ถ้าทุกคนได้เห็นภาพตรงหน้าอย่างที่เราเห็น ต้องไม่เชื่อแน่ๆ ว่ากิจกรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอยู่ในอาคารเก่าย่านอรุณอมรินทร์ ที่เคยเป็นตึกร้างมาก่อน เพียงแค่เลี้ยวเข้าซอยอรุณอมรินทร์ 39
ทั้งภาพของคนเล่นเซิร์ฟสเก็ตในลานสเก็ตทรงโค้งซึ่งอยู่กลางพื้นที่ มีร้านอาหารและคาเฟ่รายรอบ พร้อมผู้มาใช้บริการที่นั่งกระจัดกระจายกันเป็นหย่อมๆ บรรยากาศเหมือนอยู่ในโรงอาหารของไฮสกูลต่างประเทศที่มีโต๊ะวางเรียงรายให้เลือกนั่งได้ตามใจ
ไหนจะเสียงเพลงที่เปิดขับกล่อมช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้พื้นที่ และโซนจัดแสดงศิลปะที่มีศิลปินคอยชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมไปด้วยกัน
อมร สุนทรญาณกิจ ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ ยิ่งเซอร์ไพรส์เราไปอีก เมื่อเขาบอกว่าก่อนหน้าจะเป็นลานเซิร์ฟสเก็ตอินดอร์สุดเก๋อย่าง P.Sherman The Enjoyable Ground ที่นี่เคยเป็นโรงงานเย็บผ้าของครอบครัวสุนทรญาณกิจมาก่อน แต่หลังญาติๆ ย้ายออกไปตั้งโรงงานอยู่นอกเมือง ตึกแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างมามากกว่าสิบปี
พอมรดกถูกส่งต่อมาให้สถาปนิกอย่างอมร เขาจึงเริ่มคิดอยากรีโนเวตตึกแห่งนี้ให้ดีขึ้นกว่าเก่า
เปลี่ยนตึกร้างเป็นลานเซิร์ฟสเก็ต
“เพราะที่บ้านพี่น้องทุกคนมีธุรกิจกันหมดเลย ตอนแรกผมเลยกะจะรีโนเวตทำเป็นออฟฟิศ เปิดชั้นล่างให้เช่าทำร้านอาหาร ร้านตัดผม หรือคาเฟ่เล็กๆ ให้พนักงานในออฟฟิศมาใช้ แต่ก็ไม่ได้ทำสักที พอดีกับตอนโควิด เซิร์ฟสเก็ตค่อนข้างดัง เราก็ไปเริ่มเล่นด้วย พอเล่นๆ ไปเริ่มสนุก จริงจัง เลยเริ่มชวนเพื่อนมาเล่นกันที่นี่”
พื้นที่ชั้นสองของตึกร้างถูกใช้งานอีกครั้งเป็นสนามอินดอร์สำหรับเล่นเซิร์ฟสเก็ตช่วงหน้าฝน ส่วนลานหน้าอาคารก็ถูกใช้เป็นสถานที่แฮงเอาต์ที่เขาและเหล่าเพื่อนๆ จะพกเก้าอี้แคมป์ปิ้งมานั่งกินดื่มให้หายเหนื่อย
ตอนนั้นเองที่อมรเห็นความเป็นไปได้ใหม่ของพื้นที่ คิดรีโนเวตปรับปรุงพื้นให้เหมาะกับการเล่นมากขึ้น และชวนน้องชายมาเปิดคาเฟ่ทำเป็นพื้นที่รองรับเพื่อนๆ ชาวเซิร์ฟสเก็ต
“ตอนที่คิดจะทำ มันเริ่มมีลานสเก็ตเกิดขึ้นเยอะ ยิ่งเราอยู่ในซอยอย่างนี้ก็ยิ่งทำให้อยู่รอดต่อไปยาก เพราะถึงเซิร์ฟสเก็ตจะถูกบรรจุเป็นกีฬาไปแล้วยังไงก็ไม่มีทางหายไปร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราก็ต้องยอมรับว่ากระแสเซิร์ฟสเก็ตก็คงไม่ได้อยู่ไปนานขนาดนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสรอดทางธุรกิจเราเลยลองจับโมเดลมาร์เก็ตแบบที่อเมริกา ที่มีทั้งร้านอาหารและกิจกรรมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน พยายามหาคนมาเปิดให้ครบ ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านเหล้าและดนตรี คัดสรรแต่ของดีที่ยังไม่ค่อยมีในฝั่งธนฯ”
