“เขียนชื่อผมลงไปเลยนะว่าอีเก่งกิจ เออ อีเก่งกิจนั่นแหละ เขียนแบบนั้นเลย”
รศ. ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เน้นเสียงบอกเราอย่างยียวน หลังจากการพูดคุยกันเรื่องความถูกต้องทางการเมือง PC หรือ Political Correctness จบลงสดๆ ร้อนๆ
สารภาพว่าหลังจากได้ติดตามการตั้งประเด็นทางสังคมและการโต้ตอบความคิดอันดุเดือดของเขาบนโลก Twitter มาตั้งแต่ต้นปี 2564 เมื่อได้เข้าไปเยือนพื้นที่ของ @Kengkij2 วลีหนึ่งที่ผุดขึ้นมาบนหัวคือ ‘ปังสัส’ ไม่อยากจะสปอยล์ แต่อยากให้ไปหาอ่านเอาเอง เพราะตั้งแต่ไล่สายตาอ่าน Bio ของเขาที่ระบุว่า ‘ทวิตเตอร์มีไว้ด่า ไม่ได้มีไว้คุยวิชาการ #คอมทวิต non-pc’ เราก็สนใจตัวตนบนโลกออนไลน์ของเขาเข้าอย่างจัง
ด้วยไบโอมันๆ และความสับในโลกนกฟ้า ซึ่งค่อนข้างตรงกันข้ามกับบทบาทอาจารย์และนักวิชาการ ยิ่งทำให้เราสนใจในวิธีคิด เพราะเก่งกิจเขวี้ยงหมวกนักวิชาการทิ้งถังขยะ แล้วใช้คีย์บอร์ดฉอดยับสับแหลก ดีเบตเผ็ดแซ่บจนนักฉอดทวิตต้องรีพลายกันร่างแหลกกันไปข้าง อีหน้าไหนจะมา War เป็นต้องเจอสรรพอาวุธสุดจะปังของเขา ด้วยฝีปากกล้าท้ารบ จบทุกสกิลในคนเดียวชนิดที่ว่า Non Stop ความ Non PC เราเลยตัดสินใจคุยเรื่องความ PC ที่เป็นปรากฏการณ์ในสังคมไทยช่วงหลังๆ มานี้กับเขา
เก่งกิจพูดอย่างไม่แยแสว่า “เดี๋ยวคุณคอยดูนะปล่อยบทสัมภาษณ์ไปผมก็โดนด่า แต่ช่างมันเถอะ” ทำไมเขาพูดแบบนั้น สนทนาธรรมที่ปลายสายอยู่ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้มีคำตอบ
เอ่อ…ขอเช็กหน่อยว่าคุณเตรียมน้ำดื่มไว้พอกระดกหรือยัง เพราะคำตอบเขาทั้งเด็ด และสุดจะเผ็ดเกินต้านแบบพริกยกสวน คำตอบจะปังหรือบ้งอยากให้คุณลองตัดสินด้วยตัวเอง
Tweet : อีเก่งกิจ ฉอดเก่งแบบนี้ รู้ไหม POLITICAL CORRECTNESS คืออะไร
Reply : PC (POLITICAL CORRECTNESS) เป็นคำของฝ่ายซ้าย มีเป็นร้อยปีแล้ว เริ่มแรกตัวคำไม่ได้ถูกใช้ในความหมายอย่างปัจจุบัน ยุคเริ่มต้นความหมายพูดถึงการต่อสู้ทางการเมือง เราจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบสังคม ล้มระบบทุนนิยม และระบอบกษัตริย์กันยังไง จะใช้ยุทธวิธีแบบไหนที่ถูกต้องทางการเมือง เป็นเรื่องการสู้รบของชนชั้นล่างที่จะล้มกระดานโครงสร้างสังคม เพื่อสร้างประชาธิปไตยหรือสังคมที่เท่าเทียมกัน รวมถึงสังคมแบบคอมมิวนิสต์ด้วย
เมื่อมาในยุค 60 – 70 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1968 เกิดขบวนการต่อสู้ เรื่องพวกนี้ของฝ่ายซ้ายที่เข้าสู่อีกเฉด จากเดิมที่ขบวนการซ้ายอยู่กับขบวนการแรงงาน ในต้นศตวรรษที่ 20 ก็มุ่งโค่นล้มปฏิวัติสังคม สร้างสังคมนิยมและสร้างคอมมิวนิสต์ ในปี 1968 อาจพูดได้ว่าเป็นการพ่ายแพ้ของกระบวนการคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นปัญญาชนฝ่ายซ้าย จึงหันมาพูดประเด็นเรื่องวัฒนธรรมมากขึ้น เรามักพูดว่าเป็นเรื่องการเมืองอัตลักษณ์ (Identity Politics) เวลาพูดถึงการเมืองอัตลักษณ์หรือการเมืองวัฒนธรรม มันมี Motto สำคัญของทศวรรษ 60 คือ Everything Is The Political เรื่องอะไรก็ตามถือเป็นเรื่องการเมือง
