มีเรื่องหนึ่งที่ผมฝังใจมาตั้งแต่เด็กคือ ผมเห็นเครือญาติพี่ๆ น้องๆ ของฝั่งแม่ผมล้อมวงเล่นเกมผ่านเครื่อง Game Boy กัน ซึ่งเกมนั้นคือเกม Pokémon ตัวผมเองอยากเล่นมากๆ จนรวบรวมความกล้าเข้าไปขอพ่อซื้อตลับเกม แต่ปรากฏว่าพ่อผมปฏิเสธ เพราะกลัวผมจะติดโปเกมอนจนไม่เป็นอันเรียน สิ่งที่ได้กลับมาคือความผิดหวัง
เมื่อผมเข้าสู่วัยทำงาน การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องดูแลตัวเองอย่างเต็มตัว ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับโปเกมอนจึงเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่ผมซื้อด้วยเงินเก็บของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา เกมภาคใหม่ๆ ซึ่งรวมถึง Trading Card Game ด้วย
หากพูดถึงบริบทสังคมต่างก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ภาพของซุ้มหมากรุกเริ่มน้อยลง แต่ภาพของคนที่ไปห้างสรรพสินค้า ร้านการ์ด หรือสถานที่ต่างๆ ที่ใช้เวลานั่งได้นานๆ พร้อมกับพกสำรับการ์ดประจำตัวมาดวลกันเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ
ครั้งนี้ผมเดินทางลัดเลาะเส้นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มาที่ร้าน Nx Gallery ลาดพร้าว 78 เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับ Trading Card Game ที่เน้น Pokémon Trading Card Game กับ ‘พี่แอ๊ม-ภัทรพงศ์ สายตระกูล’ เจ้าของร้านการ์ด Nx Gallery หรือที่เรารู้จักในฐานะนายกสมาคมการ์ดเกมไทย และ ‘พี่ฮิง-วรพงศ์ อภินันทเวช’ Event Organizer มือทองจากร้าน iPlay Card Shop
ก่อนอื่น อยากรู้ว่าพี่ๆ ทั้งสองคนสนใจ Trading Card Game ได้อย่างไร
พี่แอ๊ม : พี่เล่นมาตั้งแต่เด็กแล้ว หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 – 30 ปีที่แล้ว การ์ดแรกที่เล่นคือ Magic The Gathering ซึ่งทำให้พี่ชื่นชอบเป็นพิเศษ หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสไปลองการ์ดเกมหลายๆ ตัว เช่น Yu-Gi-Oh! หรือการ์ดไทยอย่าง Summoner Master จนปัจจุบันมีการ์ดเกมต่างๆ ออกมามากมาย
ตอนเด็กๆ เล่นตามห้างฯ แล้วห้างฯ ปิดเร็ว ก็ติดลมไปเล่นต่อที่บ้านเพื่อน พี่เลยดึงจุดนั้นมาว่า ถ้าอยากเล่นต่อจะทำยังไง ในอนาคตต่อมาก็เลยตัดสินใจทำร้านเอง เป็นร้านที่เปิดบ่ายสาม ปิดเที่ยงคืน แต่ว่าเที่ยงคืนไม่มีจริง (หัวเราะ)
พี่ฮิง : ของพี่ก็เริ่มตั้งแต่เด็กๆ เหมือนกัน เมื่อก่อนไม่รู้จักการ์ดเกมเลย การ์ดเกมแรกที่รู้จักคือ Yu-Gi-Oh! แต่พอเล่นไปแล้วมันติดปัญหาว่าตัวการ์ดเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วเมื่อก่อนมันมีการ์ตูน พอเราอ่านหน้าการ์ดไม่ออกก็เลยเอาใจความจากในการ์ตูนมาใช้ เล่นผิดเล่นถูกบ้าง จนไปงานแข่งแล้วรู้สึกว่าที่เราเล่นมามันไม่ใช่
