หมอแดง พรศักดิ์ ให้ทำสิ่งที่อยากทำก่อนตาย - Urban Creature

สวัสดีตัวฉันในเวอร์ชันที่ยังมีชีวิตอยู่

ทุกเช้าที่ลืมตาตื่น หญิงวัยรุ่นคนนี้บอกตัวเองเสมอว่า “ขอให้วันนี้เป็นวันที่ดี” เช่นเดียวกับวันที่กำลังนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ให้ทันเดดไลน์ แม้ความจริงมันอาจจะไม่ดีตั้งแต่ Work from Home ที่ต้องอุดอู้อยู่ในบ้านจนเครียดแล้วก็เถอะ

ทว่าไม่รู้เมื่อไหร่จะเป็นวันสุดท้ายของชีวิต การประโลมใจตัวเองพร้อมทำในสิ่งที่รักอย่างเต็มที่ อาจทำให้ไม่เสียดาย หรือเสียดายน้อยที่สุดตอนตายก็ได้มั้ง เพราะยอมรับอยู่เนืองๆ ว่าทุกคนต้องมีวันตายไม่ต่างจากวันเกิด

เคยจินตนาการเล่นๆ เหมือนกันนะ ว่าถ้ารู้วันตายจะทำอะไรบ้าง

กินเค้กร้านโปรด

เปิดดูซีรีส์ที่ กงยู เล่น เพราะเป็นรักแรกตั้งแต่ประถมฯ

เป็นไปได้ก็อยากไปคอนเสิร์ต EXO กับ NCT ศิลปินเกาหลีที่ติ่งจนบ้านมีแต่อัลบั้ม แท่งไฟ และโฟโต้บุ๊กของพวกเขา

อะไรอีกดีล่ะ…บอกรักแม่ บอกรักพ่อ บอกรักแฟน บอกรักเพื่อน และบอกพวกเขาว่าช่วยใช้ชีวิตต่ออย่างมีความสุขทีด้วยละกัน

แม้ตอนนี้ฉันยังเป็นมนุษย์ที่แข็งแรงดี แต่แนวคิดการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของ หมอแดง-พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ ผู้อำนวยการกองสุขภาพจิต รพ.อาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ที่ให้ผู้ป่วยรู้ล่วงหน้าว่ากำลังจะตายและให้ทำสิ่งที่อยากทำก่อนตาย เช่น ดูซีรีส์เกาหลี หวีดอปป้า ฟังเพลงลูกทุ่ง ดูสารคดี หรืออยากฟังพระสวด กลับน่าสนใจ (โคตรๆ) จนต้องนัดสัมภาษณ์เพื่อคุยเรื่องความเป็นมืออาชีพของเขา

นอกเหนือจากที่ว่า คนไข้แต่ละคนยังสามารถ ‘เลือกวิธีการตาย’ โดยวิธีธรรมชาติ ถ้าหิวข้าวก็กิน ไม่หิวก็ไม่กิน ปวดแผลก็กินยา ไม่ปวดก็ไม่ต้องกิน หรือถ้าอยากหลับก็ปล่อยให้หลับโดยไม่ปลุก และหมอแดงคนนี้ยังเข้าไปจับเข่าคุยกับญาติที่ต้องการยื้อชีวิตว่า “ถ้าคุณทุกข์ทรมานแบบนี้ คุณจะอยากอยู่ต่อไหม” เพื่อให้ญาติเคารพสิทธิผู้ป่วยที่เป็นเจ้าของร่างกายอย่างแท้จริง


นักเรียนแพทย์ ที่ไม่รู้ว่าเป็นแพทย์ทำไม

ผู้ชายด้านหน้าฉันไม่ใช่หมอที่รักษาผู้ป่วยให้หายแล้วปิดจ๊อบ แต่เป็นหมอที่คำนึงถึง Palliative Care หรือการดูแลผู้ป่วยซึ่งใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ คำนึงถึงสิทธิผู้ป่วย และเชื่อเสมอว่าผู้ป่วยมีสิทธิ์เลือกที่จะตาย ในวันที่อยู่ไปก็ทรมานร่างกาย

