พระสติ พระเครื่องพลาสติกที่บอกให้รักสิ่งแวดล้อม - Urban Creature

เมื่อช่วงงาน Bangkok Design Week 2022 ที่ผ่านมา หลายคนน่าจะได้ไปร่วมกิจกรรมหรือได้ยินข่าวเกี่ยวกับ ผ้าป่า Design Week โปรเจกต์เชิงทดลองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการทอดผ้าป่า ในการนำวัฒนธรรมการแบ่งปันสู่คนรุ่นใหม่ ด้วยวิธีการทำบุญแบบใหม่ ในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล

สิ่งที่ทำให้งานผ้าป่างานนี้ต่างจากงานผ้าป่าทั่วไปคือ การเชื่อมโยงระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาคให้เกิดความสะดวก โปร่งใส มีทางเลือกในการบริจาคหลากหลายตามความสนใจของผู้บริจาค ทั้งวัด การแพทย์ และการศึกษา ทั้งยังเพิ่มทางเลือกในการบริจาคขยะพลาสติกและขวดแก้วสะอาดแทนเงิน เพื่อนำไป Upcycle เป็นโปรดักต์ต่อไปด้วย

ทว่า นอกจากไอเดียสร้างสรรค์ที่ปรับประยุกต์ความเชื่อประเพณีของคนไทยที่ดูเชยให้กลับมาร่วมสมัย จนคนไปร่วมงานแน่นขนัดชนิดที่เรียกว่างานผ้าป่าแตกแล้ว ‘พระสติ’ ที่สร้างขึ้นจากขยะพลาสติก เพื่อแจกเป็นที่ระลึกกับผู้ที่บริจาค ผู้รับบริจาค และผู้สนับสนุนโครงการ ก็ถือเป็นไฮไลต์ดึงดูดผู้คนให้มาร่วมงานไม่ต่างกัน จากวัสดุที่คนทิ้งขว้าง ไม่สนใจ กลับกลายเป็นของหายากที่ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ยังไม่นับสตอรี่ที่มาพร้อมกับการออกแบบ และการนำเสนอความเชื่ออิงหลักพุทธร่วมสมัยที่เตือนให้บริโภคอย่างมีสติ สนับสนุนความเท่าเทียม และรักษ์โลกอีกนะ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ผ่านการศึกษาและคิดมาอย่างถี่ถ้วน เพราะต่อให้คนอยากได้พระเครื่องเพราะความแรร์หรือรูปลักษณ์เท่ๆ ก็ตาม ทว่า อย่างน้อยๆ คนคนนั้นจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับหลักศาสนา สิ่งแวดล้อม หรือการรีไซเคิลไปด้วย

เบื้องหลังของไอเดียพระสตินี้คืออะไร กว่าขยะพลาสติกจะกลายมาเป็นพระเครื่องยอดฮิตที่ใครๆ ต่างอยากได้มาบูชา ต้องผ่านกระบวนการคิดและออกแบบอย่างไรบ้าง เรามาคุยกับ ‘ไจ๋–ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์’ เจ้าของแบรนด์ Qualy ที่เป็นหัวหอกงานบุญผ้าป่า Design Week และการทำพระเครื่องรุ่นนี้กัน

พระสติ พระเครื่องพลาสติก

พระเครื่องแจกในงานบุญ

สำหรับใครที่รู้สึกคุ้นเคยกับชื่อแบรนด์ Qualy ก็ไม่ต้องประหลาดใจ เพราะถ้าคุณเคยเดินดูของใช้และของตกแต่งบ้านในร้านประเภทนี้ แล้วพบโปรดักต์น่ารักๆ ในรูปทรงที่เกี่ยวกับธรรมชาติและสิงสาราสัตว์ เช่น กล่องทิชชูทรงกระถางต้นกระบองเพชร จานรองรูปเมฆ กล่องใส่สำลีที่มีรูปต้นไม้กับสัตว์อยู่ด้านใน ฯลฯ ทั้งหมดคือโปรดักต์ของแบรนด์อายุเกือบ 20 ปีนี้ ซึ่งต่อยอดจากธุรกิจโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของครอบครัว โดยธีรชัยนำขยะพลาสติกมาพลิกโฉมด้วยความคิดสร้างสรรค์ให้ดูหรูหรา ใช้งานดี จนได้รับรางวัลระดับสากลเต็มชั้นวาง

