เห็นต่างทางการเมืองแล้วทำร้ายกันได้เหรอ - Urban Creature

น้ำแรงดันสูงฉีดใส่ประชาชนที่มีร่มเป็นโล่กำบัง ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกอุ้มหายหลังวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง พร้อมประโยคสุดท้ายที่พี่สาวของเขาได้ยิน “หายใจไม่ออกๆ” แกนนำถูกจับครั้งแล้วครั้งเล่าหลังขึ้นปราศรัยจนเป็นเรื่องปกติ ป้าตบเด็กกลางสถานีรถไฟเหตุไม่ยืนเคารพธงชาติ หรือคำด่าทอ ข่มขู่จะไล่ออกจากปากคนเป็นครู หลังนักเรียน ชู 3 นิ้ว…

เหตุการณ์ที่ว่ามานำไปสู่การตั้งคำถามของฉันวันนี้ “เห็นต่างทางการเมืองแล้วทำร้ายกันได้เหรอ”

บทสนทนาและการลำดับเรื่องราวที่เพื่อนๆ นักอ่านกำลังจะได้สัมผัส คือบทสนทนาหลังกล้องที่เข้มข้นระหว่างฉันกับ ‘อาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนหน้ากล้องที่ร้อยเรียงเป็นตัวอักษรหลังจบย่อหน้านี้ แกนหลักก็เข้าใจง่ายๆ เลยว่าการทำร้ายคนเห็นต่างทางการเมือง ไม่ใช่วิธีที่จะหยุดประชาธิปไตยได้อย่างแน่นอน

3 รุ่นเห็นต่าง : สงครามเย็น, งงๆ ธิปไตย, โบว์ขาว

ขอปูพื้น ‘รุ่น’ หรือ ‘เจเนอเรชัน’ ให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า การอธิบายการเติบโตทางความคิดทางการเมืองครานี้ไม่ใช่ Baby Boomer, Gen-X, Gen-Y หรือ Gen-Z แต่เป็นรุ่นสงครามเย็น, งงๆ ธิปไตย และโบว์ขาว ที่นิยามโดยอาจารย์กนกรัตน์ ซึ่งฟังแล้วจะรู้เลยว่า จุดยืนทางการเมืองคน 3 รุ่นนั้นต่างกันราวฟ้ากับดิน 

01 รุ่นสงครามเย็น “พวกเราไม่ไว้ใจประชาธิปไตย” – อาจกล่าวได้ว่า คนรุ่นนี้คือกลุ่ม Baby Boomer (เกิดปี 2489 – 2507) ที่ใช้ชีวิตในยุคสงครามเย็น มีทั้งฝั่งซ้ายจัดและขวาจัด ซึ่งไม่ว่าฝั่งไหนล้วนมี ‘อนุรักษนิยม’ เป็นตัวขับเคลื่อนชีวิต… “อย่างไร” ฉันถามอาจารย์กนกรัตน์ ได้ความว่า

1. กลัวการเปลี่ยนแปลงและไม่ตั้งคำถาม เพราะลงหลักปักฐานแล้วในปี 2520 หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็โตขึ้นมาอีก 40 ปี อเมริกาให้การสนับสนุนด้าน Infrastructure พึ่งพาธุรกิจแรงงาน ไม่มีนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์มาเอี่ยว จบปริญญาตรีชีวิต Happily Ever After มีงานทำ ง่ายๆ “โครงสร้างไม่เปลี่ยนกูก็ไม่เดือดร้อน” (แต่เยาวชนยุคนี้มีเกียรตินิยมก็ไม่ได้งานดีไงล่ะ)

2. ไม่ไว้ใจประชาธิปไตย เพราะกลัวประชาธิปไตยทำให้คนยากจนได้ลืมตาอ้าปาก หรือทำให้คนไร้การศึกษาได้รับการศึกษา จนขึ้นมาทัดเทียมผู้มีอำนาจ (ซึ่งจริงๆ ทุกคนก็ควรเท่ากันหนิ)