โจทย์จะตั้งว่าเราถูกครอบงำด้วยอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น และอื่นๆ คำถามคือเราจะต่อต้านยังไง แต่การที่บอกว่า Everything Is The Political หมายความว่าการครอบงำเกิดขึ้นในทุกอณูของชีวิต การต่อต้านเลยเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วย ฉะนั้นโลกของวิชาการและขบวนการฝ่ายซ้ายเลยหันมาสนใจการต่อต้านในเชิงวัฒนธรรม (Cultural Resistance) ซึ่งเป็นประเด็นมากในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ด้านหนึ่งมีนัยการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงแบบโค่นล้ม พูดง่ายๆ เมื่อเราเปลี่ยนแบบล้มกระดานไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือบ่อนเซาะทำลาย ซึ่งตัวมันเองไม่ได้เป็น PC เมื่อมาในยุคประมาณ 70s โดยเฉพาะ 80s ไอเดียเรื่องการโค่นล้มถูกผลักให้หายไป จุดโฟกัสเป็นเรื่องวัฒนธรรม การกดขี่เชิงวัฒนธรรม อาจเป็นเรื่องการใช้ภาษา ในโลกวิชาการจะสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของพวกวิชาสัญวิทยา จุดเปลี่ยนที่หันไปให้ความสนใจกับภาษา (Linguistic Turn) ซึ่งหันมาสนใจเรื่องอำนาจในระบบภาษา ฉะนั้นไอ้การนำภาษามาเป็นเงื่อนไขในการวิเคราะห์อำนาจและการกดขี่ รวมถึงเงื่อนไขของการต่อต้าน เลยทำให้เรามุ่งสนใจประเด็นเรื่องการใช้ภาษามากขึ้น
ภาษาไม่ใช่แค่การพูด แต่มันมีอย่างอื่นด้วย ฉะนั้นเวลาเราพูดถึงอำนาจและการต่อต้านในภาษา ก็จะค่อยๆ เป็นฐานสำคัญที่ทำให้กลับมาเริ่มให้ความสำคัญกับการเหยียด หรือการใช้ภาษาเพื่อเบียดขับและกีดกันคนบางส่วนในสังคมออกไป หรือเรื่องการสถาปนาอำนาจผ่านการใช้ภาษา ไอเดียเหล่านี้ในยุค 70 – 80 ฝ่ายซ้ายไม่เชื่อแล้วว่าคุณจะปฏิวัติสังคมได้ สิ่งที่คุณทำได้คือการต่อต้านในชีวิตประจำวัน และการต่อต้านนั้นอยู่ในปริมณฑลภาษา เรื่องของการเหยียดเลยค่อยๆ เป็นประเด็นมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายซ้ายจึงยอมรับประเด็นเรื่องการ PC มากขึ้น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าไอเดียนี้ที่เราเข้าใจในปัจจุบัน เกิดขึ้นโดยที่ทางวิชาการเรียกว่า Cultural Marxism เป็นมาร์กซิสต์ที่เน้นวัฒนธรรม การเน้นเรื่องนี้แปลว่าพวกนี้ไม่ได้เน้นประเด็นเศรษฐกิจเท่าประเด็นวัฒนธรรม พูดง่ายๆ คุณไม่ได้ต่อต้านทุนนิยมมากเท่ากับการที่คุณถูกเหยียด ฉะนั้นการต่อสู้กับการถูกเหยียดในปริมณฑลภาษาที่มากับแนวคิดนี้ก็เป็นประเด็นที่ถูกเรียกรวมๆ ในโลกนี้ ซึ่งอาจกว้างกว่า Cultural Marxism ก็คือพวกที่เรียกว่าพวกซ้ายใหม่ (New Left) กลายเป็นเทรนด์ของปลายศตวรรษที่ 20 ประมาณสองถึงสามทศวรรษ
หมายความว่าคนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา ช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งตอนนี้คนเหล่านี้อายุอยู่ที่ประมาณ 60 – 70 คนรุ่นนี้รับไอเดียที่เรียกว่าการเมืองอัตลักษณ์ ซึ่งต่อมาเราจะพูดถึง Social Justice Warrior (SJW) ที่ก็มีรากมาจากการเมืองอัตลักษณ์ ซึ่งเราจะเห็นว่าสังคมไทยล่าช้ากว่าสังคมตะวันตกในแง่การพัฒนาทางความรู้ เพราะฉะนั้นเจเนอเรชันที่เข้าไปสู่โลกของการเมืองอัตลักษณ์ก็จะเริ่มต้นในกลุ่มคนประมาณเจนฯ 90s หรือประมาณปี 2000 ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ากระแสพวกนี้เป็นเทรนด์มากในวงวิชาการที่ต่อต้านการเหยียด
ความน่าสนใจของ PC คือเมื่อเข้าถึงยุค 90 มันเป็นช่วงพีกของ PC ในโลกตะวันตก ในโลกนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายและฝ่ายก้าวหน้า เช่น เฟมินิสต์ในตะวันตก หรือชนกลุ่มน้อย (Minority Group) ทั้งหลายในตะวันตก จะเห็นได้ชัดว่าช่วง 90s มีเหตุการณ์การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 ซึ่งการล่มสลายในปี 1989 – 1990 คือการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินและโซเวียต
ในช่วงเวลานั้น จุดพีกที่สุดของ PC ในตะวันตกมาพร้อมกับการพังทลายของความหวังว่าทุกคนจะล้มกระดานปฏิวัติสังคมได้ และสิ่งสำคัญในบริบทตอนนั้นเราจะเห็นงานเขียนชิ้นสำคัญๆ หลายชิ้น ซึ่งขับเน้นประเด็นเรื่อง PC มากๆ นั่นคืองานเขียนของพวกฝ่ายขวาในอเมริกา ยกตัวอย่างเช่น หนังสือของ Francis Fukuyama ชื่อ จุดจบของประวัติศาสตร์และมนุษย์คนสุดท้าย ประเด็นสำคัญของ Fukuyama คือเขาแชร์ไอเดียกับนักวิชาการฝ่ายขวาจัดคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากคือ Samuel P. Huntington ซึ่งเขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่มีอิทธิพลมากกับฝ่ายขวาในโลก มีอิทธิพลกับ George W. Bush ที่ไปทำสงครามในประเทศอิรักและประเทศอัฟกานิสถาน ยืดเยื้อมาจนกระทั่งเหตุการณ์ 9/11 หนังสือเรื่องนี้คือ The Clash of Civilizations หรือการปะทะกันของอารยธรรม ข้อเสนอสำคัญของ Huntington สืบต่อมาถึงงานของ Fukuyama สะท้อนว่าความขัดแย้งทางชนชั้นไม่เป็นประเด็นอีกต่อไป เพราะความขัดแย้งเรื่องระบบเศรษฐกิจก็ไม่เป็นประเด็นอีกแล้ว
ฉะนั้นพอเข้า 90s ความพ่ายแพ้ของขบวนการฝ่ายซ้ายในตะวันตก เลยมาพร้อมกับจุดพีกของ PC ในขบวนการฝ่ายขวา ซึ่งเรียกว่าเป็นพวกขวาใหม่ (New Right) เราอาจพูดได้ว่าคนอย่าง Bush เป็น Neoconservative ที่มองว่าสงครามต้องสู้กับกลุ่มวัฒนธรรมที่ไม่เป็น Liberal เช่น กลุ่มอิสลาม เพราะฉะนั้นเขาต้องทำให้พวกนี้ Correct ให้คนกลุ่มนี้เลิกเหยียด หรือเลิกทำร้ายผู้หญิง
โดยสรุปที่พูดมาทั้งหมดเพื่อชี้ให้เห็นว่าแม้ PC จะเกิดขึ้นโดยการเมืองของฝ่ายซ้าย ที่เริ่มต้นขึ้นเพื่อขยายการเมืองด้านการปฏิวัติ แต่ PC ก็ค่อยๆ พัฒนาไปอีกทางเมื่อเป็นขาลงของขบวนการปฏิวัติยุค 90 พร้อมกับการขึ้นมาของขบวนการขวาจัดในสหรัฐอเมริกาและในหลายๆ พื้นที่บนโลก
เราจะเห็นว่าฝ่ายที่พูดเรื่อง PC มากๆ ในปัจจุบัน ในอเมริกาหรือหลายที่บนโลกคือฝ่ายขวา ไม่ใช่แค่ฝ่ายซ้าย ฉะนั้นในปัจจุบันคนที่ Raise เรื่องการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) หรือประเด็นต่างๆ พวกนี้จำนวนมากเป็นฝ่ายขวา เราจะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติถูกหยิบมาใช้เป็นด้านกลับของการ PC ด้วย เพื่อนำไปอธิบายว่าอิสลามหรือพวกตะวันออกกลาง (Middle East) ทั้งหลายไม่ได้เคารพ PC จึงเป็นหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา ผู้นำโลกเสรีนิยมที่เข้าไปทำสงครามเพื่อให้ทุกคนเป็นลิเบอรัลมากขึ้น มันน่าสนใจมากว่า ในขณะที่เราบอกว่าทุกคนต้องเคารพความหลากหลาย แต่ในความเป็นจริงแล้วการเมืองในฝ่ายขวาของอเมริกาซึ่งโคตรบ้า PC ในยุค 90 ถึงยุค 2000 กลับใช้ประเด็นเรื่อง Racism เข้าไปทำสงครามเพื่อแก้ไขปัญหาการเหยียดอีกที กลายเป็นประเด็นที่มาสู่ข้อถกเถียงอย่างมากในช่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21
สรุปแล้วการถกเถียงว่า PC เนี่ย มันยังใช้ได้อยู่หรือไม่ มีหัวข้อมาตั้งแต่ยุค 60 – 70 ในเมื่อทุกวันนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายขวา แล้วฝ่ายซ้ายเองคือกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ PC ก็มองว่าฝ่ายซ้ายไปติดกับดักของการเมืองฝ่ายขวาเพราะ PC ถูกช่วงชิงไปโดยฝ่ายขวา ทำให้เกิดการเมืองของฝ่ายขวามากขึ้น
ไอ้พวกฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งก็อาจจะบอกว่าไม่ใช่ ฝ่ายขวามันเหยียดแต่ PC มันกำลังต่อต้านการเหยียด คำถามที่ตามมาจากโจทย์นี้คือว่า PC นำไปสู่การเหยียดมากขึ้นหรือจริงๆ แล้ว PC เป็นตัวแก้ปัญหาการเหยียดกันแน่ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่เป็นข้อถกเถียง (Controversial) มากในปัจจุบันว่า เราจะเอายังไงกับประเด็นนี้
Tweet : ถ้าอย่างนั้นบริบทของ PC ในสังคมไทยแตกต่างจากโลกตะวันตกยังไงอะคะ