โอ๊ะ แต่ถ้าย้อนกลับไปตอนหนุ่มเมืองชล (บุรี) คนนี้ สอบติดหมอเพราะแค่อยากเป็นตามเพื่อน และไม่รู้ว่าเป็นหมอไปเพื่ออะไร ก็ถือว่าหมอแดงวัย 54 ปีตอนนี้มาไกลไม่ใช่เล่น

“ผมเติบโตมากับค่านิยมสังคมตั้งแต่เด็ก แม้จะเป็นคนบ้านบึง ชลบุรี แต่ก็อยากมาเรียนกรุงเทพฯ เพราะใครๆ ก็บอกว่าเตรียมอุดมศึกษามันดี หรือตอนประถมฯ เขียนเรียงความส่งครูว่าโตไปอยากเป็นครู แต่สุดท้ายเลือกสอบหมอ เพราะใครๆ ก็อยากเป็นหมอกันหมด ซึ่งในใจคือเฉยมาก ตอบไม่ได้ว่าเป็นหมอทำไม ไม่ได้อยากช่วยคน ไม่อยากเข้าห้องผ่าตัด แค่คิดว่ามันมั่นคงเฉยๆ…โคตรค่านิยมเลยเนอะ”

ถึงจะไม่เคยเรียนพิเศษ ติวเข้มสอบหมอแบบเพื่อนร่วมชั้น แต่การตั้งใจเรียนในคาบและหาหนังสืออ่านเอง ก็ทำให้ผู้ชายคนนี้สอบติดวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้

ชีวิตที่ตื่นขึ้นมาเรียนหนัก สอบบ่อย อยู่เวร อ่านหนังสือเป็นบ้าเป็นหลัง และพึมพำในใจว่าเมื่อไหร่จะจบสักทีพอๆ กับการตั้งคำถามว่าการเป็นหมอที่ดีต้องเป็นอย่างไรกันแน่ ถูกสะกิดด้วยความรู้สึกสงสารตอนเห็นผู้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย เช่น มะเร็งเม็ดเลือด และไขกระดูกเสื่อม ซึ่งคนไข้เหล่านั้นต้องตายอย่างทรมาน

“คนไข้เคสหนึ่งมารักษารูมาตอยด์ตั้งแต่ข้อกระดูกเขายังดีๆ แต่พอเวลาผ่านไปข้อกระดูกคอเขาพัง ท้ายที่สุดกลายเป็นคนไข้ติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง และเสียชีวิตลง ผมเจอเคสแบบนี้มากมาย เลยตั้งข้อสังเกตว่าทุกคนต่างเห็นอนาคตว่าต้องตาย แต่กลับมารักษาและเจ็บปวดกันหมดเลย” หมอแดงว่า

เห็นเคสที่รักษาไม่หาย มุมมองต่อการเป็นหมอเปลี่ยนไปเลยไหม จากตอนแรกที่ไม่รู้ว่าเป็นทำไม-ฉันถาม

“ไม่เคยมีสื่อไหนถามผมมาก่อนเลย (หัวเราะ) พอน้องถามมา ผมนั่งนึกว่า เออ เรารู้สึกลุ้นทุกทีเวลาเห็นคนไข้เข้ามาด้วยโรคที่รักษาไม่หาย ว่าอาจารย์แพทย์จะให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือติดเตียงไปตลอดกาล และคอยลุ้นว่าจะหายไหม ถ้าไม่หายทำยังไง ความทรมานที่ติดตัวคนไข้ไป ไม่อยากเห็นเขาเจ็บปวด และวิธีไหนกันแน่จะทำให้ทุกข์น้อยที่สุด มันกลายเป็นสิ่งที่เราตั้งคำถามว่า หรือนี่จะเป็นคำตอบว่าตอนนี้เราเป็นหมอเพื่ออะไร”