เพราะมีความเชี่ยวชาญและอยู่กับการทำโปรดักต์จากขยะพลาสติกมาตลอด บวกกับมีความคิดอยากทำพระเครื่องจากพลาสติกอยู่แล้ว ทำให้ธีรชัยร่วมมือกับ ‘ตั้ม–กฤษณ์ พุฒพิมพ์’ Design Director แห่ง Dots Design Studio เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2022 ด้วยไอเดียผ้าป่า Design Week เพราะอยากใช้เวทีนี้เป็นการทดลองโปรเจกต์

ทว่า เมื่อพูดคุยและพัฒนาไอเดียพระพลาสติกกับงานผ้าป่าไปเรื่อยๆ สเกลงานก็ชักใหญ่เกินตัว ทั้งสองจึงชักชวนแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Harvbrand และกลุ่มนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่จากหลากหลายสาขาภายใต้ชื่อกลุ่ม Attanona ให้มาร่วมทีมทำงานบุญครั้งนี้ด้วยกัน จนสุดท้ายก็กลายเป็นกิจกรรมนี้อย่างที่ทุกคนเห็น โดยมีตัวชูโรงเป็นพระเครื่องสติที่ทำจากพลาสติกให้เป็นของที่ระลึกสำหรับคนที่บริจาคเงินและขยะพลาสติกตามยอดที่กำหนด

พระสติ พระเครื่องพลาสติก

พระเครื่องพลาสติกที่อ้างอิงบนหลักพุทธศาสนา

ธีรชัยแบ่งการออกแบบพระเครื่องสติเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนคอนเซปต์และส่วนการออกแบบรูปทรง โดยเขาเริ่มต้นเล่าถึงส่วนการดีไซน์ให้เราฟังก่อน

“ตั้มที่รับหน้าที่ช่างปั้นพระตั้งใจให้พระเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น เลยหยิบคอนเซปต์ของ Apple Watch มาใช้ เพราะเป็นรูปทรงที่คนยุคนี้คุ้นเคย ทั้งยังไม่รู้สึกว่าเชย ส่วนต้นแบบขององค์พระมาจากพระสมเด็จของวัดระฆังที่มีความมินิมอล เรียบง่ายตามหลักการของพุทธจริงๆ

“ฐานสามชั้นของพระนั้นก็เอามาจากเลขสามของพุทธศาสนาอย่างศีล สมาธิ ปัญญา และพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น ขณะเดียวกันเรามองว่ามันเป็นฐานของความยั่งยืนได้ด้วย อาจเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือ Circular การ Reduce Reuse Recycle ก็ได้

“และที่ด้านหลังมีคำว่าสติอยู่ในวงกลม เพราะตั้มตั้งใจให้เป็นเครื่องประดับ คนที่รับพระไปจะได้ใส่หลายๆ แบบ ใส่แบบนาฬิกาก็ได้ เวลาหยิบจับอะไรจะได้เห็นพระก่อน เตือนสติให้รู้ตัวว่ากำลังหยิบ จับ กระทำการใดๆ หรือถ้าหันองค์พระออก ด้านที่มีคำว่าสติจะประทับบนมือ เวลาถอดออกจะเห็นรอย ทั้งยังสื่อสารถึงการเตือนสติในการบริโภคสิ่งของด้วย เพราะถ้าบริโภคเยอะ ขยะก็เยอะตาม มันเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน ทีนี้เวลาซื้อของหรือทิ้งของ คนก็จะสนใจถึงที่มาที่ไปของขยะมากขึ้น”

พระสติ พระเครื่องพลาสติก
พระสติ พระเครื่องพลาสติก

ส่วนฝั่งของคอนเซปต์ ด้วยความที่ธีรชัยต้องการนำเสนอเรื่องพระและสิ่งแวดล้อม เขาจึงเลือกใช้สตอรี่หลักเกี่ยวกับการรีไซเคิลล้อไปกับการเวียนว่ายตายเกิด