Reply : PC ในสังคมไทยปัจจุบัน ในแง่ของรูปแบบจริงๆ อาจไม่ต่างมากนักจากโลกตะวันตก ทุกวันนี้เราแม่งคลั่ง PC มากด้วยซ้ำ ถ้าเราดูซีรีส์ The Chair ใน Netflix ที่มันพูดถึง University of Pembroke มีอาจารย์ผู้ชายสอนวิชาวรรณกรรมซึ่งเป็นคนผิวขาว เป็นพวกลิเบอรัลที่ต่อต้านนาซี ตอนเขาสอน นักศึกษาก็อัดวิดีโอช่วงที่เขาทำมือแบบฮิตเลอร์ เพื่อวิจารณ์นาซี แต่วิดีโอนี้ถูกตัดไปแค่ช็อตเดียว โดยไม่มีบริบทก่อนหน้า ท้ายที่สุดเรื่องนี้ก็เล่าเหตุการณ์ที่อาจารย์คนนี้ถูกบีบให้ออกจากมหาวิทยาลัย เพราะเขาไม่ PC และไม่เคารพความหลากหลาย ซึ่งซีรีส์นี้ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาที่พีกมากด้านความ PC ในประเทศสหรัฐอเมริกา และในโลกตะวันตก
มันกระทบกับชีวิตของคนได้จริงๆ เมื่อก่อนนี้ PC คือการที่คุณเหยียด คุณก็โดนวิพากษ์วิจารณ์แล้วโต้เถียงกัน แต่ตอนนี้กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายกับหน้าที่การงานของคนจำนวนมหาศาล ส่วนในสังคมไทยซึ่งพูดเรื่อง PC กันมาสัก 10 ปีแล้ว แน่นอน เราเริ่มช้ากว่าตะวันตก แต่เรารับไอเดียนี้มาจากตะวันตก จะเห็นได้ว่าในโลก Twitter ก็พูดถึง Social Justice Warrior, PC, Non PC, Anti PC และ Over PC ซึ่งเป็นคำมาจากตะวันตกทั้งนั้น
ผมคิดว่าไอเดียเรื่อง PC จะเข้มข้นขึ้นอย่างมากในคนเจเนอเรชันอายุ 10 – 20 ปี ซึ่งคนรุ่นผมอาจมองโลกอีกแบบ มองวิธีการ PC อีกแบบ เพราะว่าผมไม่ได้โตมากับ PC เราโตมาในสังคมไทย และเห็นสิ่งเหล่านี้ช้ากว่าสังคมตะวันตกครับ
Tweet : เก่งกิจมักจะโดนเด็กๆ ใน Twitter โจมตีว่ามึงไม่ PC เลยนะคะ
Reply : ในฐานะที่ผมนิยมฝ่ายซ้าย มีความคิดซ้ายและเป็นคอมมิวนิสต์ ความ PC เราอธิบายได้ 2 แง่ หนึ่ง PC เป็นความก้าวหน้าของการเมืองฝ่ายก้าวหน้าหรือไม่ สอง PC เป็นขาขึ้นหรือขาลงของขบวนการฝ่ายซ้ายกันแน่
สำหรับผม PC มันเกิดจากขาลงของขบวนการฝ่ายซ้าย และเป็นการชวนเชื่อ (Propaganda) ของขบวนการฝ่ายขวาด้วยซ้ำ ในทศวรรษ 90 และ 2000 ถ้าไปดูขบวนการฝ่ายซ้ายที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเป็น Militant จำนวนมาก ไม่ใช่เป็นปัจเจกนะครับ เวลาที่เราพูดคำว่าฝ่ายซ้าย เรามักจะพูดถึงฝ่ายซ้าย Twitter คนประเภทที่บอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หรือเป็นเฟมทวิต สำหรับผมไม่ได้เรียกว่าฝ่ายซ้าย แต่เป็นพวกลิเบอรัล
ลักษณะหนึ่งที่สำคัญของลิเบอรัลคือความเป็นปัจเจกบุคคล เพราะฉะนั้นคนพวกนี้จะรู้สึกว่าการที่ตัวเองได้ออกมาด่าเรื่องเหยียด แล้วมากล่าวหาว่าคนนู้นหรือคนนี้ไม่ PC มันเป็นปฏิบัติการของปัจเจกบุคคล แต่ไม่เกิด Movement เลย แต่ถ้าเราพูดถึงฝ่ายซ้ายเนี่ย คือมึงต้องจัดตั้งขบวนการและมึงต้องต่อสู้ด้วย
เวลาที่เราพูดว่าฝ่ายซ้าย ในโลกที่มันกว้างคุณต้องเข้าร่วมขบวนการ ต้องต่อสู้ ต้องโค่นล้มระบบทุนนิยม ต้องมีองค์กรทางการเมือง หรือต้องวิพากษ์วิจารณ์ โอเค การเหยียดเชื้อชาติ เป็นการอธิบายของพวกฝ่ายซ้ายจริงๆ และการเหยียดเชื้อชาติคือเครื่องมือของทุนนิยม (Capitalism) เพราะการเหยียดเชื้อชาติไม่ได้เป็นการเหยียดเชื้อชาติโดยตัวมันเองหากไม่มีลัทธิอาณานิคม การเหยียดมันพัฒนาขึ้นมาในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ผ่านอาณานิคมต่างๆ หรือการทำให้ผู้หญิงถูกกดขี่ ซึ่งเกิดขึ้นโดยระบบทุนนิยม เพราะฉะนั้นคุณจะแก้ปัญหานี้ ก็ต่อเมื่อคุณไปทำลายตัวทุนนิยม โดยต้องมีขบวนการแรงงาน ซึ่งทำให้ผมคิดว่าเวลาที่หลายคนพูดว่า PC เป็นปัญหาของฝ่ายซ้าย แต่ผมอยากบอกว่า PC เป็นปัญหาของพวก Liberal PC คือพวกลิเบอรัลในปัจจุบัน รวมถึงเป็นแนวร่วมด้านกลับของฝ่ายขวาด้วยซ้ำ ที่มาชูประเด็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติในการปกครอง ยกตัวอย่างเช่น ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด แม่งคือ Fascist ในยุคที่แต่งเพลงพวกนี้ ซึ่งรับอิทธิพลความคิดค่อนไปทางฝ่ายขวาชาตินิยม คือมึงห้ามมาหยามกูนะ