หมอยังไม่อยากเจ็บ แล้วผู้ป่วยจะอยากเจ็บเหรอ

เส้นทางนักเรียนแพทย์ 6 ปีผ่านไป เขาเรียนต่อภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อีก 3 ปี แต่แพทย์ที่ยังเรียนไม่จบอย่างเขา ทำคะแนนข้อสอบเรื่องอาการปวดได้ดีกว่าเพื่อนๆ แม้จะไม่เคยผ่านหน่วยระงับปวดมาก่อน จนอาจารย์ท่านหนึ่งเห็นแววการเอาดีในด้านนี้

“ถ้าคนไข้มาผ่าตัดถุงน้ำดี จะทำอย่างไรให้ปวดน้อยสุด” นี่คือตัวอย่างคำถามที่ชี้ว่าการผ่าตัดสมัยนั้นต้องเปิดชายซี่โครง ซึ่งเจ็บมาก และการหายใจเป็นเรื่องทรมาน

“ก่อนผ่าตัดเราต้องสอนคนไข้เรื่องการออกกำลังกาย การหายใจ ควรทายา และฉีดยาชาให้ชุ่มบริเวณที่จะลงมีด หรือให้ยาแก้ปวดก่อนผ่าตัด จะทำให้ร่างกายตอบสนองความปวดน้อยลง ขณะผ่าตัดมีการให้ยาแก้ปวดอีกรอบ เมื่อผ่าตัดเสร็จการควบคุมอาการปวดจะง่ายขึ้น หรือจะใส่สายให้ยาชาชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์บล็อกสัญญาณประสาทเข้าไปในไขสันหลัง และเยื่อหุ้มปอด คนไข้จะได้ไม่เจ็บแถวนั้นและช่วยเรื่องการหายใจ” เป็นคำตอบที่เขาตอบ

ความชำนาญด้านอาการปวดของหมอแดง พาให้เขาเรียนจบออกมาเปิดคลินิกระงับปวด โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ซึ่งมีวิสัญญีแพทย์ที่สนใจด้านนี้เข้าร่วมกับเขาแค่ 2 คน

“คนสนใจเรื่องอาการปวดของคนไข้น้อยมาก ทำให้เวลามีคนส่งคนไข้เข้ามา หมอจะดูเอง ซึ่งเคสที่ส่งมาเยอะคือผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ปวดจากมะเร็งเป็นหลัก พอเคสเข้ามาเยอะๆ เราเริ่มเห็นปัญหาที่คาดไม่ถึง ความตั้งใจของเราคือทำให้เขาหายปวดด้วยยา แต่มันกลายเป็นแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สุดท้ายคนไข้ก็ยังไม่ตายดี ยังจากไปแบบไม่สงบ นั่นคือสิ่งที่เราเก็บเอามาทำการบ้าน”


ตายตาหลับ ตายสบาย ตายดี

ในวงการแพทย์มีศัพท์หนึ่งใช้เรียกผู้ป่วยที่หมอจะไม่ฟื้นฟู ไม่รักษา เพราะใกล้เสียชีวิตแล้วว่า N.R. หรือ No Resuscitation หมอแดงในฐานะ ผอ.กองสุขภาพจิต รพ.อาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ บอกฉันว่า เมื่อคนไข้ถูกตราว่า N.R. หมอบางคนจะไม่ไปดูคนไข้อีกเลย เว้นเสียแต่สั่งให้ลูกทีมไปให้น้ำเกลือ ซึ่งนั่นทำให้คนไข้ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการตายดี

“คนไข้มะเร็งปอดท่านหนึ่งบอกหมอว่า พอได้ยาแก้ปวดมันทำให้เขาหลง เขาโถมกินยาแก้ปวดเพื่อหวังให้อาการทุเลา แต่ร่างกายของเขามันไม่เหมือนเดิมมาสักระยะหนึ่ง เขาไม่ได้ออกไปตกปลาแบบที่ชอบ ความสุขของเขามันหายไป พอนัดตรวจกันอีกครั้ง เขาบอกผมว่า ไม่ต้องการกินยาแก้ปวดแล้ว แม้จะปวดก็ยอม นั่นแปลว่านิยามการตายดีของเขาเปลี่ยนไป ฉะนั้น การตายของแต่ละคนไม่เหมือนกันตามความต้องการ อยู่ที่ว่าแพทย์จะคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วยขนาดไหน”

บางคนขอไม่ทุกข์ ตายช้า ตายเร็ว ไม่สน

บางคนไม่อยากตาย เจ็บแค่ไหนก็ยอม ขอยื้อให้ถึงที่สุด

นี่คือความประสงค์และการใช้สิทธิ์ครั้งสุดท้ายในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ธรรมชาติของมนุษย์ ก่อนที่จะถึงระยะท้ายของชีวิต ร่างกายจะค่อยๆ ถดถอย สมองจะเริ่มหยุดการทำงาน คนไข้จะเบื่ออาหาร และหมดสติไปก่อนที่อวัยวะนั้นๆ จะพัง…เมื่อไม่ได้กิน ร่างกายจะค่อยๆ ซึม ค่อยๆ ง่วง และเข้าสู่นิทรา เนื่องจากไม่ได้รับสารอาหาร กระบวนการทางร่างกายจะสลายพลังงานจากโปรตีน ไขมัน จนทำให้เกิดการสะสมของสารจำพวกคีโตน และแอมโมเนีย ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวดและทำให้เคลิ้ม ช่องทางนี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนไข้ตายอย่างสงบที่หมอแดงค้นพบ

ขณะเดียวกัน หากไปยื้อชีวิตโดยการให้อาหาร กระบวนการข้างต้นจะไม่เกิด สมองสดใสก็จริง แต่ปอดที่ถูกกินด้วยฤทธิ์มะเร็งระยะสุดท้ายกลับอ่อนแรงจนเจียนตาย ทำให้มีอาการเหนื่อย และสมองยังรับรู้ว่า “มึงกำลังเจ็บอยู่”

ตายแบบรู้ว่าเจ็บ กับค่อยๆ ชัตดาวน์ตัวเองแล้วจากไปอย่างสงบ คนไข้เลือกได้

การไม่ห้ามให้ติดเชื้อ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่หมอแดงคิดว่าช่วยให้คนไข้ไปสบาย จริงๆ หลักการไม่ต่างจากการไม่บังคับว่าห้ามกินข้าว แต่ถ้ากินไม่ได้ ก็ไม่ฝืนกินแบบที่ว่าไป เพียงแต่การติดเชื้อจะทรมาน 1 – 3 วันแรก คล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ ปวดเนื้อปวดตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว แต่หลังจากนั้นปฏิกิริยาร่างกายที่กำลังสู้กับเชื้อโรคจะทำให้เกิดสารที่ทำให้เส้นเลือดขยายตัวและความดันเลือดตก พอตกปุ๊บจะรู้สึกวูบ สมองตัดการรับรู้

ไม่รับรู้อะไร ไม่ทรมาน เป็นลมภายในไม่กี่วินาที และจากไป

หรือกรณีที่คนไข้นอนแล้วไม่ตื่น หมอแดงจะแนะญาติว่าไม่ต้องไปปลุกเขานะ เพราะหากยื้อชีวิต เจาะเลือด เอกซเรย์ การฟื้นขึ้นมาอีกครั้งคุณภาพชีวิตของเขาจะเปลี่ยนไป มันทรมาน

