อัด อวัช พาเดินสำรวจ (ปัญหา) ทางเท้าจากภาษีประชาชน - Urban Creature

ถ้าตอนนี้สมมติว่ากำลังอยู่ในซีรีส์เกาหลีที่มี ‘ฉัน’ นักเขียนผู้อยากเห็นคนเมืองเล็ก เมืองกลาง เมืองใหญ่ ตัวเล็ก ตัวกลาง หรือตัวโต ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีตามสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม และ ‘เขา’ อัด-อวัช รัตนปิณฑะ วัย 24 ปี ผู้บอกกับฉันว่างานหลักของเขาคือเรียกร้องประชาธิปไตย ส่วนงานรองที่รักเช่นกันคือการเป็นศิลปินวง Mints นักแสดงสังกัดนาดาวบางกอก และผู้สร้างชุมชนเล็กๆ ไว้ผลักดันเรื่องการอนุรักษ์ทะเลผ่านแพลตฟอร์ม Save Thailay หากพวกเราแสดงเป็นตัวละครที่กำลังเดินคุยสำเพเหระรอบกรุงโซล หรือเดินกลับบ้านรับลมก็คงเป็นเรื่อง (โคตร) ปกติ แต่วันนี้เราสองคนดันเดินอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ทางเท้าสุดพัง ฟุตพาทชวนสะดุดล้ม เสาไฟพันยั้วเยี้ยลงมาโดนหัว และปัญหาสาธารณูปโภคในไทยอีกเยอะที่กวนอารมณ์คนสัญจรไม่น้อยไปถึงมาก

คำเตือน: ระหว่างทางหากแอบสบถออกมาว่า “ทำไมไม่แก้ไขสักทีวะ !” ให้หายใจเข้าลึกๆ ลุกไปจิบน้ำสักแปปจนอารมณ์เย็นขึ้นแล้วค่อยมาอ่านต่อก็ได้ไม่มีผิด เพราะไม่รู้เหมือนกันว่า…ฉัน อัด หรือผู้อ่าน ใครจะหัวร้อนกว่ากันหลังอ่านจบ


01 ผมจะเดินทางเท้าอย่างไร ให้สบายใจดีล่ะครับ

เรื่องตลกคือก่อนจะนัดอัดมาคุยกันเรื่องทางเท้า ฉันเพิ่งสะดุดฟุตพาทที่พังระหว่างเดินเข้าออฟฟิศย่านเอกมัย และวันที่เดินคุยกับอัดเพื่อสำรวจทางเท้า เขาก็ล้มลงกับพื้นโดยไม่ทันตั้งตัว (ตกใจแทบแย่) เพราะบล็อกฟุตพาทไม่แข็งแรง หรือบางครั้งเขาต้องหลบป้ายโฆษณาบนฟุตพาทที่แคบมากๆ จนหวาดเสียวเสี่ยงโดนรถเฉี่ยว อีกทั้งวันที่ฉันกำลังบรรจงเขียนเรื่องนี้ให้ทุกคนได้อ่าน ก็เพิ่งโดนเสาไฟฟ้าแกว่งลงมาโดนหัว ! นี่ถ้ามีรางวัลไม่มีดวงกับการเดินทางเท้า ฉันกับอัดคงได้รับรางวัลอันดับ 1 หลายสมัย

“ผมเป็นคนชอบเดินไปไหนมาไหนมาก แต่ประเทศนี้ไม่เอื้อให้ผมหรือใครๆ เดินได้อย่างปลอดภัย”

ตอนเด็กๆ อัดเป็นเด็กไร้เดียงสาที่ไม่รู้ว่าโตขึ้นมาต้องเป็นพลเมืองที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลเอาไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน (แต่รัฐจะทำไหมก็อีกเรื่อง) ช่วงประถมฯ อัดยังคงตื่นเต้นกับการเดินกลับร้านอาหารของที่บ้านย่านสุขุมวิทหลังเลิกเรียนจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ย่านอโศก เขาเดินข้ามสะพานลอย เห็นสิ่งรอบตัว ผู้คน ธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชนที่พลันให้อยากจะเดินทุกวัน แต่พอโตขึ้นมาอีกหน่อยช่วงมัธยมฯ เขาเริ่มสงสัยว่า ทำไมนับวันทางเท้ามันจึงกลายเป็นเรื่องยากในการเดินซะงั้น

