อัด อวัช ถึงเวลาฟัง Mints - Urban Creature

ฉันฟัง อัด-อวัช รัตนปิณฑะ ตัวเป็นๆ พูดต่อหน้าครั้งแรกตอนชวนเขามาออฟฟิศย่านเอกมัยของฉันเพื่อคุยถึงปัญหาทางเท้า และพาเดินถนนให้เห็นกันจะจะ ว่าฟุตพาทมันพัง สายไฟมันพัน หรือท่อระบายน้ำมันชำรุดแค่ไหน จนเกิดบทความ ‘อัด อวัช พาเดินสำรวจ (ปัญหา) ทางเท้าจากภาษีประชาชน’ ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่สองที่เราได้เจอกันและฟังกัน

ฉันฟัง ตน-ต้นหน ตันติเวชกุล ตัวเป็นๆ พูดต่อหน้าครั้งนี้เป็นครั้งแรก (จบพาร์ตเกริ่น คุณจะได้รู้ว่าเด็ก ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น คนนี้ ความคิดโตขึ้นเรื่อยๆ) แต่ก่อนหน้า ฉันชอบฟังเขาเล่นเบสลงอินสตาแกรม และชอบไลฟ์สไตล์ไม่จำกัดเพศที่อยากใส่กระโปรงก็ใส่ อยากทาเล็บก็ทา อยากพูดคะขาก็ไม่ต้องแคร์ใคร เพราะเชื่อในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย

ฉันฟัง ‘ถึงเวลาฟัง’ เพลงใหม่ของพวกเขาในฐานะศิลปินวง Mints จากค่าย What The Duck ที่ปล่อยออกมาวันที่ 18 มีนาคม 2564 เป็นวันแรก ซึ่งเป็นเพลงที่อัดตั้งใจแต่งเนื้อ ตนทุ่มเทออกแบบบีตและซาวนด์ดนตรี และลงมือช่วยกันทุกขั้นตอนร่วม 6 เดือน เพื่อให้คนทุกเจเนอเรชันหันหน้าฟังกันมากขึ้น ทั้งชวนคนรุ่นเก่าเปิดใจฟังเสียงคนรุ่นใหม่ให้มองเห็นความสมเหตุสมผลในการปรับมายาคติแบบเดิมๆ เพื่อใช้ชีวิตร่วมกัน และบอกคนรุ่นใหม่ว่าถ้ามองผู้ใหญ่เป็นคนไม่ทันโลก โดยไม่ลองอธิบายให้ฟังก่อน ช่องว่างระหว่างวัยจะยังคงกว้างอยู่แบบนั้น เช่นเดียวกับผู้มีอำนาจ หากไม่ฟังเสียงข้อเรียกร้อง หรือความทุกข์ยากของประชาชน โอกาสเรียกคืนความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจอาจลดลงจนหมดไป

เหมือนกับตอนนี้ที่ฉันชวนคนฟังเพลงไป ‘ฟัง’ อัดกับตนพูดถึงเบื้องหลัง ‘ถึงเวลาฟัง’


01 Listen One : ฟังเสียง

ทุกคนจินตนาการไปพร้อมกันนะ ห้องสี่เหลี่ยมห้องหนึ่งที่ ‘อัด’ กำลังเก็บของชิ้นนู้น ชิ้นนั้น ชิ้นนี้ แล้วอยู่ดีๆ วิญญาณศิลปินที่อยู่ในตัวก็ทำให้เขาฮัมเมโลดี้ช้าๆ ออกมา จนต้องหยิบโทรศัพท์ กดเข้า Voice Memos อัดเสียงส่งให้ ‘ตน’ ทันที

