หากพูดถึงย่านเก่าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ชื่อ ‘เจริญกรุง’ คงเป็นหนึ่งในลิสต์อันดับต้นๆ ที่นึกถึง แต่สำหรับย่านนี้ไม่ได้ขลังเพียงเพราะอยู่มานาน หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าย่านนี้เป็นแหล่งรวมร้านค้าเก่าแก่และช่างฝีมือฉมังที่ตอนนี้เหลือน้อยลงไปทุกที
ครั้งนี้คอลัมน์ Re-Desire จึงขอชวนไปพูดคุยกับตัวแทนทีมผู้ดูแลโปรเจกต์ ‘Made in Charoenkrung’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว กับคอนเซปต์ที่พาเหล่าดีไซเนอร์มาเติมพลังและไอเดียให้ร้านค้าเก่าแก่ในย่านเจริญกรุง กลับมามีชีวิตชีวาพร้อมด้วยโปรดักต์โฉมใหม่ที่เข้าถึงคนได้มากขึ้น แถมยังเป็นตัวช่วยรักษาของดีในย่านไม่ให้หายไปตามกาลเวลา
ทักทายเพื่อนบ้านย่าน ‘เจริญกรุง’
หลังจากได้ยินชื่อเสียงของโปรเจกต์ Made in Charoenkrung มาสักพัก แต่ก็ยังไม่เคยทำความรู้จักกันลึกๆ สักที ครั้งนี้เราจึงถือโอกาสบุกไปหาถึงย่านเจริญกรุง เพื่อพูดคุยกับทีมงานถึงแนวคิดกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างไปจนถึงการทำให้คนในย่านเปิดใจยอมรับ
“ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นคงต้องเท้าความกลับไปนิดหนึ่งว่า CEA เราทำงานเรื่องการส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในมุมของการพัฒนาเศรษฐกิจช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ ทำให้คนกินดีอยู่ดี แล้วในช่วงนั้นเราย้ายสำนักงานมาที่เจริญกรุงพอดี เราก็มองว่าย่านนี้มีศักยภาพที่น่าสนใจเลยนะ ทั้งร้านค้าเก่าแก่ซึ่งแต่ละร้านก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
“แต่ที่มากไปกว่าการเห็นศักยภาพแล้ว เราอยากให้ของดีในย่านถูกมองเห็นและพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เลยเกิดเป็นโปรเจกต์พัฒนาย่านสร้างสรรค์ หรือ Made in Charoenkrung ขึ้นมา ซึ่งถ้าเราเอาคำว่าความคิดสร้างสรรค์ไปโยนให้ชุมชนก็คงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ เลยต้องสร้างความเข้าใจแบบค่อยเป็นค่อยไปก่อน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือคนในย่าน หรือการทำธุรกิจดั้งเดิมมาเป็นร้อยกว่าปี สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เจริญกรุงเป็นแบบนี้ เราว่าต้องสร้างสมดุลให้การพัฒนาครั้งนี้ไม่เปลี่ยนเจริญกรุงให้กลายเป็นที่อื่นที่เราไม่รู้จัก
“เราเองก็ไม่เคยรู้จักเจริญกรุงมาก่อนจนสำนักงานย้ายมาที่นี่ เรารู้สึกว่าที่นี่มีไอเทมลับเยอะมากกก ยิ่งหาก็ยิ่งเจอแถมยังมีแค่ที่นี่ที่เดียวด้วย หลายๆ ร้านเราพบเจอด้วยความบังเอิญระหว่างเดินไปทานข้าวกลางวันตามซอยต่างๆ ซึ่งถ้าไม่ได้มาเดินเจอด้วยตัวเองก็คงไม่มีทางรู้ว่ามีของดีอยู่ตรงนี้ เราเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะซัปพอร์ตเขา หลายคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในกรุงเทพฯ จะมีร้านค้าเก่าแก่และช่างฝีมือหรือคนที่ทำแฮนด์เมดเก่งๆ อยู่ในย่านเจริญกรุงเยอะขนาดนี้ ขนาดตัวเราก็เซอร์ไพรส์เหมือนกัน (หัวเราะ)