อย่างแรกสุดอัดต้องเผื่อเวลาเดินทางจากบ้านที่สมุทรปราการมาเรียนแถวอโศก 2 ชั่วโมง เพื่อให้ทันเข้าแถว วันไหนเหนื่อยๆ ออกจากโรงเรียนต้องต่อมอเตอร์ไซค์ เพื่อไปลงที่รถไฟฟ้า จากรถไฟฟ้าต้องไปต่อรถเมล์ที่รอนาน เบียดเสียด ผุพังชำรุด และปิดท้ายด้วยการเดินต่อยาวๆ จนพบหลุมน้ำขัง น้ำกระเซ็นใส่ บางครั้งระบบระบายน้ำไม่ดี น้ำท่วมเสี่ยงต่อหม้อแปลงระเบิดบนถนน… โห กว่าจะถึงบ้าน ทำไมมันยาก เหนื่อย และไม่สุนทรีย์แบบที่อัดคิดไว้ตอนเด็กๆ เลย

อัดสวมรองเท้าหน้าออฟฟิศของฉันอย่างทะมัดทะแมงพลางพูดก่อนเริ่มเดินทางเท้าข้างทางว่า “ยิ่งโตขึ้นมายิ่งได้รู้ว่า ปัญหาเหล่านี้มันต้องถูกเปลี่ยนได้แล้วครับ”


02 ผมว่าการระบายน้ำคือปัญหาเรื้อรัง

“ทำความเข้าใจกันก่อนนะครับ ประชาชนเสียภาษีให้รัฐบาล จึงมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถาม”

เรา 2 คนเริ่มเดินบนทางเท้าที่ไม่กี่วันก่อนเกิดฝนตก สิ่งแรกที่อัดพูดกับฉันคือเขาคิดว่าการระบายน้ำเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาหนัก เพราะเมื่อไม่นานนี้ออฟฟิศย่านทองหล่อของอัดเกิดน้ำท่วมเข้ามายังพื้นที่ด้านใน ทำให้ข้าวของเสียหายอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเป็นแบบนี้หลายรอบ แต่การจัดการจากภาครัฐก็ยังไม่เป็นรูปธรรมเสียที ฉันรีบบอกอัดอย่างเร็วทันทีว่า ออฟฟิศฉันก็ไม่ต่าง เพราะท่วมหนักจนรองเท้าปลิวหายไปกับสายน้ำ

10 ปีผ่านไป เป็นแบบไหน ก็ยังเป็นแบบนั้น อัดบอกกับฉันต่อว่า สมัยประถมฯ เมื่อหน้าฝนเวียนมาบรรจบ เปิดประตูออกจากบ้านปุ๊ป จะเห็นถนนเป็นทะเล ที่ต้องมาลุ้นว่ารถแม่จะดับไหม มาวันนี้เขาก็ยังเห็นเพื่อนร่วมโลกหลายคนประสบปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากระบบระบายน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน บางครั้งหม้อแปลงระเบิด ไฟช็อต ไม่ใช่แค่คนที่เกิดอันตราย แต่สัตว์ตัวเล็กๆ แถวนั้นก็โชคร้ายโดนไปด้วย

“ระบบระบายน้ำที่ดีเกิดขึ้นได้ ถ้าคนที่เขาเชี่ยวชาญเรื่องนี้ได้เข้าไปทำงาน แต่ติดอยู่ที่ตอนนี้บ้านเรายังผูกขาดอำนาจไว้ที่คนกลุ่มเดียว และคนกลุ่มนั้นไม่สามารถพัฒนาตรงนี้ได้”