คราวนี้พอมีการ์ดเกมหนึ่งที่รุ่นพี่ที่โรงเรียนแนะนำคือ Magic The Gathering พี่ก็เลยชอบเพราะตัวระบบการเล่นมันสนุก และพอเป็นภาษาอังกฤษที่บ้านพี่เขาก็โอเค เพราะได้ฝึกภาษาไปในตัว ต้องบอกก่อนว่า เมื่อก่อนเราเริ่มเรียนภาษาอังกฤษสมัยประถมฯ พอมีข้อความภาษาอังกฤษก็ถือว่ามาช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษา ที่บ้านเลยให้เล่น
หลังจากนั้นก็เล่น Trading Card Game มาตลอด ถามว่าทำไมถึงมาอยู่ที่ iPlay Card Shop ได้ จริงๆ ต้องบอกว่า ตอนช่วงปริญญาตรีเราหยุดเล่นพวกการ์ดเกมไปพักหนึ่ง พอกลับมาอีกทีตอนเรียนจบ พี่ไปเจอร้าน iPlay Card Shop ซึ่งตอนนั้นอยู่ใต้ดินจตุจักร ทำให้รู้จักกับพี่บอลเจ้าของร้าน เขาก็ชักชวนมาเล่นกัน จนสุดท้ายก็มาทำร้านด้วยกัน ปัจจุบันพี่ดูแลส่วนของการ์ดเกม Magic The Gathering และ Pokémon Trading Card Game ที่ร้าน iPlay Card Shop
ตัวผมเองเคยมีโอกาสไปแข่งการ์ดที่งานหนึ่ง ซึ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นงานที่จัดขึ้นโดยสมาคมการ์ดเกมไทย ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมรู้ถึงการมีอยู่ของสมาคมฯ ปกติแล้วหน้าที่ของสมาคมฯ ต้องทำอะไรอีกบ้าง
พี่แอ๊ม : ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3 – 4 ปีที่แล้ว ตัวพี่เคยพูดไว้ว่า อยากให้การ์ดเกมเป็นที่ยอมรับมากขึ้น พอเวลาผ่านไปก็มีผู้ใหญ่และผู้สนับสนุนยอมรับมากขึ้น พี่เชื่อว่าการมีสมาคมการ์ดเกมจะเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่จะพัฒนาวงการการ์ดเกมไปได้อีกไกล
อีกจุดประสงค์คือ เพื่อพัฒนา ส่งเสริม ให้ความรู้ และสนับสนุนกิจกรรมการ์ดเกมในฐานะกีฬา รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านของศิลปินนักวาด ด้านการผลิตต่างๆ เพราะพี่เชื่อว่าการ์ดเกมไทยไปได้ไกลกว่าที่ใครหลายคนคิด
อยากให้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของ Trading Card Game
พี่ฮิง : พี่ขออนุญาตพูดตามข้อมูลที่มีอยู่ การ์ดเกมที่เป็น Trading Card Game แรกคือ Magic The Gathering ซึ่งมาจากบริษัท Wizards of the Coast ในช่วงปี 1993 ตอนนี้ก็มีอายุกว่า 31 ปีแล้ว การพัฒนาของตัว Trading Card Game มาจากผู้พัฒนาที่ชื่อ Richard Garfield เขาได้โจทย์มาว่า Board Game ในตอนนั้นติดปัญหาเรื่องการพกพา ต้องมีอุปกรณ์มากมายในการเล่น
คราวนี้การจะให้เกม Tabletop พกพาไปไหนได้สะดวก เขาก็เอาตรงนั้นมาคิดค้นพัฒนาเป็น Trading Card Game ในช่วงเวลานั้นการ์ดเกมก็มีทั่วไปอยู่แล้ว แต่ Trading Card Game ในที่นี้ต้องบอกว่ามันสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ มีคุณค่า มีศิลปะที่สวยงาม และน่าสะสม ซึ่ง Magic The Gathering เป็นตัวแรกที่เขาทำอย่างนั้น
