‘สื่อสิ่งพิมพ์’ จะอยู่รอดหรือไม่ - Urban Creature

ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีสำนักพิมพ์หรือนิตยสารต่างๆ ทยอยโบกมืออำลาตามกันไป เช่น ‘Go Genius’ นิตยสารวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กในเครือสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ‘ครัว’ นิตยสารสำหรับคนทำอาหาร หรือจะเป็นนิตยสาร ‘ดิฉัน’ ‘ขวัญเรือน’ และ ‘คู่สร้างคู่สม’ ที่อยู่คู่คนไทยมาหลาย 10 ปี

ส่วนเหล่าสำนักพิมพ์และร้านหนังสือก็ต่างตกอยู่ในภาวะชะลอตัว จากที่เคยมีหลายสาขาก็ลดจำนวนลง จากเป็นร้านใหญ่ก็ปรับขนาดให้เล็กลง รวมถึงเพิ่มสินค้าอื่นๆ เข้ามาขายร่วมกับหนังสือด้วย


| ยุคเปลี่ยนผ่าน จาก ‘กระดาษ’ เป็น ‘ดิจิทัล’

เมื่อปี พ.ศ 2551 มีการสำรวจว่าคนไทยอ่านสื่อที่เป็นหนังสืออยู่ที่ 99.6% ในขณะที่ปี พ.ศ 2561 ลดลงเหลือแค่ 88.0% เพราะหันไปอ่านสื่อใหม่อย่างสื่อดิจิทัลมากขึ้นถึง 75.4% 

เมื่อในวันที่กระดาษกำลังถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิทัล จึงทำให้อนาคตข้างหน้าของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ในไทยถูกตั้งคำถามว่า ต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ? 


| ตลาดหนังสือในวันนี้

ช่วงปี พ.ศ. 2550 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PUBAT มีสำนักพิมพ์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้จัดพิมพ์อยู่ถึง 491 สำนักพิมพ์ และมีการผลิตหนังสือใหม่ออกสู่ท้องตลาดถึง 955 เล่มต่อเดือน เฉลี่ย 32 ปกต่อวัน ก่อนที่ตลาดสื่อสิ่งพิมพ์จะชะลอตัวลงเรื่อยๆ จนเมื่อ พ.ศ. 2560 มีหนังสือใหม่ออกเพียง 562 เล่มต่อเดือน หรือเฉลี่ยแค่ 18 ปกต่อวัน ส่งผลให้รายได้รวมของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ก็ลดลงรื่อยๆ
– พ.ศ. 2557 ประมาณ 29,300 ล้านบาท
– พ.ศ. 2558 ประมาณ 27,900 ล้านบาท 
– พ.ศ. 2559 ประมาณ 27,100 ล้านบาท
– พ.ศ. 2560 ประมาณ 23,900 ล้านบาท
– พ.ศ. 2561 ประมาณ 20,000 ล้านบาท


| คนไทยซื้อหนังสือช่องทางไหน

ปัจจุบันแม้การสั่งออนไลน์จะง่ายและรวดเร็ว รวมถึงหนังสือหลายๆ เล่มก็มีบริการให้อ่านแบบ E-Books แต่รู้หรือไม่จากการสำรวจของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2561 กลับพบว่าคนไทยยังชอบไปเดินซื้อหนังสือจากร้านหนังสือมากที่สุดคือ 47% งานหนังสือ 35% สั่งออนไลน์ 15% และ E-Books 15% โดยประเทศไทย มีจำนวนร้านหนังสือทั่วประเทศ ประมาณ 783 แห่ง แบ่งเป็นร้านหนังสือรายใหญ่ 614 ร้าน และร้านหนังสืออิสระ 169 ร้าน กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ


| ใครว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด

ถึงแม้ตลาดสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในช่วงถดถอย ทว่าจำนวนเล่มที่แต่ละคนอ่านหนังสือนั้นกลับมากขึ้น เมื่อผลสำรวจจากงานสัปดาห์หนังสือปี พ.ศ. 2561 ระบุไว้ว่า คนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยแล้วอยู่เดือนละ 3 เล่ม 

สอดคล้องกับผลสำรวจการอ่านของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่บอกว่าปี พ.ศ. 2561 คนไทยใช้เวลาอ่านทุกรูปแบบเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน และนิยมอ่านสื่อสังคมออนไลน์ 69.2% รองลงมาอ่านหนังสือพิมพ์ 60.5% ความรู้ทั่วไป 48.9% วารสาร 40.3% ศาสนา 38.1% นิตยสาร 31.1% หนังสืออ่านเล่น 29.7% และอ่านแบบเรียน 26.1%

ผลการสำรวจยังบอกอีกว่า คนไทยตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไปมีตัวเลขการอ่านอยู่ที่ 78.8% หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 1.1% ทั้งยังใช้เวลาอ่านทุกรูปแบบเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 80 นาทีต่อวัน แบ่งตามอายุได้ดังนี้
– วัยรุ่น 109 นาทีต่อวัน
– เด็ก 83 นาทีต่อวัน
– วัยทำงาน 77 นาทีต่อวัน
– ผู้สูงอายุ 47 นาทีต่อวัน

มาถึงตรงนี้เราเชื่อว่าวงการหนังสือหรือสื่อสิ่งพิมพ์ในไทยไม่มีวันตายแน่นอน เพราะถึงแม้คนจะหันไปอ่านแบบออนไลน์มากขึ้น แต่หลายคนก็ยังชอบสะสมและเดินเลือกดูหนังสือตามร้านหนังสือมากกว่า รวมถึงยังชอบความรู้สึกที่ได้สัมผัสเนื้อกระดาษ ได้กลิ่นหนังสือใหม่ ควบคู่ไปกับการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ซึ่งมันให้รู้สึกดีมากจริงๆ


Sources :
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
Songsue : https://bit.ly/2QH0kED
TCIJ : https://bit.ly/3hKtdvt

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.