“พอเห็นถึงศักยภาพเหล่านี้แล้ว Made in Charoenkrung ก็อยากให้รู้ว่าความคิดสร้างสรรค์ช่วยให้เขาปรับตัว และทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้มากกว่าที่คิดนะ แล้วก็อยากให้เข้าใจว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่ผลงานศิลปะที่วางตั้งไว้เฉยๆ แต่ยังมีประโยชน์และเข้ามาอยู่ในชีวิตจริงๆ ของเขาได้เลย ที่สำคัญคือไม่ได้ไกลตัวจนเข้าไม่ถึง”
หลายครั้งที่ดีไซเนอร์ออกแบบผลงาน แล้วถูกเข้าใจผิดว่าทำมาแล้วไม่มีประโยชน์ คล้ายๆ กับสำนวนที่เขาชอบพูดกันว่า สวยแต่รูปแต่จูบไม่หอมอะไรประมาณนั้น แต่ Made in Charoenkrung กำลังทลายกำแพงความคิดเหล่านั้นออกไป
คู่หูดีไซเนอร์และร้านค้าเก่าแก่แห่งย่านเจริญกรุง
Made in Charoenkrung คือโปรเจกต์ที่พาเหล่าดีไซเนอร์มาเจอกับเจ้าของร้านรุ่นใหญ่ เพื่อช่วยกันพัฒนาและออกแบบสินค้าให้กับร้านค้าเก่าแก่ เรื่องราวหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น จับคู่ดีไซเนอร์กับร้านยังไง การทำงานจะราบรื่นหรือเปล่า เราไม่รอช้าชวนพูดคุยกันต่อ
“การเลือกร้านในโปรเจกต์ Made in Charoenkrung หลังจากเราคิดและเริ่มทดลองกันมาตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งนี้ เราสรุปกันว่าจะโฟกัสที่ร้านเก่าแก่ดั้งเดิมเท่านั้น เพราะว่าเราอยากให้เขาปรับตัวอยู่รอดไปได้ เลยเลือกโฟกัสไปที่ร้านที่มีเอกลักษณ์เด่นๆ คือต้องผ่านสี่ข้อนี้เท่านั้น หนึ่ง เป็นร้านที่มีเอกลักษณ์ของย่านโดดเด่น สองคือ ลอกเลียนแบบไม่ได้ มีเทคนิคเฉพาะด้าน สามคือ เป็นร้านประเภทที่หายากแรร์ไอเทม ข้อสี่คือ ต้องเป็นรุ่นสุดท้าย เช่น ลูกหลานไปทำอาชีพอื่นกันหมดร้านจะจบลงที่รุ่นนี้แล้วนะ
“การที่เราตั้งเกณฑ์นี้ขึ้นมาคืออยากเอาร้านเหล่านี้มาต่อยอดเล่าเรื่องราวให้คนเห็นมากขึ้น หรืออาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกหลานของเขาอยากกลับมาทำก็ได้ เพราะที่ผ่านมาเราก็เจอเคสที่ไม่ทำต่อแล้ว ไม่รู้จะยังไงดี ลูกหลานไม่สานต่อ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก ซึ่งในไทยมีธุรกิจแบบนี้ค่อนข้างเยอะถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างธุรกิจแบบนี้จะหายไปเลย