ดนตรีเพลงใหม่ที่เริ่มต้นโดยบังเอิญ ถูกเปลี่ยนจากเมโลดี้ช้าๆ ซึ้งๆ เป็นดนตรีจังหวะเร็วขึ้นและสนุก สดใส เพราะตอนนั้นตนกำลังอินดนตรีป็อปร็อกฝั่งอังกฤษ แต่ไปๆ มาๆ จากเรื่องบังเอิญก็กลายเป็นตั้งใจ ตนสร้างดนตรีเพลงป็อปที่มีพลังมากขึ้นแบบที่วง Mints ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งระหว่างทางมีอัดเขียนเนื้อเพลงจากสารตั้งต้น ได้แก่ ม็อบ รัฐบาล อำนาจนิยม โรงเรียน ผู้ใหญ่ เด็ก และช่องว่างระหว่างวัย ที่ทั้งอัดและตนอยากสื่อสาร ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์เนื้อร้องที่หนักแน่น พาร์ตดนตรีจึงแข็งแรงขึ้นตาม โดยมีโปรดิวเซอร์อีกคนร่วมเสริมทัพ โดยไม่ลืมคงกลิ่นอายไลน์กีตาร์เอกลักษณ์ของ Mints

“ตอนทำแรกๆ พวกเรากดดันตัวเองเพราะอยากทำให้มันเดินไปข้างหน้าและอยากให้มันเปรี้ยง แต่ดันคิดเยอะไปจนเป๋ และพารานอยด์ไปครึ่งปี จนสุดท้ายจึงต้องมานั่งคุยกันว่าเราทำมันเพื่ออะไร เพื่อความสุขไม่ใช่เหรอ เลยเอาวะ อย่าไปคิดเยอะ ช่างมัน พอสนุก ทุกอย่างที่ออกมาก็เป็นสิ่งที่พวกเราชอบ” ตนว่า

“รับความจริงที่ได้เกิด ถึงเวลาที่ต้องเปิด อย่าฝืนจนทำให้เราไม่อาจมองหน้ากัน สิ่งที่ไม่ดีก็ทิ้งไป รับฟังมันด้วยหัวใจ ในวันที่ยังไม่สายไป”

เนื้อเพลงท่อนข้างต้นและอีกหลายท่อนของเพลง ‘ถึงเวลาฟัง’ เป็นสิ่งที่อัดกับตนอยากบรรเลงออกมาดังๆ ใน 3 สถานการณ์

“สถานการณ์แรก ผมอยากร้องที่ม็อบ เพื่อส่งให้ผู้มีอำนาจและรัฐบาลฟังเสียงของประชาชนอย่างจริงใจและจริงจังสักที

“สถานการณ์ที่สอง ผมอยากร้องที่โรงเรียน เพื่อส่งให้นักเรียนทุกคนที่กำลังเจอกับผู้ใหญ่ซึ่งติดกับดักระบบอำนาจนิยม ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง และไม่เคยเปิดใจรับฟังเด็กรุ่นใหม่เลย” อัดบอกฉัน ก่อนตนจะเสริมขึ้นอย่างน่ารักว่า “พวกนายยังมีพวกเราที่เข้าใจอยู่นะ”

ตนพูดถึงความไม่เข้าใจกันระหว่างวัยขึ้นว่า ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจฟังเด็ก ไม่เก็บประโยค ‘เด็กก็คือเด็ก’ มาบังคำพูดของคนรุ่นใหม่โดยไม่สนเหตุผลใดๆ เพราะหากวางอีโก้เรื่องอายุลง แล้วมองคนรุ่นใหม่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดเห็น พร้อมนั่งกางเหตุผลหลากข้อมาคุยกัน คนรุ่นเก่าจะเห็นมุมมองที่หลากหลาย และจัดการกับปัญหาเหล่านั้นร่วมกันได้ รวมถึงคนรุ่นใหม่ก็ควรเปิดใจฟังสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดโดยไม่ตั้งธงว่า ‘ผู้ใหญ่แก่แล้ว ขี้เกียจพูด’ เช่นกัน

“สถานการณ์ที่สาม ผมอยากร้องให้ชาวออฟฟิศที่กำลังเผชิญปัญหาที่ทำงานจนบางทีอยากหนีไปไกลๆ เพราะเหนื่อยกับคนและระบบยุ่งเหยิงซึ่งกดเราให้ตัวเล็กลง แม้จะตั้งใจทำงานแค่ไหนก็ตาม ถ้าเหนื่อยจนไม่ไหว ก็ร้องเพลงนี้ดังๆ ระบายมันออกไปเลย” อัดอธิบายสถานการณ์สุดท้าย