ถ้ายื้อแล้วคุณภาพชีวิตดีก็ควรยื้อ แต่ถ้าไม่ ปล่อยให้เขามีความสุขในโลกหน้า ก็ถือเป็นสิ่งสุดท้ายที่ญาติจะให้ผู้ป่วยได้


ใครบอกว่าญาติเป็นเจ้าของผู้ป่วย

Routine ในการพบเจอผู้ป่วยระยะสุดท้ายของหมอแดง เริ่มต้นจากการประเมินเคสว่าอีกนานแค่ไหนเขาจะเสียชีวิต เช่น กินข้าวไม่ได้ คนไข้เริ่มตัวเหลือง ท้องมาน ผอมติดกระดูก หรือคนไข้ติดเตียงที่ไม่สามารถกินอะไรได้จะอยู่ได้ไม่เกิน 3 สัปดาห์ และถ้าไม่กินน้ำเลยจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 วัน

หากประเมินแล้วอยู่ได้อีกนาน เขาจะให้ความรู้และแนวทางการรักษาต่อไป แต่ถ้ารู้แล้วว่าไม่นาน ต้องรีบบอกความจริงเพื่อให้ผู้ป่วยได้ตัดสินใจถึงนิยามการตายดี และทีมแพทย์จะมีเวลาวางแผน

แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด หมอแดงต้องเรียนรู้การใช้จิตวิทยาในการพูดคุยอยู่ทุกครั้ง เพราะคนไข้แต่ละคนมีลักษณะนิสัยต่างกัน

“แรกเริ่มคือต้องให้คนไข้ยอมรับความจริงก่อน พอรู้ว่าป่วยเป็นอะไร ต้องรู้อีกว่าเขาอยากจากไปแบบไหน บางคนรู้ว่าเป็นมะเร็งแต่ไม่ยอมรับความจริง เราก็ต้องคุยกับเขาไปเรื่อยๆ เจอกันบ่อยหน่อย เพื่อให้เขายอมรับว่ายังไงทุกคนก็ต้องไปถึงวันนั้น

“พอเราคุยกับคนไข้ที่เขาอินเรื่องธรรมะ มองการเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา เราสามารถคุยได้เลยว่าเขาอยากตายอย่างไร กลับบางคนที่ทิฐิเยอะหน่อย เราอาจลงลึกกับเขาไปเลยว่าตอนนี้ที่ไม่มีแรงมีความสุขไหม บอกความจริงไปเลยว่าการรักษาจะทำให้แย่ลง พอเขาหลุดออกมาว่าฉันไม่อยากอยู่แล้ว หรือสังเกตพฤติกรรมบางอย่าง เช่น พยักหน้า ฟังแล้วอิน เราก็รู้แล้วว่าเขายอมรับ ต้องปลอบเขาต่อว่า ไม่เป็นไรนะ หมอจะดูแลให้

“เคยเจอคนไข้มะเร็งเต้านมที่นับถือศาสนาคริสต์ เขาไม่ยอมทำอะไรเลย บอกว่าแล้วแต่พระเจ้าจะกำหนด จึงทำให้คนไข้หลายเคสที่มีความเชื่อแบบนี้ต้องตายอย่างทุกข์ทรมาน เขาร้องไห้ ครอบครัวร้องไห้ เพราะทรมานจากการปวดโดยไม่รับยา เพราะเห็นว่านี่คือสิ่งที่พระเจ้าต้องการ เราจึงต้องคิดอุบายพูดกับเขาว่า หากผู้ที่สร้างคุณมาคือพระเจ้า ผู้สร้างโลกคือพระเจ้า ผู้ที่ส่งหมอมาให้พบคุณก็คือพระเจ้า ถูกไหม งั้นแสดงว่าพระเจ้าประสงค์ให้คุณมาคุยกับหมอ มารักษากับหมอหรือเปล่า ไม่ใช่ยอมรับความเจ็บปวด”

