สถานีรถไฟ Mixed-use พื้นที่ให้ใช้งานได้สารพัด - Urban Creature

เพราะ ‘เมืองขยายตัว’ ทำให้ประชากรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการใช้พื้นที่สูงตามจึงกลายเป็นต้นตอของการมิกซ์ยูสพื้นที่ในแบบต่างๆ เช่น มีทั้งห้างสรรพสินค้า อาร์ตแกลเลอรี สำนักงาน หรือลานอเนกประสงค์รวมในที่เดียว โดยการเลือกทำเล ‘มิกซ์ยูส’ ได้อย่างเหมาะสมที่สุด ต้องดูว่าคนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่ายหรือไม่ ซึ่งสถานที่ที่ตอบโจทย์มากที่สุด นั่นก็คือ ‘สถานีรถไฟ’ เพราะตั้งอยู่ใจกลางเมือง แถมเป็นศูนย์กลางของโครงข่ายคมนาคมสาธารณะตั้งแต่ระดับเมืองไปจนถึงท้องถิ่น ซึ่งนอกจากมิกซ์ยูสสถานีจะช่วยกระตุ้นการขนส่งสาธารณะ ลดการก่อมลพิษ เพิ่มมูลค่าที่ดินให้กับอสังหาริมทรัพย์ ยังสร้างอาชีพในพื้นที่อีกด้วย

‘สถานีกลางบางซื่อ’ ของประเทศไทยเอง ก็พัฒนาให้เป็นมิกซ์ยูสรูปแบบ ‘Vertical Mixed-Use Building’ คือการเอาพื้นที่มาใช้ประโยชน์มากกว่าหนึ่งอย่าง โดยแบ่งสัดส่วนภายในอาคารประกอบไปด้วยร้านค้า โรงแรม สำนักงาน ฯลฯ เพื่อรองรับผู้โดยสารและผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า

ใครที่ยังไม่ได้ไปเยี่ยมเยือนสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ก็ไม่เป็นไร เราลองไปสำรวจ ‘สถานีรถไฟ’ รอบโลกกันก่อนดีกว่าว่าเขามิกซ์เข้ากับอะไรกันบ้าง

| ปรับหน้าสถานีรถไฟเป็นลานสาธารณะ

เราอาจไม่ค่อยคุ้นหูกับ ‘Assen Station’ เท่าไหร่นัก เพราะเป็นสถานีรถไฟเล็กๆ ในเทศบาลอัสเซน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่จำนวนผู้โดยสารต่อวันยังน้อยกว่า Rotterdam Central Station หลายพันเท่า ด้วยความไม่เป็นที่สนใจเนี่ยแหละ จึงเป็นสาเหตุให้นายกเทศมนตรีสั่งรีโนเวตเสียใหม่ โดยปรับให้พื้นที่รอบสถานีรถไฟผสมผสานเป็น ‘ลานสาธารณะ’ จะใช้เต้น วิ่ง ออกกำลังกาย หรือนั่งรับลมก็ได้ เพื่อกระตุ้นให้คนออกมาชมวิวทิวทัศน์ของเมืองมากขึ้น รวมไปถึงสร้างโรงเก็บจักรยานชั้นใต้ดินจำนวน 2,600 คัน ที่ส่งเสริมให้คนหันมาใช้จักรยานและขนส่งสาธารณะเพื่อลดมลพิษทางอากาศอีกด้วย

| รวมร้านค้า สำนักงานและ Public Art ในสถานีเดียว

เมื่อนครที่ไม่เคยหลับใหลอย่าง ‘นิวยอร์ก’ เจอกับโจทย์ท้าทายครั้งใหม่ด้วยการรีโนเวต ‘James A. Farley’ อาคารเก่าอายุมากกว่า 100 ปีซึ่งเป็นที่ทำการสาขาหลักของ ‘ไปรษณีย์สหรัฐ’ (United States Postal Service – USPS) ตั้งแต่ปี 1918 มาปรับโฉมให้เป็น ‘Moynihan Train Hall’ ศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง โดยสร้างโถงรถไฟขนาด 255,000 ตารางฟุต ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟ 9 ชานชาลาให้บริการสายลองไอร์แลนด์กับแอ็มแทร็กเป็นหลัก และเชื่อมสถานีรถไฟใต้ดิน 5 สาย 

ภายในอาคารผสมผสานระหว่างพื้นที่เชิงพาณิชย์ ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และสำนักงานรวมกว่า 700,000 ตารางฟุต แถมยังมี ‘Public Art’ พื้นที่โชว์ผลงานศิลปะที่อยากให้อาคารตอบโจทย์คำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ของพลเมืองและปลดปล่อยพลังเสรีภาพอย่างเต็มที่ บริเวณหลังคาตกแต่งด้วยแผงกระจกและโครงเหล็กมากกว่า 500 แผ่นเพื่อเชื่อมต่ออาคารโดยรอบเข้าด้วยกัน หลังจากใช้เวลาออกแบบและรีโนเวตนานกว่า 20 ปี Moynihan Train Hall ก็เปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อย และได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของนครนิวยอร์กอีกด้วย

| เปลี่ยนลานหน้าสถานีรถไฟให้เป็นทางเดินและเลนจักรยาน

ชื่อเสียงของ Rotterdam Central Station ถูกพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่สำคัญที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยจำนวนผู้โดยสาร 110,000 คนต่อวัน เป็นจุดยุทธศาสตร์ตอนกลางของยุโรป พ่วงด้วยหลังคาหัวแหลมแบบดีไซน์ร่วมสมัย จึงไม่แปลกใจที่สถานีรถไฟแห่งนี้จะป็อปปูลาร์ในหมู่นักเดินทาง