เปลี่ยนฝั่งธนฯ ให้คึกคัก
นอกจากจะเพิ่มความหลากหลายให้พื้นที่ ในฐานะที่เขาเองก็เป็นคนทำธุรกิจอาหารมาก่อน อมรมองว่าวิธีนี้ยังส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากเท่าการทำร้านแล้วรับผิดชอบทั้งค่ารีโนเวต ทำครัว ทำห้องน้ำ ทำที่นั่ง ถ้าใช้โมเดลนี้คนที่ทำร้านอาหารก็จะประหยัดงบลงไปได้เยอะ โดยในช่วงเริ่มต้นที่นี่มีร้านให้บริการทั้งหมด 3 ร้าน
Minami at P.Sherman
ร้านไก่อบสไตล์ญี่ปุ่นจากย่านสุขุมวิท ธุรกิจแรกสุดของเขาที่ปรับสูตรมาจากรสชาติอาหารในความทรงจำที่กินตอนไปจังหวัดคางาวะ ประเทศญี่ปุ่น
เมนูเด่นของที่นี่คือ Salt Garlic Honetsuki Dori ไก่อบน่องติดสะโพกรสเกลือและกระเทียมย่าง ที่มาพร้อมผักเคียงและน้ำจิ้ม 3 รส ที่พนักงานจะโชว์การเบิร์นหนังไก่ตรงหน้า ทำให้เราได้ลิ้มรสหนังไก่กรอบๆ คู่กับไก่เนื้อฉ่ำ นอกจากนั้น ยังมีด้งให้เลือกหลายแบบ ทั้งข้าวหน้าปลาไหลย่าง ข้าวหน้าเนื้อย่าง ข้าวหน้าไก่ทอดแกงกะหรี่ รวมไปถึงเมนูทานเล่นอื่นๆ ไว้แกล้มเครื่องดื่ม ตั้งแต่แตงกวาหยุดกินไม่ได้ ทาโกะวาซาบิ และถั่วแระญี่ปุ่น
Charlies Caffeine
ต่อด้วยร้านกาแฟอย่าง Charlies Caffeine ที่นอกจากจะเสิร์ฟกาแฟรสชาติดีจากโรงคั่วของ Roast Runner ในราคาที่ไม่สูงเกินไป ที่นี่ยังมีขนมอย่าง Nutella Bites ไว้คอยบริการ รวมทั้งมีเมนู All Day Brunch รอเสิร์ฟอยู่ทั้งวัน ไม่ต้องเดินทางไปกินไกลถึงในเมือง
Liquors Planet
ถ้าอยากสังสรรค์กับเพื่อนยาวๆ ที่นี่ก็มีร้านเครื่องดื่ม Liquors Planet ไว้รองรับคนที่อยากนัดเพื่อนมาฟังดนตรีสดยามค่ำคืนด้วย จะแอลกอฮอล์ มิกเซอร์ หรือซอฟต์ดริงก์ที่นี่ก็มีครบ
“เราพยายามตกแต่งพื้นที่ให้มีมุมหลากหลายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อยากทำให้คนรู้สึกแปลกใหม่ทุกครั้งที่เข้ามา ให้เขารู้สึกว่าสถานที่นี้มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่สถานที่ที่หยุดนิ่ง นั่งได้ไม่อึดอัด อากาศถ่ายเท โปร่งสบาย”
การที่พื้นที่นั่งและลานสเก็ตอยู่เชื่อมติดกันนั้นมีเหตุผลซ่อนอยู่ นอกเหนือจากเรื่องโครงสร้างของพื้นที่ที่เป็นพื้นต่างระดับมาแต่ต้น และมากไปกว่าด้านการออกแบบที่หากลานสเก็ตอยู่ตรงกลางจะดูเท่และโดดเด่น