หิวก็กิน ไม่หิวก็ไม่บังคับ ปวดแผลก็กินยา ไม่ปวดก็ไม่บังคับ อยากหลับก็ปล่อยให้หลับโดยไม่ปลุก ติดเชื้อก็ปล่อยให้ติด ล้วนเป็นวิธีรักษาโดยไม่ฝืนร่างกายตามธรรมชาติ

หมอแดงพูดตลกร้ายว่าหลายครั้งผู้ป่วยไม่ได้ตายดีเพราะ ‘ญาติ’ เยอะ

เหตุผลที่ญาติไม่ยอมปล่อยให้ผู้ป่วยทำตามความต้องการเพราะพวกเขาไม่คิดถึงสิทธิ์ของผู้ป่วยตามรัฐธรรมนูญที่กล่าวว่า ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน

ในความเป็นจริงญาติใช้ความอาวรณ์ของตัวเองเป็นเครื่องมือยื้อผู้ป่วยอยู่เสมอ

“ถ้าญาติไม่ให้ความร่วมมือ หมอต้องโน้มน้าวให้เขาตระหนัก เช่น ถ้าคุณทรมานแบบพ่อตอนนี้ คุณอยากมีเวลาอยู่อีกกี่นาที ถ้าคุณกินข้าวไม่ได้ ความสุขในชีวิตคุณยังเหลือเยอะไหม หรือการให้นอนสบายๆ โดยที่ไม่มีอาการปวดเลย แต่ให้ขี้บนเตียง เยี่ยวบนเตียง จิตใจจะบั่นทอนหรือเปล่า คนทั่วไปขยับไม่ได้ไม่กี่นาทีก็อึดอัด แล้วผู้ป่วยที่ขยับไม่ได้เลยถาวรจะไม่อึดอัดเหรอ

“ต้องสื่อให้ญาติรู้ว่านี่คือความทุกข์ทรมานที่เขาเจอนะ ถ้าคุณไม่ยอมให้เขาไป คุณขังเขาไว้ในกรงขณะที่ร่างเขามันพัง หรือถ้าญาติยังดื้ออีก เราก็ต้องใช้อีกมุกหนึ่งคือทำให้เขาเห็นภาพความทรมาน เช่น คนไข้แผลกดทับจากมะเร็งระยะสุดท้าย เราจะทำแผลทุกครั้งที่ญาติมา คนไข้คนนั้นร้องดังลั่นห้อง ตะโกนว่าไม่เอาแล้ว ญาติก็จะได้เห็นเต็มตาว่าเขาทรมาน ดีกว่ามาเยี่ยมตอนคนไข้หลับเฉยๆ”

เสียงเตียงรถเข็นเคลื่อนย้าย และทุกเคสที่หมอแดงดูแล คือเชื้อเพลิงในการพัฒนางานในสายอาชีพหมอของเขา เพราะทุกวันคือการเรียนรู้ และการรีวิวเสมอว่าวันนี้ผิดพลาดอะไรไปบ้างคือประสบการณ์ อย่างเคสหนึ่ง ญาติยอมตกลงให้ผู้ป่วยได้ตายดี และขอให้ผู้ป่วยกลับไปตายที่บ้านบนเตียงที่คุ้นเคย แต่พออาการหนักกลับพามาหาหมออีก ซึ่งนั่นทำให้เขารู้ว่า เขาพลาดการอธิบายเรื่องกระบวนการตาย (Dying Process) ที่คนไข้จะหายใจถี่ๆ หยุดๆ ชักกระตุก เกร็ง เขียว ตามธรรมชาติ

การคุยกับญาติผู้ป่วย หมอแดงยอมรับอย่างเต็มปากเต็มคำว่าเจอพลังงานลบอยู่บ่อยครั้ง ทั้งโดนด่า โดนว่า และยังพบด้านมืดหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น เพราะขณะที่คนไข้บางคนเหนื่อยเจียนตาย แต่ญาติไม่ยอมปล่อยเพราะความผูกพัน ยังมีบางกรณีที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น ดึงเรื่องบำเหน็จ บำนาญ เข้ามาเอี่ยว