ความดีงามอีกอย่างของ Rotterdam Central Station คือการปรับลานกว้างหน้าสถานีเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อเดินรีแลกซ์บนช่องทางเท้า หรือปั่นจักรยานในเลนจักรยานมายังสถานีและต่อสายรถไฟเข้าเมืองก็ย่อมได้ เพราะทางสถานีมีโรงเก็บจักรยานที่รองรับจักรยานได้ 5,200 คัน รวมไปถึงโซนสำนักงาน โซนพลาซ่า และจุดบริการนักท่องเที่ยวเรียกว่ามาแล้วจบในที่เดียว

| ต้นแบบการมิกซ์พื้นที่รอบสถานีด้วยห้างฯ โรงแรม และสำนักงาน

หนึ่งในสถานีรถไฟสำคัญที่ไม่เพียงเป็นแรงบันดาลใจให้ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่นๆ ทั่วโลกนำไปใช้ ‘Osaka Station’ คือฮับการเดินทางที่รวมสถานีรถไฟโอซากาและอุเมะดะเข้าด้วยกัน โดยตัวสถานีเป็นพื้นที่ Mixed-Use Development มีทั้งห้างสรรพสินค้าทั่วสารทิศ อัดแน่นไปด้วยร้านอาหารชั้นนำ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รวบรวมสินค้านำเข้าไปจนถึงสินค้าท้องถิ่นจากคันไซ

แถมยังมีโรงแรมระดับ 4 ดาว กับจุดชมวิวเมือง เท่านั้นยังไม่พอ เพราะมีโซนสำนักงานอีกด้วย ถือว่าเป็นสถานีขนาดใหญ่ที่ครบครันตั้งแต่การเดินทางไปจนถึงสินค้าและบริการ ดีงดูดให้มีผู้ใช้บริการกว่า 420,000 คนต่อวัน อีกทั้งในปี 2019 อัตราการว่างงานในย่านยังลดลงต่ำที่สุดเหลือ 1.2% (โอซากา) และ 0.2% (อุเมดะ) เพราะการใช้มิกซ์ยูสของ Osaka Station สร้างตำแหน่งงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนแห่มาสมัครงานใน Mixed-Use Development กันขวักไขว่ จนกลายเป็นหนึ่งในสถานีที่คึกคักที่สุดของญี่ปุ่นอีกด้วย

| ผสมผสานสถานีรถไฟกลางธรรมชาติด้วยสโมสรเด็กและนิทรรศการขนาดย่อม

สถานีรถไฟ ‘Ginkgo Swan Lake Train Station NO.2’ อาจแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นในลิสต์สักหน่อย เพราะเป็นสถานีรถไฟขนาดย่อมที่วิ่งระยะสั้นไปตามเกาะเล็กๆ ในเมืองเจียซิง ประเทศจีน ซึ่งภูมิทัศน์รอบข้างเต็มไปด้วยธรรมชาติ ทะเลสาบ ป่าแปะก๊วยอันอุดมสมบูรณ์ ศูนย์การเรียนรู้ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ 

สถานีรถไฟตั้งอยู่กลางศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อให้เข้ากับคอนเซปต์การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของนิเวศวิทยา สถานีรถไฟแห่งนี้จึงมิกซ์พื้นที่ให้เป็น ‘สโมสรเด็ก’ เมื่อเข้าไปด้านในจะพบล็อบบี้เป็นอันดับแรก ทางด้านซ้ายและขวาเป็นที่นั่งแบบขั้นบันไดใช้สำหรับพักเหนื่อย หรือเป็นที่นั่งอ่านหนังสือ แถมยังมีบ่อบอลขนาดย่อมให้เด็กได้เล่นสนุกตามใจชอบ ส่วนชั้นลอยเป็นลานกว้างสำหรับ ‘พื้นที่จัดนิทรรศการ’ อย่างไม่จำกัดรูปแบบ และอาคารฝั่งตรงข้ามเป็นร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าตั้งแต่เครื่องใช้ หนังสือ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น


Sources :
Archdaily | https://bit.ly/3wFyxqC, https://bit.ly/36xZ8eF, https://bit.ly/2TZcXAm, https://bit.ly/3xBKsas
Archello | https://bit.ly/3AUQ69A, https://bit.ly/2Vu2DAu
Kiji | https://bit.ly/3eg7bB0
MVSA Architects | https://bit.ly/3ecyaO7
Placeshakers | https://bit.ly/36tQuxU
Property Week | https://bit.ly/3AXw8Lr
Related | https://www.related.com/node/14676
Tsunagu Japan | https://bit.ly/3hAYQdh
West JR | https://bit.ly/3xDr3G4
WIT Press | https://bit.ly/3kdyT5w

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.