จุดมุ่งหมายของ Trading Card Game ที่เขาเริ่มทำคือ พกพาไปเล่นอย่างสะดวกและเล่นได้ทั้งสองฝั่ง เล่นที่ไหนก็ได้ โดยเน้นการเล่นแบบ 1 on 1 แตกต่างจากบอร์ดเกมที่เน้นเป็นปาร์ตี้
ด้วยความที่ปัจจุบันมีร้านการ์ดมากมาย ผู้เล่นก็มีตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ แล้วสมัยก่อนสถานที่ที่ไปเล่นกันและกลุ่มของผู้เล่นเป็นอย่างไร
พี่ฮิง : สมัยก่อนอายุผู้เล่นจะอยู่ในช่วงมัธยมต้นจนถึงมหาวิทยาลัย ถ้าถามว่ากระแสดีไหม เมื่อก่อนการ์ดเกมยังเอาไปเล่นที่โรงเรียนไม่ได้ โดนยึด เพราะเขาถือว่าเป็นไพ่ เป็นการพนัน อาจารย์น้อยท่านมากที่จะเข้าใจ แต่ส่วนตัวพี่เดินเข้าออกห้องปกครองเป็นว่าเล่นเพราะโดนยึด แต่อาจารย์ฝ่ายปกครองเขายึดตามระเบียบของโรงเรียนแหละ จริงๆ เขาก็เข้าใจว่ามันไม่ใช่การพนัน แต่ก็มีบางท่านไม่เข้าใจ
พี่แอ๊ม : จริงๆ ช่วงปี 2000 กว่าๆ ตามมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนเริ่มมีชมรมการ์ดเกมแล้ว แปลว่าเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในระดับหนึ่งแต่ยังไม่ค่อยแมสเท่าไร เพราะจริงๆ การ์ดเกมในสมัยก่อนจะมีแค่ตามร้านการ์ดเท่านั้น ยังไม่เข้า Hypermarket อย่างในปัจจุบัน
พี่ฮิง : ส่วนสถานที่เล่นในตอนนั้นก็หนีไม่พ้นสะพานเหล็ก ภิรมย์พลาซ่า กับมาบุญครอง แต่ถ้าพูดถึงงานแข่งขันงานใหญ่รุ่นเก่าๆ งานแรกที่พี่ไปจัดที่ตึกฐานเศรษฐกิจ เส้นวิภาวดีฯ ไม่ก็มาบุญครองชั้นเจ็ด ขนาดตอนนั้นจัดแข่งโต๊ะยังรองรับคนไม่พอ พี่ต้องนั่งเล่นที่พื้น คนดูหนังเสร็จออกจากโรงหนัง เดินผ่านพวกเราที่เล่นกัน เขาก็ไม่เข้าใจว่าพวกเรานั่งเล่นอะไรกัน
พี่แอ๊ม : นอกเหนือจากตัวเมืองตรงนั้น มันมีเมืองหลวงการ์ดเกมอยู่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งก็คือฝั่งรามคำแหง เดอะมอลล์ รามคำแหง เมื่อก่อนมีห้างฯ อิมพีเรียล เวิลด์ ซึ่งด้านในมีร้านการ์ดประมาณ 6 – 7 ร้าน ถือว่าเยอะมาก นับว่าเป็นฮับการ์ดเกมฝั่งลาดพร้าวหรือฝั่งรามฯ ส่วนพวกงานแข่งใหญ่ๆ จะรวมกันไปเล่นที่อัมรินทร์พลาซ่า บางทีก็เหมาฟู้ดคอร์ตจัดเล่นกันตรงนั้นเลย
Pokémon Trading Card Game เข้ามาในไทยตั้งแต่ตอนไหน และทำไมถึงครองใจคนทุกเพศทุกวัย
พี่ฮิง : Pokémon Trading Card Game เกิดขึ้นครั้งแรกเหมือนกับทาง Magic The Gathering นั่นเอง The Pokémon Company เป็นคนรับผิดชอบส่วนลิขสิทธิ์ แต่ในส่วนการผลิตและจำหน่ายที่ออกมาตอนแรกคือบริษัท Wizards of the Coast เจ้าเดียวกับที่ทำ Magic The Gathering ซึ่งการ์ดโปเกมอนสามารถสะสมได้ มีมูลค่าแบบของสะสม ถ้าจำไม่ผิดมันจะห่างกับ Magic The Gathering ประมาณ 3 ปี Pokémon Trading Card Game เริ่มปี 1996 ส่วนเข้ามาในไทยจริงๆ ปีนี้ก็ปีที่ 6 แล้ว
พี่แอ๊ม : พี่จำได้เลย เข้ามาในไทยวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เปิดตัวที่เดอะ สตรีท รัชดา งานใหญ่เลยตอนนั้น จัดจำหน่ายตามร้านการ์ดและเซเว่นฯ ด้วย