“เราได้รับแรงบันดาลใจจากพุทธประวัติที่เคยเรียนมา เช่น ในอดีตกาลที่พระนำผ้าห่อศพมาอัปไซเคิลเป็นจีวรด้วยการซัก ย้อม เย็บต่อกัน เป็นต้น ก่อนที่ญาติโยมจะขออนุญาตถวายผ้าที่พระนำไปห่มได้เลย หรือกระทั่งองค์พระที่ใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างฐานเจดีย์ อิฐที่แตกหักตามวัด เพียงแต่มันถูกสื่อสารไปในทางความขลัง ทั้งที่ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าห้ามสาวกใช้อิทธิฤทธิ์ในการเผยแผ่ศาสนาด้วยซ้ำ เพราะเป็นการบิดเบือนให้คนเชื่อและกราบไหว้ในความมหัศจรรย์ ไม่ใช่คำสอน นี่จึงเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราอยากชูเรื่องนี้ขึ้นมา

“ถ้าย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของพลาสติกที่เป็นวัสดุในการทำพระของเรา จะเห็นว่าก่อนหน้านั้นหรือชาติก่อนๆ เขาอาจเป็นสัตว์และพืชที่ตายทับถมกันเป็นซาก แล้วกลายเป็นปิโตรเลียม เป็นน้ำมัน เอามาทำพลาสติกและไปสู่การทำสิ่งของ พอของพังก็รีไซเคิลวนไปวนมา ตายเกิดหลายชาติ แนวคิดนี้ใช้เทียบเคียงกับคนที่อินเรื่องเวียนว่ายตายเกิดของพุทธให้เขาพอเข้าใจได้

“ลองนึกภาพว่าเราเคยพิจารณาไหมว่าพลาสติกเป็นขยะตอนไหน สมมุติขวดน้ำที่เราดื่ม ก่อนกลายเป็นขยะมันมีความจำเป็นมากเพราะเป็นภาชนะบรรจุน้ำ แต่พอดื่มเสร็จ ระหว่างที่ขวดอยู่ในมือเราเพื่อหาที่ทิ้ง มันเริ่มใกล้เคียงกับความเป็นขยะแล้ว ทีนี้พอจะทิ้ง ตรงนี้คือจุดตัดว่าเราจะส่งเขาไปเกิดดีๆ หรือลงนรก ถ้าเราทิ้งพลาสติกในที่ที่มีการคัดแยก เขาก็มีโอกาสไปเกิดเป็นอะไรดีๆ มีคนเอาไปใช้งาน แต่ถ้าทิ้งมั่วๆ อาจลงคลองหรือทะเล มีสิทธิ์เป็นไมโครพลาสติก ไม่ได้ผุดได้เกิด และเรามองว่าเมื่อนำพลาสติกมารีไซเคิลทำเป็นองค์พระที่เปรียบเหมือนพระอรหันต์ที่เป็นชาติสุดท้ายแล้ว ก็หวังว่าตัวพลาสติกจะไม่ถูกทิ้งให้เป็นของเดือดร้อน หรือต้องนำไปบดกลับมารีไซเคิลอีก”

พระสติ พระเครื่องพลาสติก

นอกจากนี้ ธีรชัยยังหยิบเรื่องความเท่าเทียมมาสื่อสารผ่านวัสดุที่ใช้ทำองค์พระด้วย เพราะก่อนทำโปรเจกต์นี้เขาได้ไปพูดคุยกับคนมากมายเพื่อเก็บข้อมูลมาแล้ว 

“หลายคนยึดติดว่าวัสดุที่จะทำพระต้องมีค่า เช่น โลหะ ทองคำ แต่เรามองว่าการจะไปเป็นพระได้จำเป็นต้องไฮโซจริงหรือ ในพุทธกาล ศาสนาพุทธเกิดขึ้นในอินเดียช่วงที่เรื่องวรรณะเข้มข้นจัดๆ ใครเกิดในวรรณะไหนต้องอยู่วรรณะนั้น ข้ามวรรณะไม่ได้ แต่ศาสนาพุทธกลับเปิดรับทุกชนชั้นให้เข้ามาบวชเป็นพระได้ เราเลยนำมาสวมกับมุมมองที่ว่า แล้วทำไมพลาสติกจะเอามาทำพระบ้างไม่ได้ล่ะ ในเมื่อเป็นวัสดุหนึ่งเหมือนกัน ขนาดองคุลีมาลฆ่าคนไปมากมายยังได้โอกาสบวชเป็นพระเลย แล้ววัสดุที่ถูกทิ้งเพราะคนตัดสินใจทิ้งเป็นขยะ ทำไมจะกลับมาเป็นอะไรดีๆ ไม่ได้” ธีรชัยอธิบาย