ถ้าเราดูกรณีของป้าเป้า เป็นตัวละครที่น่าสนใจมากเพราะเวลาป้าเป้าไปม็อบ ไปบีบไข่ตำรวจ และไปเปิดกระโปรงให้ตำรวจเห็นจิ๋ม พูดคำที่ไม่ PC คือแม่งด่าฉิบหายเลย แต่น่าสนใจไหมว่ารีแอ็กชันของคนใน Twitter มี 2 แบบ พวก PC มากๆ จะบอกว่าไปจับหำตำรวจทำไม กับอีกพวกบอกว่าเราให้อภัยป้าเป้าได้ เพราะป้าเป้ามาจากชนชั้นล่าง คำถามที่ผมอยากจะถามพวกห่านี่ คือว่านี่คือเหยียดเขาไหม ป้าเป้าไม่มีการศึกษา เพราะฉะนั้นเขาพูดแบบนักวิชาการไม่ได้ แต่อีเก่งกิจมึงเป็นนักวิชาการ มึงทำไมถึงพูดจาหยาบคาย มันน่าสนใจมากนะ แสดงว่ามึงคิดว่ากูเป็นนักวิชาการแล้วกูต้องเป็นคนสุภาพ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นชนชั้นล่างแล้วสถุลไพร่ มึงพูดจาหยาบคายได้ นี่เหยียดไหม ฉะนั้นกรณีป้าเป้าจะตั้งคำถามกับ PC ได้ดีมากว่าเราจะเอายังไงกันแน่
ปัญหาคือการพูดแบบเนี้ย แม่งโคตรละเลยความสัมพันธ์ทางอำนาจเลย คือคุณไปม็อบคุณไม่มีอาวุธเลย ป้าเป้าไปตัวเปล่า มีดสักอันยังไม่มีเลย การต่อสู้โดยการใช้เพศหรือใช้อวัยวะเพศเนี่ย ถ้าคุณไปดูประวัติศาสตร์การต่อสู้ มันมีตัวอย่างเยอะแยะมหาศาลในโลกตะวันตก ซึ่งระบบที่ว่าการมีจุดยืนว่าป้าเป้าไม่ PC หรือป้าเป้าเอาเรื่องเพศมาเป็นอาวุธในการต่อสู้ มันคือวิธีการพูดของคนสายตาสั้น ไม่รู้ประวัติศาสตร์เหี้ยอะไรบนโลกนี้เลยว่าที่อื่นต่อสู้ยังไง
อย่างในรัสเซียมีกลุ่ม Pussy Riot เป็นกลุ่มผู้หญิง คือการที่จิ๋มไม่ยอมจำนน ซึ่ง Comradely Greetings เป็นหนังสือที่กลุ่มนี้เขียน แล้วถูกรัฐบาลปูตินจับขังคุก แล้วพวกเธอก็เขียนตอบโต้กับ Slavoj Žižek จากในคุก เป็นจดหมายโต้ตอบกัน ถ้าเราไปดูมันเป็นเรื่องปกติมากของการต่อสู้ในฐานะคนที่ไร้อำนาจ
เวลาที่เรามีจุดยืนว่าป้าเป้าไม่ PC เอาเรื่องเพศมาขาย แต่โอเคให้อภัยได้เพราะป้าไม่มีการศึกษาแบบอีเก่งกิจไรเงี้ย คือผมคิดว่าพวกคุณต้องตรวจสอบตัวเองแล้วนะว่าคุณเหยียด หรือคุณไม่เหยียด บ่อยครั้งมากเลยที่คนเถียงกับผมแล้วก็บอกว่ากูขอเรียกมึงว่า ‘อีเก่งกิจ’ ด่าผมสารพัด ผมไม่โกรธนะ แต่ประเด็นคือหลายคนบอกว่า อ้าว แล้วทำไมคุณไม่ PC เวลาที่คุณด่าเก่งกิจ พวกนี้ก็บอกว่ากูจะทดลองไม่ PC บ้าง สรุปว่าคุณจริงจังกับ PC หรือไม่จริงจังกับมัน สังคมไทยเราแม่งย้อนแย้ง แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโลก Twitter นะ มันเกิดขึ้นในโลกตะวันตกด้วย ผมคิดว่ามันเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก
ผมให้สัมภาษณ์แล้วเผยแพร่ออกไป ผมก็โดนด่าอยู่ดี แล้วผมแคร์มั้ย คือกูไม่แคร์ไง ทำไมจะต้องรู้สึกว่าการโดนด่าเป็นเรื่องใหญ่ มึงจะด่าแม่กูก็ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่มึงไม่เอาปืนมายิงกู ไม่มาทำร้ายข้าวของบ้านผมก็โอเคไง เพราะฉะนั้นการด่าเป็นเรื่องปกติ เขาด่ากันเป็นพันปีแล้ว คือกูก็ด่ามึงกลับแล้วก็จะรู้สึกว่าช่างแม่งไป
เดี๋ยวนี้จะพูดคำว่าบ้าก็ไม่ PC แล้วนะ เพราะเรากำลังทำให้คนจำนวนหนึ่งป่วย และกลายเป็นต้นแบบของการด่า คือพวกคุณบอบบางขนาดนี้ มึงจะอยู่บนโลกใบนี้ได้ยังไงวะอีห่า ชีวิตเรามีเหี้ยอะไรตั้งเยอะแยะ มึงไม่มีจะแดกอยู่แล้ว ป้าเป้าแม่งออกไป
เพราะแม่งขายของไม่ได้ เขาต้องการประชาธิปไตย เพราะคนแม่งตายห่ากันเยอะแยะ แต่มึงโดนด่าแล้วดิ้นเป็นน้ำร้อนลวกเลย ผมว่าภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ในสังคมแม่งต่ำมาก แล้วคุณจะอยู่ในโลกที่มันโหดร้ายฉิบหายใบนี้ได้ยังไง