03 ผมและคุณสะดุดฟุตพาทที่แคบและสุดพัง

ไม่ใช่สุดปังแต่สุดพัง ! ฉันยกประโยคนี้ให้ฟุตพาทไทย เพราะอัดเพิ่งสะดุดบล็อกฟุตพาทพังๆ แทบหน้าคว่ำไปเมื่อไม่กี่วินาทีก่อนช่างภาพกดแชะรูปนี้ เขาหลุดขำแต่ก็หัวเสียใช่ย่อย และบอกความรู้สึกว่า นี่คือเหตุผลที่ทำให้คนไทยหลายคนไม่อยากเดิน จากที่ “แค่นี้ เดินดีกว่า” กลายเป็น “นั่งรถไปแปปเดียวถึง” แทน เพราะกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตถ้าเดินทางเท้า

นอกจากทางเดินที่ไม่เรียบ มีหลุม มีบ่อ มีรอยแตก ที่ทำให้ไม่สบายใจในการเดินแล้ว ความกว้างของฟุตพาทยังไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กล่าวว่า ทางเท้าจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร เพราะบางพื้นที่ยังไม่ได้มาตรฐาน แคบจนแทบจะชิดถนน บ้างก็มีป้ายโฆษณา หรือต้นไม้ที่ปลูกบนฟุตพาทที่ไม่ได้จัดสรรพื้นที่ให้เหมาะก็ทำให้จากที่แคบอยู่แล้วแคบเข้าไปอีก

“ผมมีโอกาสได้ไปทำงานหรือเที่ยวในต่างประเทศ สาธารณูปโภคบ้านเขา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือฝั่งยุโรป มันเอื้อให้ทุกคนเดินกันเป็นเรื่องปกติ จากที่ไกลก็ดูเหมือนไม่ไกล เพราะบรรยากาศมันไม่ชวนต้องคิดว่า กูต้องระวังอะไรบ้าง”

พูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่า เราทุกคนเสียภาษีให้หน่วยงานต่างๆ มาดูแลคุณภาพชีวิต แต่จากภาพตรงหน้าความสะดวกสบายที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กลับยังมาไม่ถึงเต็มที่ ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ในชีวิตจริงตอนนี้ การเดินเป็นสิ่งที่น้อยคนจะทำ เพราะไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ‘รถยนต์’ จึงกลายเป็นพาหนะหลักที่สะดวกที่สุดในการเดินทาง แต่ก็มาพร้อมปัญหามลพิษ ควันดำ การจราจรติดขัดที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังแก้ไขไม่ได้

ตรงกับข้อมูลจากงานวิจัย การพัฒนาทางเท้าเพื่อกรุงเทพมหานครเมืองน่าอยู่ จากวิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ระบุผลจากแบบสอบถามด้านพฤติกรรมและความพึงพอใจของผู้ใช้ทางเท้าจำนาน 200 คน พบว่า ร้อยละ 61.70 ให้ความเห็นว่าจะใช้ทางเท้ามากขึ้น แต่ถ้าไม่มีการปรับปรุง ร้อยละ 69.12 มีแผนเปลี่ยนแปลงการเดินเท้ามาเป็นการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแทน และร้อยละ 58.33 บอกว่าทางเท้ามีความปลอดภัย ‘น้อย’  (อ้างอิงจาก https://bit.ly/3ofhat3)


04 ผมว่าเวลาถนนชำรุด เขาแก้ปัญหาชุ่ยๆ ครับ

“ไม่ใช่จะแก้ปัญหาชุ่ยๆ เพราะมีคนเรียกร้องไปแล้วมันดังในโซเชียล เพราะในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่รัฐต้องลงมาทำความเข้าใจว่าแก้ไขแบบไหนถึงได้ประสิทธิภาพจริงๆ”