“เรารู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นประเด็นอ่อนไหว เพราะเป็นสิ่งที่คนกราบไหว้บูชา แต่เราก็ตั้งใจทำทุกอย่างด้วยความเคารพ และสื่อสารเนื้อหาอย่างดี ให้เกียรติทุกคน”

พระสติ พระเครื่องพลาสติก

พระเครื่องที่ให้คุณค่าเปลี่ยนไปตามเนื้อวัสดุ

ถึงจะทำจากพลาสติก แต่พระเครื่องสติก็ไม่ได้เหมือนกันทุกองค์ อย่างบางองค์มีสีสันไม่เหมือนองค์อื่น หรือบางองค์มีพื้นผิวที่ต่างออกไป ที่เป็นเช่นนั้น เพราะตัววัสดุพลาสติกที่ใช้ปั้นพระมีที่มาที่ไม่เหมือนกัน ส่งผลให้ธีรชัยเลือกนำเอกลักษณ์ของวัสดุต่างๆ มาสร้างสตอรี่ที่โดดเด่นให้แต่ละองค์พระด้วย

“พลาสติกมีหลายชนิด แค่ขวดน้ำกับฝาขวดวัสดุก็ไม่เหมือนกันแล้ว ยิ่งกล่องนมกับถุงฟอยล์ไม่ได้ง่ายต่อการรีไซเคิล แถมกระบวนการกว่าจะรวบรวมเอามาทำความสะอาดก็ลำบาก ถุงฟอยล์ปกติต้องเผาเท่านั้น เพราะรีไซเคิลยาก ไม่คุ้ม เราก็ไปคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่รีไซเคิลพลาสติกประเภทนี้ได้ กลายเป็น rFoil ซึ่งเป็นเนื้อวัสดุที่คนชอบที่สุด เพราะมีสีเขียวเป็นจุดกลิตเตอร์ ส่วนพลาสติกชนิดทั่วไปจะเป็นเนื้อธรรมดา

“ทีนี้เราก็ใส่สตอรี่ที่สอดคล้องกับที่มาของวัสดุ อย่างตัว rFoil มาจากถุงขนม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่มทรีอินวันทั้งหลาย นอกเหนือจากเรื่องทำลายสิ่งแวดล้อม เราก็สื่อสารเรื่องสุขภาพด้วย ถ้าใครบูชาพระเครื่องเนื้อนี้จะทำให้ตระหนักว่ามันมาจากอาหารที่ทำให้อ้วน สุขภาพไม่ดี เป็นการเตือนสติไม่ให้กินจุกจิก จะได้รูปร่างดี สุขภาพดี เป็นมงคลแบบหนึ่งที่ทำได้จริง”

พระสติ พระเครื่องพลาสติก

พระเครื่องที่ทำจากมวลสารที่มาพร้อมกับสตอรี่มงคลอื่นๆ ยังมีอีกหลายประเภท ยกตัวอย่าง พระที่ทำจากซากแหอวน บูชาแล้วจะมั่งคั่ง เอาไว้ดักทรัพย์ เนื่องจากแหอวนเป็นเครื่องมือทำมาหากิน จึงใช้เตือนสติว่าถ้าอยากได้ทรัพย์ก็ต้องไปทำงาน หรือหากบูชาพระที่ทำจากขวดน้ำพลาสติก ก็จะมีเงินทองไหลมาเทมา เนื่องจากปรับตัวได้เหมือนน้ำเปลี่ยนทรงเมื่อเปลี่ยนภาชนะ มองหาโอกาสจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าพระเครื่องทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงมงคลกับการต้องลงมือทำทั้งสิ้น เนื่องจากธีรชัยต้องการทำให้คนหวนกลับไปเห็นแก่นของพุทธจริงๆ นั่นเอง

“เราคิดว่าการพึ่งพาอะไรต่างๆ ที่มองไม่เห็นไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด เพราะมันช่วยทางจิตใจ แค่อาจจะวัดผลไม่ได้ขนาดนั้น แต่การที่มีอะไรมากระตุ้นเตือนให้เราลงมือทำให้เป็นกิจจะลักษณะ มันน่าจะเห็นผลมากกว่า 

“เราพยายามสื่อสารในทิศทางนี้เพื่อให้สอดคล้องกับทางพุทธที่สอนให้เราเป็นที่พึ่งแห่งตน อยากได้อะไรก็ทำก็สร้างขึ้นมาเอง โดยมีองค์พระเป็นขวัญกำลังใจ ช่วยด้านปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ อีกอย่างพอคนที่ได้พระไปเล่าเรื่องพระให้ใครฟังก็จะเล่าเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยโดยปริยาย”

