โครงการ Skywalk ราชวิถี เกิดขึ้นจากความพิเศษของถนนราชวิถีที่มีโรงพยาบาลตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ และโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งทำให้มีผู้ป่วย ผู้พิการทางสายตา และผู้สูงอายุสัญจรไปมาผ่านเส้นทางนี้อยู่ตลอด
นอกจากนี้ราชวิถียังอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเดินทางสำคัญของกรุงเทพมหานคร ทั้งเป็นจุดตั้งต้นของรถเมล์เกือบทุกสาย ผู้โดยสาร BTS สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เหล่ารถตู้ที่ออกเดินทางสู่ชานเมือง และยังมีวินมอเตอร์ไซค์จำนวนมากที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความไม่สะดวกของการเดินทาง อย่างปัญหาทางเท้าตามแนวถนนราชวิถีที่แคบเกินไป จนทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ป่วยเดินสัญจรได้ไม่สะดวก

กทม.จึงออกแบบ Skywalk เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีเป้าหมายสำคัญ 4 ข้อคือ
1) ประชาชนทุกคนต้องเดินได้สะดวกสบาย เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนแก่
2) เสาของ Skywalk ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่เอกชน ไม่กีดขวางทางเท้า
3) Skywalk ต้องกว้างมากกว่า 4 เมตร ทำให้รถพยาบาลขนาดเล็กวิ่งรถได้ในกรณีฉุกเฉิน
4) เชื่อมต่อโครงข่ายขนส่งมวลชน BTS รถเมล์ ไปยัง Skywalk ของโรงพยาบาลรามาธิบดี
มากไปกว่านั้น โครงการ Skywalk ราชวิถี ยังเป็นการออกแบบที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของคนกรุงเทพ โดยกทม.ได้ทำแบบสำรวจร่วมกับ UddC ถามผู้ใช้งานทางเท้าถนนราชวิถีจำนวน 1,236 คน แบ่งเป็นกลุ่มอายุน้อยกว่า 22 ปี 30.4% 22-44 ปี 31.6% 41-60 ปี 23.3% และมากกว่า 60 ปี 14.6%
จากผลสำรวจทำให้พบว่าคนเดินเท้าต้องการทางเท้าที่ปลอดภัย มีร่มเงา มีป้ายบอกทาง ไม่มีสิ่งกีดขวางและขนาดกว้างมากขึ้น การมี skywalk แห่งนี้จึงทั้งปลอดภัย เหมาะกับประชาชนทุกกลุ่ม และยังตอบโจทย์ทางเท้ามีหลังคา (covered-walkway) ป้องกันเวลาฝนตกและอากาศร้อนได้ดีอีกด้วย

โครงการนี้เปิดประมูลหาผู้รับเหมาเป็นที่เรียบร้อย และจะเริ่มสร้างภายในปีนี้ (2568) พร้อมคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายในปีหน้า
Source:
Bangkok Open Policy | https://bit.ly/3Yc9kEN
The Urbanis| https://bit.ly/3XIgEIi
LivingPop (Facebook) | https://bit.ly/3FP9UlK
.