“พอเราคัดเลือกตามเกณฑ์ที่ตั้งกันไว้แล้ว เราก็เริ่มตามหาดีไซเนอร์ที่เหมาะกับร้านที่เราเลือกมา เช่น ร้านและดีไซเนอร์ที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน หรือดีไซเนอร์เองสนใจร้านนี้เป็นพิเศษอยู่แล้ว หรือบางทีเลือกตามปัญหาของแต่ละร้านที่เจออยู่ หลังจากที่เราติดต่อไปหาดีไซเนอร์ทุกคนก็ให้ความสนใจและอยากทำกันมาก เตรียมรีเสิร์ชข้อมูล เริ่มหาตัวอย่างไปคุยกับทางร้าน อย่าง คู่พี่แก้วจากร้านสูทซินตูอาภรณ์กับพี่วีจาก VL BY VEE ก็ทำหลายขั้นตอนมากแก้กันไปแก้กันมากว่าจะเสร็จเป็นแบบที่ตรงใจทั้งคู่ คือเขาอยู่ด้วยกันทุกขั้นตอนเลย หรืออย่างทีมหว่าโถ่ว หยั่นหว่อหย่น บางรัก x NOSH NOSH x เชฟโอ๊ต ตัดสินใจทำชาไข่มุกกันคือเทสสูตรชิมกันอยู่หลายวันจนลิ้นชาเลย (หัวเราะ) เพราะอยากให้ออกมาดีที่สุด
“เรามีกฎกับทางแบรนด์ข้อหนึ่งคือสิ่งที่เลือกจะทำกับทางร้านต้องเอาไปขายต่อได้จริงๆ นะ ไม่ใช่เลือกกันเพราะสวยเฉยๆ คือบางอันอาจจะชอบมากกว่า แต่พอนึกถึงกระบวนการผลิตแล้วยากขึ้น หรือไปเพิ่มต้นทุนให้กับทางร้านมากเกินไป ก็ต้องมองความเป็นไปได้ด้วย ซึ่งทาง Made in Charoenkrung เองนอกจากหาทีมดีไซเนอร์มาซัปพอร์ตแล้ว เรามีทุนให้ด้วยอาจจะไม่ได้มากมายแต่ก็พอให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างและทำผลิตภัณฑ์ออกมาขายได้เลย อย่างร้านหว่าโถ่ว ตอนแรกเราก็ไม่ได้จินตนาการเลยว่าจะออกมาเป็นชาไข่มุก แต่ที่ดีใจมากคือหลังจากร่วมกันออกแบบกับทีมดีไซเนอร์แล้วยอดขายคือเกินคาดมาก ซึ่งในตอนนั้นเราผลิตเพื่อทดลองขายกันห้าร้อยขวดก็ขายหมดตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เปิดตัวเลย”
หลังจากฟังเรื่องราวของแต่ละร้าน (ที่เรียกว่าเป็นน้ำจิ้มส่วนหนึ่งเท่านั้น) เราเริ่มอยากออกไปเห็นแพ็กเกจจิ้งจริงๆ ที่เกิดจากโปรเจกต์ Made in Charoenkrung ว่าผลิตออกมาแล้วเป็นยังไงบ้าง จะน่ารักน่าซื้อแค่ไหน เพราะส่วนตัวเราเองก็เคยคิดว่าผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจและไม่ยอมเปิดใจเรื่องการออกแบบสักเท่าไหร่ แต่โปรเจกต์นี้ทำให้มุมมองเหล่านั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
ขับเคลื่อนเจริญกรุงด้วยความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์ถ้าพาไปถูกทางจะช่วยขับเคลื่อนร้านรวงและธุรกิจในย่านให้ก้าวไปข้างหน้าได้ Made in Charoenkrung ทำให้เราเห็นผลลัพธ์ของบรรดาร้านค้าเก่าแก่ที่ถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง
“ถามว่าความคิดสร้างสรรค์ช่วยมากแค่ไหน คิดว่าช่วยได้หลายมุมเลย อย่างการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ก็ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น หรือในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้คนภายนอกได้รู้ว่าย่านเจริญกรุงมีของดีที่น่าสนใจนะ เช่น ถ้าคนที่เดินผ่านร้านหว่าโถ่วและเขาสะดุดกับชาไข่มุก เขาก็มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับน้ำสมุนไพร หรือน้ำขมแบบดั้งเดิมบ้างก็ได้
“เหมือนเราสร้างการรับรู้ของคนในวงกว้างมากขึ้น พอมีโปรเจกต์ Made in Charoenkrung จะมีสื่อที่สนใจร้านแล้วตามไปสัมภาษณ์ซึ่งเราต้องการแบบนั้นแหละ เพราะเราอยากให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจไม่ต้องซื้อของเขามากมายแต่อยากให้ไปทำความรู้จักเขา เพื่อเขาจะได้มีกำลังใจไปต่อยอดทำงานแบบอื่นออกมาอีก
“แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องใช้เวลาและความพิถีพิถันมาก ในโปรเจกต์ Made in Charoenkrung รอบหนึ่งเลยทำได้แค่ไม่กี่ร้าน ปริมาณอาจไม่ได้มากขนาดเห็นเป็นพลังก้อนใหญ่ แต่เรารู้สึกว่าความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เราทำจำนวนเยอะๆ แล้วคุณภาพไม่ได้ ร้านเองก็ไม่ได้เอาไปทำต่อ ซึ่งก็แปลว่ามันไม่ได้มีผลอะไรขึ้นมาเลย สู้เราค่อยๆ ทำโฟกัสไปทีละสิบยี่สิบร้าน แล้วเราได้ไปอยู่ไปช่วยทุกๆ ขั้นตอนดีกว่า เพราะแต่ละรอบที่เราทำใช้เวลาห้าหกเดือนเป็นอย่างต่ำ อย่างที่บอกเราละเอียดจริงๆ ตั้งแต่เริ่มรีเสิร์ช คุยดีไซน์ เริ่มผลิตของ หาตลาดให้ ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้ทิ้งเขาเหมือนคอยซัปพอร์ตให้ร้านแต่ละร้านเขาก้าวไปอีกก้าวนะ
“อีกมุมหนึ่งที่เราคิดว่าสำคัญมากๆ แต่หลายคนอาจมองข้ามไปคือ การลดพื้นที่ของ Generation Gap ด้วยการที่เราเอาดีไซเนอร์รุ่นใหม่เข้ามาเจอกับเจ้าของร้านที่ส่วนใหญ่ก็อายุเยอะกันแล้วทั้งนั้น เหมือนให้ลองมาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อย่างนักออกแบบรุ่นใหม่เขาก็ได้เห็นทักษะดั้งเดิม เจ้าของร้านเขาก็ได้เห็นมุมของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน
“จุดนี้ยังโยงไปถึงคนในครอบครัวของเขาเองด้วยนะ จากความคิดของรุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า กับรุ่นลูก รุ่นหลาน เขาอาจจะคิดกันคนละแบบเลยไม่อยากต่อยอดร้านนี้ แต่พอ Made in Charoenkrung เข้าไปเป็นตัวกลางก็อาจทำให้เขาเข้าใจตรงกันมากขึ้น และอาจพัฒนาไปถึงขั้นสานต่อธุรกิจก็ได้”
หลายคนอาจคิดว่า Made in Charoenkrung เป็นโปรเจกต์ที่สร้างขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็หายไป แต่เราคิดว่าวงการงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ให้อะไรมากกว่าที่คิด และที่สำคัญพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้มีไว้ให้แค่วัยรุ่นเท่านั้น ไม่ว่าคุณจะรุ่นใหญ่แค่ไหนถ้ายังมีไฟหรือยังมีไอเดียอยากสานต่อธุรกิจหรืองานของตัวเองก็ลงมือทำได้เลย
หลังจากพูดคุยกับทีม Made in Charoenkrung จบแล้ว หลายคนอาจจะอยากทำความรู้จักกับร้านในโปรเจกต์นี้มากขึ้น เราเลยขอให้ทางทีมพาไปยังร้านค้าเก่าแก่ที่อยู่ในโปรเจกต์นี้สัก 3 ร้าน เรียกน้ำจิ้มกันหน่อยยย
หว่าโถ่ว หยั่นหว่อหยุ่น บางรัก x NOSH NOSH x เชฟโอ๊ต