Tweet : ถ้าอย่างนั้นเก่งกิจจะฉอดอะไรในทวิตเตอร์ก็ได้อย่างนั้นเหรอคะ
Reply : ผมเข้าไปเล่น Twitter ผมมีสิทธิ์ที่จะทวีตสิ่งที่คิด ฉะนั้นมันก็ไม่แปลกที่คุณจะทวีตด่าผม ก็เจ๊ากัน แต่เมื่อไหร่ที่คุณคิดว่าอีเก่งกิจมึงต้องพูดเหมือนกู มึงเข้ามาสู่โลกทวิตเตอร์แล้วมึงไม่เข้าใจ คือโลกทวิตเตอร์ไม่ใช่ของมึงหรอก แม่งคือของเจ้าของบริษัททวิตเตอร์
แต่ผมรู้สึกชื่นชมและเคารพคนรุ่นใหม่มากนะ คนอายุน้อยที่ออกไปต่อสู้ทางการเมือง แม้ว่าเขาจะด่าผมยังไงก็ตาม หรือเขาจะมีความคิด PC หรือความคิดอะไรก็ตาม แต่การที่ผมชื่นชม ไม่ได้แปลว่าจะต้องไม่เถียงกับเขา ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนบนโลกที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยควรเข้าใจ
Tweet : งงนะ แล้ว Over PC มีบริบทที่มาในสังคมไทยยังไงอะ
Reply : ผมสนใจคำว่า Over PC ผมไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า แต่คิดว่าไม่มี PC ที่ไหนไม่ Over PC เพราะเวลาที่เราบอกว่าเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องการเมืองเรากำลังทำให้มันเป็นเรื่องการเมือง (Politicized) แต่กระบวนการของการทำให้บางสิ่งเป็นการเมือง ในด้านกลับกันคือการทำให้เรื่องอื่นๆ ไม่เป็นเรื่องการเมือง
โอเคมันก็เป็นการเมืองแหละ แต่ไม่ใช่เรื่องทุกเรื่องที่เป็นการเมืองเท่ากัน เพราะฉะนั้นพูดในแง่นี้ หมายความว่าการที่คุณเอาประเด็น PC มาเป็นประเด็นในการต่อสู้ทางการเมือง หรือจุดยืนส่วนตัวของคุณต่อการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นอะไรก็ตามในด้านกลับกันที่คุณไม่พูด คุณกำลังลดทอนบางเรื่องไม่ให้เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึง การพูดแบบนี้จึงหมายความว่า PC โดยตัวมันเองหรือ Over PC ทั้งนั้น
การ Politicize ก็เป็นการ Over Politicize คือมันเกินไปกว่าตัวมัน กระบวนการที่มันเกินไปกว่าตัวมันเนี่ย คือกระบวนการที่ทำให้เรื่องอื่นๆ ถูก Under Politicized หรือถูกทำให้ดูไม่เป็นการเมือง
คำถามต่อมา PC ที่ Over PC ในตัวเองเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพด้านการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือไม่ ถามเพื่อให้เลือกว่าสิ่งนี้ถูกหรือผิด สิ่งนี้ดีหรือชั่ว แต่การเมืองไม่ใช่แค่เรื่องดีหรือชั่ว เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณบอกว่าเรื่องนี้ดีแสดงว่าคุณกำลังทำให้เรื่องอื่นที่แตกต่างเป็นเรื่องชั่ว สิ่งที่ดู Over คือการทำให้ตัวมันเป็นประหนึ่งว่าเป็นความจริงแบบเดียว
อำนาจของผู้ปกครอง ปกครองเราได้ก็ต่อเมื่อมันทำให้รูปแบบการปกครองของมันถูกเสมออย่างเป็นธรรมชาติ เช่นเดียวกัน การผลักดันให้ประเด็นเรื่องหนึ่งเป็นประเด็นทางการเมือง มีประสิทธิภาพที่สุดก็ต่อเมื่อมันลดทอนให้ตัวเองกลายเป็นเรื่องดีหรือชั่ว ถูกหรือผิดมากกว่าที่จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ เป็นเรื่องเดียวกับเรื่องศีลธรรม ที่ทำให้เป็นสิ่งที่ตั้งคำถามไม่ได้
สิ่งที่เคลมว่าตัวเองไม่มีการเมืองแม่งน่ากลัวมาก เพราะมันกำลังสถาปนาอำนาจทางการเมืองที่พิเศษสุดที่มึงตั้งคำถามไม่ได้ เพราะกูไม่มีการเมือง กูเป็นกลาง กูอยู่เหนือการเมือง นี่คือโคตรของการเมืองแล้ว
Meme การเมืองจำนวนมากกำลังเหยียดคน เช่น อีกบ เหยียดไหม…เหยียด แต่พอมีคนเรียกอีกบปุ๊บ ทุกคนแม่งปรบมือกันหมดเลย คือเราไม่เห็นมีปัญหากับเรื่องนี้เลย ผมยังไม่เห็นใครในทวิตเตอร์ตอนนี้มีปัญหากับเรื่องนี้ นอกจากพวกสลิ่ม ทำไมเราไม่มีปัญหากับมีมการเมืองแบบนี้ ตอนนี้ ถ้าเราเข้าไปดูเพจของ Free Youth เยาวชนปลดแอก แม่งเต็มไปด้วยมีมที่เอาหน้าของตัวบุคคลเรื่องนู้นเรื่องนี้มาล้อเลียนเป็นสัตว์นู่นนี่ ไม่เห็นมีปัญหากันเลย สรุปแล้วคุณมีปัญหากับ PC หรือคุณเองที่ไม่ PC