02 Two Generations : คิดต่าง

อากาศประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงปรี๊ด ทำให้ฉัน อัด ตน และคนรุ่นใหม่อีกหลายคน เลือกอาบน้ำเย็น โดยไม่แม้แต่เปิดเครื่องทำน้ำอุ่น ทว่าผู้หลักผู้ใหญ่บางคนยังอาบน้ำร้อนท่ามกลางอากาศระอุได้อย่างสบาย

สถานการณ์ดังกล่าวชี้ความคิดต่างระหว่างวัย คนรุ่นใหม่เลือกเส้นทางที่แมตช์กับตัวเอง ส่วนคนรุ่นเก่าเลือกเส้นทางเดิมที่ถูกปลูกฝังกันมาว่าดี

คิดอย่างไรกับประโยคอาบน้ำร้อนมาก่อนของผู้ใหญ่?

“ประโยคคลาสสิกแฮะ!” ตนพูดความรู้สึกตัวเองขึ้นมาทันควัน

สำหรับตน เขาเติบโตมาในบ้านที่ให้อิสระเรื่องความฝันและไม่ตีกรอบชีวิต แต่ผู้คนในสังคมกลับอ้างว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนกับเขาแทน

“มีลุงคนหนึ่งถามผมว่าโตไปอยากเป็นอะไร ผมบอกว่าอยากเป็นนักดนตรี ลุงเขารีบตอบมาเลยว่า อย่าไปเต้นทำรำกินเลย ลุงผ่านมาก่อน เห็นมาหมดแล้ว ผมคิดในใจเลยว่ากูจะเป็นนักร้องนี่แหละ (หัวเราะ)”

มากไปกว่านั้นครูที่โรงเรียนและคนในสังคมมักบอกเขาว่าเป็นผู้ชายต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ ร่ายยาวเป็นสิบข้อ จนทุกครั้งที่เขาแต่งตัวตามใจตัวเอง ทั้งจิกส้นสูง ใส่เดรสยาว หรือทาเล็บสีน่ารัก คนเหล่านั้นจะกรูเข้ามาถามพ่อและแม่อยู่เสมอ ซึ่งพวกเขาก็ลำบากใจที่จะนั่งตอบคำถามตลอดเวลา 

“มันผิดตั้งแต่บอกว่าต้นหนแต่งตัวเหมือนผู้หญิงแล้ว เพราะคำนี้มันตีกรอบว่าผู้หญิงต้องใส่กระโปรง ทุกเพศใส่กระโปรงได้ แต่เข้าใจครับว่าอธิบายยาก คนไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ เวลาและตัวเลขคนที่กล้าเป็นตัวเองเพิ่มขึ้นเท่านั้นที่จะทำให้ Movement ไปไกล

“เรื่องเครื่องแต่งกายนี่โยงไปถึงสังคมในโรงเรียนได้เลย ผู้ใหญ่มักบอกว่าชุดนักเรียนสำคัญต่อนักเรียน เพราะจะทำให้ไม่เกิดการแบ่งแยก แต่ผมมองว่ามันเป็นที่ทัศนคติของคนมากกว่า เช่น ไอ้คนใส่กางเกงยาวแม่งเนิร์ดว่ะ เห็นไหม มันมีการเหยียดอยู่ดี”

เมื่อพูดถึงเรื่องระบบการศึกษา ฉันหันไปถามอัดต่อเลยว่าเขามีโมเมนต์อึดอัดกับผู้ใหญ่บ้างไหม เขาบอกว่าเพียบเลย

“ผมชอบดีไซน์ทรงผมตัวเองตั้งแต่เด็ก เพราะการได้ไว้ทรงผมในแบบที่ชอบจะสร้างคุณค่าให้ตัวเองได้ แต่ตอนนั้นผมกลับไม่กล้าพอที่จะต่อต้านครูที่ไล่ตรวจผมโดยอ้างว่าเป็นการฝึกระเบียบวินัย เพราะผมกลัวโดนไล่ออกหรือหักคะแนน

“ทุกครั้งที่เลื่อนชั้น ผมยิ่งมีคำถามเพิ่มขึ้นว่าทำไมเราต้องเรียนหลายวิชา มีบางวิชาไปทำไม เรียนแล้วได้อะไร มันเหมาะสำหรับทุกคนจริงเหรอ เช่น วิชาพุทธศาสนา ถ้าบางคนไม่ได้นับถือพุทธ เขาจะต้องเรียนจริงๆ เหรอ เรียนแล้วได้อะไร ซึ่งมันก็แฝงแนวคิดการยึดติดศาสนาว่าทุกคนควรเป็นแบบเดียวกันหมดในหลักสูตร