พระสติ พระเครื่องพลาสติก

พระเครื่องที่จะไม่กลายเป็นขยะพลาสติกอีกแล้ว

แม้ธีรชัยจะให้คำตอบต่อความกังวลเรื่องความเชื่อและความเหมาะสมทางศาสนาที่เป็นปัญหาในการทำพระเครื่องชุดนี้ไปแล้วในตอนต้น แต่ก็ยังมีเสียงสะท้อนที่กังวลว่าท้ายที่สุดแล้วพระเครื่องที่ทำจากพลาสติกเหล่านี้จะกลายเป็นขยะที่คนทิ้งขว้างอยู่ดีหรือไม่

“ในทางเศรษฐศาสตร์ อะไรที่เราได้มายากๆ จะมีค่า ซึ่งเราคงไม่เอาไปทิ้งอยู่แล้ว อย่างการจะได้พระองค์นี้ คุณต้องเดินทางไปยังงานบุญที่เราจัดแล้วทำบุญบริจาคเงิน เพื่อที่จะได้รับพระ ไม่ใช่ว่าทำบุญออนไลน์แล้วรอรับพระที่บ้าน” เขาเล่า

“นอกจากรับเงิน เรายังรับขยะพลาสติกสะอาดหนัก 1 กิโลกรัม ซึ่งกว่าจะสะสมขยะพลาสติกได้ขนาดนั้น แถมยังต้องหิ้วไปที่งานอีก มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อีกอย่างคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมข่าวสิ่งแวดล้อม พวกเขาย่อมอินเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าพระหรือศาสนาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคุณค่าของการได้รับพระสติของพวกเขาจะเป็นในแง่ของสะสม สัญลักษณ์ เครื่องประดับ หรืออะไรที่ไว้เตือนใจมากกว่า

พระสติ พระเครื่องพลาสติก

“ถ้าย้อนไปดูตอนงานผ้าป่า Design Week จะเห็นเลยว่ามีแต่คนอยากได้พระเครื่อง เราทำไม่พอด้วยซ้ำ เนื่องจากมีจำนวนจำกัด แล้วพระองค์หนึ่งใหญ่กว่าฝาขวดน้ำนิดเดียวเอง แต่พลังของอะแวร์เนสเรื่องสิ่งแวดล้อมนี่ยิ่งใหญ่มาก ต่อให้คนที่ได้รับพระทิ้งพระไปจริงๆ แต่เราได้ขยะพลาสติกกลับคืนมาจากสิ่งแวดล้อมเยอะกว่ามากเลย ทั้งนี้ทั้งนั้นผมเชื่อว่าพระจะไม่ถูกทิ้งแน่นอน”

ยอดเงิน 321,827 บาท ขยะพลาสติกสะอาด แบ่งเป็นพลาสติกจำนวน 58.1 กิโลกรัม และแก้ว 63.8 กิโลกรัม คือผลลัพธ์ที่กิจกรรมผ้าป่า Design Week สร้างขึ้น โดยมีองค์พระสติเป็นสิ่งชูโรง 

ขณะเดียวกัน ในฐานะที่ธีรชัยเป็นคนทำธุรกิจเกี่ยวกับการนำขยะพลาสติกมาสร้างมูลค่าให้เป็นโปรดักต์ เขามองว่าการจัดกิจกรรมแบบนี้คือการเพิ่มโอกาสให้คนทั่วไปรับรู้ถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเรามองว่านี่เป็นผลดีในระยะยาวต่อสังคมภาพรวมนอกเหนือจากเงินบริจาคและจำนวนขยะพลาสติกที่ได้รับเสียอีก

“เราตั้งใจจะใช้พระเครื่องสติกับกิจกรรมในอนาคตต่อไปเรื่อยๆ และอาจมีสิ่งของใหม่ๆ มาต่อยอดเพราะเราเองก็ได้รับฟีดแบ็กทั้งเชิงบวกเชิงลบ รวมถึงไอเดียน่าสนใจจากคนที่มาร่วมงาน โดยจะใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาโครงการต่างๆ ของเราต่อไป” ธีรชัยทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

พระสติ พระเครื่องพลาสติก

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.