พี่ฮิง : นั่นเป็นครั้งแรกของไทย เรารู้กันอยู่แล้วว่าการ์ดโปเกมอนมีอายุ 20 กว่าปี อยู่ดีๆ โผล่มาในบ้านเรา จริงๆ บ้านเรามีคนเล่นการ์ดโปเกมอนอยู่แล้วแต่เล่นเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งในที่นี้คือหิ้วมา ไม่มีตัวแทนจำหน่ายในไทย ถ้าอยากเล่นคุณต้องไปซื้อจากเว็บนอกหรือหิ้วมาจากร้านนอก เอาเข้ามาขายในไทย แล้วก็เล่นแบบ Unofficial เพราะไม่มีตัวแทนจำหน่าย ไม่มีใครทำอีเวนต์ ต้องเล่นกันเอง ฝึกกันเอง เก็บ Ranking แล้วไปแข่งต่างประเทศ เป็นคนกลุ่มเล็กๆ จริงๆ แต่พอชุดแรกที่ออกเป็นภาษาไทยมาก็เปลี่ยนเลย กลายเป็นว่ามีผู้จัดจำหน่ายในไทย มีคนจัดอีเวนต์แบบ Official
จริงๆ โปเกมอนในปัจจุบันอย่าเรียกว่าเป็นคาแรกเตอร์เลย เพราะมันกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว ถ้าในต่างประเทศเราจะเห็นชัดเจนเลยว่า โปเกมอนไปอยู่กับอะไรก็ดูกลมกลืนไปกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้น อย่างที่ญี่ปุ่น โปเกมอนอยู่ทั่วประเทศแล้ว ไม่ว่าจะเป็น City Branding งาน Decorate ของฝั่งราชการ ตัวอย่างชัดๆ ก็ฝาท่อ และมันไปไกลทั่วโลกเลย
พี่แอ๊ม : ต่อให้คุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าทุกคนเห็น Pikachu ก็รู้ว่าเป็น Pikachu ทุกคนคุยเรื่องเดียวกันได้จากตัวโปเกมอนที่เป็นสื่อกลาง ส่วนเหตุผลที่ทำไม Pokémon Trading Card Game ถึงเป็นที่นิยมในบ้านเรามากๆ พี่บอกเลยว่า มันเป็นการ์ดเดียวในบ้านเราหรืออาจจะทั่วโลกเลยที่เล่นได้ทุกเพศทุกวัยจริงๆ เพราะถูกออกแบบมาให้เล่นง่าย เข้าใจง่าย แต่จริงๆ แล้วการ์ดเกมตัวนี้ไม่ได้เล่นง่ายอย่างเดียว แต่เล่นให้เก่งยากด้วย
อยากให้อธิบายวิธีการเล่น Pokémon Trading Card Game สำหรับคนที่สนใจอยากเริ่มเล่น
พี่ฮิง : ถ้าใครเคยเล่นโปเกมอนที่เป็นเกมจะรู้เลยว่าเป็นเกมแบบ Turn-based คือเป็นเทิร์นใครเทิร์นมันเล่น เล่นจบเทิร์นเราจะโยนให้อีกฝั่ง การ์ดเกมโปเกมอนก็เป็นเหมือนกันในส่วนของเบสตรงนี้ ดังนั้นในเทิร์นอีกฝั่งที่เขากำลังทำแอ็กชัน เราจะไม่สามารถขัดเขาได้ ที่พี่แอ๊มพูดว่าเล่นให้เก่งยากเพราะคุณต้องจัดการแอ็กชันในเทิร์นของคุณให้คุ้มค่าที่สุด ปิดช่องว่างให้เหลือน้อยที่สุด และเตรียมสำหรับเทิร์นถัดไปที่จะกลับมาหาคุณให้ได้
กติกาการแข่งขันของการ์ดโปเกมอนเหมือนในเกมเลย เหมือนเขารีโมเดลมา เริ่มด้วยเลือกโปเกมอน 6 ตัว ถ้าเราน็อกของอีกฝั่งได้ทั้งหมด เราชนะเลย กติกาการแพ้ชนะของโปเกมอนมี 3 อย่างด้วยกัน 1) ใครหยิบการ์ดรางวัลหมดก่อนชนะ 2) ถ้าฝ่ายไหนกองหมดแพ้ 3) โปเกมอนฝ่ายไหนไม่เหลือในสนามเลยจะเป็นฝ่ายแพ้ทันที