“หรือการออกข้อสอบบางวิชาที่มีประโยคบางประเภทว่า เขียนนิดหน่อยก็ยังดีกว่าไม่เขียนเลย อ้าว แบบนี้คุณวัดผลด้วยอะไรกันแน่ ถ้าเขียนน้อยแต่ตอบมั่วๆ มาก็ได้คะแนนเหรอ

“ตอน ม.6 ผมเคยมีปัญหากับครูวิทย์ เพราะผมมองว่าวิชานี้มันยากสำหรับผม เราเลยส่งงานให้ครบ คะแนนเก็บจะได้เยอะพอให้ไม่สอบตก แต่ครูไม่ชอบขี้หน้าเราพอดี เลยให้เราติดศูนย์ เราเลยไปถามว่าทำไมถึงติด ปรากฏเขาบอกว่าหางานที่เราส่งไม่เจอ ผมโมโหมากว่านี่มันระบบกดขี่คนชัดๆ คุณไม่มีความรับผิดชอบ ทำงานเด็กหายเอง”

สิ่งที่ต้องปรับในระบบการศึกษาตามความคิดของอัด คือสร้างหลักสูตรให้เด็กเรียนสิ่งที่ชอบแล้วได้อะไรกลับไป ไม่กลั่นแกล้งเด็กด้วยกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่วัดความพยายามเด็กด้วยการบ้านที่เยอะ หรือข้อสอบที่ออกไปก็ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง


03 (No) Third Wheel : ไม่ผลักใครเป็นส่วนเกิน

“น้ำร้อนที่ผู้ใหญ่อาบมากับน้ำปัจจุบันที่ผมอาบมันไม่ใช่น้ำเดียวกัน อย่ามาบังคับคำตอบว่าปลายทางต้องเป็นแบบเดียวกัน”

ประโยคนี้เป็นการบอกประสบการณ์ที่ผ่านมาของอัดที่โดนสังคมรอบข้างตีกรอบคำตอบตายตัวว่าถ้าไม่ทำแบบนั้น จะไม่ไปถึงฝัน แต่คนเหล่านั้นกลับไม่ตั้งคำถามว่าเส้นทางที่ปูมาให้มันใช้ได้กับปัจจุบันจริงไหม เหมาะสมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้หรือไม่ และเป็นคำพูดที่บอกว่าไม่ต้องคิดเยอะหรอก ทำตามๆ กันไปเถอะ ซึ่งมันใช้ไม่ได้กับเด็กรุ่นใหม่แล้ว เพราะพวกเขาเชื่อในเหตุผลและคำอธิบาย

“สิ่งสำคัญคือผู้ใหญ่ไม่ควรกลัวแทนเด็ก ควรให้โอกาสเด็กได้ใช้ชีวิตของตัวเอง หลายครั้งพ่อแม่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของชีวิตลูก ครูคิดว่าตัวเองเหนือกว่า คนอายุมากกว่าคิดว่าตัวเองเจนโลก จึงมีสิทธิ์กำหนดเส้นทางเดินให้กับเด็ก ในขณะเดียวกันเด็กก็มีเส้นทางที่เขาอยากจะไปอยู่ แต่ถูกผูกแขน ผูกขาไว้ แบบนี้มันคือการทำร้ายเด็กนะ สิ่งสำคัญคือเราต้องให้พื้นที่เด็กได้ลองทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ”

เช่นเดียวกับตน “บางทีปล่อยเด็กลองผิดลองถูกเองเถอะ ปล่อยให้เจ็บ ปล่อยให้ลองทำ เด็กสมัยนี้ต้องเห็นชัดๆ ว่าผลลัพธ์ไหนเหมาะกับตัวเอง”

ตนพูดติดตลกกับฉันว่า พอเขาโตขึ้นกว่านี้เขาอาจจะเป็นผู้ใหญ่ที่เด็กเกลียด แม้ตอนนี้จะตั้งปณิธานว่าจะไม่โตไปเป็นแบบนั้น เพราะสังคมจะตั้งคำถามขึ้นเรื่อยๆ กับอะไรที่คนรุ่นก่อนไม่กล้าตั้ง ซึ่งตอนนี้สังคมไปไกลกว่าที่คิด อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า สุดท้ายการจะสร้างความสงบให้กับบ้านเมืองได้อย่างยั่งยืนคือ ‘ต้องไม่ผลักใครออก’

