แม้จะเป็นเหมือนมุกตลกร้าย แต่เมื่อมองให้ลึกถึงสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคเก่าและยุคใหม่อย่าง ‘มหาพีระมิด เมืองกีซา ประเทศอียิปต์’ และ ‘ทัชมาฮาล เมืองอาครา ประเทศอินเดีย’ ทั้งสองแห่งใช้เวลาในการสร้างรวมกันแล้วยังน้อยกว่า ‘ถนนพระราม 2’ เสียอีก
ถนนพระราม 2 หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ถือเป็นหนึ่งเส้นทางหลักในการเดินทางของพี่น้องชาวฝั่งธนฯ และเป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมไปยังภาคใต้ ซึ่งแท้จริงถนนเส้นนี้สร้างเสร็จมานานแล้ว แต่มีโครงการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และยังคงมีการก่อสร้างอยู่เป็นเวลา 54 ปีหากนับถึงตอนนี้ จนทำให้การจราจรติดขัดและเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
เราขออาสาพาไปดูไทม์ไลน์ถนนประวัติศาสตร์เส้นนี้ว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร เพื่อคลายข้อสงสัยว่าทำไมมันถึงสร้างไม่เสร็จสักที
ยุคแรกสร้างถนนพระราม 2 (พ.ศ. 2513 – 2516)
ก่อนที่จะมีการสร้างถนนพระราม 2 ประเทศไทยมี ‘ถนนเพชรเกษม’ เป็นถนนสายหลักที่มุ่งสู่ภาคใต้อยู่แล้ว แต่ในช่วงสมัยรัฐบาลของ ‘จอมพล ถนอม กิตติขจร’ มีนโยบายให้สร้างถนนพระราม 2 ขึ้น ตัดผ่านกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดราชบุรี โดยเริ่มจากถนนสุขสวัสดิ์ (เขตจอมทอง กรุงเทพฯ) ไปบรรจบกับถนนเพชรเกษม (วังมะนาว จังหวัดราชบุรี) ใน พ.ศ. 2513 และเปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2516
โดยมีรูปแบบเป็นถนน 2 เลน เพื่อย่นระยะทางลงใต้จากถนนเพชรเกษมเดิมกว่า 40 กิโลเมตร และเป็นการรองรับการจราจรของเมืองกรุงเทพฯ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง พ.ศ. 2510 ทำให้การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในภาคใต้ง่ายขึ้น อีกทั้งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจให้การขนส่งสินค้าและบริการสะดวกขึ้นด้วย
ยุคเสริมทาง สร้าง ขยายเลน (พ.ศ. 2532 – ปัจจุบัน)
หลังจากเปิดใช้งานถนนพระราม 2 ใน พ.ศ. 2516 ผู้คนใช้ถนนสายนี้เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางสู่ภาคใต้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนช่วง พ.ศ. 2530 ถนนเริ่มไม่เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชน ประจวบกับถนนสายนี้ตัดผ่านแม่น้ำ ทุ่งนา สวน ทำให้ดินบริเวณนี้อ่อนตัวจนถนนทรุดและเกิดอุบัติเหตุตามมา
รัฐบาลในสมัยนั้นจึงสั่งการให้ซ่อมแซมและขยายถนนจาก 2 เลน เป็น 4 เลน ใน พ.ศ. 2532 ถือเป็นครั้งแรกในการขยายถนนสายนี้ พร้อมทั้งสร้างทางแยกต่างระดับ ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และวังมะนาว โดยเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2537
ในขณะเดียวกัน ได้มีการสร้างชุมชนและนิคมอุตสาหกรรมบริเวณจังหวัดสมุทรปราการที่อยู่ใกล้เคียงกับถนนพระราม 2 ทำให้มีการขยายถนนครั้งที่ 2 ช่วงสามแยกบางปะแก้วถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนให้เป็น 14 เลน แบ่งเป็นช่องการจราจรหลัก 8 เลน และทางคู่ขนานข้างละ 3 เลน ใช้ระยะเวลาในการสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2539 – 2543
หลังจากนั้นมีการขยายและซ่อมแซมถนนพระราม 2 เพิ่มเติมอีก 5 ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึง พ.ศ. 2566 เพื่อรองรับการใช้งานของผู้คนที่ใช้เส้นทางนี้ในการสัญจร
เรื่องราว 6 ปีให้หลังจากสร้างกลายเป็นสูญเสีย
การสร้างถนนพระราม 2 ที่มีระยะเวลากว่า 50 ปีเป็นปัญหาคาราคาซังของผู้ใช้เส้นทางนี้ในการสัญจรมาอย่างยาวนาน เห็นได้จากรายงานถึงอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 อยู่บ่อยครั้ง โดยมี 2 เหตุการณ์ที่สะเทือนใจผู้ใช้ถนนไม่น้อย นั่นคือเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 บริเวณถนนพระราม 2 ช่วงช่องทางด่วน จังหวัดสมุทรสาคร ขาเข้ากรุงเทพฯ เกิดอุบัติเหตุแผ่นปูนบนสะพานกลับรถที่อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงหล่นทับรถจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย และเสียชีวิตอีก 2 ราย
และอีกเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีการรายงานถึงอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 ว่า ในช่วงกิโลเมตรที่ 10 มีแท่งเหล็กแม่แบบหล่อคอนกรีตหล่นทับคนงานได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และเสียชีวิต 1 ราย
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนตั้งข้อสงสัยถึงมาตรฐานการก่อสร้างและการนำงบประมาณไปใช้ว่ามีการคอร์รัปชันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากลองนับย้อนกลับไป 6 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 – 2566 จะพบว่าอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 เกิดขึ้นมากกว่า 2,243 ครั้ง โดยมีผู้บาดเจ็บ 1,054 ราย และผู้เสียชีวิต 131 ราย
นอกจากนี้ ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 จำนวน 1 ครั้ง โดยมีผู้บาดเจ็บ 1 ราย และผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งนับเป็นสถิติที่น่ากลัวไม่น้อยสำหรับโครงการก่อสร้างที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตบนท้องถนนให้ดีขึ้น แต่กลับแลกมาด้วยชีวิตของผู้สัญจรผ่านไปผ่านมา
โครงการสร้างและปัญหาที่คาราคาซัง
ปัจจุบันการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 มีอยู่ 3 โครงการที่กำลังก่อสร้าง ได้แก่
1) โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) สายธนบุรี-ปากท่อ ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-ถนนเอกชัย ระยะทางประมาณ 8.3 กิโลเมตร
2) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 (ทางด่วน) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทางประมาณ 16.3 กิโลเมตร
3) โครงการก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งมี 5 สัญญา ระยะทางรวมประมาณ 18.7 กิโลเมตร
หากลองสังเกตจะเห็นว่าหลายๆ โครงการถูกสร้างทับซ้อนกันและไม่ได้มีการอธิบายถึงแนวทางการสร้างอย่างชัดเจน เมื่อเกิดปัญหารถติดก็จะขยายไหล่ทางหรือเพิ่มการก่อสร้างทางพิเศษต่างๆ ซึ่งมันอาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จนเกิดความเสียหายจากการก่อสร้างและสร้างความสูญเสียต่อผู้ใช้ท้องถนน
ส่วนเหตุผลที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้านั้นมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ
1) ปัจจัยเรื่องเวลาในการก่อสร้าง ที่ใช้เครื่องจักรหนักได้เฉพาะเวลากลางคืนช่วงเที่ยงคืนจนถึงตี 5 รวมเวลาในการสร้างต่อวันเพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะหากสร้างเวลากลางวันจะส่งผลให้การจราจรติดขัดได้
2) ปัจจัยความล่าช้าเกิดจากผู้รับเหมา ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจากสถาบันการเงินที่ไม่ปล่อยกู้จากสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ ‘นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาให้คำสัญญาว่าทุกโครงการจะดำเนินการให้เสร็จภายใน พ.ศ. 2568 (ในส่วนงานโยธา) ส่วนระบบการเก็บเงินทางด่วนนั้นจะเสร็จสิ้นภายใน พ.ศ. 2569
อย่างไรก็ตาม เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าถนนพระราม 2 จะหยุดสร้างเมื่อไหร่ หรือมันจะสร้างไปเรื่อยๆ เหมือนกับคฤหาสน์วินเชสเตอร์ที่สร้างไม่เสร็จสักที
Sources :
Amarin | shorturl.asia/liyNT
Autospinn | shorturl.asia/6vpAs
Isranews | shorturl.asia/HXx8D
PostToday | shorturl.asia/6GgZ5
PPTVHD36 | shorturl.asia/ftpn4
Thai PBS | shorturl.asia/OSxN7
กรมทางหลวง | shorturl.asia/YFchP
กรุงเทพธุรกิจ | shorturl.asia/bKfar
ข่าวสดออนไลน์ | shorturl.asia/qFapD
ไทยรัฐออนไลน์ | shorturl.asia/pHs4E