ไอ้ข้อยกเว้นมันมีนัยอะไร นัยคือเรากำลังต่อสู้กับชนชั้นนำ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากำลังด่าชนชั้นนำ มึงพัก PC ไว้ก่อนได้ แสดงว่าจริงๆ ความขัดแย้งทางการเมือง มันไม่ใช่เรื่อง PC คนที่แม่งพูดเรื่อง PC มาตลอด ไม่มีปัญหากับการเรียกอีกบ หรือไม่มีปัญหากับวิธีการของปวิน และคำผกาที่ไม่เคย PC
หรือมีคนเอารูปประวิตรมาทำเป็นหมูหรือประยุทธ์เป็นควายอย่างนี้ใช่ไหม คุณไม่เห็นพูดเลยว่ามันไม่ PC สรุปแล้วคุณมีปัญหากับ PC ไหม ไอ้ข้อยกเว้นนี่แหละคือแกนกลางความขัดแย้งทางการเมือง
ถามจริงๆ นะ บทสัมภาษณ์นี้ออกไปเนี่ย ผมอยากให้คนที่ PC มากๆ ได้อ่านแล้วช่วยกันรีทวีต และช่วยกันตอบด้วยว่าเวลาที่คุณได้ยินคำว่า ‘อีกบ’ เนี่ย คุณขำไหม ช่วยตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าคุณขำหรือไม่ขำ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณไม่หลอกตัวเองว่าคุณขำ คุณก็รู้ตัวไว้ว่าความขำนี้ คุณกำจัดมันไปไม่ได้ ทุกคนพร้อมที่จะเหยียดเสมอ แล้วผมก็คิดว่าเราต้องเหยียดผู้มีอำนาจอย่างถึงที่สุด
นี่คืออาวุธของผู้ที่อ่อนแอ เราต้องเหยียด นินทา เหยียบย่ำมัน และล้อเลียนมัน สร้างมีมที่ทำให้มันเหี้ยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สาปแช่งแม่งไปให้ถึงที่สุด เลิกดัดจริตว่าไม่ขำเวลาที่ได้ยินคำพวกนี้ ขอร้องคนที่ PC ในทวิตเตอร์ ช่วยตอบคำถามนี้ของผมด้วย
Tweet : โอ๊ยยย งั้นเราควรมีเพดานให้กับความ PC ไหม
Reply : ไม่มีหรอกความพอดีทางการเมือง สังคมเหี้ยเนี่ย แม่งไม่มีเหี้ยอะไรที่พอดีเลยสักอย่างเดียว ทุกอย่างผิดปกติหมด การใช้อำนาจมันผิดปกติไปหมดเลย ในขณะเดียวกันเราต้องคอยโกหกตัวเองเหรอว่า กูต้อง PC หรือต้องสุภาพกับเรื่องแบบนี้
สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องการเมือง มันคือความไม่สมมาตรด้วยตัวมันเอง มันจะ Over Politicized อยู่ตลอด และด้านกลับของมันคือการที่มันทำให้เรื่องบางเรื่องไม่เป็นเรื่องการเมือง เราต้องยอมรับว่าอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องการเมือง มันเลยจากขอบเขตเสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณคิดว่าจะมีการเมืองที่สุภาพเนี่ย คือคุณแม่งไม่มีการเมือง คุณกำลังทำลายความเป็นการเมือง และกำลังหลอกตัวเองว่า คุณไม่มีการเมือง คุณเป็นกลาง ซึ่งไม่เป็นจริงในปัจจุบัน
ในด้านหนึ่ง เราไม่สามารถบอกคนอื่นว่าให้เลิก PC เราบังคับให้เขาเลิกไม่ได้ แต่เราบอกเขาได้ว่า PC ไม่ใช่รูปแบบของการต่อสู้ทางการเมืองที่ถูกต้องในมุมของเรา หน้าที่ของเราคือการอธิบายว่าทำไม PC มันไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะฉะนั้นคือผมไม่คิดว่าจะต้องเสียเวลากับการแอนตี้มัน เท่ากับการนำเสนอว่าอะไรคือรูปแบบทางการเมืองที่ผมคิดว่าถูก เราต่อสู้กับความคิดทางการเมืองที่เราไม่เห็นด้วยได้ โดยการเสนอความคิดทางการเมืองที่คิดว่าเห็นด้วยได้ ที่ผ่านมาคนชอบคิดว่าผม Anti PC ด้วยซ้ำ