3. มองโลกทัศน์แบบลำดับชั้น ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็แนวคิดผู้หญิงมีความสามารถไม่เท่าผู้ชาย การไหว้บรรพบุรุษ การกตัญญูคือจุดสูงสุด ผู้ใหญ่ถูกเสมอ อะไรที่ผิดแปลกจากแนวคิดที่ว่าจะสร้างความวุ่นวาย ซึ่งบางคนอาจจะชอบประชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่เชื่อความเท่าเทียมทางเพศหรือลำดับชั้น เลยไม่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ดี

02 รุ่นงงๆ ธิปไตย “ถูกสอนให้อยู่ในกรอบ แต่อยากให้ลูกออกนอกกรอบบ้าง แต่ไม่ออกก็ดี” – เมื่อมาถึงรุ่นนี้ อาจารย์กนกรัตน์เผลอหลุดขำขึ้นมาเล็กน้อย เพราะถือเป็นรุ่นที่ย้อนแย้งอยู่พอควร (อายุสัก 40 – 50 ปีต้นๆ) เพราะเป็นรุ่นที่เติบโตมากับการเลี้ยงดูของคนสงครามเย็น ปลูกฝังว่าต้องทำงานหนัก ห้ามเถียงผู้ใหญ่ ต้องทำตามกฎในโรงเรียน แต่! เวลาลูกตั้งคำถาม (เรื่องอื่นที่ไม่ใช่การเมือง) ดันตื่นเต้น ปลื้มที่ลูกมองโลกกว้าง อยากให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก จึงมีความงงๆ ตามชื่อ เหมือนจะเปิดแต่ก็ยังปิด

03 รุ่นโบว์ขาว “เรามีสิทธิ์กำหนดอนาคตตัวเอง” – เยาวชนที่อยู่บนท้องถนนและคนที่ไม่ได้อยู่แต่ขับเคลื่อนสังคม โดยมีจุดหมายเหมือนกันคือการคว้าประชาธิปไตยกลับมา เพราะมองไม่เห็นด้วยซ้ำว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เรียนจบออกไปจะมีอนาคตที่ดีไหม เนื่องด้วยการผูกขาดนายทุนที่ไม่เอื้อให้คนตัวเล็กลืมตาอ้าปาก ถึงแม้การเลี้ยงดูของรุ่นนี้จะมาจากคน 2 กลุ่มข้างต้น แต่เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป คนรุ่นนี้เข้าถึงข้อมูลได้เร็ว มีความรู้ทางการเมือง ตระหนักถึงปัญหาความยากจนทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในสังคมแทบทุกด้าน และมี Political Action ตลอดเวลา ทั้งการตามข่าวทางทวิตเตอร์ และสามารถคัดกรองข่าวปลอม ทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตัวเอง และไม่คิดว่าลำดับชั้นแบบเดิมจะแก้ไขปัญหาที่คนเผชิญอยู่ได้

ไม่เปลี่ยนแล้วจะอยู่อย่างไร VS จะอยู่อย่างไรถ้าเปลี่ยน

“โครงสร้างของแต่ละสังคมและทุกๆ ประวัติศาสตร์โลกที่ประสบความสำเร็จแล้ว ล้วนเกิดจากการเปลี่ยนแปลง แต่ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการเปลี่ยนช้า หรือแทบไม่ค่อยเปลี่ยนเลย”

อาจารย์กนกรัตน์อธิบายว่า สังคมปัจจุบันเดินทางมาถึงการประจันหน้ากันระหว่างโลกที่อยากจะเปลี่ยน กับโลกที่ไม่เปลี่ยนดีกว่า ในส่วนของโลกที่ไม่เปลี่ยนดีกว่าจะมองว่า เด็ก = ผู้ไม่รู้ เพราะรุ่นสงครามเย็นถูกสอนมาแบบนั้นตลอด มีเพียงชุดความคิดว่าเด็กที่โตมาวันนี้คือเด็กที่เพิ่งป้อนนม สอนผูกเชือกรองเท้า ไม่มีทางเข้าใจโครงสร้างทางการเมืองเท่าผู้ใหญ่ แต่ตรงกันข้าม จากที่อาจารย์กนกรัตน์สัมภาษณ์เด็กมา 200 – 300 คน 70 เปอร์เซ็นต์ตามการเมืองทุกวัน กลับกัน รุ่นปู่ ย่า พ่อ แม่ แทบไม่ตามข่าว และเลือกเสพเพียงสื่อช่องหลักบนทีวีที่ข้อมูลการทุจริตและสิ่งอยุติธรรมของผู้มีอำนาจทางการเมืองไม่มีให้เห็น ยิ่งการเข้าถึงหนังสือเบิกเนตรก็ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีทางจะเสพ

“เราสัมภาษณ์คนสงครามเย็นอายุเจ็ดสิบสองปี เป็น CEO บริษัท เขาบอกว่าปฏิรูปการศึกษาจะปฏิรูปอะไร ถ้าไม่ให้ท่องจำจะเรียนไปทำไม ประเมินผลอย่างไรว่าใครเก่งกว่า เราก็บอกว่าก็ทำการฝึกแก้ปัญหาแทนสิ เขาก็ตอบกลับมาว่าเด็กรุ่นนี้เรื่องมาก รุ่นเขาไม่เห็นมีปัญหา ซึ่งที่บอกว่าไม่มีปัญหาเนี่ยแหละที่ทำให้เขาไม่เชื่อแนวคิดรุ่นโบว์ขาว

“เราเพิ่งสัมภาษณ์เยาวชน LGBTQ+ ที่ถูกจับแต่งตัวหวานๆ เป็นตุ๊กตา แต่จริงๆ เขาอยากแต่งตัวเป็นผู้ชาย แต่ก็ไม่ได้ชอบผู้หญิงนะ คือมันเป็น Identity ที่เขาต้องการและเขามีสิทธิ์เป็น แต่แค่ด่านแรกที่จะผ่านครอบครัวก็เป็นเรื่องยากแล้ว ล่าสุดเขาโดนไล่ออกจากงานพาร์ตไทม์ พ่อก็โดนไล่ออกจากภาคการท่องเที่ยว แม่โดนลดเงินเดือน พี่เป็นสมาธิสั้น ดูสิ เขามองไม่เห็นหรอกว่าอีกสิบปีข้างหน้าจะเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวอย่างไร เขาเลยต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยน”

‘ความสงบ’ แปรเรื่องผิดๆ กลายเป็นเรื่องถูกๆ

เมื่อข้อเรียกร้องของคนโบว์ขาวที่อยากเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีขึ้นในวันข้างหน้า ไปกระทบจารีตของสังคมทั้งหมดอย่างทะลุโปร่ง จึงเกิดความรุนแรงในระดับต่างๆ ขึ้น ถ้ามองจากภาพเล็กๆ ไปภาพใหญ่ๆ อาจารย์กนกรัตน์คิดว่าความรุนแรงแรกที่เกิดขึ้นคือ ‘ความรุนแรงในครอบครัว’ ที่เด็กถูกห้ามแสดงออกทางการเมืองจากคนเป็นพ่อ เป็นแม่ (รุ่นสงครามเย็นและงงๆ ธิปไตย) ก็เป็นการกักขังเด็กให้ไม่มีที่ให้ยืนในบ้าน และอึดอัดเพราะเขาพูดไม่ได้

เขยิบขึ้นมาอีกนิดกับ ‘ความรุนแรงในสถานศึกษา’ นอกจากเด็กจะถูกด่าทอหรือขู่ไล่ออกจากการชู 3 นิ้วแล้ว วิชาเรียนก็ถือเป็นความรุนแรงในการ ‘บังคับ’ ให้คิด ทั้งการสอนค่านิยมหลัก 12 ประการ ตามนโยบายของนายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และวิชาศาสตร์พระราชา

และลามมาถึง ‘การถูกคุกคามโดยใช้ความรุนแรงโดยรัฐ’ ทั้งโดยกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มจัดตั้งที่สนับสนุนรัฐอย่างคนเสื้อเหลือง ซึ่งที่ต้องบอกว่าคนเสื้อเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ อาจารย์กนกรัตน์มองว่าพวกเขาถูกปลูกฝังทางความคิดมาอย่างยาวนานในระบบลำดับชั้น ที่ ‘ห้าม’ คิดต่าง เพราะเป็นหนทางของ ‘ความสงบ’

