อสังหาฯ กรุงเทพฯ ชาติไหนครองมากที่สุดในปฐพี? - Urban Creature

ใกล้จะถึงเดือนกันยายน ที่รัฐบาลเคาะผลบังคับใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ด้วยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีกำลังทรัพย์ (คนที่นำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และลงทุนในธุรกิจไม่ น้อยกว่า 3 ปี) หรือคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้กับบ้านเรา พร้อมทั้งมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนชาวต่างชาติในไทยเป็น 1 ล้านคน คาดว่าจะสามารถเก็บภาษีมากกว่าเดิมประมาณ 2.7 แสนล้านบาท

ปัจจุบันตัวเลขมูลค่าการถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดชาวต่างชาติปี 2564 ในกรุงเทพฯ มากที่สุดต้องยกให้ ‘ประเทศจีน’ มีมูลค่า 19,588 ล้านบาท และจำนวนห้องชุดทั้งหมด 3,526 หน่วย เรียกได้ว่าทั้งมูลค่าการถือครองเป็นเจ้าของและจำนวนห้องมากกว่าประเทศอื่นๆ หลายเท่าตัว

เมื่อเทียบกับอันดับที่ 2 อย่าง ‘ประเทศวานูอาตู’ มีมูลค่า 1,111 ล้านบาท มีจำนวนห้องชุดทั้งหมด 58 หน่วย และอันดับที่ 3 คือ ‘ประเทศสิงคโปร์’ มีมูลค่า 786 ล้านบาท มีจำนวนห้องชุดทั้งหมด 117 หน่วย ยิ่งไปกว่านั้น ทิศทางตลาดอสังหาฯ ในไทยทุกวันนี้ยังเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะชาติยุโรปมีสัดส่วนถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และประเทศจีนที่มีกำลังซื้อมากอย่างสม่ำเสมอ

อสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ

สิทธิพิเศษจูงใจ อยู่ได้นาน 90 ปี

การปรับเปลี่ยนมาตรการจูงใจชาวต่างชาติที่น่าสนใจ เช่น คนถือวีซ่าพำนักอาศัยระยะยาวอยู่เกิน 90 วันไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบอีกต่อไป หรือการยกเลิกขอใบอนุญาตทำงานของกระทรวงแรงงาน แต่ก่อนชาวต่างชาติต้องจ้างคนไทย 4 คน ภายหลังก็จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ รวมถึงด้านที่อยู่อาศัย การแก้ไขกฎหมายการถือครองที่ดิน โดยขยายเพดานการซื้อห้องชุดได้เกินกำหนด ทำให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของอสังหาฯ เพิ่มมากกว่าเคย ซึ่งในประเด็นที่อยู่อาศัยเกิดข้อถกเถียงในสังคมมากมาย

เนื่องจากคอนโดฯ 1 อาคาร ชาวต่างชาติสามารถซื้อห้องในคอนโดฯ ไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด เพราะป้องกันการกว้านซื้อเป็นเจ้าของได้อย่างอิสระ ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวมีแนวคิดจะเพิ่มเพดานถึง 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ และอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านจัดสรรราคา 10 – 15 ล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งแก้กฎหมายสัญญาเช่าจาก 30 ปี เป็น 50 ปี และต่อเพิ่มได้อีก 40 ปี รวมทั้งหมดสามารถอยู่ได้นาน 90 ปีเลยทีเดียว

ดีต่อเศรษฐกิจ มีผลต่อลูกค้าไทย

มาตรการดังกล่าวเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมหลากหลายมุมมอง แง่ดีคือ กระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้ตลาดอสังหาฯ ฟื้นตัวและกลับมาคึกคักหลังจากกำลังซื้อคนไทยเริ่มน้อยลง ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยต่างๆ ก็ได้รับผลพลอยได้ตามไปด้วย เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือการออกแบบตกแต่งภายใน

ในมุมกลับกัน หากให้อิสระกับชาวต่างชาติมากเกินไป อาจจะเกิดกรณีชาวต่างชาติฮุบซื้อที่อยู่อาศัยทั้งหมดมาเป็นของตนเองและปล่อยเช่าให้กับคนไทยแทน รวมถึงราคาที่อยู่อาศัยอาจพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทอสังหาฯ เน้นขายให้กับชาวต่างชาติมากกว่าคนไทย ซึ่งทำให้คนในประเทศเข้าไม่ถึงการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย บางความคิดเห็นมองว่าเป็นการขายชาติทางอ้อมหรือไม่

ปรับนโยบายคิดถึงทุกฝ่าย

ความเป็นจริงในหลายประเทศก็มีการอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านเป็นเจ้าของได้เช่นเดียวกัน แต่มีเงื่อนไขที่น่าศึกษา เช่น ประเทศออสเตรเลียตั้งกฎว่า ต้องซื้อเพื่ออยู่อาศัย ห้ามขายต่อและขายให้คนในท้องถิ่นเท่านั้น หรือประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีคนต่างชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ต้องเสียภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ค่าส่วนกลาง ค่าบริหารทรัพย์สินหรือภาษีมรดกในอัตราที่ค่อนข้างสูงมาก

สำหรับไทย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เสนอแนะว่า การโอนสัดส่วนกรรมสิทธิ์มากกว่า 49 เปอร์เซ็นต์ควรกำหนดแค่เฉพาะพื้นที่ และส่งเสริมการซื้อที่คอนโดฯ ในระดับราคามากกว่า 5 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวต่างชาติซื้อห้องชุดในราคาต่ำกว่าห้าล้านบาท เนื่องด้วยเป็นระดับราคาส่วนใหญ่ที่คนไทยนิยมซื้อ รวมถึงราคาบ้านและที่ดินควรตั้งอยู่ในระดับเกิน 15 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเรื่องราคาบ้านปรับตัวสูงจนเกินไป

ทั้งนี้ ประเด็นการแก้ไขมาตรการอสังหาฯ สามารถมองได้หลายมิติ ตั้งแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจภาพใหญ่ไปจนถึงช่วยเหลือธุรกิจรายย่อม  ในขณะเดียวกันการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติและคนไทยจะเกิดความเหลื่อมล้ำคุณภาพชีวิตมากน้อยแค่ไหนในอนาคต

อย่างกรณีศึกษาฮ่องกงเกิดวิกฤตการณ์ที่อยู่อาศัยราคาแพงจนคนในประเทศซื้อไม่ไหว แถมนักลงทุนยังกว้านซื้อที่ดินจนหมดตลาด เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับบ้านเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงขึ้นอยู่กับการออกนโยบาย รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่สร้างความสมดุลและคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม

Sources :
BBC News | citly.me/5zkDI
MGR Online | shorturl.asia/F18wW
NNT | citly.me/jwnIH
Workpoint Today | citly.me/bINxU
กรุงเทพธุรกิจ | citly.me/pjLAc
แนวหน้า | shorturl.asia/DmQW3

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.