มาพบกับร้านแรก ‘หว่าโถ่ว’ หนึ่งในร้านน้ำสมุนไพรระดับตำนานที่อยู่คู่ถนนเจริญกรุงมานานกว่า 90 ปี หรือที่สมัยก่อนคนส่วนใหญ่จะรู้จักร้านนี้ในชื่อ ‘หยั่นหว่อหยุ่น’ ร้านของชำสไตล์จีนที่ขึ้นชื่อเรื่องซีอิ๊ว เครื่องปรุง และของแห้งจากฮ่องกง ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าน้ำขมและน้ำสมุนไพรของที่นี่ก็โดดเด่นไม่แพ้ใคร เพราะคนจีนจะชอบเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณเชิงยามากกว่าดื่มน้ำเปล่า พอมาถึงเมืองไทยที่มีอากาศร้อนและอาหารท้องถิ่นรสร้อนแรง จึงมองหาเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เย็น ทำให้ทางร้านทำน้ำขมจำหน่ายโดยยึดตำราที่เป็นสูตรของครอบครัวตั้งแต่นั้นมาถึง 3 ชั่วอายุคน
Made in Charoenkrung ปีที่ 2 จึงชักชวน ‘คุณโบ-สลิลา ชาติตระกูลชัย’ แห่ง Nosh Nosh Project นักสร้างสรรค์ที่ชอบหยิบวัตถุดิบในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นเมนูร่วมสมัย มาดีไซน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน กลายเป็นที่มาของ ‘ชานมไข่มุกน้ำขม’ ร่วมกับ ‘เชฟโอ๊ต-พชรพล พะระรามันห์’ มาช่วยคิดค้นสูตรไข่มุก ด้วยการนำน้ำขมรสชาติต่างๆ มาทำเป็นไข่มุกโบบา โดยใช้น้ำขมผสมกับแป้ง และน้ำผึ้งหรือน้ำตาลมะพร้าว นำไปใส่กับน้ำสมุนไพรอื่น หรือชานมก็ได้ ทำให้รับประทานได้ง่าย ที่สำคัญยังรักษาคุณค่าของน้ำขมที่เปี่ยมไปด้วยสรรพคุณทางยาซึ่งดีต่อร่างกายด้วย
ร้านน้ำขมหว่าโถ่ว หยั่นหว่อหยุ่น (บางรัก)
ที่ตั้ง : 1443 ถนนเจริญกรุง แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 โทร. 08-1566-2313
สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ : https://www.facebook.com/bitterdrinkbangrak/
ซินตูอาภรณ์ X VL BY VEE
ร้านต่อมาคือร้านสูทเก่าแก่แห่งแรกของเจริญกรุง หากย้อนกลับไปช่วงปี 2482 เจริญกรุง คือย่านทันสมัยที่สุดของกรุงเทพฯ เพราะทั้งรถราง โรงแรม โรงเรียน ร้านค้า สถานทูต ต่างรวมตัวกันอยู่ที่นี่ ไม่แปลกเลยว่าทำไมคนจีนจำนวนไม่น้อยที่อพยพเข้ามา จึงเลือกถนนสายนี้เป็นแหล่งสร้างเนื้อสร้างตัว เช่นเดียวกับอดีตเด็กหนุ่มชาวจีนแคะวัย 16 ปี ‘คุณพิชัย สินพัฒนานนท์’ ที่ตัดสินใจเปิดร้านตัดเสื้อ ชื่อว่า ‘ซินตูอาภรณ์’ ซึ่งมาจากภาษาจีน แปลว่า ร้านใหม่
เมื่อเวลาผ่านไปซินตูอาภรณ์เริ่มขยายไปสู่กลุ่มใหม่ Made in Charoenkrung ปีที่ 2 จึงสนใจติดต่อทางร้านมาเข้าร่วมโปรเจกต์ครั้งนี้ โดยชักชวนดีไซเนอร์แห่ง VL BY VEE ‘คุณวี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์’ มาเติมไอเดียทำสูทที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น เน้นผ้าที่ใส่สบาย ดูทันสมัย ตลอดจนพัฒนาลายปักซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ VL BY VEE เพื่อสะท้อนเรื่องราวของเจริญกรุง โดยนำแรงบันดาลใจมาจากสถานที่ต่างๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา โรงแรมโอเรียลเต็ล ตึกโบราณ ที่สำคัญยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ของร้านตัดสูทที่เก่าแก่ที่สุดของย่านเจริญกรุงให้สนุกและน่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย
ร้านซินตูอาภรณ์
ที่ตั้ง : 1296 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 โทร. 02-233-5070
เตียง้วนเฮียง X Sauce Studio
ถ้าคุณเป็นสายกินของกรุบกรอบล่ะก็ ห้ามพลาดร้านหมูแผ่นหมูหย็องเก่าแก่ ‘เตียง้วนเฮียง’ ที่ปิ้งหมูกันที่หน้าร้าน ส่งกลิ่นหอมฉุย จนมีลูกค้าแวะมาซื้อกันอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปีใหม่ นอกจากอร่อยถูกใจแล้วยังนับเป็นของฝากมงคล ด้วยความเชื่อว่าทำอะไรก็ง่ายเหมือนเป็นเรื่องหมูๆ ทุกวันนี้ร้านมีสินค้ามากมายทั้งหมูแผ่น หมูหย็อง หมูฝอยหวาน หมูแท่ง กุนเชียง ฯลฯ จุดเด่นหลักที่มัดใจลูกค้ามาอย่างยาวนาน คือเรื่องคุณภาพและมีเคล็ดลับอยู่ที่การแล่เนื้อหมู การหมักซอสปรุงรสแล้วนำมาอบ จนได้หมูแผ่นที่กรอบและหอม แถมยังทำขายวันต่อวันรับประกันความสดใหม่ได้เลย
ครั้งนี้ Made in Charoenkrung ปีที่ 2 จึงขอจับคู่ร้านเตียง้วนเฮียง มาเจอกับ Sauce Studio ดีไซน์สตูดิโอและที่ปรึกษาด้านการออกแบบแบรนดิ้ง ที่มีจุดเด่นด้านการชูรสชาติของร้านค้าหรือองค์กร โดยรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้อย่างดี ทีม Sauce ได้เข้ามาช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยมากขึ้น โดยทำเป็นถุง 4 ขนาดที่เล็กลง พกพาง่ายสไตล์ Grab & Go หยิบกินกับเพื่อนได้ทุกวันไม่ว่าตอนเรียนหรือทำงาน จากนั้นคัดเลือกเมนูหมูๆ มาใส่ ซึ่งทางร้านมีผลิตภัณฑ์กว่า 10 อย่าง แต่ที่ขายดีมากมี 2 – 3 อย่าง จึงเป็นโอกาสดีที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบอื่นๆ ให้คนรู้จักมากขึ้น
ร้านเตียง้วนเฮียง หมูแผ่นบางรัก
ที่ตั้ง : 1423 ถนนเจริญกรุง (เยื้องโรบินสัน บางรัก) แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ : https://www.facebook.com/Tianguanhiang.bkk/
นอกจากโปรเจกต์ในกรุงเทพฯ แล้ว ทางทีม Made in Charoenkrung ยังวางแผนที่จะทำโปรเจกต์ในต่างจังหวัดด้วย อาทิ Made in Changmoi จังหวัดเชียงใหม่, Made in Srichan จังหวัดขอนแก่น และ Made in Songkhla โดยทั้งหมดเป็นจังหวัดที่มีศูนย์ TCDC ตั้งอยู่ เพื่อเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเหล่าดีไซเนอร์ และบรรดาร้านเก่าแก่ในต่างจังหวัดได้โชว์ของ ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่รักและหวงแหนของดีในบ้านเกิด และพร้อมที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีโปรเจกต์ดีๆ แบบนี้เกิดขึ้นใกล้บ้านคุณก็ได้ รอติดตามไปพร้อมๆ กัน
ร้านดั้งเดิมที่อยู่ในโครงการ Made in Charoenkrung ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ สำหรับใครที่สนใจเรื่องราวและความเคลื่อนไหวของร้านอื่นๆ ในโครงการ ติดตามได้ที่ : https://www.instagram.com/madein.myneighbour/