเมื่อถึงจุดอิ่มตัวก็คงอยากจะลงหลักปักฐาน สร้างบ้าน มีครอบครัว แต่ดูๆแล้ววรรณสิงห์น่าจะไม่เลิกเดินทางง่ายๆ เพราะเขาเพิ่งจะออกพ็อคเก็ทบุ๊คเล่มใหม่ เถื่อนแปด หนังสือภาคต่อของเถื่อนเจ็ด ที่ยังคงคอนเซปท์ “คนดีๆที่ไหนเค้าไปกัน” การันตีการผจญภัยอันบ้าคลั่ง ที่แฝงแก่นสารสำคัญของชีวิตไว้อย่างเข้มข้นเช่นเคย

โลกนี้ยังมีอาชีพอีกมากมายที่ความรู้เฉพาะทางอาจไม่สำคัญเท่าประสบการณ์ การปรับตัวให้เท่าทันโลก และการฝึกฝนตนเองให้เก่งรอบด้าน ดังนั้นอย่ายึดติดกับใบปริญญาหรือเกรดจบที่สวยหรู เพราะมันไม่สามารถการันตีได้ว่าเราจะได้งานที่ตรงใจ ข้ามขีดจำกัดตัวเองเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ออกจากคอมฟอร์ทโซนไปสำรวจโลกภายนอกดูบ้าง ในวันที่คุณหมดไฟหรือรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มันไม่ใช่ คุณอาจจะได้เจอตัวตนที่แท้และแพซชั่นที่ทำให้มีความสุขในการทำงาน และเป็นความตื่นเต้นใหม่ในชีวิตเลยก็ได้

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.