“ความรุนแรงที่น่าตั้งคำถามมากคือ เด็กในสลัมคลองเตยหลังสปีช “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” เช้าวันที่ 14 ฝ่ายขวาในสลัมที่เป็น Royalist มาล้อมบ้านเด็กคนนั้น จนชาวบ้านต้องหาที่ปลอดภัยให้เขา”

เห็นต่างทางการเมืองไม่ใช่มีดทำร้ายใคร

อาจารย์กนกรัตน์บอกฉันว่า การเดินทางของเยาวชนตั้งแต่การปฏิรูปการศึกษาที่เรียกร้องไปไม่มีใครฟัง ไล่รัฐบาลเพราะไม่สามารถจัดการปัญหาบ้านเมืองได้ เดินทางมาถึง Core Value หลักของคนยุคสงครามเย็นที่ทุกคนต้องหันมาฟังกันได้แล้ว กับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ทำให้คนที่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ในฐานะสมมติเทพมองเรื่องความรุนแรงที่ไม่ปกติให้เป็นปกติได้ในท้ายที่สุด

“พวกเขาเชื่อว่า ถ้าตักเตือนแล้วไม่ฟังให้ตีมัน ไม่ฟังอีกก็ด่ามัน สุดท้ายแล้วไม่ยอมฟังก็ปิดปากมัน ความคิดแบบนี้ไม่เคยทำให้ปัญหามันจบ”

“ทางออกที่แท้จริงในการลดความรุนแรงควรเป็นแบบใด” ฉันถามอาจารย์กนกรัตน์ คำตอบของเธอน่าสนใจจนต้องเขียนเล่าให้ทุกคนฟัง

1. คนรุ่นเก่าไม่สามารถเปลี่ยนความคิดเด็กได้ แต่ควรศึกษา ทำความเข้าใจความยากลำบากในการใช้ชีวิตของเด็กรุ่นนี้ว่าทำไมพวกเขาถึงโกรธ เครียด บ้างก็เป็นโรคซึมเศร้า เพราะสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่ไม่ได้รับหรือเปล่า

2. ผู้ใหญ่ไม่ควรถามเด็กว่าออกมาชุมนุมเรียกร้องแล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เพราะเป็นการผลักภาระให้เด็กต้องเป็นคนคิด ทั้งๆ ที่หน้าที่ที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม คนที่อยู่ในระบบราชการหรือเปล่าที่เป็นควรเปลี่ยน

3. คนรุ่นใหม่ก็ต้องไม่ลืมเปิดใจยอมรับว่าไม่ใช่คนรุ่นเก่าทุกคนจะเห็นด้วยกับเผด็จการหรือการใช้ความรุนแรง ซึ่งการหยุดมองภาพเหมารวมก็เป็นอีกหนึ่งทางออกในการลดความรุนแรงได้เหมือนกัน

4. Hate Speech หรือการใช้คำพูดลดทอนความเป็นคน เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่ควรทำ

“การทำร้ายหรือฆ่ากัน ต้นทุนมันแพงมากนะ ตามกฎหมายก็ทำไม่ได้ แต่ผู้มีอำนาจเชื่อว่าการทำแบบนี้เด็กจะกลัวแล้วทุกอย่างจะเป็นเหมือนเดิม ซึ่งมันก็หลายครั้งแล้วนะที่เราควรเรียนรู้กันได้แล้วว่าปัญหาไม่เคยจบหลังการทำร้ายใคร

“สุดท้ายเราจะไม่ต้องจ่ายอะไรเลยถ้าเราไม่ทำร้ายกัน” อาจารย์กนกรัตน์ทิ้งท้าย

ดังนั้น “ไม่ได้” จึงเป็นคำตอบของคำถามแรกที่ว่า “เห็นต่างทางการเมืองแล้วทำร้ายกันได้เหรอ”

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.