จริงๆ ผมจะบอกว่า กูไม่ให้ราคาที่ต้องไปเถียงกับพวกมึงหรอก ทำไมผมต้องคิดว่าตัวเองเป็นคน Anti PC ผมคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายซ้าย และเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งแน่นอนว่าคอมมิวนิสต์แม่งไม่ต้อง PC ไม่จำเป็น มันมีวิธีการต่อสู้ทางการเมืองแบบอื่นๆ อีก กลับไปสู่คำถามที่ถามก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าจะไม่เลือกให้ราคาในการนิยามตัวเองว่าผม PC หรือ Anti PC ด้วยซ้ำ เพราะมันคือการที่ทำให้คำว่า PC กลายเป็นเงื่อนไขของการนิยามตัวผม ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของการต่อสู้ทางการเมือง คือการนำเสนอวิธีคิดทางการเมืองที่เราคิดว่าต้องถกเถียงกับคนอื่น
เราพูดเรื่อง Racism โดยไม่ PC ได้ไหม พวก PC ทำประหนึ่งว่าคนที่ไม่โปร PC ไม่มีการตระหนักรู้ (Awareness) ต่อเรื่องต่างๆ แต่จริงๆ แม่งโลกใบนี้เขาพูดเรื่องการเหยียดโดยที่ไม่ PC กันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว กูไม่เห็นต้องมาเป็น PC เท่านั้น ถึงจะพูดเรื่องนี้ได้ ผมคิดว่ามันมีตัวเลือกเยอะแยะมากมาย คนที่คิดว่าในโลกนี้มีแต่ PC เป็นการเมืองแบบเดียว คือคนที่แม่งไม่มีความรู้ทางการเมือง ไม่รู้ประวัติศาสตร์ และไม่รู้แนวคิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่คุณต้องมีการตระหนักรู้ คุณต้องเริ่มที่จะคิดว่าไอ้ความ PC มีบริบททางประวัติศาสตร์ของมัน แล้วการเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์มันก็เกิดขึ้นบนเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง และมีโอกาสที่จะสิ้นสุดลง หรือไม่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้ทางการเมืองอีกต่อไปก็ได้
คุณจะมีวิธีการต่อสู้ทางการเมืองแบบอื่น หรือมีวิธีพูดเรื่องต่างๆ แบบอื่นๆ แต่ผมคิดว่าการทำให้ PC กลายเป็นศาสนาในปัจจุบันนี้ มันเบียดขับการพูดถึงเรื่องการเมืองแบบอื่นๆ ออกไป คนที่จะไม่เห็นด้วยกับ PC ก็คือการพูดเรื่องการเมืองแบบเป็นอื่นๆ ได้ ซึ่งอาจทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ และชี้ให้เห็นปมปัญหามากกว่าก็ได้
มองจากยุคสมัยปัจจุบันผมอาจจะผิดก็ได้ คุณก็ต้องเถียงกลับมา ผมยกตัวอย่างเวลาที่ผมเล่นทวิตเตอร์ ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นอาจารย์มหา’ลัย ผมคิดว่ามันเป็นเวลานอกการทำงาน ฉะนั้นทำไมผมต้องพูดแบบอาจารย์มหาวิทยาลัยตลอดเวลา คำถามที่ตามมาคืออาจารย์มหา’ลัยทำไมต้องพูดสุภาพตลอดเวลา คือมันเป็นเรื่องงี่เง่ามากเลยที่คุณต้องตรวจสอบตัวคุณเองเวลาที่รู้สึกว่าทำไมอาจารย์ไม่พูดสุภาพ คือตัวคุณเองต่างหากที่มีปัญหากับเรื่องพวกนี้
Tweet : หืมมม เก่งกิจอยากเห็นสังคมไทยถกเถียงกันด้วยพื้นฐานแบบไหน
Reply : ผมคิดว่าสังคมแห่งการถกเถียงคือคุณเชื่ออะไรก็ได้ พูดอะไรก็พูดไป ตราบใดที่คุณไม่เอามีดมาแทงกัน คุณจะพูดไร้สาระคุณก็พูด คุณจะพูดคำหยาบคุณก็พูด เมื่อคุณพูดมาแล้วใครไม่เห็นด้วยเขาก็จะด่าคุณเหมือนกัน เราก็จะอยู่กันแบบนี้แหละ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้คือสังคมที่ควรจะตามหลักประชาธิปไตย ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องคอยปิดปากคนอื่นว่าสิ่งนี้มึงพูดไม่ได้นะ มึงพูดอย่างนี้ไม่ได้ แล้วคุณจะพูดถึงประชาธิปไตยได้ไง ผมคิดว่าโอเคนะที่จะถกกันนะ มันเป็นบรรยากาศของการส่งเสริมประชาธิปไตย เพราะเราลองคิดถึงยุคหนึ่ง จริงๆ ในอเมริกามีการพูดว่ายุค PC เนี่ย การเมืองของ PC มันเป็น New McCarthyism, McCarthyism คือพวกที่เกลียดคอมมิวนิสต์มาก ถ้ามันรู้ว่าใครเป็นคอมมิวนิสต์ปุ๊บ กูแม่งจะจับมันมาลงโทษ จะมีการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) เพราะฉะนั้น PC มันเป็น New McCarthyism แบบขวาๆ ที่พยายามปิดปากคนอื่นว่าเรื่องนี้มึงพูดได้หรือไม่ได้ แต่ผมคิดว่าจะพูดก็พูดไป แล้วมึงจะด่ากูก็ด่าไป แฟร์ๆ ดิ ผมเลยคิดว่านี่ควรจะเป็นสิ่งที่เราควรจะคาดหวังให้มีในสังคมของเรา