เท้าของฉันและอัดมาหยุดอยู่หน้าทางเท้าที่ถูกฉาบด้วยปูนขาวเลอะๆ ทับรอยแตกของบล็อกฟุตพาทให้พอเป็นพิธีว่า “นี่ไง แก้แล้ว” คำถามที่ตามมาคือ ระยะเวลาที่จะกลับมาชำรุดใหม่จะกลับมาเร็วไหม เพราะบล็อคอิฐฟุตพาทไม่ได้ถูกเปลี่ยนใหม่ เพียงแค่ฉาบหน้าให้เหมือนผักชีโรยหน้าชั่วคราว

เดินถัดมาอีกไม่ไกล อัดหยุดเดินแล้วบอกฉันว่า การเอายางมะตอยมาเทให้มันนูนๆ ไม่ทำให้เรียบไปกับถนนนั้น เขาเจอแบบนี้บ่อยมาก และแน่นอนคนเรียกร้องเรื่องนี้เยอะพอควรในโลกโซเชียล แต่สิ่งที่ได้กลับมาก็…ไม่พูดดีกว่า

“ผมรู้สึกว่าการทำงานแบบนี้มันไม่แฟร์กับภาษีที่ประชาชนเสียไป เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ทำงานตามใจตัวเอง แต่หันมาคำนึงถึงความสะดวกของประชาชนเป็นหลัก พร้อมรับฟังว่าพวกเราต้องการอะไร”

โอ๊ย ! ฉันแอบสบถเพราะโดนเสาไฟฟ้าที่พันกันหยั่งกับงานแอบสแตรกอาร์ตฟาดหัวเข้าเต็มๆ อัดหันมาพูดกับฉันว่า งานแอบสแตรกอาร์ตตรงหน้านอกจากจะไม่สวยงามแล้ว การจัดการเรื่องเสาไฟพวกนี้ เวลามันห้อยย้อยลงมา เกิดอุบัติเหตุกับคนไม่รู้เท่าไหร่ ยิ่งตอนน้ำท่วมยิ่งเสี่ยงอันตรายมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องตลก แต่หน่วยงานรัฐต้องจริงจังและไม่นิ่งนอนใจได้แล้ว

พอฉันมองไปที่เสาไฟฟ้าก็นึกขึ้นได้ว่าประเทศไทยทำไมไฟทางเท้าถึงมีไม่ทั่วถึง ทำให้หลายครั้งประชาชนถูกโจรปล้น ทำร้าย หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ง่าย ฉันจึงหันไปถามอัดว่าคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร

“การทำทางเท้าให้ดี ไม่ใช่เรื่องยาก แต่แค่ไม่เริ่ม เพราะไม่คิดว่าเป็นปัญหา พอใครเป็นอะไรไปก็มักโทษประชาชน ผู้หญิงโดนล่วงละเมิดก็มาโทษว่าแต่งตัวโป๊เอง ทั้งๆ ที่ควรกลับมาคิดได้แล้วว่า มาตรการความปลอดภัยในการใช้ท้องถนนมันไม่ได้คุณภาพ และทำให้คนกลัว”


05 ผมคิดว่าภาษีที่เราเสียไปไม่ได้เกิดประโยชน์

“ภาษีที่ผมและทุกคนจ่าย มันไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจะมาทวงบุญคุณได้ เพราะมันเป็นหน้าที่ที่ต้องจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตประชาชน อย่าเข้าใจผิด”

ทั้งๆ ที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ขนส่งสาธารณะและการเดินทางเท้าคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของประชาชน แต่บ้านเรา การมีรถยนต์กลายเป็นหลักสำคัญไปซะได้ ถามว่าใช้รถยนต์เกิดผลเสียอะไรบ้าง ? ที่เห็นกันได้ชัดคงเป็นมลพิษทางอากาศและรถติด อัดยกตัวอย่างการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐเรื่องฝุ่น PM 2.5 ด้วยการฉีดน้ำทั่วท้องถนน ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนได้ แต่ก็ยังใช้มาตรการนี้ซ้ำไปซ้ำมา ทั้งที่ควรมองปัญหาจากต้นเหตุ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการควบคุมมาตรการทางท้องถนน หรือเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวบนผังเมืองที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม

ทุกวันนี้คนใช้รถยนต์มาเป็นอันดับแรก อันดับถัดมาคือขนส่งสาธารณะ และสุดท้ายถึงจะเดินทางเท้า ถ้าการบริหารเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางเท้าจะเป็นสิ่งที่คนใช้มากที่สุด เพราะไม่เสียเงิน ได้ออกกำลังกาย และรื่นรมย์ ต่อมาจะเป็นขนส่งสาธารณะที่หากแก้ไขให้ได้คุณภาพ จะช่วยให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และจะลดปัญหาจราจรติดขัดและมลพิษ พอพูดถึงเรื่องประเด็นขนส่งสาธารณะ อัดถอนหายใจเฮือกใหญ่ แล้วบอกฉันว่าขนส่งสาธารณะตอนนี้ไม่ตอบโจทย์ประชาชน เพราะรถไฟฟ้ายังไม่ไปถึงจุดที่คนใช้งานได้เยอะพอ เช่น งานคอนเสิร์ตนิยมจัดที่ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี แต่ไม่มีรถไฟฟ้าเข้าถึง คนต้องเดินทางหลายต่อและยากลำบาก เช่นเดียวกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่จัด ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ก็ทำให้การอยากไปซื้อหนังสือดีๆ ของคนต้องถูกชะงักเพราะลำบาก แตกต่างจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีรถไฟฟ้าไปถึงโดยไม่ต้องกังวลรถติด

ไม่ต่างอะไรกับรถเมล์ที่คนพิการไม่สามารถขึ้นได้เพราะไม่มีทางลาดวีลแชร์ อักษรเบรลล์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกช่วยเหลือ

“สุดท้ายก็ไม่ใช่คนทุกคนที่ถูกรวมเข้ามาในคำว่า ‘ประชาชน’ เพราะสิ่งที่รัฐทำคือทอดทิ้งคนบางกลุ่มอย่างไม่เท่าเทียม”

นายอวัช รัตนปิณฑะ คือชายหนุ่มที่มีแววตามั่นใจว่าจะไม่ย่อท้อต่อการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะชีวิตดีๆ คือสิ่งที่ประชาชนเลือกได้

“สิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคที่ดีเป็นสิ่งที่พวกเราต้องมีอยู่แล้ว มันคือรัฐสวัสดิการพื้นฐานของมนุษย์เลย ในฐานะพลเมืองการเดินทางผ่านทางเท้าและขนส่งสาธารณะดีๆ เป็นเรื่องปกติที่ต้องได้รับ ไม่ใช่สิ่งที่รัฐจะมาทวงบุญคุณ”

เรื่องน่าเศร้าคือกรุงเทพฯ ว่าแย่มาก แล้วคนต่างจังหวัด คนชนบทที่ยังไม่เข้าถึงสวัสดิการหรือความเจริญล่ะ ?  สุดท้ายนี้ฉันและอัดเห็นตรงกันว่าความเจริญไม่ควรถูกกระจุกไว้ที่เดียว แต่ควรกระจายทุกพื้นที่ในไทย

“ปัญหาทางเท้าเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ถ้าสุดท้ายการเมืองยังแย่ มีแค่องค์กรเอกชนและประชาชนที่ดิ้นรนช่วยกันเอง ถามว่ามันดีไหม มันดี แต่ในความจริง เงินภาษีที่จ่ายไปให้หน่วยงานรัฐ เราต้องตั้งคำถามว่าเขาเอาไปทำอะไร ซื้อเรือดำน้ำ ? อุปกรณ์ควบคุมม็อบ ? หรืออะไร”

เพราะฉะนั้นการช่วยกันส่งเสียงให้ไปถึงคนที่มีอำนาจในการจัดการปัญหาทางเท้า ถนนหนทางและทุกเรื่องที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน อัดยังทิ้งท้ายเล็กน้อยว่า

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องเกิดขึ้นจริง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.