10 คำถามคาใจ อะไรจะเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 จบลง - Urban Creature

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระดับปัจเจกบุคคลคนเท่านั้น แต่ยังมีการคาดการณ์ว่ามันจะทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล หรือเป็นที่มาของคำว่า ‘New Normal’ หรือ ‘ความปกติใหม่’ นั่นเอง เราจึงเกิดความสงสัยว่าต่อจากนี้ไปโลกจะเป็นอย่างไร จะมีอะไรจะเปลี่ยนไปบ้างหลังโควิด-19 จบลง Urban Creature จึงเกิด 10 คำถามคาใจที่อยากชวนทุกคนมาร่วมแก้ไขหาคำตอบด้วยกัน ถ้าพร้อมสงสัยแล้ว ไปไล่อ่านคำถามกันเลย 

01 | รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไป ?

ในอนาคตอาจเกิดการเหลื่อมเวลาทำงาน ทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยเราไม่จำเป็นต้องเข้างาน 9.00 น. หรือเลิกงาน 18.00 น. อีกต่อไป เพื่อลดความแออัดของการเดินทาง รวมถึงการ Work From Home กลายเป็นเรื่องปกติ เพราะเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทต่อทุกธุรกิจมากขึ้น

เช่น ‘ทวิตเตอร์’ ที่อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านถาวรแม้โควิด-19 จะจบลงแล้ว หลังจากพบว่าการทำงานที่บ้านช่วงที่ผ่านมาพนักงานสามารทำงานได้เป็นอย่างดี ส่วนพนักงานคนไหนที่ไม่พร้อมทำงานทางทวิตเตอร์ก็คาดว่าจะกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้ช่วงสิ้นปีนี้


02 | การเดินฟุตพาทและปั่นจักรยานจะมากขึ้น ?

จากการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนให้ทุกคนหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อลดอัตราความเสี่ยงในการสัมผัส ส่งผลให้การเดินเท้าและการปั่นจักรยานกลายเป็นทางเลือกที่คนให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะเราสามารถมีอิสระในการเคลื่อนไหว เลือกจังหวะการก้าวเดิน หรือการปั่นจักรยานเพื่อห่างจากคนอื่นได้

อย่าง ‘กรุงลอนดอน’ เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ หลังจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การใช้รถใช้ถนนลดลงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ จึงได้ประกาศ ‘Streetscape’ แผนปฏิบัติการสำหรับช่องทางพิเศษชั่วคราวสำหรับจักรยานและปรับปรุงทางเท้าให้คนหันมาเดินเท้ามากขึ้น

“ชาวลอนดอนจำนวนมากได้ค้นพบความสุขของการเดินและขี่จักรยานอีกครั้งในระหว่างการล็อกดาวน์เมือง”

Sadiq Khan นายกเทศมนตรีแห่งลอนดอน

นอกจากนี้ ก็ยังมีนิวยอร์ก ปารีส มิลาน รวมถึงเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ก็ได้ประกาศปิดถนนเพื่อปรับปรุงเป็นเส้นทางปั่นจักรยานและทางเดินเท้า ซึ่งแผนพัฒนาเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะพัฒนาขึ้นแล้วนำมาใช้ได้ในระยะยาวในที่สุด


03 | ตึกสูงจะปรับตัวเรื่องลิฟต์อย่างไร ? 

เราจะเห็นว่ามีอาคารสำนักงาน หรือตึกสูงหลายแห่งได้จัดระบบโดยสารในลิฟต์ใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการตีตารางในลิฟต์ให้โดยสารได้เที่ยวละ 6-8 คน หรือแทนที่จะใช้มือกดลิฟต์ก็เปลี่ยนมาใช้เท้ากดปุ่มขึ้น-ลง แทน เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสปุ่มกดที่เป็นสเตนเลส อย่าง ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์

ไม่แน่ในอนาคตแม้โควิดจบลง แต่คนยังมีความระมัดระวังในการใช้ชีวิต การโดยสารลิฟต์อาจจะเปลี่ยนไปจากที่เคยโดยสารได้มากสุด 15 คน อาจลดลงเหลือแค่ 9-10 คน กลายเป็นมาตรฐานการใช้ลิฟต์สมัยใหม่ไปเลยก็ได้


04 | คนจะซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น ?

เราเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ มันทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าชีวิตตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น จากที่เคยละเลยก็หันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองอย่างจริงจัง เริ่มออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ ตัดสินใจไปตรวจสุขภาพประจำปีเป็นครั้งแรก รู้จักวางแผนการเงิน รวมถึงสนใจซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น ดูได้จากจำนวนยอดซื้อกรมธรรม์ประกันโควิด-19 สูงถึง 7.1 ล้านฉบับ จากข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563 


05 | หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สเปรย์ฆ่าเชื้อ เป็นของติดกระเป๋า ?

แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) และอีกหลายประเทศฝั่งตะวันตก จะออกมาบอกว่าคนที่ควรใช้ ‘หน้ากากอนามัย’ คือคนที่ป่วย ไม่สบายเป็นไข้หวัด ไอ จาม หรือผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเท่านั้น ส่วนคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีไม่จำเป็นที่จะต้องใส่หน้ากากอนามัย แต่เนื่องด้วยการระบาดที่รวดเร็ว และในบางรายที่ติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการให้เห็น จึงทำให้ผู้คนต้องหันมาป้องกันโดยเริ่มจากตัวเองแทน

ทำให้คาดว่าต่อจากนี้ คนจะเริ่มให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาด นอกจากการล้างมือเป็นประจำจนติดเป็นนิสัยแล้ว สิ่งของจำพวกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สเปรย์ฆ่าเชื้อก็จะกลายเป็นไอเท็มติดกระเป๋าที่เราต้องพกติดตัวไปทุกที่ จนเป็นของที่ขาดไม่ได้ในที่สุด


06 | ป้ายรถเมล์ ชานชาลารถไฟฟ้า ดีไซน์จะเปลี่ยนไป ? 