เขาบอกว่าที่ทำแบบนี้เพราะตั้งใจอยากให้ที่นี่เป็นสถานที่ที่คนที่ไม่เคยเล่นเซิร์ฟสเก็ตเลยมีโอกาสได้ลองเล่น
“การที่คนที่ไม่เคยเล่นเลย อยู่ดีๆ จะขับรถไปลานสเก็ตแล้วลองเล่นดู มันเกิดขึ้นน้อยมากๆ แทบเป็นไปไม่ได้เลย พอเป็นแบบนั้นมันเลยกลายเป็นว่าแทบจะไม่มีผู้เล่นใหม่มาเล่นเซิร์ฟสเก็ตเพิ่มขึ้นเลย เพราะเขาจะกังวล ไม่กล้าเริ่ม เราเลยคิดว่าถ้าออกแบบสถานที่ให้เห็นลานชัดเจน สมมติว่ามานั่งรับประทานอาหารที่นี่ เห็นคนเล่นแล้วเกิดสนใจ มันก็เพิ่มโอกาสให้เขาได้ลองเล่นมากขึ้น พื้นที่ของเราจะเป็นที่ที่สร้างคนเล่นสเก็ตใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เด็กที่ไม่เคยเห็นกีฬาชนิดนี้มาเห็นก็อาจจะทำให้เซิร์ฟสเก็ตยังอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ”
ส่วนคนที่เล่นเป็นแล้วก็มีพื้นที่ชั้นสองเป็นลานสเก็ตเต็มชั้นคอยรองรับ มีเนินที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด ซึ่งผ่านการเซอร์เวย์มาแล้วว่าคนดูก็ดูได้สนุก คนเล่นก็เล่นแล้วไม่เบื่อ
ทั้งสองสนามมีค่าบริการอยู่ที่ 250 บาท จ่ายครั้งเดียวก็สามารถเล่นได้ทั้งวัน และหากไม่มีเซิร์ฟสเก็ตเป็นของตัวเองที่นี่ก็มีให้ยืมฟรีด้วย
เปลี่ยนย่านนี้ให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาส
นอกจากมีลานเซิร์ฟสเก็ต คาเฟ่ และร้านอาหารคอยให้บริการ อมรยังอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับศิลปินจบใหม่ หรือแม้แต่คนที่กำลังเรียนอยู่ก็ตาม ได้มีโอกาสแสดงผลงานหรือมีพื้นที่ขายงาน
เขาบอกว่าความคิดนี้เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะเวลาทำงานสถาปัตย์แล้วต้องหาซื้อรูปไปตกแต่งภายในให้ลูกค้า สถานที่หาซื้อยังไม่หลากหลายนัก หากอยากได้ภาพที่ไม่มีลิขสิทธิ์ก็ต้องไปหาตามห้างฯ Index Ikea หรือจตุจักร แต่หากอยากได้แบบมีลิขสิทธิ์ราคาก็โดดสูงจนบางครั้งไม่สามารถจ่ายได้
“ผมว่ามันยังเหลือช่องทางตลาดตรงนี้ที่เราได้มาเจอกันตรงกลาง เราได้ภาพ ศิลปินก็ได้แสดงและมีพื้นที่ขายผลงาน เลยชวนศิลปินหน้าใหม่เอาภาพมาติดตกแต่งและแปะราคาขายไว้ รวมถึงเปิดเป็นพื้นที่สำหรับจัดอีเวนต์ที่นิทรรศการภายในจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ”
ตัวอย่างงานนิทรรศการและเวิร์กช็อปที่ผ่านมามีทั้ง The Dreamer Exhibition งานแสดงที่ผสมระหว่างงานศิลปะภาพวาด และงานเพนต์บนชุดแฟชั่นจาก Ake Nattapon, Art Jamming & Paintertainment เวิร์กช็อปวาดภาพโดยไม่พึ่งพาเทคนิค เน้นใช้อารมณ์ความรู้สึกโดย Pop Zheng