I Say Good Die

แม้จะไม่ใช่ทุกเคสที่คุณหมอคนนี้จะส่งให้ตายดีแบบที่คนไข้ต้องการได้ เพราะญาติบางคนยืนยันหัวชนฝาว่าไม่ยอม แต่เคสที่เขาได้ส่งคนไข้ให้ตายอย่างสงบกลับทำให้ตัวคนไข้ตายตาหลับ ญาติหมดทุกข์ และตัวเขาก็สุขใจ

“พอเริ่มทำกระบวนการรักษา ผมจะถามคนไข้ว่าอยากทำอะไรบ้างก่อนตาย เพราะนั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาชื่นใจแน่ๆ ก่อนจากไป บางคนอยากฟังเพลง แน่นอน จะเพลงอะไรเราก็เปิดให้ฟัง เกาหลี ลูกทุ่ง ลูกกรุง สากล จัดมา (หัวเราะ)

“บางคนอยากฟังพระสวด เพื่อให้รู้สึกเหมือนมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจนำทาง เราก็เปิดให้ฟัง หรือถ้าอยากดูซีรีส์เกาหลี สารคดีท่องเที่ยว สารคดีสัตว์โลก ก็ต้องเปิดให้เขาดู

“มากไปกว่านั้นยังเปิดเวทีให้คนในครอบครัวคุยกัน ได้ขอโทษในสิ่งที่อยากขอโทษ เราเห็นแล้วจะร้องไห้ตาม มันอบอุ่นดีนะ ซึ่งเราจะแนะญาติให้พูดแต่เรื่องดีๆ ที่คนไข้เคยทำ ความภาคภูมิใจของเขาคืออะไร ก็พูดไป แต่ห้ามพูดอะไรที่สร้างห่วงขึ้นมา เช่น กำลังจะมีหลาน อยู่ต่ออีกหน่อยนะ อะไรแบบนี้ ไม่งั้น เขาจะไม่หมดห่วง”

ฉันพูดติดตลกกับหมอแดงระหว่างทางเดินในโรงพยาบาลว่า ถ้ารู้วันตายก่อนคงอยากมองหน้าอปป้าที่รักเป็นครั้งสุดท้าย (พูดเองก็ขำเอง)

หมอแดงกระแอมขำฉัน ก่อนบอกว่า “หมอทุกคนควรมีทักษะให้คนไข้เลือกการตายดีได้ มีองค์ความรู้ในการเตรียมตัวตาย คำนึงถึงความเจ็บปวด การสั่งลา ปลดล็อก ปลดห่วง และให้คนไข้ยอมรับความจริง ค่าใช้จ่ายจะไม่บานปลาย คนไข้จะไม่ทรมาน ญาติจะไม่ทุกข์ สิ่งนี้ควรจะมีในหมอทุกคน”

จากหมอที่ไม่รู้ความหมายของการเป็นหมอ วันนี้หมอแดงรู้แล้วว่าเขาเป็นหมอเพื่อช่วยให้คนไข้จากไปอย่างสบายและมินิมอลที่สุด จนชื่อของคนไข้เหล่านั้นเป็นชื่อของคนที่ไม่ได้พบกันอีกในโลกนี้แต่เป็นความทรงจำที่ดีให้กับคนที่ยังอยู่ เพื่อรอเจอกันอีกทีในโลกหน้า

“ถ้าเป็นผมจะขอตายในกระต๊อบเล็กๆ ลมเย็นๆ เบื้องหน้าเป็นทุ่งหญ้าท่ามกลางธรรมชาติ ตายไปแล้ว หลับๆ ไป ไม่ทรมาน ทุกคนรอบตัวรู้อยู่แล้วว่าเราต้องการตายแบบไม่ยื้อ คงมีความสุขดี”

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.