วิธีการเล่นของการ์ดโปเกมอนคือ เราเป็นคนเลือกโปเกมอน 1 ตัวออกไปสู้กับเขา ดังนั้นตัวที่เราเลือกจะอยู่หน้าสุด ตรงนี้คือแอ็กทีฟ เราจะเอาโปเกมอนที่อยู่ข้างหน้าสู้กับอีกฝ่าย ถ้าน็อกจน HP หมด โปเกมอนตัวนั้นจะลงในส่วนของตำแหน่งทิ้งการ์ด และหยิบการ์ดรางวัลตามเงื่อนไขของโปเกมอนที่ถูกน็อกเอาต์ไป ส่วนข้างหลังจะมีอีกแนวหนึ่งเป็นโปเกมอนสำรอง ถ้าหากตัวข้างหน้าโดนน็อกเอาต์ออกไป ตัวข้างหลังจะเลื่อนมาสู้แทน
ถ้าสนใจอยากลองเริ่มเล่น ควรต้องไปที่ไหนเพื่อจะได้เรียนรู้วิธีการเล่นอย่างครบถ้วน
พี่แอ๊ม : ตัวเลขร้านการ์ดบ้านเราในปัจจุบันมี 150 ร้านที่ยังให้บริการอยู่ทั่วประเทศไทย อยู่ในกรุงเทพฯ เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งร้านเหล่านี้สอนเล่นการ์ดได้ นอกจากนี้ เรายังมีร้านการ์ดหรือโซนสอนเล่นตามห้างสรรพสินค้าอีก รวมถึงเรียนรู้วิธีการเล่นตามยูทูบได้ด้วย
เป็นไปได้แค่ไหนกับการเล่น Trading Card Game ให้เป็นอาชีพในประเทศไทย
พี่แอ๊ม : กลับมาจุดเดิมที่พี่บอกว่าอยากให้วงการนี้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนมันก็เป็นแค่เกม แต่ทุกวันนี้กลายเป็นอีสปอร์ต ซึ่งเขาพัฒนาไปถึงจุดนั้นแล้ว การ์ดเกมไทยบ้านเรากำลังเดินมาถูกทาง พี่เชื่อมากๆ ว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะสามารถเล่นเป็นอาชีพได้ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับมากขึ้น มีผู้สนับสนุนมากขึ้น แล้วแต่ละการ์ดก็มีสิ่งที่เรียกว่าเป็น Career Path อย่างชัดเจน
ถ้าคุณอยากไป World Championship ของ Pokémon คุณต้องเก็บแต้มได้เท่าไหร่ เป็นต้น อย่างที่ไปอเมริกาล่าสุด Full Sponsorship นะ และได้เงินจากการแข่งขันประมาณหนึ่งด้วย เรียกว่าแค่ได้ไปแข่งก็มีของติดไม้ติดมือกลับบ้านแล้ว
นอกจากโควตาที่มีในต่างประเทศแล้ว ปัจจุบันเรามีสมาคมการ์ดเกมไทย ซึ่งทางพี่ก็พัฒนาในจุดนี้ พยายามสร้างคอนเนกชันต่างๆ และผลักดันให้การ์ดเกมเป็นกีฬาที่เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ที่ผ่านมาก็มีผู้สนับสนุนมากขึ้น เคยจัดงานแล้วเชิญ ททท. มา และในเร็วๆ นี้จะเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานรัฐด้วย
แล้วมุมมองของคนทั่วไปในปัจจุบันที่มีต่อ Trading Card Game เปลี่ยนไปยังไงบ้าง
พี่ฮิง : ทุกวันนี้เปลี่ยนไปเยอะมาก เมื่อก่อนต้องบอกเลยว่าในยุคคุณพ่อคุณแม่เรา เขาจะมองว่าการ์ดเกมคือไพ่ ไพ่คือการพนัน เป็นแบบนี้เลย ตอนเราเด็กๆ เชื่อเลยว่าเราเล่นการ์ดเกมไม่ได้ถูกตามกฎร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนมากจะเอาการ์ดมานั่งเขี่ย แต่พอระยะหลัง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูล การเข้าถึงระดับโลกที่มีการถ่ายทอดสดหลายๆ อย่าง มันกลายเป็นกีฬาประเภทหนึ่งแล้ว ผู้ใหญ่รุ่นใหม่หรือคนเจนฯ ใหม่จะมองว่าสิ่งนี้เป็นบอร์ดเกม เป็นกิจกรรมเสริมทักษะ มันเลยมีการเปลี่ยนแนวคิดตรงนี้เยอะขึ้น ยิ่งปัจจุบันพ่อแม่ของน้องๆ ที่อายุไม่ถึง 10 ขวบ เขาจะพยายามให้ลูกมาเล่นการ์ดเกม ฝึกสมาธิ ฝึกความคิด