หากศิลปินคนไหนสนใจ อมรบอกว่าสามารถติดต่อมาสอบถามและพูดคุยได้เลย พื้นที่แห่งนี้ยินดีต้อนรับทุกคน เพราะเขาตั้งใจอยากให้ที่นี่เป็น Enjoyable Ground ที่ใครชอบอะไรก็มาใช้เวลาร่วมกันที่นี่ได้หมด ตั้งแต่เช้าจรดเย็น
“ลูกค้าหลายคนมาก็บอกว่าดีใจ หลายคนรู้สึกว่าย่านฝั่งธนฯ ยังขาดสเปซแบบนี้อยู่” เขาเล่าให้ฟังถึงฟีดแบ็กจากลูกค้าที่มาเยือน
“ผมเองถึงจะออกไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเพราะสะดวกกับงานมากกว่า แต่เราก็อยู่ฝั่งธนฯ มาตั้งแต่เด็ก เราเห็นว่าสุดท้ายเพื่อนที่อยู่ฝั่งธนฯ เวลาจะไปเที่ยว ไปแฮงเอาต์ เขาก็ขับเข้าไปเจอกันที่สุขุมวิทอยู่ดี เพราะแถวนี้ยังไม่มีสิ่งที่เราต้องการ ไม่มีร้านดื่ม หรือร้านอาหารในรูปแบบที่เราอยากกิน เลยทำให้ผมอยากจะยกบรรยากาศสุขุมวิทเข้ามาในฝั่งธนฯ บ้าง อยากเพิ่มความหลากหลายให้โซนนี้มากขึ้น
“จริงๆ ถ้าสังเกตจะเห็นเลยว่าวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันพิเศษต่างๆ ร้านอาหารในฝั่งธนฯ จะมีลูกค้าเต็มแน่นมาก เพราะเขาอยากไปใกล้บ้าน อยากใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ร้านเราเลยน่าจะตอบโจทย์คนฝั่งนี้ได้”
หรือหากเป็นไปได้ เขาก็อยากเป็นหนึ่งในเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในย่าน ผ่านการจ้างงานชาวบ้านแถบนี้ หรือแม้แต่เปิดพื้นที่ให้ร้านรถเข็นต่างๆ ที่เขาวิ่งอยู่ตรงนี้ เข้ามาจอดขายเพิ่มความหลากหลายให้ลูกค้ามากขึ้น
“ผมเคยเรียนมา เขาบอกว่าการเป็นย่านที่สำเร็จได้ต้องมี 5 อย่าง หนึ่งคือ Aesthetic ความสวยงาม แถวนี้ก็มีวัดพระแก้ว มีอาคารบ้านเรือนเก่าๆ ที่ยังสวยงาม สองคือ พื้นที่สีเขียว ก็มีสนามหลวง มีสวนสาธารณะใกล้ๆ สามคือ ออฟฟิศ เป็นย่านธุรกิจที่มีคนเข้าออกตลอดเวลา สี่ มีธุรกิจร้านค้า ก็คือร้านอาหารอย่างเรา สุดท้ายคือ Social Welfare โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ฝั่งธนฯ โซนปิ่นเกล้าตรงนี้มีครบทั้งหมด”
หากวัดระดับการเดินทางไปสู่ความสำเร็จ อมรบอกว่าตอนนี้ P.Sherman เพิ่งดำเนินมาเกือบจะถึงก้าวที่หนึ่งเท่านั้น แต่เขาก็เชื่อมั่นว่าพื้นที่แห่งนี้จะไปต่อได้ เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลา ใช้ความอดทนกับมันสักหน่อย
P.Sherman The Enjoyable Ground
เวลาทำการ : จันทร์-อาทิตย์ เวลา 09.30 – 23.00 น.
ที่ตั้ง : 37 ซอยอรุณอมรินทร์ 39
วิธีเดินทาง : BTS บางยี่ขัน ต่อวินมอเตอร์ไซค์
แผนที่ : https://goo.gl/maps/vRd6tdANnPbShzep7
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/psherman.co