“ทั้งสองเจนฯ ต้องวางอีโก้ของตัวเองลงว่ากูอ่านข้อมูลมาเยอะ กูถูกที่สุด เป็นเด็กไม่ต้องพูดเยอะ หรือคนแก่ก็อยู่เฉยๆ ไปสิ การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างมันต้องใช้เวลา และรับฟังกันด้วยใจ แบบไม่ตัดสินใคร”

ผมสีแดงของอัดขยับขึ้นลงพร้อมการพยักหน้า เขาบอกว่า ปัจจุบันการเคารพผู้ใหญ่ของเด็กเริ่มลดลง เพราะผู้ใหญ่บางคนมีทัศนคติมองมนุษย์ไม่เป็นมนุษย์ เห็นความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เด็กชั่งน้ำหนักความสมเหตุสมผลจนไม่จำเป็นต้องเคารพอีกต่อไป อยากไหว้คนที่ไหว้ อยากทักทายคนที่อยากทักทาย และแนวโน้มในอนาคตจะไม่มีใครบังคับใครให้ก้มหัวได้

“เรารู้กันว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากประชาชน แม้จะถูกพร่ำบอกกันมาว่ามันทำเพื่อประชาชน อีกทั้งผู้ใหญ่จะพูดเสมอว่ารัฐบาลชุดนี้ดี โดยไม่ได้ดูวิธีการแก้ปัญหาเหตุการณ์บ้านเมืองของพวกเขาหรือสำรวจต้นตอของปัญหาที่ประชาชนพบเจอ

“ผู้ใหญ่กับเด็กมีความเชื่อในแบบของตัวเอง สิ่งที่ควรทำมันคือการเปิดเวทีตั้งคำถามมาคุยกัน ไม่ใช่อายุเยอะแล้วมีสิทธิ์พูดทุกเรื่องมากกว่า หรืออายุน้อยจะเก่งกาจมากกว่า จึงต้องหันหน้าเข้าหากัน และมองความเป็นจริงที่เกิด เพราะทุกการเปลี่ยนแปลง เราต้องการกำลัง ไม่สามารถเดินไปได้ด้วยพลังจากคนไม่กี่คน”


04 For Everyone : เพลงของทุกคน

เบื้องหลังแนวคิดและเบื้องหลังการทำเพลงของอัดกับตน ที่ฉันฟังทั้งคู่เล่าอย่างตั้งใจ ทำให้บทความนี้เป็นสิ่งที่อยากพรีเซนต์ให้พิเศษได้พอๆ กับความวิเศษของเพลงนี้มากที่สุด

อัดบอกฉันว่า เสียงเพลงมันเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ ทั้งในแง่ความรู้สึกของตัวเองที่เปลี่ยนจากจมดิ่งมามีความหวังได้ ในแง่หนึ่งตามทัศนะของเขา เสียงเพลงเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้สึก หากได้ฟังเพลงที่เล่าในมุมที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน อาจจะเข้าใจมุมมองใหม่ได้มากขึ้น

ตนบอกฉันว่า เสียงเพลงสามารถส่งต่อเจตจำนงของศิลปินที่อยากขับเคลื่อนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น กลุ่ม Rapper ที่ชื่อว่า N.W.A พูดเรื่องการถูกกดขี่ในสังคมผ่านเสียงเพลง เพื่อกระตุ้นความคิดบางอย่างให้ผู้คนได้อย่างน่าอัศจรรย์

ทั้งคู่บอกฉันว่าเพลง ‘ถึงเวลาฟัง’ ของพวกเขา เป็นเพลงที่อยากให้ทุกคนทำใจเย็นๆ ลดอารมณ์ร้อนๆ แล้วฟังเสียงคนตรงข้าม แม้จะมีผิดใจกันบ้างก็อย่าท้อ เพราะการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่ต้องทำ ถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง มาเถอะ ‘ถึงเวลาฟัง’ กันและกันแล้ว

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.