พี่แอ๊ม : ตัวพี่เองได้ภาษาจากการ์ดเยอะมากๆ เหมือนมันบังคับว่าต้องอ่านเป็น ถ้าอ่านไม่เป็นอ่านไม่ถูกคุณก็โดนโกง อีกจุดหนึ่งที่ทำให้การ์ดเกมเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เพราะปัจจุบันสังคมเราเป็นสังคมก้มหน้า เล่นแต่โทรศัพท์มือถือ การที่อะไรบางอย่างทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์ มันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ไม่ว่าจะสำหรับวัยไหนก็ตาม การได้เจอเพื่อน เจอคอมมูนิตี้ มันทำให้ได้เพื่อนจริงๆ ที่สำคัญในต่างประเทศเขาสามารถเล่นการ์ดเป็นอาชีพได้ และการที่จะเล่นการ์ดเป็นอาชีพได้ พี่บอกเลยว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับฝั่งตรงข้ามเป็นเรื่องสำคัญมาก
ก่อนจากกัน ผมอยากทราบว่าภาพของเมืองที่ตอบโจทย์สำหรับผู้เล่น Trading Card Game ในมุมมองของพี่ๆ ควรเป็นอย่างไร
พี่ฮิง : ถ้าพูดถึงสภาพเมือง เราต้องยอมรับก่อนเลยว่าในส่วนผังเมืองบ้านเรา พี่ขอยกตัวอย่างแค่ใน กทม. ที่ผังเมืองยุ่งเหยิง สิ่งแรกที่ยังเป็นปัญหาอยู่และคิดว่าจะเป็นปัญหาต่อไปถ้าไม่ได้รับการแก้ไขคือ โลเคชันต่างๆ เราจะเห็นเลยว่าร้านการ์ดส่วนน้อยจะไปอยู่ตามห้างฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ตามบ้านของตัวเองหรือในตรอกซอกซอย หรือในพื้นที่ที่คนเป็นเจ้าของร้านสะดวกเปิดซึ่งก็ค่อนข้างไกลจากผู้คน
แน่นอนสิ่งที่เราเห็นอย่างแรกเลยคือ การเข้าถึงร้านการ์ดในกรุงเทพฯ ยังไม่สะดวกเทียบเท่ากับต่างประเทศ อย่างที่สองคือ เรื่องของการเดินทาง บ้านเราถ้าไม่มีรถส่วนตัว ร้านไหนที่ไม่ได้ติดกับขนส่งสาธารณะหรือไปลำบากก็จะไม่ค่อยมีลูกค้าไป ส่วนเรื่องรองลงมาคือ เรื่องการจัดงานแข่งขัน บ้านเราไม่ได้ซัพพอร์ตคนเล่นขนาดนั้น พี่อาจจะอยู่เยาวราช แต่ Nx Gallery จัดแข่งอยู่ลาดพร้าว ถ้าเป็นเมื่อก่อนพี่ไม่มานะ เพราะต้องนั่งรถเมล์ 2 สาย ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันมีรถไฟฟ้า MRT ผ่านแล้ว ที่อยากให้ทำได้คือ อยากให้ร้านการ์ดในอนาคตเดินทางเข้าถึงง่าย แล้วมันจะขยายฐานของลูกค้าได้จริงๆ
ท้ายที่สุดนี้ ผมขอขอบคุณทั้งพี่แอ๊มและพี่ฮิงที่สละเวลามาร่วมสนทนาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมนี้ และต้องขอขอบคุณร้าน Nx Gallery สาขาลาดพร้าว 78 และ iPlay Card Shop สำหรับสถานที่ในการถ่ายภาพประกอบ
ผมหวังว่าเมื่องานเขียนชิ้นนี้ออกไป จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยแก่คนที่สนใจ Pokémon Trading Card Game สุดท้ายนี้ หากใครมีโอกาสได้ไปลองเล่น ก็ “อย่าลืมวางการ์ดรางวัล” กันนะครับ