ก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภาพที่คนเมืองเห็นกันจนชินตา คือการที่คนมายืนรอใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถเมล์และรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนผู้โดยสารยิ่งล้นจนแทบจะขี่คอกันได้เลย

ในอนาคตจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าการดีไซน์ชานชาลารถไฟฟ้า หรือป้ายรอรถเมล์จะเปลี่ยนไป เพื่อลดความแออัดในระบบขนส่งสาธารณะ โดยอาจจะเน้นระยะห่างการยืนรอที่มากขึ้น การกำหนดให้เข้าสู่ชานชาลาเป็นรอบๆ หรือจำกัดจำนวนการขึ้นรถเมล์แต่ละครั้ง เว้นที่นั่งให้ห่างกัน มีที่กันแต่ละบุคคล หรือจุดนั่งรอรถเมล์อาจจะปรับเปลี่ยนให้ปลอดภัยมากขึ้น


07 | ร้านอาหารที่นั่งน้อยลงเน้นส่งเดลิเวอรี่ ?

เดิมทีร้านอาหารส่วนใหญ่ยังอาศัยการขายอาหารผ่านลูกค้าที่เข้ามาที่หน้าร้านเพียงอย่างเดียว แต่หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจชนิดนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ จะทำอย่างไรที่จะให้ร้านอาหารอยู่รอดในสภาวะที่ทุกอย่างถูกล็อคดาวน์ ‘เดลิเวอรี่’ (Food Delivery) จึงกลายเป็นทางรอดที่เหล่าร้านอาหารเกือบทุกร้านนำมาปรับใช้ เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าทั้งเก่าใหม่ให้เข้าถึงบริการ

ข้อดีของ ‘เดลิเวอรี่’ คือมันสอดรับกับสไตล์คนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบรอนาน เน้นความสะดวกสบาย พร้อมเสิร์ฟถึงที่ และในด้านของเจ้าของธุรกิจเรามองว่าเมื่อเน้นการส่งแบบเดลิเวอรี่ การมีหน้าร้านอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป หรือถ้าต้องมีก็อาจลดจำนวนที่นั่งหรือขนาดของร้านให้เล็กลง ถือเป็นการลดต้นทุนของร้านได้อีกช่องทางหนึ่ง


08 | พลังงานทดแทนจะเข้าถึงง่ายขึ้น ?

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้บอกว่าหลังจากผ่านสถานการณ์โควิด-19 จบลง พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป ความต้องการในภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคพลังงานจะลดลง เนื่องจากคนจะลดการเดินทางทำให้การใช้พลังงานลดลงไป และในอนาคตพลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ จะลดน้อยลง ซึ่งสิ่งที่จะมาแทนที่ก็คือ ‘พลังงานทดแทน’ เช่น พลังแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ Sergey Makhno สถาปนิกชาวยูเครน ยังได้ทำนายเอาไว้ว่าผู้คนจะหันมาสนใจและกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะถูกตั้งคำถามว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ รวมถึงในอนาคตพลังงานทดแทนจะเป็นหนึ่งมาตรการสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


09 | คนจะติดบ้านมากกว่าเดิม ?

โควิด-19 นอกจากทำให้คนให้ความสำคัญกับความสะอาดมากขึ้นแล้ว การที่ต้องอยู่บ้านติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เราคุ้นชินกับชีวิตประจำวันรูปแบบใหม่ เพราะได้ทำกิจกรรมที่เมื่อก่อนไม่มีเวลาได้ทำ เช่น การลุกขึ้นมาเข้าครัวทำอาหารสร้างสรรค์เมนูอาหารจานอร่อย ไม่ต้องเร่งรีบฝ่ารถติดไปทำงานตอนเช้า ทำให้มีเวลากับตัวเองมากขึ้น หรือใครที่ไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับครอบครัวก็ถือโอกาสนี้เติมความรักให้กัน กิจกรรมเหล่านี้อาจจะทำให้คนโหยหาการอยู่บ้านมากขึ้น หากต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิม


10 | Co – Working Space จะปรับตัวอย่างไร ?

‘Co – Working Space’ ถือเป็นรูปแบบการทำงานที่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ที่ทำงานที่ไหนก็ได้ แต่เพราะโควิด-19 ทำให้ความเชื่อมั่นของ Co-working space ลดลงและทำให้หลายแห่งต้องปิดตัวลงทั้งชั่วคราวและถาวร และแม้โควิด-19 จะจบลง แต่หลายคนก็ยังคาดการณ์ว่าคนส่วนใหญ่อาจยังขาดความเชื่อมั่นและยังกังวลเรื่องความปลอดภัยอยู่

โดยศูนย์ FutureTales Lab by MQDC ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังพ้นภาวะวิกฤตโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือ ‘Global Emotional Crisis & Touchless Society’ หรือวิกฤตทางอารมณ์ของคนเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้แบบเดิมๆ จนนำไปสู่การสูญเสียสมดุลทางความคิดและอารมณ์ อย่างวัยทำงานที่นิยม Co – Working Space ก็อาจจะมีปรับพื้นที่ในรูปแบบ ‘Sharing Space With Boundary’ หรือการแบ่งแยกพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น


Sources :
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/874703
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000049661
https://techsauce.co/pr-news/futuretales-lab-by-mqdc-covid-19
https://www.dezeen.com/2020/05/07/london-new-york-paris-milan-cyclists-pedestrians/

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.